อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ประโยชน์ของ “ความเค็ม”

ปากะศิลป์ฉบับอ่านใหม่ (22)

เกลือและความเค็ม (3)

 

“สำหรับมนุษย์แล้วไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าเกลือและดวงอาทิตย์”

อิสิโดเร่ แห่ง เซวิลล์-Isidore of Seville

 

ตั้งแต่การที่ถูกสกัดออกจากน้ำพุด้วยฝีมือของชาวโรมันเมื่อแปดพันปีก่อน เกลือได้กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของอาหารและวัฒนธรรม จนแม้แต่กลายเป็นสิ่งที่สามารถแลกเปลี่ยนแทนเงินตราได้

ดังคำว่า Salary หรือค่าจ้างหรือเงินเดือนก็มีที่มาจากคำว่าเกลือหรือ Salt นั่นเอง

ความสำคัญของเกลือนั้นทำให้ชุมชนในยุคโบราณเริ่มต้นจากแหล่งเกลือ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากท้องทะเลนักซึ่งสามารถทำเกลือหรือมีเกลือไว้ใช้ได้ตลอด หรือชุมชนที่มีบ่อเกลือในบริเวณพื้นดินหรือหุบเขาหรือที่ราบ เกลือทำหน้าที่ทั้งการปรุงรส (Seasoning) ไปจนถึงใช้ถนอมอาหาร (Curing) จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีวิธีทำเกลือในอดีตอยู่สามวิธีด้วยกัน

วิธีแรก คือการทำนาเกลือ วิธีนี้จะใช้การกักน้ำทะเลและอาศัยแสงแดดและลมช่วยทำให้น้ำทะเลระเหยไปจนตกผลึกเป็นเกลือ (ดังเราพบเห็นตามจังหวัดชายทะเล)

วิธีที่สอง คือการต้มหน้าดินที่ปะปนด้วยเกลือ วิธีนี้จะพบเห็นในพื้นที่แห้งแล้งซึ่งเคยเป็นท้องทะเลเก่ามาก่อนและมีเศษเกลือปะปน เมื่อฤดูฝนมาถึง น้ำฝนจะชะหน้าดินจนเห็นเม็ดเกลือ ชาวบ้านจะขูดเอาหน้าดินเหล่านั้นไปต้มแปรเปลี่ยนเป็นเกลือ (เกลือชนิดนี้ผลิตมากในทางเหนือและอีสานของประเทศ)

ส่วนวิธีที่สาม คือการทำเหมืองเกลือจากแหล่งที่มีเกลือซ่อนอยู่ใต้ดิน (พบมากในละตินอเมริกา)

การทำเกลือแต่ละแบบ แต่ละที่ จะให้รสชาติของเกลือที่แตกต่างกันออกไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเกลือจากหน้าดินที่แต่ละพื้นที่มีแร่ธาตุที่เข้ามาผสมกับเกลือต่างกันไป

รวมถึงเกลือตามเหมืองเกลือที่มีรสชาติตามลักษณะธรณีวิทยาในที่นั้น

จนแม้กระทั่งการทำนาเกลือหรือ Harvesting ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่างเพราะท้องทะเลแลดูคล้ายคลึงกันหมดก็ยังให้ผลของรสชาติเกลือที่แตกต่างกันอยู่ดี

เกลือจากทะเลหรือมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิสูงจะให้ความเค็มมากกว่าเกลือที่มาจากท้องทะเลที่มีอุณหภูมิต่ำ

ดังนั้น ทุกขวดของเกลือธรรมชาติที่เรามีอยู่ในครัวจึงล้วนเป็นเกลือที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว

 

ความผูกพันระหว่างเกลือกับผู้คนสร้างตำนานขึ้นมากมายหลายเรื่อง อย่างในตะวันตกในยุคโรมัน เมื่อผู้เป็นสามีที่มีอาชีพเป็นกะลาสีเรือต้องออกสู่ท้องทะเลเป็นเวลานาน ผู้เป็นภรรยาจะพกขวดเล็กๆ ใบหนึ่งเอาไว้คอยเก็บน้ำตาของตนเองที่หลั่งไหลออกมาเพราะความทุกข์ใจจากการต้องห่างผู้เป็นที่รัก

ขวดใบนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ขวดน้ำตา หรือ Tear Bottle”

และเมื่อผู้เป็นสามีกลับจากท้องทะเล ปริมาณของของเหลวที่เชื่อกันว่าเป็นน้ำตาในขวดจะเป็นประจักษ์พยานถึงความเศร้าสร้อยของภรรยาที่ต้องห่างจากสามี

ประเพณีปฏิบัติที่ว่านี้มีสิ่งพ้องเคียงอันน่าฉงนสองประการ

ประการแรก คือน้ำตานั้นมีรสเค็มไม่ต่างจากน้ำทะเลที่ผู้เป็นสามีกำลังล่องลอยอยู่กับเรือของเขา

ประการที่สอง คือไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่าน้ำตานั้นมาจากความเศร้าแต่เพียงอย่างเดียว ผู้เป็นภรรยาอาจเติมน้ำทะเลลงไปในขวดได้แม้ว่าเธอจะไม่รู้สึกโศกเศร้าอันใดเลย

ความพ้องเคียงระหว่างน้ำทะเล น้ำตา ราวกับจะมีที่มาจากปริมาณของเกลือในร่างกายเราด้วย

ระดับของโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือในร่างกายของเราใกล้เคียงระดับของโซเดียมคลอไรด์ในท้องทะเล

ดังนั้น นอกจากผลในทางกายภาพที่เกลือช่วยปรุงรส ช่วยถนอมอาหาร

เกลือในทางจิตใจไม่ว่าจะเป็นน้ำเกลือหรือน้ำทะเลยังช่วยเยียวยาความทุกข์เราด้วย

ความรู้สึกอบอุ่นที่ได้เห็นท้องทะเล ความรู้สึกผ่อนคลายที่ได้เห็นน้ำสีฟ้าและฟองคลื่นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการพักผ่อนตากอากาศริมทะเล

อดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ถึงกับให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า

“เราทุกคนล้วนมีเกลืออยู่ในร่างกายเช่นเดียวกับน้ำทะเล เกลืออยู่ในเลือด ในเหงื่อ ในน้ำตาของเรา เราผูกพันกับท้องทะเล และยามที่เรากลับสู่ท้องทะเล เมื่อใดก็ตาม เรากำลังกลับคืนไปสู่ถิ่นที่เราจากมา”

 

เราสามารถเดินทางไปทะเลและพบบุคคลที่มาเยียวยาจิตใจด้วยท้องน้ำและท้องฟ้าสีครามได้เสมอ

อเลสซานโดร บาริกโก้ นักเขียนนวนิยายชาวอิตาเลียน ผู้แต่งนวนิยายเรื่องไหมอันโด่งดังได้เขียนนวนิยายของเขาอีกเรื่องหนึ่งที่มีชื่อว่า Ocean Sea เล่าถึงผู้คนแปลกประหลาดที่โรงแรมริมทะเลแห่งหนึ่ง

ศิลปินผู้วาดภาพท้องทะเลทุกวัน และเมื่อวาดเสร็จก็จะโยนมันลงทะเลไป

ศาสตราจารย์ที่เดินเตร็ดเตร่ตามชายหาดเพื่อทำการวิจัยระยะห่างของคลื่นแต่ละลูกก่อนที่มันจะสลายตัว

ผู้ป่วยสาวที่คิดว่าอากาศริมทะเลจะทำให้เธอดีขึ้น

กะลาสีเรือผู้มีบาดแผลจากท้องทะเลและคิดว่าการเผชิญหน้ามันอีกครั้งจะทำให้เขาเข้มแข็งขึ้น

หลายสิบชีวิตอยู่ที่นั่น แลกเปลี่ยนสนทนา ความฝัน ก่อนจะพบว่าพวกเขามาที่นี่เพราะสิ่งเดียวกัน สิ่งนั้นผูกพันพวกเขาไว้ด้วยกันแต่ก็แยกสลายพวกเขาออกจากกันในที่สุดด้วย

เราทุกคนล้วนมีความทรงจำต่อท้องทะเลเสมอ มากบ้าง น้อยบ้าง ลึกซึ้งบ้างหรือตื้นเขินแตกต่างกัน

หากทะเลคือที่ที่เรา ที่มนุษย์เราถือกำเนิดมา ความทรงจำของเราที่มีต่อท้องทะเลก็คือความทรงจำที่เรามีต่อแม่ผู้ให้กำเนิด แม่ที่มีสีผิวสีฟ้าคราม

แม่ที่น้ำตาของแม่มีรสเค็มดังเกลือ

 

ผมจำความรู้สึกครั้งแรกที่ไปยังท้องทะเลได้ อายุเจ็ดขวบ กำลังจะขึ้นประถมหนึ่ง ฤดูร้อนหยุดพักหลังเสร็จสิ้นชั้นเรียนอนุบาล ปู่มีบ้านพักของคนรู้จักแถวหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี ครอบครัวของเราจึงคิดว่าร้อนนั้นแทนการนั่งอยู่กับบ้าน กินข้าวเหนียวมะม่วงชามแล้วชามเล่ากับน้ำแข็งใส เด็กอย่างผมและน้องสาวควรได้เห็นทะเล

พวกเราออกจากบ้านแต่รุ่งสาง ดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น รถจี๊ปเก่าแก่พาเราออกไปทางถนนเพชรเกษม ผ่านจังหวัดนครปฐม พวกเราแวะกินข้าวเช้าที่นั่น สักการะองค์พระปฐมเจดีย์ที่นั่นก่อนจะมุ่งหน้าสู่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี

เราแวะกินข้าวเที่ยงที่เขาวัง เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นลิงจำนวนมาก พวกมันพากันลงมาจากเขา ส่งเสียงและวิ่งวนอยู่รอบร้านขนมหวานเชิงเขา

หลังจากทุกคนอิ่ม เราก็ถึงที่หมายสุดท้าย ภาพขอบทะเลที่ผมเคยเห็นจากโปสการ์ดและปฏิทินปรากฏขึ้น

สีฟ้าใสและเกลียวคลื่นสีขาวแทรกสอดตัวเองเป็นระยะ แต่ที่เหนือกว่าสิ่งอื่นใด ทะเลไม่ได้มีเพียงภาพ เมื่อเปิดหน้าต่างออกผมยังได้กลิ่นของทะเล

กลิ่นของท้องทะเลคือกลิ่นของเกลือ เรารับรู้ได้ถึงรสเค็มในอากาศ มันเป็นกลิ่นแรกที่ปรากฏขึ้นให้เราสัมผัสก่อนที่จะเลือนหายไปด้วยผลจากกลิ่นของปลาหมึกแห้ง กุ้งแห้งและปลาแห้ง

หลายสิบปีก่อนที่การเดินทางจะสะดวก หาดเจ้าสำราญเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็ก ฝาบ้านทำจากใบจากไม่ต่างจากหลังคา หลังบ้านหันสู่ทะเล หน้าบ้านหันสู่ถนน พื้นที่หน้าบ้านเต็มไปด้วยตะกร้าและราวตากสิ่งที่ได้จากทะเล

พวกเราเข้าพักที่บ้านหลังเล็กริมหาด เมื่อรถจอดสนิท แทนการวิ่งเข้าบ้าน ผมกลับตรงไปหาสิ่งที่เรียกว่าท้องทะเล ทรายเม็ดละเอียด ปูที่วิ่งไปมา ทั้งปูเสฉวนและปูลม ที่ชายฝั่งมีปะการังถูกซัดมาเกยตื้นพร้อมด้วยเปลือกหอยนานาชนิด เวิ้งฟ้าข้างหน้ากว้างใหญ่จนผมอดคิดไม่ได้ว่านี่คือสุดขอบโลก

ไม่น่าแปลกที่ผู้คนในอดีตจะคิดว่าหากแล่นเรือต่อไปข้างหน้าเรื่อยๆ พวกเขาจะตกขอบโลกในที่สุด

 

ผมเดินย้อนกลับไปมาตามแนวหาด เดินไปจนเท่าที่ขาเล็กๆ จะทนไหว หยุดพักเป็นระยะ เมื่อสุดหาดและเจอกับโขดหินผมก็เดินกลับมา ทำเช่นนั้นรอบแล้วรอบเล่า

ในรอบท้ายๆ ปู่กับย่าออกเดินพร้อมผม จังหวะขาของคนวัยชรากับเด็กน้อยก้าวไปแทบจะเป็นจังหวะเดียวกัน

พวกเราเดินอยู่เช่นนั้นจนค่ำ พระจันทร์ส่งแสงนวลต้องพื้นน้ำทะเล ก่อนที่ปู่จะบอกว่าได้เวลาอาหารค่ำแล้ว

หลังจากหมดมื้ออาหารค่ำเราจะกลับมาที่นี่อีกครั้งก็ย่อมได้

อาหารทะเลที่สดมีรสชาติที่แตกต่างจากอาหารทะเลที่ผมเคยกินมา ปูม้าที่ถูกนึ่งสดๆ ปลากะพงที่ถูกทอดกรอบแล้วราดด้วยซอสเปรี้ยวหวาน ปลาหมึกย่างและน้ำพริกมะม่วง เราทุกคนนั่งกินอาหารท่ามกลางเสียงคลื่นที่ซัดเข้าฝั่งเป็นระยะๆ

ราวหนึ่งชั่วโมง ผมกลับมาที่ชายหาดอีกครั้งเพื่อจะพบว่าชายหาดที่ผมเดินไปมาและทิ้งรอยเท้าจำนวนมากไว้ถูกน้ำทะเลที่เอ่อขึ้นกลบจนหมดสิ้น

เป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ผมได้เรียนรู้ว่าน้ำทะเลนั้นไม่ได้มีปริมาณคงที่ มันเอ่อล้นจนเกือบแตะบันไดทางเดินขึ้นหาดของที่พัก พระจันทร์ขึ้นสูงนวลเด่น ผมนั่งลงที่ขั้นบันไดมองดูเกลียวคลื่น

ทะเลยามค่ำดูน่าหวาดกลัวกว่ายามกลางวัน ผืนน้ำมืดสนิทแลดูไม่เป็นมิตร

ความมืดและความกว้างใหญ่ไพศาลของมันทำให้ผมรู้สึกหวาดกลัว

เป็นเวลาอีกหลายปีหลังจากวันนั้นที่ผมได้พบว่าผืนน้ำกว้างใหญ่แห่งนี้เองคือกำเนิดของมวลมนุษย์