เครื่องราง “ตะกรุดไม้ครู” หลวงปู่ภู จันทเกสโร วัดอินทรฯ บางขุนพรหม

“พระครูธรรมานุกูล” หรือ “หลวงปู่ภู จันทเกสโร” พระคณาจารย์แห่งวัดอินทรวิหาร แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ถือเป็นศิษย์เอกผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่ได้รับการถ่ายทอดเคล็ดวิชา-วิทยาคมต่างๆ มากมาย

วัตถุมงคลของท่านนอกเหนือจาก “พระสมเด็จหลวงปู่ภู” ที่เป็นยอดนิยมและเป็นที่เสาะแสวงหาแล้ว ยังมี “ไม้ครูหลวงปู่ภู” ที่ถือเป็นสุดยอดเครื่องรางของขลัง ที่ได้รับการยอมรับจากบรรดานักนิยมสะสมเครื่องรางของขลังในยุคเก่า

การจัดสร้างตะกรุดไม้ครู หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “ไม้ครู” นั้น นับว่ายากมาก วัสดุที่ใช้สร้างก็แสนจะหายาก ต้องเดินธุดงค์เข้าไปในป่าลึก เพื่อจะไปหาไม้ไผ่ และจะต้องเป็นไม้ไผ่สีสุกที่ถูกฟ้าผ่าล้ม ปลายชี้ไปทางทิศตะวันออกเท่านั้น

ตามตำราระบุว่า ไม้ไผ่ลำนี้เปรียบดั่งไม้ยันพระวรกายของท้าวเวสสุวรรณ จากนั้นภายใน 7 วัน ต้องเฝ้ารอโขลงช้างที่จะผ่านมาพบ แล้วกระโดดข้ามกอไผ่นั้นทั้งโขลง นอกจากนี้ ก่อนที่ท่านจะตัดไม้ไผ่ลำดังกล่าวได้ ต้องประกอบพิธีพลีกรรมก่อน คือ การขอของจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าป่า เจ้าเขา รุกขเทวดา

ครั้นเมื่อได้ไม้ไผ่มาแล้ว จะนำมาลงอักขระ แล้วใช้เป็นไม้เท้ายันกายในยามที่เดินธุดงค์ ขณะเดินธุดงค์ เมื่อได้พบศพที่ “ตายวันเสาร์ เผาวันอังคาร” จะใช้ไม้เท้านั้นจิ้มศพจนกว่าจะครบ 7 ศพ

ตลอดระยะเวลาในการเดินธุดงค์ของหลวงปู่นานถึง 30 ปี จากนั้นท่านก็จะนำไม้เท้าอันนี้มาผ่าให้เป็นแผ่นเล็กๆ เรียกว่า “ตอก” เตรียมไว้สำหรับลงพระนามที่ได้รับจากเบื้องบน

กล่าวกันว่าผู้ที่จะได้ไม้ครูหลวงปู่ภู จะต้องขอก่อนวันเสาร์ และถ้าตอบตกลงทำให้ ผู้นั้นจะต้องจัดเครื่องไหว้ทำพิธี ซึ่งมีบายศรี หัวหมู มะพร้าวอ่อน และอื่นๆ ตามแต่หลวงปู่จะสั่ง

แต่ที่ขาดไม่ได้ คือ ไม้ไผ่ตัดเหลือข้อไว้หนึ่งข้อ หรือไม้ที่เจาะรู โดยส่วนใหญ่จะใช้ไม้พะยูง ไม้ขนุน หรือ ไม้รักซ้อน เมื่อได้ของครบแล้ว ก็จะทำพิธีลงพระนามในไม้ตอกที่เตรียมไว้

พิธีลงพระนาม หลวงปู่ภูจะมองขึ้นบนฟ้าครั้งละนานๆ เคยมีลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดถามท่านว่า “ทำไมหลวงปู่ต้องมองขึ้นไปบนท้องฟ้า”

หลวงปู่ภู ตอบว่า “รอพระนามจากเบื้องบน”

เมื่อได้พระนามจากเบื้องบนแล้ว จะบรรจุพระนามเข้าไปในไม้ที่เจาะเตรียมไว้ บางอันอาจจะบรรจุกระดูกแร้งลงไปด้วย แล้วอุดด้วยชันโรงใต้ดิน (ขี้สูดดินราบ) ตอกด้วยลิ่มไม้ปิดเอาไว้ และลงอักขระทับอีกที ถือเป็นอันเสร็จพิธี

หลวงปู่มักจะกำชับผู้ที่ได้รับไม้ครูของท่านว่า

“ห้ามเอาไปตีใครเด็ดขาด เพราะจะทำให้ผู้ถูกตีถึงกับเสียจริต รักษาไม่หายทีเดียว”

 

หลวงปู่ภู เกิดที่หมู่บ้านวังหิน อ.เมือง จ.ตาก ตรงกับปีขาล พ.ศ.2373 อายุ 9 ขวบ บรรพชาที่วัดท่าคอย ศึกษาเล่าเรียนอักษรสมัย (ภาษาขอม) และหนังสือไทยกับท่านอาจารย์วัดท่าแค

อายุ 21 ปี อุปสมบทที่พัทธสีมาวัดท่าคอย มีพระอาจารย์อ้น เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์คำ วัดท่าแค เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์มา วัดน้ำหัด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า จันทเกสโร

หลังอุปสมบท อยู่จำพรรษาที่สำนักวัดท่าแคระยะหนึ่ง ก่อนออกธุดงค์จาก จ.ตาก พร้อมกับหลวงปู่ใหญ่ ซึ่งเป็นพระพี่ชาย

สมัยที่ธุดงค์มากรุงเทพฯ ครั้งแรก ปักกลดอยู่บริเวณที่ตั้งวังบางขุนพรหม (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นป่ารกร้างว่างเปล่า

ต่อมา ท่านย้ายมาจำพรรษาที่วัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) ตามลำดับ

สุดท้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดอินทรวิหาร ซึ่งสมัยนั้นยังใช้ชื่อว่า วัดบางขุนพรหมนอก ในปี พ.ศ.2432 และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.2435

 

ส่วนสมณศักดิ์ที่ได้รับ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้รับตำแหน่งในปีใด เข้าใจว่าได้รับก่อนปี พ.ศ.2463 เพราะตามหลักฐานศิลาจารึกเกี่ยวกับการสร้างพระศรีอริยเมตไตรย มีข้อความตอนหนึ่งว่า…

“ถึง พ.ศ.2463 ท่านพระครูธรรมานุกูล (ภู) ผู้ชราภาพอายุ 91 ปี พรรษาที่ 70 ได้ยกเป็นกิตติมศักดิ์อยู่ในวัดอินทรวิหาร ท่านจึงมอบฉันทะให้พระครูสังฆบริบาล ปฏิสังขรณ์ต่อมาจนสำเร็จ”

หลวงปู่ภู เป็นพระเถระที่ยึดการธุดงค์เป็นกิจวัตรมาโดยตลอด พอออกพรรษาท่านจะออกรุกขมูลมิได้ขาด โดยร่วมธุดงค์ไปกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และหลวงปู่ใหญ่

การบำเพ็ญปฏิบัติของท่านจะเริ่มขึ้นหลังจากฉันจังหัน คือ เวลา 7 โมงเช้า โดยตลอดชีวิตจะฉันเพียงมื้อเดียว ผลไม้ที่ขาดไม่ได้คือ กล้วยน้ำว้า ท่านบอกว่าเป็นโสมเมืองไทย

ทุกวันท่านจะต้องออกบิณฑบาต ทั้งที่ไม่จำเป็น เพราะเจ้าฟ้าสมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ได้จัดอาหารมาถวายทุกวัน

เมื่อฉันเช้าแล้ว จะครองผ้าลงโบสถ์และลั่นดาลประตู ไม่ให้ผู้ใดเข้าไปรบกวน จากนั้นจะเจริญพระพุทธมนต์ถึง 14 ผูก วันละ 7 เที่ยว แล้วจึงนั่งวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปจนถึงเที่ยงทุกวัน

หลวงปู่ภู มรณภาพ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2476 เวลา 01.15 น. สิริอายุ 104 ปี พรรษา 83