จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 3-9 เมษายน 2563

จดหมาย

0 เสียงจากแรงงานนอกระบบ

มาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ของรัฐบาลนั้น

จะต้องครอบคลุมแรงงานนอกระบบทั้งประเทศ

ที่มีจำนวนกว่า 21.6 ล้านคนด้วย

เพราะล้วนได้รับผลกระทบเหมือนกันทั้งหมด

รัฐบาลต้องมีมาตรการให้สถาบันการเงินทุกแห่งพักชำระหนี้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าปรับทุกกรณี เป็นระยะเวลา 12 เดือน

เนื่องจากแรงงานหลายกลุ่มประสบปัญหาด้านรายได้ และไม่สามารถประกอบอาชีพได้

หลังเหตุการณ์วิกฤต เข้าสู่ระยะเวลาการฟื้นฟู

ขอให้ธนาคารออมสินทำการรีไฟแนนซ์ (refinance) หนี้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบแทน

สำหรับแรงงานที่เดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด ควรมีสิทธิในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทุกโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ขณะเดียวกันรัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการสร้างนักการเกษตรและนักการตลาดรุ่นใหม่

ที่สามารถทำตลาดออนไลน์ขายผลผลิตตรงส่งผู้บริโภคเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานย้ายถิ่นฐานที่ต้องเข้ามาทำงานในเมืองหลวง

ระยะสั้น สนับสนุนการปลูกพืชหมุนเวียนระยะสั้น

เพื่อให้ขายมีรายได้เสริมในช่วงที่อยู่บ้าน

เมื่อมีรายได้พอเพียงก็จะลดจำนวนแรงงานย้ายถิ่นได้ในอนาคต

ระยะยาวต้องจัดทำฐานข้อมูล พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและความต้องการของตลาดเพื่อยกระดับเกษตรกรรุ่นใหม่

ถ้าเขาเห็นว่าดีก็จะไม่อยากกลับเข้ามาไปในเมือง

เราก็ต่อยอดให้เขาเป็นนักการตลาดที่สามารถขายตรงสู่ผู้บริโภคได้

สุดท้ายถ้ารายได้พอเพียงก็ไม่มีใครที่จะอยากกลับมาเป็นมนุษย์เงินเดือนอีก

เป็นความยั่งยืน เป็นแนวทางการเกษตรของคนรุ่นใหม่

ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหารต่อไป

นางสุจิน รุ่งสว่าง

ประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย

 

ไม่รู้รัฐบาลจะตอบสนอง

ความเดือดร้อนของแต่ละกลุ่มได้แค่ไหน

แต่ก็ช่วยกันสะท้อนปัญหาออกไปก่อน

เพื่อให้รับรู้ข้อมูลกว้างขวาง

จะได้แก้ไขได้ครบหรือมากกลุ่มที่สุด

 

0 คนละไม้ละมือ

ท่ามกลางการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ผมและคณะทำงานได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปฏิบัติภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)

จึงได้ริเริ่มความคิดในการออกแบบ Aerosol box

เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อระหว่างการทำหัตถการกับผู้ป่วยสำหรับทีมงานแพทย์และพยาบาล

ไอเดียนี้ เริ่มจากเห็นโพสต์เกี่ยวกับคุณหมอ Lai Hsien-yung ในไต้หวัน ได้ออกแบบ Aerosol box อย่างง่าย เพื่อใช้ป้องกันละอองลอย (aerosol) ในขั้นตอนการใส่ท่อช่วยหายใจ

ผมจึงคิดว่าคุณหมอและคุณพยาบาลในบ้านเราควรมีไว้ป้องกันตนเองเป็นอย่างยิ่ง

จึงทำการปรับแบบจากชิ้นงานของต้นฉบับ เพื่อให้ใช้แผ่นอะคริลิกได้คุ้มที่สุดครับ

ซึ่งผมได้มีการติดต่อกับทางโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ผ่านคุณอรุโณทัย อินทรกำแหง เพื่อเสนอแบบและรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้งานเพื่อนำมาปรับให้ใช้งานได้เหมาะสมที่สุด

ในส่วนอุปกรณ์ Aerosol box ผลิตจากแผ่นอะคริลิกใส หนา 4 ม.ม. มี 2 แบบ คือ

  1. Aerosol box สำหรับการทำหัตถการใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นกล่องขนาดเล็ก ประมาณ 50 x 50 x 40 cm3
  2. Aerosol box สำหรับงานตรวจคัดกรองและซักประวัติ เป็นกล่องขนาดใหญ่ ประมาณ 90 x 80 x 40 cm3

ผลิตจากวัสดุที่มีความแข็งแรงทนทาน สามารถทำความสะอาดได้ง่าย และเหมาะสำหรับคนไทย

ภายหลังการสำรวจความต้องการจากแพทย์ พยาบาลและผู้ปฏิบัติงานจากโรงพยาบาลมหาราช

พบว่ามีความต้องการ Aerosol box ทั้งสิ้น 37 กล่อง

ซึ่งขณะนี้มีการรวบรวมเงินบริจาคจากทางทีมพยาบาลโรงพยาบาลมหาราชและกองทุนเพื่อนมารีย์วิทยา ซึ่งสามารถจัดทำได้จำนวน 10 กล่อง

และจากคณะผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากร มทร.อีสาน ได้อีกจำนวนหนึ่ง

นำเครื่องต้นแบบไปมอบให้แก่ทางโรงพยาบาลมหาราชเรียบร้อยแล้ว

และสำหรับท่านที่สนใจร่วมสมทบทุนผลิตอุปกรณ์นี้เพิ่ม สามารถติดต่อได้ที่ Facebook : Rakchat Klinkla

ส่วนอุปกรณ์ Aerosol box สำหรับการสัมภาษณ์และตรวจคัดกรองผู้ป่วย

ตอนนี้ผมมีการออบแบบไว้ด้วย และทราบว่าคณะวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ ได้ทำการปรับปรุงแบบและดำเนินการผลิตแล้ว

ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งมอบให้โรงพยาบาลได้ใช้งานต่อไปครับ

ดร.รักชาติ กลิ่นกล้า

อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ประยุกต์

คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา

 

ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

ฝากมาช่วยเผยแพร่

ช่วงนี้อะไรที่ช่วยกันได้ ก็ยินดี

อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

Facebook : Rakchat Klinkla

หรือ คุณวารุณี กิตติสุทธิ์

Email : [email protected]