‘นาปาล์ม เกิร์ล’ ภาพเปลี่ยนชีวิตคนหน้าเลนส์ และหลังเลนส์

ฮุยน์ คอง อุต หรือ นิก อุต (LBJ Library photo by David Hume Kennerly 04/28/2016.)

“ภาพ 1 ภาพ บอกเรื่องราวได้เท่ากับตัวอักษร 1,000 คำ” เทสส์ แฟลนเดอร์ส พูดเอาไว้ตั้งแต่ปี 1911 ตอนที่เป็นทั้งบรรณาธิการและผู้สื่อข่าวของ ซีราคิวส์ โพสต์ สแตนดาร์ด หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกา (ข้อความเดิมคือ “Use a picture. It’s worth a thousand words.”)

ภาพถ่ายที่รู้จักกันในชื่อ “นาปาล์ม เกิร์ล” ของ นิก อุต ช่างภาพสำนักข่าวเอพี คือตัวอย่างที่ดีที่สุด

ปีเตอร์ อาร์เนตต์ ผู้สื่อข่าวสงครามระดับพูลิตเซอร์ ไพรซ์ ยืนยันว่าภาพนี้ฉายให้เห็นสิ่งที่ปรากฏเป็นสามัญปกติในสงครามเวียดนามอยู่นานนับปีได้ดีที่สุด นาปาล์ม หมู่บ้านชนบท ความตาย และความกลัว ล้วนฉายออกมาให้เห็นครบถ้วนในภาพภาพนี้

มันบ่งบอกลึกลงไปถึงรายละเอียดของเนื้อแท้แห่งสงคราม ทำให้ภาพเดียวนี้มีทั้งคุณค่าและนัยสำคัญแฝงอยู่ในตัว

“นาปาล์ม เกิร์ล” ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 1972 และ เวิร์ลด์เพรส โฟโต้ ออฟ เดอะ เยียร์ 1973

ภาพเช่นนี้คงอยู่เป็นอมตะ แต่คนถ่ายภาพอย่าง นิก อุต ตัดสินใจเกษียณแล้ว เดือนมีนาคมปี 2017 นี้คือเดือนสุดท้ายของการทำงานให้เอพีที่ต่อเนื่องยาวนานถึง 51 ปีของเขา

นิก อุต บอกว่า ภาพนี้คือภาพที่เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนทั้งชีวิตเขาแล้วก็ชีวิตของ คิม ฟุก

“คิม ฟุก” คือเด็กหญิงวัย 9 ขวบที่วิ่งเปลือยกายอยู่กลางภาพ เธอถอดเสื้อผ้าติดไฟจากระเบิดนาปาล์มซึ่ง “ถูกทิ้งผิดจุด” ทิ้งไปเพื่อเอาชีวิตรอด เด็กชายด้านหน้าภาพคือ ฟาน ทันห์ ทัม น้องชายของ คิม ฟุก ที่เสียดวงตาไปข้างหนึ่งจากเหตุการณ์นี้ ถัดไปเป็น ฟาน ทันห์ ฟุก น้องชายคนเล็กสุด อีก 2 คนด้านขวาเป็นลูกพี่ลูกน้องของ คิม ฟุก ชื่อ โฮ วัน บอน กับ โฮ ที ติง

ถนนสายนั้นคือเส้นทางหมายเลข 1 (รูต 1) บริเวณด้านหน้าวัด เกาได๋ ในเมืองตรัง บัง วันที่คือ 8 มิถุนายน ปี 1972

คิม ฟุค ถือนิตยสารที่มีภาพตนเองวัย 9 ขวบ/ AFP PHOTO / KRAIPIT PHANVUT

นิก อุต อายุเพียง 21 ปีตอนถ่ายภาพนี้ เขาเพิ่งปล่อยมือจากกล้องหลังถ่ายภาพระเบิดนาปาล์มผสมฟอสฟอรัสขาวถล่มลงใส่หมู่บ้าน ตอนที่เห็นกลุ่มเด็กๆ วิ่งหนีออกมาจากกลุ่มควันโขมง นิกยกกล้องขึ้นกดชัตเตอร์ไปอีกครั้งสองครั้งแล้วก็เสือกกล้องทิ้งไปด้านข้าง วิ่งเข้าหา คิม ฟุก ป้อนน้ำให้เธอ ราดที่เหลือในกระติกลงบนบาดแผล แล้วต้อนทั้งหมดขึ้นรถของเอพี

หมอที่โรงพยาบาลส่ายหน้าไม่รับรักษา คิม ฟุก นิกต้องสะบัดบัตรประจำตัวช่างภาพขึ้นมาแล้วตะคอกใส่หน้าหมอว่าพรุ่งนี้ภาพของเธอจะเป็นข่าวไปทั่วโลก เตรียมคำอธิบายดีๆ ไว้ก็แล้วกันว่าทำไมไม่รักษา

“ผมน้ำตาไหลตอนที่เห็นเธอวิ่ง…ถ้าไม่ช่วย ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาแล้วเธอตาย ผมคงมีชีวิตอยู่ไม่ได้…” นิก อุต บอก

คิม ฟุก รอดตาย ตอนนี้อายุ 53 ปี เป็นภรรยาของนักธุรกิจแคนาดาที่ประสบความสำเร็จ ใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ในโตรอนโตกับลูกๆ 5 คน และเป็นเพื่อสนิทกับ นิก อุต มาจนถึงทุกวันนี้

นิก อุต (คนขวาสุด) AFP PHOTO / HOANG DINH NAM

นิก อุต เป็นช่างภาพในแนวรบอยู่จนกระทั่งไซ่ง่อนแตกในปี 1975 ในหลายปีเหล่านั้นเขาบาดเจ็บ 4 ครั้ง เฉียดตายชนิดไปยืนหมิ่นเหม่อยู่ริมนรก 2 หน

หนแรกถูกยิงอาร์พีจีใส่ ถากกะโหลกไปฉิวเฉียดชนิดผมหายไปเป็นทาง อีกครั้ง อองรี อูเอต์ เพื่อนสนิทที่สุดประจำสำนักข่าวเอพีไซ่ง่อน ซึ่งอาสาไปทำงานแทนนิก ที่ล้าเต็มที กลายเป็นผีตายแทนเมื่อ ฮ. ถูกยิงตกที่ชายแดนลาว

เป็นอูเอต์ ที่เริ่มเรียกเขาว่านิก เพราะชื่อจริงเรียกให้ถูกยากเย็นเหลือเกิน

“ผมเก็บชื่อนี้ไว้ใช้เรียกตัวเองมานับแต่นั้นเพื่อรำลึกถึงเขา”

ชื่อจริงของเขาคือ “ฮุยน์ คอง อุต” เป็นลูกคนที่ 11 ในจำนวนพี่น้อง 12 คน เริ่มทำงานกับเอพีตั้งแต่อายุ 15 ปี หลังพี่ชายที่เขารักมากที่สุดตายระหว่างทำภารกิจให้เอพี ภายใต้ข้อแม้เด็ดขาดว่า “ห้ามออกแนวรบ” เพราะ ฮอร์สต์ ฟาอัส หัวหน้าเอพีไซ่ง่อนไม่อยากให้ครอบครัวเสียลูกชายคนที่ 2 ไปอีก

รักษาสัญญาอยู่ได้ 2 ปี สงครามก็มาหา นิก อุต ถึงบ้าน เขาถ่ายภาพตามสัญชาตญาณเมื่อทหารเวียดนามใต้ปะทะเวียดกงอยู่ตรงปลายจมูก แล้วก็ได้รับอนุญาตให้ออกแนวรบนับตั้งแต่วันนั้น

คิม ฟุค และภาพเธอวัยเด็ก / AFP PHOTO / JIJI PRESS / JIJI PRESS

หลังสงคราม เอพีส่งนิกไปพบรักกับเวียดนามพลัดถิ่นที่โตเกียว ทั้งคู่หอบหิ้วกันกลับมาอยู่ที่ลอสแองเจลิส ในปี 1977 นิกเปลี่ยนมาเป็นตากล้องประจำฮอลลีวู้ด แล้วพบว่าชื่อเสียงจากสงครามทำให้ชีวิตช่างภาพง่ายขึ้นอย่างเหลือเชื่อ

ครั้งหนึ่ง โจน คอลลินส์ ถึงกับเปิดแชมเปญเลี้ยง อีกครั้งในงาน ฮอลลีวู้ด วอล์ก ออฟ เฟม วอเรน บีตตี้ ลากเขาออกไปคุยด้วยข้างเวทีนานร่วมครึ่งชั่วโมง คุยกันเรื่องนาปาล์ม เกิร์ล เรื่องเดียวเท่านั้น

นิก อุต เกษียณแล้ว แต่ไม่เลิกถ่ายภาพ “ผมจะถ่ายภาพต่อไปจนกว่าจะตาย” พูดไปพลางยิ้มไปพลาง

ยิ้มตามแบบฉบับ นิก อุต ที่เพื่อนๆ บอกว่า ปากจะฉีกถึงหูเอา!