วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรพรรดิถังญุ่ยจง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุย-ถังกับนานาวิสาสะสมัย (34)

เส้นทางการล่มสลายของถัง (ต่อ)

เมื่อถังจงจง (ครองราชย์ ค.ศ.705-710) ได้เป็นจักรพรรดิแล้วก็ทรงฟื้นราชวงศ์ถังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังครองราชย์ได้ประมาณหนึ่งปี ถังจงจงก็ทรงย้ายราชสำนักกลับไปยังฉังอันแล้วให้เมืองนี้เป็นเมืองหลวงดังเดิม

อย่างไรก็ตาม การเป็นจักรพรรดิของถังจงจงก็มิได้เป็นไปอย่างราบรื่น ด้วยตำแหน่งนี้ในอีกด้านหนึ่งเคยเป็นของถังญุ่ยจงอยู่ด้วยในยุคอู่เจ๋อเทียน ความขัดแย้งจึงมีขึ้นกับอีกฝ่ายหนึ่งที่สนับสนุนถังญุ่ยจง จนทำให้มเหสีเหวยของถังจงจงทรงไม่แน่ใจในฐานะของตน ว่าบางทีอาจจะถูกแย่งยึดโดยฝ่ายนั้น

จากเหตุนี้ มเหสีเหวยซึ่งแต่เดิมทรงมีอิทธิพลอยู่เหนือถังจงจงอยู่แล้ว (ไม่ต่างกับที่อู่เจ้าหรืออู่เจ๋อเทียนมีเหนือถังเกาจง) จึงคิดที่จะเป็นฝ่ายยึดอำนาจมาไว้ในมือก่อน

ในความเชื่อของนักประวัติศาสตร์ในชั้นหลังวิเคราะห์ว่า พระนางหรือธิดาทรงวางยาพิษถังจงจงในของว่างที่พระองค์ทรงโปรด และหลังจากถังจงจงเสวยของว่างนั้นก็สิ้นพระชนม์ในกลางปี ค.ศ.710

แผนขั้นต่อไปของมเหสีเหวยคือการสถาปนาโอรสของพระนางขึ้นเป็นจักรพรรดิ โดยมีพระนางเป็นผู้ว่าราชการหลังม่าน

แต่สถานการณ์ดังกล่าวล้วนอยู่ในความรับรู้ของโอรสองค์หนึ่งของถังญุ่ยจงที่มีพระนามว่า หลี่หลงจี (ค.ศ.685-762) ซึ่งเวลานั้นทรงอยู่ในวัยหนุ่มแล้ว หลี่หลงจีจึงได้วางแผนยึดอำนาจจากมเหสีเหวย และเมื่อยึดอำนาจได้สำเร็จจึงให้ราชบิดาก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิอีกครั้งหนึ่ง

โดยมีพระนามเดิมว่า ถังญุ่ยจง (ครองราชย์ ค.ศ.710-712) โดยหลี่หลงจีเป็นรัชทายาท

ถังญุ่ยจงทรงเป็นจักรพรรดิครั้งที่สองได้สองปีก็สละราชสมบัติให้กับหลี่หลงจี และหลี่หลงจีก็คือจักรพรรดิถังเสีว์ยนจง ที่ซึ่งต่อไปจะนำถังสู่ยุครุ่งเรืองเป็นครั้งสุดท้ายและเริ่มยุคเสื่อมถอยไปในรัชสมัยเดียวกัน

 

หลี่หลงจีเป็นโอรสองค์ที่สามของถังญุ่ยจง ประสูติที่ลว่อหยังใน ค.ศ.685 ราชมารดาเป็นมเหสีซ้าย (องค์ที่สอง) ของถังญุ่ยจง เมื่อเติบใหญ่ทรงมีนิสัยที่ตรงไปตรงมาจนเป็นที่โปรดปรานของอู่เจ๋อเทียน

แต่ภายหลังจากเกิดกบฏโดยบุคคลราชสกุลหลี่ใน ค.ศ.688 และมีมหาอำมาตย์ผู้หนึ่งนำกลุ่มคนถวายฎีกาให้อู่เจ๋อเทียนตั้งตนเป็นจักรพรรดินีใน ค.ศ.690 แล้ว หลี่หลงจีและราชบิดาก็ถูกลดฐานะลงและถูกกักบริเวณอยู่วังหลวง

ครั้นถึง ค.ศ.693 ขุนนางชั้นสูงสองคนถูกประหารเพราะเข้าเยี่ยมถังญุ่ยจงโดยไม่ดูทิศทางลมการเมือง และมเหสีซ้ายขวาของถังญุ่ยจงซึ่งมเหสีซ้ายคือราชมารดาของหลี่หลงจี ที่ต่างมาจากตระกูลที่ทรงอิทธิพลก็ถูกประหารด้วยข้อหาที่ถูกเสกสรรปั้นแต่งขึ้น

ว่ามเหสีทั้งสองทรงใช้คุณไสยเพื่อปลงพระชนม์อู่เจ๋อเทียน

แต่นั้นมาหลี่หลงจีและพี่น้องก็ยิ่งถูกลดฐานะให้ต่ำลง ตราบจนเมื่ออู่เจ๋อเทียนตกจากอำนาจและถังจงจงก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิแล้ว ฐานะของหลี่หลงจีจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ โดยมีตำแหน่งเป็นขุนนางที่ดูแลเรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเป็นผู้ควบคุมกองทหารปืนใหญ่ของเมืองหลวง

ตำแหน่งทั้งสองนี้เองที่ทำให้หลี่หลงจีค่อยๆ สร้างอิทธิพลขึ้นมา ครั้นเมื่อราชสำนักเกิดการช่วงชิงการนำกันระหว่างมเหสีของถังจงจงกับถังญุ่ยจง หลี่หลงจีจึงทำการรัฐประหารและได้เป็นจักรพรรดิในเวลาต่อมาดังได้กล่าวไปแล้ว

 

ถังเสีว์ยนจง (ค.ศ.712-756) เมื่อแรกก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิก็ทรงมีปณิธานแน่วแน่ที่จะฟื้นถังให้รุ่งเรืองอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ การฟื้นถังในยุคสมัยของพระองค์ในด้านหนึ่งจึงสืบทอดสิ่งที่ถังไท่จงทรงทำเอาไว้ อีกด้านหนึ่งคือการต่อยอดให้มีความก้าวหน้าและเหมาะสมัยมากขึ้น

เรื่องแรกที่ทรงทำก็คือ การปรับปรุงโครงสร้างระบบราชการให้มีขนาดเล็กลงแต่มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น โดยตัดส่วนเกินของระบบออกไปเกือบร้อยละ 90

ในขณะเดียวกันก็เลื่อนตำแหน่งให้แก่ผู้มากความสามารถเข้าไปประจำในหน่วยงานที่สำคัญ

นอกจากนี้ ก็ยังทรงให้ความสำคัญกับการสอบข้าราชการทุกระดับชั้น และมักตรวจผลการสอบด้วยพระองค์เองอีกด้วย นอกจากให้ความสำคัญและส่งเสริมเสนามาตย์ที่มากความสามารถแล้ว ถังเสีว์ยนจงยังทรงรับฟังความเห็นของเหล่าเสนามาตย์ดังเช่นที่ถังไท่จงเคยรับฟัง

กล่าวกันว่า ครั้งหนึ่งขณะที่ถังเสีว์ยนจงทรงฉายคันฉ่องอยู่ก็ได้แสดงอาการไม่สบายพระทัยให้เห็น ขุนนางที่เฝ้าใกล้ชิดจึงทักพระองค์ว่าทรงผ่ายผอมลงไป ชะรอยจะมาจากความขุ่นพระทัยที่มีมหาอำมาตย์คอยทักท้วง

ถังเสีว์ยนจงทรงตอบว่า แม้นเราจะผ่ายผอมลง หากบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองก็ไร้ปัญหา มหาอำมาตย์ผู้นั้นรับใช้บ้านเมือง หาใช่รับใช้เราไม่

ไม่เพียงเท่านั้น การประหยัดก็เป็นนโยบายหนึ่งในยุคสมัยนี้ ถังเสีว์ยนจงทรงให้เผาผ้าไหมและเครื่องประดับที่ไม่จำเป็น1 กำหนดให้สนมระดับล่างมิอาจแต่งกายหรูหรา ข้ารับใช้ในวังหลวงให้มีจำนวนเท่าที่จำเป็น

เหตุดังนั้น ตลอดสมัยของถังเสีว์ยนจงที่ยาวนาน 44 ปีจึงมีเสนามาตย์ที่มากความสามารถกว่า 30 คน จนการศึกษาบทบาทของพระองค์มีการแบ่งเวลาเป็นช่วงต้น ช่วงกลาง และช่วงปลาย แต่ละช่วงยังกล่าวถึงบทบาทของเสนามาตย์แต่ละกลุ่มแต่ละคนอีกด้วย อันสะท้อนถึงความสำคัญของยุคนี้

 

ในด้านเศรษฐกิจนั้น เมื่อต้นรัชสมัยได้เกิดภัยตั๊กแตนในแถบที่ราบภาคตะวันออก ภัยนี้ได้ทำลายพืชผลทางการเกษตรอย่างรุนแรง ราชสำนักได้ใช้มาตรการจับตั๊กแตนอย่างเด็ดขาดจนทำให้ภัยนี้หมดไป จากนั้นจึงได้ฟื้นฟูที่ดินทำกินและระบบชลประทานครั้งใหญ่

การเกษตรจึงฟื้นตัวและขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ได้วางแผนการจัดเก็บภาษีครัวเรือนขึ้นใหม่ โดยเรียกเก็บจากราษฎรเป็นข้าวสาร 2 เซิงต่อผลผลิต 1 หมู่2 ทำให้ภาษีของครัวเรือนถูกกำหนดแน่นอนและจัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ในขณะเดียวกันการคลังก็ได้รับการปรับปรุงไปด้วย

เศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองเช่นนี้ทำให้เกิดคำกล่าวขานขึ้นว่า “สี่ทิศอุดมสมบูรณ์ ราษฎรมั่งคั่งถ้วนหน้า” (ซื่อฟังเฟิงเหญิ่น ไป่ซิ่งอินฟู่)

 

ส่วนด้านการทหารที่ประสบปัญหานับแต่สมัยถังเกาจงจนถึงสมัยอู่เจ๋อเทียนนั้นก็มีการปฏิรูปในสมัยนี้จนปัญหาด้านความมั่นคงหมดไป และทำให้ราชวงศ์มีเสถียรภาพดังสมัยถังไท่จงอีกครั้งหนึ่ง

แต่สิ่งที่ดูจะมีความแตกต่างระหว่างถังไท่จงกับถังเสีว์ยนจงในประเด็นหนึ่งก็คือ ถังเสีว์ยนจงมีทักษะทางด้านดนตรี กวี และอักษรศิลป์ (calligraphy) พระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์แก่เหล่าศิลปินและนักเขียนจำนวนไม่น้อย และส่งผลให้ในยุคนี้มีบุคคลในแวดวงนี้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมามากมาย

หลายคนมีผลงานที่มีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานมาจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะกวีนั้นก็คือ หลี่ไป๋ (ค.ศ.701-762) หรือตู้ฝู่ (ค.ศ.712-770) เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลงานทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ก็ปรากฏมากมายในยุคนี้เช่นกัน

 

แต่กระนั้น กล่าวในทางความคิดความเชื่อของถังเสีว์ยนจงแล้วกลับมีประเด็นปัญหาที่น่าสนใจ กล่าวคือ ถังเสีว์ยนจงทรงสมาทานในลัทธิเต้าและต่อต้านศาสนาพุทธ ลัทธิเต้าจึงได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างดี ส่วนศาสนาพุทธกลับถูกพระองค์ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อสร้างข้อจำกัดมิอาจเจริญได้

แต่ในขณะเดียวกันพระองค์กลับทรงสนใจในศาสตร์ลึกลับของศาสนาพุทธในลัทธิคุยหยาน (Esoteric Buddhism, อ่านว่า คุย-หะ-ยาน) อันเป็นลัทธิที่แยกตัวออกมาจากมหายานอีกชั้นหนึ่ง และเป็นกลุ่มเดียวกับวัชรยานหรือตันตระ

คุยหยานเป็นลัทธิที่เชื่อว่าตนมีความรู้ลึกลับที่พุทธโคดมทรงค้นพบและมิได้เผยแพร่แก่สาวกทั่วไป แต่จะถ่ายทอดให้แก่ผู้มีสติปัญญาแก่กล้าเท่านั้น โดยนับแต่ทศวรรษ 710 จนถึง 740 ได้มีภิกษุอินเดียในลัทธิคุยหยานเข้ามายังจีน และได้แปลคัมภีร์ในฝ่ายตนเป็นภาษาจีน ซึ่งทำให้ถังเสีว์ยนจงทรงได้ศึกษาจนเกิดความสนใจลัทธินี้ขึ้นมา

โดยสนใจในแง่พลังทางไสยศาสตร์ของลัทธินี้ หาใช่เพื่อความหลุดพ้นไม่

อย่างไรก็ตาม ความสนใจในลัทธินี้ก็หาได้มีอิทธิพลจนทำให้พระองค์ทรงยกเลิกการต่อต้านศาสนาพุทธไปด้วยไม่ พ้นไปจากนี้และพิจารณาโดยภาพรวมแล้วยังคงกล่าวได้ว่า ศิลปวิทยาการในยุคนี้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก

ถึงแม้จะไม่มีผู้ใดหยั่งรู้ได้ว่านี่คือความเจริญรุ่งเรืองครั้งสุดท้ายของถังก็ตาม

———————————————————————————-
1ผ้าไหมในสมัยนั้นมีค่าเทียบเท่ากับเงินตราและสามารถใช้แทนเงินตราได้ แต่ก็เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่ชนชั้นสูงอยากได้ใคร่มี การเผาทำลายของถังเสีว์ยนจงเป็นไปด้วยเหตุผลประการหลัง

2เซิงเป็นมาตราตวงของจีนในสมัยก่อนเทียบได้กับลิตรในปัจจุบัน แต่น่าจะมีปริมาณมากกว่า ในขณะที่ 2.4 หมู่เท่ากับ 1 ไร่ของไทยโดยประมาณ 1 หมู่จึงเท่ากับประมาณครึ่งไร่หรือประมาณ 200 ตารางวา จำนวนข้าวสาร 2 เซิงหรือประมาณ 2 ลิตรจึงไม่นับว่าสูงในแง่ภาษี