ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ยังไม่เห็นหนทางสู่อนาคต

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

หายนะของประเทศจากวิกฤตไวรัสโควิดเป็นเรื่องที่ทุกคนรับรู้กัน ไม่ว่าจะเป็นการประเมินของกรมควบคุมโรค, สมาคมหมอทรวงอก, กลุ่มหมอที่เข้าพบนายกฯ หรือคณะแพทยศาสตร์ มหิดล อย่างดีที่สุดที่ประเทศไทยจะเจอคือ ปัญหาไวรัสลากยาวไปถึงเดือนเมษายน แล้วค่อยๆ ลดลง หากเรามีมาตรการที่ดีพอ

ทุกประเทศรู้ว่าโควิดไม่ใช่ไวรัสที่ติดแล้วตาย 100% แต่อันตรายของไวรัสคืออัตราการแพร่ระบาดที่สูงจนอาจทำให้เกิดผู้ป่วยมากเกินกว่าหมอ, โรงพยาบาล และทรัพยากรสาธารณสุขอื่นๆ จะรองรับได้ทั้งหมด

หลายประเทศจึงใช้วิธีสร้าง “ระยะห่างทางสังคม” สกัดไม่ให้ไวรัสแพร่ระบาดจนปริมาณผู้ป่วยล้นเกิน

ในแบบจำลองซึ่งหมอสร้างกราฟเพื่อประเมินให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจว่าจะทำการปิดเมือง นโยบาย “ระยะห่างทางสังคม” ที่เข้มข้นจะทำให้ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิต 485-540 ราย ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับตัวเลขคนตายที่อาจสูงถึง 7,000 กว่าๆ หากไม่ทำนโยบายนี้และ “ปิดเมือง” อย่างเต็มตัว

อย่างไรก็ดี ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มุ่งสกัดไวรัสด้วย “ระยะห่างทางสังคม” และในโลกที่อยู่นอกแบบจำลองซึ่งเป็นได้ทั้งถูกและผิด ทุกประเทศเผชิญปัญหาเรื่องความไม่สามารถควบคุมประชากรให้มี “ระยะห่างทางสังคม” อย่างเข้มข้น

ไม่ว่าจะด้วยความงี่เง่าของประชากรหรือความสะเพร่าของนโยบายรัฐเอง

ขณะที่อังกฤษและอิตาลีมีปัญหาคนออกนอกบ้านตามอำเภอใจ แคลิฟอร์เนียมีคนแห่ไปปีนเขา โตเกียวแห่ชมซากุระบาน

ไทยก็เกิดปรากฏการณ์ที่คนต่างจังหวัดและแรงงานต่างด้าวกลับบ้านมหาศาลจนแผน “ปิดเมือง” พังพินาศ และ “ระยะห่างทางสังคม” กลายเป็นการส่งคนจากพื้นที่เสี่ยงอย่างกรุงเทพฯ ไปทุกชุมชน

ถ้าแนวคิด “ปิดเมือง” เกิดขึ้นเพื่อควบคุมให้ไวรัสระบาดสูงสุดราวเดือนเมษายนแล้วลดลง การดำเนินนโยบาย “ปิดเมือง” ที่ไม่รอบคอบก็ทำให้แผนคุมการระบาดของไวรัสผิดไปจากที่ตั้งไว้ แปลว่าเดือนเมษายนนี้คงไม่จบ และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าไทยจะคุมสถานการณ์ได้ตามแบบจำลองที่หมอทำ

หมอและคนจำนวนมากชอบพูดว่า “ปิดเมือง” คือนโยบายที่ “เจ็บแล้วจบ” แต่ที่จริงเรื่องนี้เป็นความเชื่อซึ่งไม่มีอะไรเป็นหลักฐานยืนยัน เพราะถึงแม้นโยบายนี้จะทำให้จีนประสบความสำเร็จในการพิชิตไวรัสโควิดจนผู้ติดเชื้อใหม่เป็น 0 ตั้งแต่วันที่ 19 แต่ก็ยังไม่ส่งผลให้อิตาลีและมาเลเซียมีการระบาดของไวรัสลดลง

ในกรณีของอิตาลีและมาเลเซีย “ปิดเมือง” ไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ซึ่ง “เจ็บแล้วจบ” แต่กลับนำอิตาลีไปสู่การยกระดับความเข้มข้นของการปิดเมืองด้วยการใช้ทหารและโดรนคุมความเคลื่อนไหวของประชาชน รวมทั้งนำมาเลเซียไปสู่การขยายระยะเวลาของการปิดเมืองให้นานขึ้นกว่าที่กำหนดไว้สองสัปดาห์

เมื่อคำนึงถึงความพินาศของนโยบายปิดเมืองที่ผิดแผนจนเร่งให้คนจากพื้นที่โควิดระบาดสูงสุดกลับบ้านโดยไม่ต้องรอสงกรานต์ การปิดเมืองของไทยไม่มีทาง “เจ็บแล้วจบ” ในสองสัปดาห์ และมีโอกาสมหาศาลที่จะ “เจ็บแล้วไม่จบ” ต่อไปอีกแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งเดือนกว่าๆ หรืออาจจะเป็นสองเดือนแบบจีน

การปิดเมืองคือทางเลือกทางนโยบายที่มีความจำเป็น และที่จริงมาตรการปิดด่านชายแดนกับปิดการเข้า-ออกประเทศทางอากาศโดยตั้งเงื่อนไขขึ้นเครื่องที่เข้มงวดนั้นทำให้ไทยเข้าสู่การ “ปิดประเทศ” โดยปริยายไปแล้วด้วยซ้ำ หรืออีกนัยคือ “ปิดเมือง” และ “ปิดประเทศ” เป็นสภาวะปกติที่จะอยู่กับคนไทยไปอีกนาน

โลกาภิวัตน์ทำงานบนการไหลเวียนอย่างเสรีของทรัพยากรและผู้คน และถ้าเข้าใจความจริงว่าการปิดเมืองและปิดประเทศในไทยเป็นส่วนหนึ่งของการปิดเมืองและปิดประเทศทั่วโลก สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ก็เปรียบได้กับการสร้าง “กำแพงเมืองจีน” ล้อมรอบประเทศและเมืองหลักของโลกทั้งหมดในปัจจุบัน

ภายใต้สถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ โลกาภิวัตน์กำลังถูก “หักล้าง” หรือที่เรียกว่า Disruption จนทั่วโลกกำลังเผชิญกับ New Normal หรือ “มาตรฐานใหม่” ที่รัฐในทุกประเทศจำเป็นต้องคิดใหม่เพื่อออกแบบระบบเศรษฐกิจสังคมใหม่ให้ตอบรับกับมาตรฐานนี้ในระยะยาว

กองเชียร์รัฐบาลเสนอให้ประยุทธ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้เหตุการณ์ และในที่สุดประยุทธ์ก็ตัดสินใจแบบที่กองเชียร์บอก แต่โควิดเป็นไวรัส และไม่มีทางที่ลูกกระสุนจะปราบไวรัสได้เหมือนตอนยิงคนเสื้อแดงปี 2553 มาตรการนี้จึงต้องใช้เพื่อเป้าหมายที่แน่ชัด ไม่ใช่เพราะคิดว่าสู้ไวรัสด้วยอำนาจเผด็จการ

ตามหลักการแล้วการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องใช้ให้สั้นและจบให้เร็ว แต่ด้วยบรรทัดฐานของประเทศไทยใต้อุ้งเท้าเผด็จการ สามจังหวัดภาคใต้ก็ถูกควบคุมภายใต้มาตรการนี้หรือคล้ายกันนี้อย่างต่อเนื่อง “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ในประเทศไทยจึงมักจะลากยาวไปจนถึงจุดที่ผู้มีอำนาจต้องการ

คำถามคือ เรากำลังพูดถึง “ระยะยาว” ที่กินระยะเวลาแค่ไหนและมีผลอย่างไร?

ทุกประเทศในโลกเผชิญสถานการณ์ไวรัสแพร่ระบาดไม่เหมือนกัน แต่ที่แน่ๆ ผู้นำหลายประเทศประเมินคล้ายกันว่ามีโอกาสพบผู้ติดเชื้อราว 50-60% ของประชากรทั้งหมด และถึงแม้ผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการจะน้อยลง และผู้ติดเชื้อที่ถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลจะน้อยลงไปอีก การแก้ปัญหาไวรัสต้องใช้เวลาเป็นเดือน

ถ้าถือว่าจีนเป็นต้นแบบของการ “ปิดเมือง” และ “ปิดประเทศ” เพื่อกำจัดไวรัสให้สิ้นสุดลง วิธีการใช้อำนาจอย่างเข้มข้นทำให้จีนต้องใช้เวลาราวสองเดือนเศษๆ จึงจะยุติการติดเชื้อไวรัสในประเทศสำเร็จ การ “ปิดเมือง” และ “ปิดประเทศ” ในกรณีไทยก็อาจครอบคลุมระยะเวลาสองเดือนเป็นอย่างน้อยเช่นเดียวกัน

หนึ่งสัปดาห์ของการ “ปิดเมือง” และ “ปิดประเทศ” ผ่านไปท่ามกลางเสียงโกรธแค้นของคนหาเช้ากินค่ำที่ตกงาน, ไม่มีโอกาสทำมาหากิน, กิจการที่ค้าขายฝืดเคือง รวมทั้งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอีกเหลือคณานับ สถานการณ์ฉุกเฉินที่ส่อลากยาวถึงสองเดือนจะทำให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้นจนไม่มีใครคาดผลที่ตามมาได้เลย

แน่นอนว่ารัฐบาลทำถูกที่ออกมาตรการเยียวยาทั้งในรูปแบบสินเชื่อและเงินช่วยเหลือโดยตรง แต่ถ้าหากสถานการณ์ฉุกเฉินไม่สามารถเผด็จศึกไวรัสโดยเร็ว ความสามารถของรัฐในการเยียวยาจะมีมากแค่ไหน เม็ดเงินภาครัฐจะเหือดแห้งหรือไม่ในเวลาที่รายได้จากภาษีเหือดแห้งอย่างที่รัฐไม่เคยเผชิญมาก่อนเลย

กลไกหลักของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ภาคเอกชน ยิ่งไปกว่านั้นคือรายได้หลักของประเทศมาจากการส่งออก โลกที่เผชิญไวรัสจนทุกประเทศสร้างกำแพงลมสกัดโลกาภิวัตน์คือโลกที่การบริโภคจะถดถอยมหาศาล หายนะของภาคเอกชนเป็นเรื่องที่ยังประเมินจุดต่ำสุดไม่ได้

และไม่ง่ายที่รัฐจะเล่นบทวีรบุรุษกอบกู้สังคม

 

สังคมไทยเข้าสู่สภาวะถดถอยระดับประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของสภาวะถดถอยระดับโลก ถ้าหกปีนี้คนไทยโกรธแค้นรัฐบาลเพราะทำให้เศรษฐกิจย่อยยับด้วยอัตราการเติบโตแค่ 1-2% จนทุกคนจนลง ปีนี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจอาจ -2 หรือ -3% ซึ่งเท่ากับความจนและความฝืดเคืองจะรุนแรงกว่าหกปีหลายเท่าตัว

รัฐบาลประกาศอุดหนุนคนเดือนละห้าพันเป็นเวลาสามเดือน แต่คำถามคือเงินอุดหนุนแบบนี้จะทำให้คนพอกินพอใช้ได้นานแค่ไหนในเศรษฐกิจที่พังพินาศแบบนี้ การออกแบบระบบเศรษฐกิจ สังคมใหม่เป็นเรื่องที่ต้องทำให้มากที่สุด แต่ยังไม่เห็นวี่แววของการคิดแก้ปัญหานี้จากรัฐบาลนี้เลย

ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ใช่และไม่มีวันเป็นผู้นำที่จะนำพาสังคมไทยฝ่าวิกฤตไปสู่ชีวิตที่ดี และในประเทศที่ชอบเปรียบนายกฯ เป็นม้า พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นเหมือนม้าแก่ๆ ที่แค่พาข้ามลำธารได้ก็ถือว่าเป็นปาฏิหาริย์เหลือเกิน

สถานการณ์ฉุกเฉินต้องการผู้นำที่เก่งและมีวิสัยทัศน์อย่างยิ่งยวด แต่คุณสมบัติแบบนี้แม้แต่นิดเดียวในผู้นำประเทศคนปัจจุบัน คนไทยโชคร้ายที่เผชิญห้วงเวลาที่มืดมิดภายใต้ผู้นำแบบนี้

แต่ความมืดถึงจุดหนึ่งก็ต้องสิ้นสุด และในที่สุดสังคมคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว