จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 27 มี.ค.- 2 เม.ย. 2563

จดหมาย

 

0 เหลือง-แดง

 

การที่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ แถลงว่า ได้เชิญแกนนำเสื้อแดง 20 จังหวัด มาประชุมเพื่อให้เลิกการมีสี

ทั้งสีเหลือง สีแดง

เพราะประเทศชาติขัดแย้งไม่เจริญก้าวหน้า

ฟังดูก็เป็นการดี

ความจริงการมีสีเหลือง สีแดง

พวกสีเหลืองเริ่มก่อน พวกสีแดงก็เลยทำตาม

แต่ขณะนี้สีเหลืองจืดจางมากแล้ว

ส่วนสีแดงยังจางไม่มากนัก

อาจเป็นได้ว่าพวกสีเหลืองอยากให้พวกสีแดงจางมาก

ก็เลยมีแผนอยากให้เลิก

ขอแสดงความนับถือ

วิชัย

 

สงครามสี

ว่าที่จริงก็จางลงเช่นกัน

ถ้าคุณวิชัยไม่ตั้งข้อสังเกตมา

ก็เลือนๆ ไปเหมือนกัน

ข้อสังเกตนั้น จริงหรือไม่

เหลือง แดง ช่วยตอบหน่อย

หรือส้มจะแจม ก็ไม่ว่า

แต่ตอนนี้ ลดการเป็นโค “ขวิด” กันเองลงนิดก็ดี

ตะลุมบอนกับโควิด ให้มากหน่อย

 

0 เข้าร่วม CPTPP

0 กระทบแก้ COVID-19

 

จากวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ขณะนี้

ทำให้เห็นว่า ภาครัฐจำเป็นจะต้องมีพื้นที่ในการกำหนดนโยบายมากพอในการแก้ปัญหาต่างๆ

ทั้งการจำกัดการเดินทาง การใช้จ่ายงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง และการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อาทิ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา

ได้เห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอมาตรการเสริมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19

ด้วยการให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณาทบทวนการจัดหาครุภัณฑ์จากต่างประเทศ

มาดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์จากผู้ผลิตภายในประเทศ เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง

ซึ่งหากประเทศไทยเข้าความตกลง CPTPP

นโยบายหรือมาตรการที่ว่านี้จะออกไม่ได้ เพราะขัดกับความตกลง

หากออกไปก็เสี่ยงที่จะถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนักลงทุนต่างประเทศได้

ไม่แน่ใจว่า เรื่องเช่นนี้ คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทราบหรือไม่

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม

คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล เป็นประธาน

ได้เรียกหน่วยงานต่างๆ เข้ามาชี้แจงถึงข้อห่วงกังวลต่อการเข้าร่วม CPTPP

ตัวแทนจากกรมบัญชีกลางซึ่งดูแลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ได้รายงานต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่า กฎกระทรวงที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นพัสดุที่ภาครัฐไทยต้องการส่งเสริมสนับสนุน เช่น บัญชีนวัตกรรม การให้ความช่วยเหลือองค์การเภสัชกรรม ถ้าเป็นเรื่องทั่วไปต้องยกเลิกทั้งหมดเพราะขัดกับความตกลงฯ

หากดูสาระของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560 เทียบกับบทที่ 15 ของ CPTPP ไม่ได้ขัดกัน

แต่ขัดกันที่กฎหมายลูก ที่เป็นประกาศต่างๆ ที่ให้สิทธิพิเศษรัฐวิสาหกิจไทย

ในกรณีขององค์การเภสัชกรรม บัญชีนวัตกรรมที่ขึ้นบัญชีให้ผู้ประกอบการที่เป็นคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทั้งยาและเครื่องมือแพทย์

ทั้งนี้ ต้องมีการศึกษาเป็นรายบทของความตกลงฯ ว่าเรื่องใดบ้างจะได้เปรียบเสียเปรียบ

ซึ่งการเจรจาเพื่อเข้าร่วมต้องขอยกเว้นให้ได้ทั้งช่วงเวลาปรับตัว และวงเงินไม่น้อยกว่า มาเลเซียและเวียดนาม

แต่ขณะนี้ไม่ใช้แค่ผู้ประกอบการไทยไม่พร้อม

เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่พัสดุที่ต้องประสานกับผู้ประกอบการต่างชาติก็ไม่พร้อม

 

การศึกษาของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐน้อยเกินไป

และมักอ้างว่า จะไปเจรจาผ่อนผันทั้งช่วงเวลาและวงเงิน

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขอเข้าร่วมในภายหลัง โอกาสที่จะได้สิทธิเช่นมาเลเซียและเวียดนามนั้น ยากมาก

อีกทั้งไทยก็ถูกจัดให้เป็นประเทศที่สถานะทางเศรษฐกิจดีกว่าเวียดนาม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่าจะไปต่อรองเช่นนั้นเช่นนี้

แต่ไม่เคยให้คำมั่นสัญญากับสังคมไทยว่า ถ้าเจรจาไม่ได้ในประเด็นที่อ่อนไหว จะไม่เข้าร่วม

อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่บังคับให้รัฐบาลต้องไปขออนุมัติกรอบเจรจาฯ ต่อรัฐสภา

ทำให้สัญญาประชาคมที่รัฐบาลพึงมีต่อประชาชนไม่เกิด

หากไปเจรจาไม่ประสบความสำเร็จแต่เพื่อประโยชน์ต่อการส่งออกของกลุ่มทุนขนาดใหญ่

สังคมไทยก็อาจเห็นการใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาลากให้เห็นชอบเข้าร่วมความตกลง CPTPP นี้อีกก็ได้

จึงเป็นเรื่องที่สาธารณชนต้องจับตา

ขณะที่ทางกระทรวงต่างๆ ก็ควรศึกษาผลกระทบที่จะมีงานในกำกับอย่างรอบด้าน

เพื่อที่จะได้สามารถท้วงติงรองนายกฯ สมคิดเมื่อวาระนี้เข้าสู่คณะรัฐมนตรี

มิเช่นนั้น นี่อาจจะเป็นหนึ่งในผลงาน

ที่ตัดแขนตัดขาการกำหนดนโยบายสาธารณะ

อันส่งผลกระทบทางลบต่อสังคมไทยรุนแรงที่สุดผลงานหนึ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล

รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)

 

ยากต่อการทำความเข้าใจ

แต่ก็ไม่ควรผ่านเลย

จงอย่าละเลยที่จะเรียนรู้