คุยกับทูตฝรั่งเศส ‘ฌัก ลาปูฌ’ มากกว่าการพัฒนาความสัมพันธ์กับไทยสามศตวรรษ คือความเข้าใจระหว่างประชาชน

คุยกับทูต ฌัก ลาปูฌ ไทย-ฝรั่งเศส สัมพันธ์ที่ยืนยาว และยั่งยืนกว่าสามศตวรรษ (จบ)

ฝรั่งเศสเป็นประเทศมหาอำนาจในยุโรปและของโลก มีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายของสหภาพยุโรป เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก รองจากสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และอังกฤษ ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

รวมถึงเป็นมหาอำนาจทางทหาร มีอาวุธนิวเคลียร์

เป็นประเทศที่มองวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย นวัตกรรม และอุดมศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อเป็นการวางแนวทางนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนการวิจัยและการถ่ายทอดนวัตกรรมโดยความร่วมมือกับสหภาพยุโรป กระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรมของฝรั่งเศสจึงได้จัดทำและดำเนินยุทธศาสตร์ล่าสุดที่เรียกว่า “France Europe 2020”

วาระแห่งชาติของฝรั่งเศสคือ การบูรณาการองค์ความรู้จากทุกด้านเพื่อตอบสนองต่อโจทย์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ความปลอดภัยของอาหาร การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน การพัฒนาสังคมเมือง อุตสาหกรรม เทคโนโลยีดิจิตอล ไปจนถึงด้านอวกาศ

ประตูชัยฝรั่งเศส ในกรุงปารีส

ฝรั่งเศสยังเป็นแหล่งองค์ความรู้ที่ส่งเสริมขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยในด้านพลังงานทดแทน เทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ความร่วมมือ ด้านระบบการบริหารจัดการการอาชีวศึกษาโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมการพัฒนาการขนส่งระบบรางและรถไฟความเร็วสูง วิศวกรรมยานยนต์ และอากาศยาน

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการสร้างสรรค์ร่วมกันระหว่างศิลป์ตะวันออกและดีไซน์ตะวันตก ในโลกการผลิตที่ต่างวิถี ต่างวิธี และต่างขีดจำกัด

เมื่อนักออกแบบฝรั่งเศส มาสร้างสรรค์ผลงาน ร่วมกับดีไซเนอร์ในอาเซียน

“สามปีที่ผ่านมามีโครงการความร่วมมือด้านการออกแบบซึ่งครอบคลุมระยะเวลาหลายปี โดยใช้ชื่อโครงการว่า D17/20 : Design in Southeast Asia ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2017 และดำเนินต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยร่วมกับสถาบัน Institut fran?ais ปารีส สถาบัน Institut fran?ais ฮานอย ประเทศเวียดนาม และสถาบัน Institut fran?ais บันดุง ประเทศอินโดนีเซีย”

นายฌัก ลาปูฌ (His Excellency Mr. Jacques Lapouge) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เล่าถึงวัตถุประสงค์ของความร่วมมือดังกล่าวว่า

“เพื่อส่งเสริมนักออกแบบชาวฝรั่งเศสและชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ผ่านการทำงานร่วมกันในเวิร์กช็อปที่จัดขึ้น”

“ผลงานการออกแบบที่ร่วมกันสร้างสรรค์ได้นำไปจัดแสดงในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2020 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และนำไปจัดแสดงต่อที่ประเทศฝรั่งเศส”

นับเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับวงการออกแบบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่งเสริมช่างฝีมือและอาชีพช่างฝีมือให้มีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการสร้างสรรค์และผลิตชิ้นงาน

ซึ่งในระหว่างปี 2017-2019 ได้มีการจัดเวิร์กช็อปขึ้น 8 ครั้ง ในประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยมีนักออกแบบชาวฝรั่งเศส ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม รวม 43 คน เข้าร่วม

นักออกแบบเหล่านี้ได้จับคู่กันทำงาน แต่ละคู่มีชาวฝรั่งเศส 1 คนและนักออกแบบของประเทศนั้นๆ 1 คน โดยมีการร่วมงานกับผู้ผลิตชิ้นงานที่เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 18 แห่ง และสร้างสรรค์ผลงานออกมามากกว่า 100 ชิ้น

ซึ่งทั้งหมดจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2020 เมื่อ 1-9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และนำไปจัดแสดงต่อที่มหานครลีล หรือ Lille M?tropole ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบโลกประจำปี 2020 หรือ World Design Capital 2020

View of the Main square of Lille, France

เมืองหลวงแห่งการออกแบบโลก เป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยองค์กรการออกแบบโลก (WDO) หรือที่ก่อนหน้านี้รู้จักกันในชื่อ สมาคมออกแบบอุตสาหกรรมนานาชาติ (ICSID) เพื่อส่งเสริมให้เมืองต่างๆ ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการออกแบบในฐานะเครื่องมือที่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยจัดขึ้นต่อเนื่องทุกๆ สองปีตั้งแต่ปี 2008

สำหรับเมืองหลวงแห่งการออกแบบโลกที่ผ่านมา ได้แก่ ตูริน (2008) โซล (2010) เฮลซิงกิ (2012) เคปทาวน์ (2014) ไทเป (2016) และเม็กซิโกซิตี้ (2018)

โครงการความร่วมมือด้านการออกแบบ D1720 -Design in Southeast Asia

ผู้นำด้านอาหารและศิลปะการปรุงอาหารของโลก

เมื่อปี 2010ยูเนสโกได้ยกให้อาหารแบบฝรั่งเศส เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยท่านทูตเปิดเผยว่า

“ประเทศฝรั่งเศสฉลองศาสตร์แห่งการปรุงอาหารตามต้นตำรับฝรั่งเศส ด้วยการจัดงาน Go?t de France/ Good France โดยความริเริ่มของกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส และเชฟอาแล็ง ดูกัส (Alain Ducasse) ปีนี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ในเดือนเมษายนที่ใกล้จะถึงนี้ และจัดขึ้นในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ถือเป็นงานเฉลิมฉลองศิลปะด้านอาหารการกินของฝรั่งเศสที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะมีเชฟมากกว่า 5,000 คนเข้าร่วมทั่วโลก และจะมีการจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำเนื่องในโอกาสดังกล่าวในสถานทูตฝรั่งเศสมากกว่า 150 แห่ง”

นอกจากเพื่อแสดงให้เห็นจุดเด่นของอาหารฝรั่งเศสแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของฝรั่งเศสด้วย ทั้งนี้ ท่านทูตกล่าวว่า

“หนึ่งในสามของคนที่เดินทางไปประเทศฝรั่งเศสมักระบุว่าไปเพราะอาหาร”

“สำหรับงาน Go?t de France/ Good France 2020 ในวันนั้น เชฟทั่วโลกจะปรุงอาหารค่ำเพื่อเชิดชูความเป็นเลิศของอาหารฝรั่งเศสและเสน่ห์ของอาหารฝรั่งเศสในการทำให้เกิดการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ และการดึงดูดผู้คนให้มาร่วมโต๊ะเพื่อแบ่งปันความสุขด้วยอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเมนูที่ปรุงจะลดปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือ เพื่อคำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม”

“ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการเปิดให้ร้านอาหารชั้นสูงและร้านอาหารคุณภาพสูงทั่วโลกสมัครเข้าร่วมกิจกรรมและนำเสนอชุดเมนูอาหารที่แสดงศิลปะการปรุงอาหารแบบฝรั่งเศส ส่วนในประเทศไทย จะมีร้านอาหารที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และเกาะลันตา”

เมนูจากงานกาลา ดินเนอร์ Goût de France Good France 2019

ท่านทูตฌัก ลาปูฌ เสริมว่า

“สำหรับผมแล้ว การพัฒนาของประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทยถือเป็นเรื่องสำคัญ มีคนฝรั่งเศสจำนวนมากอาศัยอยู่ในประเทศไทย เช่นเดียวกับมีชาวฝรั่งเศสจำนวนมากมาเที่ยวประเทศไทย ผมหวังว่าจะมีคนไทยไปเที่ยวฝรั่งเศสกันมากขึ้น”

“เมื่อต่างคนต่างรู้จักกัน วิธีที่ดีที่สุดคือการชื่นชมความแตกต่างของกันและกัน ด้วยความรู้สึกนึกคิดที่เป็นธรรม”

“ดังนั้น ผมจึงมีความหวังว่าเมื่อเศรษฐกิจไทยมีการพัฒนาเติบโตขึ้น คนไทยจะสามารถไปฝรั่งเศสได้มากขึ้น และลงทุนเพิ่มขึ้นในฝรั่งเศส ปัจจุบัน เริ่มมีบริษัทไทยมากขึ้นในฝรั่งเศสเช่นเดียวกับมีบริษัทฝรั่งเศสมากขึ้นในไทย”

งานกาลา ดินเนอร์ Goût de France Good France 2019 ณ สถานทูตฝรั่งเศส

ก่อนอำลา ท่านทูตฌัก ลาปูฌ กล่าวทิ้งท้ายว่า

“การแลกเปลี่ยนระหว่างกันไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ศิลปิน บริษัท ดังที่กล่าวมาถือเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ใช่เพียงการพัฒนาความสัมพันธ์เท่านั้น หากแต่เป็นการพัฒนาความเข้าใจระหว่างประชาชนของเราด้วย นี่คือเรื่องสำคัญที่เราพยายามจะทำให้บรรลุเป้าหมายในที่สุด”

หอไอเฟลยามค่ำคืน

ประวัติ นายฌัก ลาปูฌ

– เข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2018

– สำเร็จการศึกษาจากสถาบัน Ecole sup?rieure des sciences ?conomiques et commerciales (ESSEC, ค.ศ.1978) และเป็นศิษย์เก่าสถาบัน Ecole nationaled”administration (รุ่น Solidarit? ค.ศ.1983)

– เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศมาเลเซีย ค.ศ.2002-2006

– เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศแอฟริกาใต้ ค.ศ.2009-2013 ควบคู่กับตำแหน่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศเลโซโท ค.ศ.2010-2013

– เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศสวีเดน ค.ศ.2014-2017

– เอกอัครราชทูตกำกับดูแลเรื่องการเจรจาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ค.ศ.2013-2014

– ก่อนหน้านั้น เคยปฏิบัติหน้าที่ในประเทศเอธิโอเปีย นครนิวยอร์ก สหประชาชาติ และประเทศญี่ปุ่น

– รองอธิบดีกรมสหประชาชาติ ที่ปรึกษาด้านยุโรปของประธานาธิบดีฝรั่งเศส ค.ศ.1999-2002

– อธิบดีกรมกิจการเศรษฐกิจและการคลัง กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส ค.ศ.2005-2007

– ที่ปรึกษาด้านการทูตของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ค.ศ.2007-2009