อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : โคโรไนเซชั่น (Coronisation)

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โคโรไนเซชั่น (Coronisation)

โคโรไนเซชั่นเป็นคำใหม่ที่ผมหมายถึง โคโรนาไวรัส (coronavirus) ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก

หากทว่าในทางสังคมศาสตร์ผมมองว่า โคโรไนเซชั่นเป็นมากกว่าโรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ในแง่ที่ไม่ได้มองข้ามพิษภัยของไวรัสโรคระบาด

แต่หากมองในแง่สังคมศาสตร์ของระบบโลก (World System) ยังมองให้เห็นถึงโคโรไนเซชั่นเป็นระบบของพลังทำลายล้างเชื่อมต่อของสรรพสิ่งที่มาก รุนแรง ฉับพลัน ครอบคลุมทั่วโลก

ยิ่งกว่า ดิจิตอล ดิสรัปชั่น (Digital Disruption) เสียอีก

 

โคโรนาไวรัส : กายวิภาค (Anatomy)

ในแง่ของโรคภัยไข้เจ็บ โคโรนาไวรัสมีคำอธิบายจาก ดร.ซิลเวีย ไบเอนด์ (Sylvie Briand) หัวหน้าหน่วยเตรียมการป้องกันโรคติดเชื้อระดับโลกแห่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ว่า ณ ขณะนี้โคโรนาไวรัสยังไม่นับเป็นการระบาดกระจายไปทั่ว (pandemic) ยังอยู่ในขั้นเป็นโรคระบาดกระจายทั่ว (epidemic) ด้วยการติดต่อแบบพันทวี และทางการยังพยายามกำจัดการแพร่ระบาดจากแต่ละจุดแพร่กระจาย

จะเห็นได้ว่า เกือบทุกกรณีที่มีการติดเชื้อนอกมณฑลหูเป่ย (Hubei) มีการแพร่กระจายจากศูนย์โรคระบาด ดังนั้น จริงๆ เชื้อโรคไม่ได้แพร่ไปจริงๆ ทั่วโลก

หากกล่าวโดยย่อว่า โลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกได้แก่ ท่องเที่ยว โรงแรม แรงงาน สินค้า การลงทุน โคโรนาไวรัสจึงแพร่กระจายทั้งโรคภัยไข้เจ็บและกลายพันธุ์เป็นผลทางสังคมและเศรษฐกิจในระบบโลกอันมองได้ว่าเป็นโคโรไนเซชั่น ได้ดังต่อไปนี้

ในเบื้องต้น การท่องเที่ยวอันเป็นจักรกลขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในทั่วทุกภูมิภาค กลับปรากฏว่า เริ่มต้นด้วยการขนส่งนักท่องเที่ยวทุกชนิดทั่วโลก นับตั้งแต่สายการบิน รถไฟ เรือและเรือสำราญ รถทัวร์ รถตู้ แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างหยุดชะงักด้วยการยกเลิกนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลก

กิจการโรงแรมปิดตัว นักลงทุนเป็นหนี้ พนักงานทั่วโลกตกงานอย่างฉับพลันทันที ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขนม ปิดตัวฉับพลัน

นั่นหมายความว่า สินค้าจำพวกกาแฟ ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ขนม เช่น คุกกี้ ขนมเค้ก ผัก ผลไม้หยุดส่งไปยังร้านรวงในสถานที่ท่องเที่ยวทันที

ในทางกลับกัน สินค้าประเภทสเน็กได้แก่ บะหมี่สำเร็จรูป เช่น มาม่า ยำยำ ถูกกว้านซื้อไปจากตลาดจนหมดเกลี้ยงเนื่องจากความกลัวเรื่องการขาดอาหาร อันนี้ยังรวมทั้งข้าวสาร น้ำดื่ม นม และอื่นๆ สินค้าเหล่านี้จะยังคงอยู่ในตลาดได้อย่างไร หากมีการปิด (closed) ที่อยู่อาศัย ห้ามการเดินทาง หยุดการทำงานระยะยาวโดยให้คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้อยู่กับที่พักอาศัยให้มากที่สุด

ในเบื้องต้น สิ่งที่น่าจะมีผลต่อมาต่อระบบเศรษฐกิจโลกคือ การหยุดชะงักอย่างฉับพลันของซับพลายเชน

ในเบื้องต้นเราควรย้อนกลับไปดูในประเด็นจีนในฐานะโรงงานโลก (Global Factory) และครัวของโลก (World Kitchen) นั่นหมายความว่า โรงงานผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ อะไหล่และอุปกรณ์รถยนต์ เสื้อผ้า รองเท้า ที่ผลิตในจีนย่อมยุติการผลิตโดยทันที แน่ละ ใครๆ ก็ย่อมรอรถยนต์คันใหม่และโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ได้ แต่ใครจะรอข้าว ข้าวโพด เนื้อหมู พืชผักได้ยาวนานสักแค่ไหน

โคโรไนเซชั่นย่อมมีพลังทำลายล้างการค้าระหว่างประเทศด้วยตัวของมันเองมากไปกว่าสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน สงครามการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับจีนเสียอีก

เฉพาะผลไม้อย่างเดียว ตลาดจีนได้ยกเลิกการนำเข้า ซึ่งไม่ได้เนื่องมาจากปัญหาซัพพลายเชนของทุเรียน ลำไย มังคุด และแก้วมังกร เป็นต้น

นั่นหมายความว่า ผู้ส่งออกผลไม้จากไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ล้มละลายทางเศรษฐกิจโดยทันที

ผลไม้ที่ว่านั้น ถ้าไม่เน่าเพราะส่งออกไม่ได้ก็ต้องหาตลาดภายในซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง

ผมขอยกตัวอย่างมหันตภัยอันกระทบต่อซัพพลายเชน (supply chain) ในจีนเพิ่มเติมดังนี้ โคโรไนเซชั่นกระทบกระเทือนอย่างฉับพลันทันทีกว่าที่เราคาดคิด เพียงดูจากตัวอย่างองคาพยพของโคโรนาไวรัสที่เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน

หากวิเคราะห์จากข้อมูลของรอยเตอร์สข้างต้น การกักคนจำนวน 500 ล้านคนในจีน1 ย่อมส่งผลต่อทั้งตลาดขนาดใหญ่ สายการผลิต (production chain) โลจิสติกส์ อาหาร ยารักษาโรคในจีนซึ่งไม่ควรมองว่าเกิดขึ้นเฉพาะถิ่น เฉพาะเมือง เฉพาะภูมิภาค

ทั้งนี้ ผลที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อทวีปเอเชีย อเมริกา และยุโรปอีกด้วย

 

ดิจิตอล ดิสรัปทีฟ

ผมไม่ได้ปฏิเสธพัฒนาการของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันที สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ การตกงานอย่างฉับพลันของคนที่ประกอบอาชีพสื่อทั้งหมดเพราะเกิดแพลตฟอร์ม (platform) ใหม่ๆ ในการเผยแพร่ข่าวสารอย่างมากมายหลายๆ ช่องทาง

มีการตกงานอย่างฉับพลันของพนักงานในอุตสาหกรรมการเงินและการธนาคารเพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีด้านการโอนเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ อาจมีการเพิ่มความสามารถการแข่งขันได้มากหากธุรกิจนั้นๆ สามารถลดต้นทุนได้จากการใช้ความสามารถของเครื่องจักรในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทว่าการตกงานอย่างฉับพลันย่อมไม่อาจเทียบได้กับโคโรไนเซชั่นที่กำลังกระทบกับพลเมืองโลกซึ่งอาจจะมากถึงครึ่งหนึ่งของประชากรโลกเลยทีเดียว

ระหว่างเทคโนโลยีกับพิบัติภัยของโรคระบาดที่ฉับพลัน รุนแรงและเกิดขึ้นใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา2 อันไม่นับการก่อสงครามเชื้อโรคของมหาอำนาจหรือที่เราเรียกว่า เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) หากวิเคราะห์กันจริงๆ สิ่งที่โลกกำลังเผชิญต่อมายังเป็น ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ซึ่งท้าทายทั้งความอดอยากของพลเมืองโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก

ทว่าความมั่นคงทางอาหารอาจรุนแรงกว่าที่ใครๆ คาดคิดเมื่อเกิดโคโรไนเซชั่นขณะนี้ทั่วโลก ไฟไหม้ป่าในทวีปออสเตรเลีย ความแห้งแล้งทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย

ภัยแล้งจะนำมาซึ่งการขาดแคลนอาหารหมายความว่า เงินที่มีอาจหาซื้ออาหารก็ไม่ได้

เทคโนโลยี ดิสรัปชั่นทำให้คนตกงาน แต่โคโรไนเซชั่นทำให้ผู้คนจำนวนมากล้มตายอย่างฉับพลัน หรือหายารักษาโรคไม่ได้ พวกที่ยังอยู่ก็อยู่อย่างอดอยาก ผมว่า โลกเราก้าวเข้าสู่ เผาจริง ในปี 2563 แล้ว

เผาจริง

———————————————————————————————————
(1) “Around 500 million people in China are on lockdown because of coronavirus” REUTERS 14 February 2020.
(2) เกิด Spanish Flu 1918 โรค MERS (Middle East respiration syndrome) 2002 โรค SARS (Severe acute respiratory syndrome) 2003