มนัส สัตยารักษ์ : ค่าอาหารสุนัข

ในรอบเดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์สะเทือนใจตำรวจเกิดขึ้นหลายเรื่องทั้งดีและร้าย ทำให้ผมใช้เวลาที่กำลังคิดอะไรไม่ออก ย้อนไปเปิดอัลบั้มแฟ้มภาพที่ใช้คำสั่ง “จับ” เก็บเอาไว้

ภาพส่วนใหญ่ไม่มีคำบรรยายเป็นภาษาเขียน แต่ทุกภาพบอกเล่าเรื่องราวในตัวของมันเอง ภาพเหล่านี้ตั้งใจจะใช้ประกอบข้อเขียน หรือเพื่อเอาไว้แชร์เป็นการให้กำลังใจเพื่อนตำรวจและอาจจะเพื่อปลอบใจตัวเอง

แต่สรุปแล้วผมใช้เพียงรูปเดียวและหนเดียวเท่านั้น คือรูปนักเรียนโรงเรียนสตรีชื่อดังเข้าแถว “ส่ง” นายตำรวจอำลาในวาระเกษียณอายุ

สาเหตุที่ไม่ได้ใช้เพราะเกรงใจคนที่เขาเกลียดชังตำรวจ และนักวิชาการที่เหยียดหยามตำรวจอยู่ เกรงว่าเขาจะหมั่นไส้เอา

ผมมีภาพนายตำรวจในเครื่องแบบจราจรกำลังล้วงท่อข้างทาง อีกภาพหนึ่งกำลังโกยดินและหินกลบหลุมบ่อกลางถนน

ภาพนายตำรวจระดับนายพันในชุดรับเสด็จกำลังเก็บขยะชิ้นหนึ่งกลางสะพาน

ภาพตำรวจจราจรคุกเข่าลงประคองกอดเด็กชายไว้กับอก เพื่อไม่ให้เด็กเห็นภาพความสูญเสียร้ายแรงจากอุบัติเหตุจราจร เป็นภาพที่ให้ความสะเทือนใจกว่าภาพความตาย เพราะเป็นภาพแสดงปฏิกิริยาสะท้อนกลับหรือ reaction

เลือดที่นองอยู่ตรงเท้าเด็กจะสร้างภาพจากจินตนาการได้ว่า ผู้ปกครองของเด็กที่เป็นผู้ขับขี่รถ จยย. จมกองเลือดอยู่กลางถนน!

ตำรวจที่ประคองเด็กไว้กับอกได้ทำสิ่งที่ถูกต้องและดีที่สุดจนผมอยากกราบขอบคุณ

ภาพของแถวตำรวจที่ยืนกรำฝนอยู่หน้าพระบรมหาราชวัง กับภาพตำรวจชายแดนประคองอาวุธปืนพิงเป้หลับไปอย่างอ่อนเพลีย นี่ก็อาจทำให้ผู้เกลียดชังตำรวจรู้สึก “หมั่นไส้” ได้ในขณะที่ผมรู้สึก “ขอบคุณ”

ผมเก็บภาพชื่อ “หมอข้างถนน” ไว้ด้วย เป็นภาพตำรวจจราจรกำลังคุกเข่าปฐมพยาบาลชายผู้หนึ่งซึ่งได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ข้อเท้า

ภาพตำรวจเก็บข้าวของที่หล่นเรี่ยราดกลางถนน เพราะเจ้าของขี่รถล้มและลุกไม่ไหว

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

ภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยตำรวจก็พอมี “ประโยชน์ต่อสังคม” อยู่บ้าง

 

อย่างไรก็ตาม มีภาพที่ดูแล้วทำให้ความรู้สึกดีๆ ข้างต้นถูกทำลายหายไปหมดสิ้น…มันเป็นภาพ “ใบเสร็จรับเงินค่าปรับ” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชื่อภาพ “ทำบุญค่าอาหารสุนัข”

ภาพถ่าย “ใบเสร็จรับเงินค่าปรับ” ถูกแชร์มาในเฟซบุ๊ก มีหัวข้อเรื่องว่า “ทำบุญค่าอาหารหมา” และข้อความในใบเสร็จถูกทำให้อ่านไม่ออกเพื่อปกปิดชื่อ ด้านล่างมีภาพถ่ายร้อยเวรกำลังสอบสวนเปรียบเทียบปรับหญิงสาวคนหนึ่ง

ใต้ภาพใบเสร็จมีข้อความที่สุภาพกว่าหัวข้อเรื่องว่า “ทำบุญค่าอาหารสุนัข…”

ผมเคยเป็นสารวัตรใหญ่ หัวหน้าสถานีตำรวจนครบาล 2 แห่งรวม 6 ปี เท่ากับผมรับเงินรางวัลนำจับความผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ร.บ.รถยนต์ และ พ.ร.บ.ขนส่ง ซึ่งเป็นเงินทำบุญค่าอาหารหมาถึง 6 ปี

แม้จะพ้นจากสถานีตำรวจมาแล้วกว่า 30 ปี ผมก็ยังรู้สึกว่ามีส่วนถูกเหยียดหยามอยู่ด้วยในฐานะที่รับเงินนำจับค่าปรับนี้มาถึง 6 ปี

 

เงินจากค่าปรับที่นำมาจ่ายให้ตำรวจโรงพักนี้นับเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน เช่นเดียวกับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม หรือเงินล่วงเวลา เพราะเมื่อปรับแล้วต้องนำส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน

เป็นค่าปรับจากผู้กระทำผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ร.บ.รถยนต์ และ พ.ร.บ.ขนส่ง ผู้ริเริ่มความคิดและผลักดันนโยบายนำเงินรางวัลนำจับมาจ่ายให้ตำรวจคือ นายแพทย์บุญเทียม เขมาภิรัตน์ ส.ส.พรรคประชากรไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผมจำได้ว่าหมอบุญเทียมได้ต่อสู้อยู่หลายปีกว่าจะสำเร็จ หลักการของท่านก็คือจะทำให้มีผู้ชี้ช่องให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดเพิ่มมากขึ้น คนฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะน้อยลง

แม้จะยังไม่ได้ถูกเรียกว่าเงินทำบุญค่าอาหารหมา แต่ก็มีปัญหาในทางปฏิบัติและถูกผู้ใช้รถ-ใช้ถนนต่อต้านมาตลอด มีข้อครหาว่าตำรวจจราจรต้อง “ทำยอด” ค่าปรับ มีการร้องเรียนเรื่องแบ่งเงินรางวัลไม่เป็นธรรม มีการ “อม” ในบางหน่วย และมีเรื่อง ผบก.จร. ยุคหนึ่งถูกตั้งกรรมการสอบสวนความผิด ฯ

ในทางส่วนตัวผมก็ “เสียหาย” อย่างจังอยู่หนหนึ่งเมื่อนักร้องลูกทุ่งดังอ้างชื่อ “ว่าที่ อ.ตร.” พจน์ บุณยะจินดา ขอว่ากล่าวตักเตือนใบสั่ง แล้ว สวป. ของผมปฏิเสธโดยอ้างว่า สวญ. มีนโยบาย “เชิงรุก…รับรางวัลเพื่อไม่รับสินบน”

เป็นเหตุให้ ว่าที่ อ.ตร. ส่งเสียงคำรามตัดพ้อมาทางโทรศัพท์… “อ้อ เชิงรุก!”

เมื่อผมรับเงินนี้ผมไม่รู้สึกว่าเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมแต่อย่างใด ที่จริงแล้วสำหรับตำรวจโรงพักหรือตำรวจนครบาลนั้น ถ้ารัฐบาลจ่าย “เงินล่วงเวลา” (อย่างสากล) เท่ากับคนงานทั่วไป น่าจะได้มากกว่าเงินรางวัลเจ้าปัญหานี่ด้วยซ้ำ

ที่ไม่เข้าใจอย่างมากก็คือ เหตุใดทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจึงไม่จัดงบประมาณจากรายได้อื่นมาจ่ายตำรวจ เป็นการทำให้รู้สึกว่าตำรวจรังแกประชาชนเพื่อค่าปรับ ราวกับเจตนาให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเหยียบย่ำและด่าตำรวจอย่างหยาบคายไม่เลิก

และมาวันนี้ผมก็ไม่เข้าใจอีกว่า เหตุใด “ค่าลา” ของบางคน (ไม่ต้องทำงาน) มีได้เป็นแสน ในขณะที่ “ค่าล่วงเวลา” (กลับบ้านไม่ได้) ของตำรวจเป็นศูนย์