ฉัตรสุมาลย์ : สายกรรมฐานในพม่า ช่วยให้เราชัดเจนขึ้นในธรรมชาติตามที่มันเป็นจริง

สายกรรมฐานจากพม่าที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในประเทศไทยปัจจุบัน น่าจะเป็นสายการปฏิบัติของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

ซึ่งแม้ท่านอาจารย์จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็ยังมีหน่วยงานของท่านที่ดำเนินการโดยชาวไทยอย่างต่อเนื่อง

ในการปฏิบัตินั้น มีเงื่อนไขว่า เมื่อเข้าหลักสูตรแล้ว จะออกมาก่อนไม่ได้ ต้องอยู่ให้จบหลักสูตร 10 วัน

สายการปฏิบัติของท่านอาจารย์โกเอ็นก้าก็มาจากพม่า แม้ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเองจะเป็นชาวอินเดียที่เข้าไปทำธุรกิจในพม่า และประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

แต่ที่มาพร้อมกับความสำเร็จ คือ โรคปวดศีรษะไมเกรนที่ท่านอาจารย์เดินทางไปรักษาหลายประเทศ

แต่ในท้ายที่สุด เมื่อมาปฏิบัติวิปัสสนา ผลพลอยได้คือ หายจากโรคไมเกรนด้วย

คราวนี้ ท่านธัมมนันทาเดินทางไปพม่าเพื่อร่วมประชุมที่เรียกว่าการวิสาสะระหว่างชาวคริสต์นิกายแองกลิกัน ลูเธอรัน กับชาวพุทธ อย่างที่ได้เล่าให้ฟังถึงเนื้อหาของการประชุมครั้งนี้แล้ว

ในบทความนี้ ขอเจาะเล่าถึงเหตุการณ์วันที่ 18 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่สองของการประชุม ทางผู้จัดท้องถิ่นคือโบสถ์ของนิกายแองกลิกันประจำเมืองย่างกุ้ง ขอให้ทางมหาวิทยาลัยพุทธเป็นเจ้าภาพในวันที่สองของการประชุม

มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ชื่อเต็มๆ International Theravada Buddhist Missionary University มหาวิทยาลัยนานาชาติพุทธศาสนานิกายเถรวาท ไม่รู้จะแปลคำว่า missionary ตรงไหน ใช้ในความหมายของธรรมทูตน่ะค่ะ

สร้างมาตั้งแต่ ค.ศ.1998 เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ ผู้เขียนเคยมาเยี่ยมตอนที่สร้างเสร็จใหม่ๆ โดยภูมิสถาปัตย์ใหญ่โตน่าประทับใจ แต่ทั้งมหาวิทยาลัยมีเพียง 4 คณะ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ภาษา และธรรมทูต ค่ะ

คณะของเราจากที่ประชุมประมาณ 50 คน เป็นชาวพุทธเพียง 5-6 คน จากศรีลังกา ไทย และญี่ปุ่น นอกนั้นเป็นชาวคริสต์ในสองนิกายที่ว่ามาแล้ว

เราได้รับการต้อนรับในห้องประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัย ทางฝั่งเจ้าภาพ มีพระภิกษุ 3 รูป ถิลาชิ่น คือแม่ชีของพม่า 2 ท่าน ทั้งสองท่านจบปริญญาเอกจาก ม.เดลลี ในประเทศอินเดีย

ทั้งสองท่านพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก ขอบอก เรื่องพม่าพูดภาษาอังกฤษนี้ มีครั้งหนึ่ง ท่านอาจารย์ภิกษุชาวพม่าไปร่วมงานที่สารนาถ ท่านได้นำพระไตรปิฎกฉบับพม่าไปมอบแด่องค์ทะไลลามะในงาน ท่านกล่าวอารัมภบทก่อนที่จะทำพิธีมอบ ไม่มีใครรู้เรื่องเลยว่าท่านพูดว่าอะไร จนองค์ทะไลลามะออกปากต่อหน้าว่า Your English is kind of difficult คือฟังไม่ออก

เพราะฉะนั้น เมื่อพบแม่ชีรุ่นใหม่ที่พูดภาษาอังกฤษได้ชัดเจน รู้สึกขอบคุณมากเป็นพิเศษ

ท่านหนึ่ง คือ ถิลาชิ่น ดร.นิมาลา ท่านนี้ ตัวเล็กๆ อายุ 55 มีหน้าที่อธิบายให้คณะของเราฟังถึงสายกรรมฐานหลักๆ 4 สายในพม่า

ผู้เขียนเห็นว่าเป็นประโยชน์ และนำมาฝากกัน

 

พุทธศาสนาในพม่านั้นเริ่มมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 มีหลักฐานทางโบราณคดีที่พิสูจน์ได้ และรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์พุกาม

แต่การปฏิบัติวิปัสสนาที่เริ่มทำกันอย่างจริงจังในปัจจุบันนั้น เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง

พระอาจารย์ท่านแรกที่เริ่มสอนวิปัสสนา จนเป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ ท่านอาจารย์ เลดี สยาดอ

สยาดอแปลว่าอาจารย์ แต่ใช้ในความหมายของราชครู คือเป็นอาจารย์ทรงความรู้ระดับถวายความรู้แก่ราชาได้ เลดี คือชื่อเมืองที่เป็นที่ตั้งของวัด

ท่านอาจารย์เลดีสยาดอ มรณภาพก่อนที่พม่าจะได้รับอิสรภาพจากอังกฤษใน ค.ศ.1948 ท่านเชี่ยวชาญทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ

ผู้ที่สนใจปฏิบัติตามคำสอนของท่าน จะเน้นการฝึกหลักสูตร 10 วัน โดยในสามวันแรกจะเน้นอานาปานสติ มีสติรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก

หลังจากมีสติมั่นคงขึ้น วันที่ 4 เมื่อจิตซัดส่ายน้อยลง ให้พิจารณาอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่มากระทบ เช่น เสียงกระทบหู จากนั้น ฝึกสำรวจการกระทบตั้งแต่ศีรษะแล้วไล่ลงมาจนถึงฝ่าเท้า

สัมผัสที่ศีรษะนั้น ลองนึกถึงเด็กเล็กๆ ที่กระหม่อมยังไม่ปิด เราจะเห็นการเต้นตุบๆ ที่กระหม่อมชัดเจน แม้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่กะโหลกศีรษะเต็มแล้ว แต่ก็ยังมีสัมผัสนั้นอยู่ ให้สแกนความรู้สึกที่สามารถรับได้ให้ชัดเจนขึ้น

จุดที่จะไม่มีความรู้สึกคือผมกับเล็บ นอกนั้น ทั้งตัวเราจะมีความรู้สึกได้ทั้งสิ้น ที่ให้ฝึกอย่างนี้ ธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏบนร่างกายชัดเจนขึ้น ทำความเข้าใจในธรรมะที่ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ความไม่จีรัง และความที่ไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้ เมื่อเข้าใจธรรมชาติเช่นนี้ เป็นวิปัสสนา

การทำวิปัสสนา ช่วยให้เราชัดเจนขึ้นในธรรมชาติตามที่มันเป็นจริง

 

การทำวิปัสสนาสายของ ท่านอาจารย์มหาสีสยาดอ เป็นสายที่สอง

มหาสี แปลว่า กลองใหญ่ ค่ะ ที่วัดท่านมีกลองใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า ราชครูวัดกลองใหญ่

ในสายของมหาสีสยาดอนี้ ให้พิจารณา ยุบหนอ พองหนอ วัดที่ผู้เขียนรู้จักมาแต่เด็กที่ปฏิบัติตามสายนี้ คือวัดมหาธาตุฯ

พิจารณาลมหายใจ แต่ดูที่ปลายลม คือ ที่หน้าท้อง เมื่อหายใจเข้าท้องป่อง จึงพิจารณาว่า พองหนอ และเมื่อลมหายใจออก ท้องแฟบ พิจารณาว่า ยุบหนอ

ในธาตุทั้งสี่ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวตนของเรา คือ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ นั้น การทำวิปัสสนาในสายของมหาสีสยาดอ พิจารณาการเคลื่อนของลม คือ วาโยธาตุ

สังเกตว่า จิตของเราจะกวัดแกว่งระหว่างอดีต เรื่องที่เกิดไปแล้ว หรือกังวลไปสู่อนาคตที่ยังไม่เกิด จังหวะที่จิตจะอยู่กับปัจจุบันน้อยมาก ในการปฏิบัติจึงเน้นให้กลับมาสู่ปัจจุบัน

ในสายนี้ จะไม่ใช้ฌาน สังเกตจิตสงบเป็นขณะ จะไม่ให้จมดิ่งเข้าสู่ฌาน ฝึกให้จิตชัดขึ้น ให้เห็นว่า ทุกสิ่งเปลี่ยนแปรไปอยู่ทุกขณะ

ฝึกให้จับให้ได้ระหว่างรูปกับนาม และเห็นตามที่มันเป็นจริง

 

ในสายที่สามที่ท่าน ดร.นิมาลาอธิบาย คือ สายของ ท่านอาจารย์โมก็อกสยาดอ ท่านอาจารย์อยู่ที่วัดในเมืองโมก็อก ท่านฝึกวิปัสสนาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อยู่ในถ้ำนาน 4 ปี ท่านเน้นการสอนอภิธรรม ลูกศิษย์เชื่อว่าท่านอาจารย์บรรลุอรหันต์

ในการเริ่มต้น ท่านสอนให้ใช้อานาปานสติตอนเริ่มต้นเพียง 15 นาที ไม่มีการสแกนตรวจสอบความรู้สึก แต่ดูว่าจิตในขณะปัจจุบันมีอะไรเป็นตัวนำ ให้จับให้ได้ ไม่ว่าความรู้สึกนั้น ดี ไม่ดี โลภ

ท่านอาจารย์สอนว่า อารมณ์ที่จิตรู้นั้น จะมีเพียงอย่างเดียว การฝึกให้เฝ้าดูว่าอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ในแต่ละขณะ ทำความเข้าใจว่า ไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้นในจิต ไม่ตั้งอยู่ได้ มันจะเปลี่ยนไป ให้เห็นธรรมะในธรรมชาติที่ไม่มีความเที่ยง

เพื่อละคลายความยึดมั่นนั่นเอง

 

การปฏิบัติวิปัสสนาในสายที่สี่ คือสายของปาอ็อกสยาดอ การปฏิบัติในสายนี้ เริ่มต้นจากการพิจารณาหายใจเข้า ออก ไปจนถึงฌาน อาจจะปฏิบัติไปถึง 4 เดือน

การเข้าฌาน ช่วยให้จิตนิ่ง เป็นสมาธิ รวมตัวเป็นหนึ่ง

ในขณะที่อยู่ในฌานนั้น จะเป็นอิสระจากอารมณ์ที่เขามาสัมผัสได้แม้ชั่วคราว ในฌานจะก้าวข้ามความง่วงเหงาได้

เมื่อจิตได้สัมผัสกับสมถภาวนา การยกระดับจิตเข้าสู่วิปัสสนาจะง่ายขึ้น

ในท้ายที่สุด ก็เน้นเป้าหมายเดียวกัน

ให้เห็นธรรมชาติแท้ของจิตนั่นเอง

 

ดร.นิมาลาเล่าว่า ในพม่านั้น ท่านอาจารย์แต่ละท่านก็อาจจะมีเทคนิคต่างๆ กันไป แต่สายที่ท่านนำมาสรุปให้ฟังนี้ เป็นสายกรรมฐานที่มีผู้นิยมมาก

หลังจากพม่าได้รับอิสรภาพ ผู้คนนิยมการทำวิปัสสนามากขึ้น มีศูนย์ฝึกวิปัสสนาในพม่ามากถึง 2,000 แห่ง

เฉพาะสายของมหาสีสยาดอนั้น มีถึง 500 แห่ง เป็นต้น

ทุกแห่งมีผู้สนับสนุนทางการเงินอย่างดี ผู้ที่เข้าฝึกอบรมไม่มีค่าใช้จ่าย แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องอยู่ให้จบหลักสูตร เพราะการฝึกวิปัสสนาเหมือนกับการเข้ารับการผ่าตัดขบวนการความคิด และความมักคุ้นของเราที่จะหาทุกข์มาใส่ตัว

เพราะฉะนั้น ในระหว่างการบำบัดนั้น หากทิ้งกลางคัน จะไม่เป็นผลดีต่อผู้ปฏิบัติเอง

อีกทั้งเป็นการปิดโอกาสคนอื่นที่จะสมัครเข้ามาฝึกอบรมด้วย

การที่เราได้ทำความเข้าใจว่า การปฏิบัติในแต่ละสาย ในสี่สายที่พูดถึงนี้ มีเทคนิคที่ไม่เหมือนกัน

แม้เป้าหมายสุดท้ายจะเหมือนกันก็ตาม การที่จะปฏิบัติให้ได้ผล จึงควรเป็นการปฏิบัติตามเทคนิคของสายใดสายหนึ่ง ไปจนตลอดสาย

มิใช่การทำแบบผสมผสาน ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของอาจารย์แต่ละท่านที่สอน

มิใช่เริ่มต้นแบบเลดีสยาดอแล้วไปต่อด้วยมหาสีสยาดอ หากผู้ปฏิบัติเกิดติดขัดในการเจริญภาวนา จะกลับไปถามอาจารย์สายไหนก็จะลำบาก

ผู้ปฏิบัติควรชัดเจนว่า ตนเองกำลังปฏิบัติอยู่ในสายใด และให้มีความเคารพในเทคนิคของการปฏิบัติที่ตนได้รับการถ่ายทอดมาก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะทำแบบผสมผสานตามความสะดวกของตน อาจจะสร้างความสับสน

และกลายเป็นปัญหาที่จะหาอาจารย์แก้ให้ยาก