“ยุวดี ธัญญสิริ” “เปียจ๋า” ของ สุรพล โทณวณิก

“เล่นอะไรไม่เห็นเป็นเพลงเลย”

“นี่เธอช่วยเล่นให้มันเป็นเพลงหน่อยได้ไหม”

นั่นเป็นคำพูดของ “เจ๊ยุ” ยุวดี ธัญญสิริ นักข่าวอาวุโสผู้ทรงพลัง เจ๊ยุพูดกับผมเป็นร้อยครั้งเมื่อหยิบกีตาร์ขึ้นมาบรรเลง ร้องเพลงในช่วงค่ำหลังเสร็จงาน

อันที่จริงเจ๊ยุไม่ได้สนับสนุนการละเล่นนี้ เรารู้กันดีถึงความเจ้าระเบียบของเจ๊ ที่เมื่อเห็นอะไรไม่เข้าตาเป็นอันต้องด่าเสียงดัง เจ๊พูดเสมอว่า เป็นนักข่าวต้องแต่งกายเรียบร้อย เพราะมันหมายถึงการให้เกียรติสถานที่ แหล่งข่าว ที่สำคัญคือให้เกียรติอาชีพของเราเอง กระนั้นเจ๊ก็ไม่ได้เข้มงวดเกินไป จนเห็นว่าการเล่นกีตาร์ร้องเพลงในรังนกกระจอกทำเนียบรัฐบาล จะเป็นเรื่องผิด เพราะเราเล่นนอกเวลาราชการ

อยู่มาวันหนึ่ง เป็นวันที่รถมารับเจ๊กลับบ้านช้ากว่าปกติ ผมจึงเอ่ยปากชวนเจ๊ร่วมวง ขอให้เจ๊ร้องเพลงให้ฟัง

เจ๊นั่งลงแล้วว่า “ไหนร้องมาสิ ร้องให้มันเป็นเพลงนะ”

“นานแล้วพี่หลงพะวงมิหน่าย นานแล้วพี่หมายจะได้ภิรมย์ นานแล้วพี่รักคอยจักชื่นชม นานแล้วรักเพียงลมๆ ตรมเช้าค่ำ”

“เพลงที่รัก ของ หยาด นภาลัย ครับเจ๊”

“ไม่ใช่ ต้นฉบับคือ ชรินทร์ นันทนาคร หยาด นภาลัย เอามาร้องทีหลัง”

เจ๊มีคำตอบที่ถูกที่สุดให้น้องๆ เสมอ ยิ่งในงานด้านข้อมูลข่าวสาร น้องๆ ยิ่งต้องพึ่งข้อมูลจากประสบการณ์การทำข่าวเกือบ 50 ปีของเจ๊ เรียกว่าใครอยากรู้อะไรให้ถามเจ๊ เพราะเจ๊แกทัน

ครั้งหนึ่งเจ๊เคยโทร.มาหาผม เพียงเพื่ออธิบายขยายความหลังจากอ่านบทสัมภาษณ์นักวิชาการหนุ่มหัวก้าวหน้าใน “มติชนรายวัน” แล้วเห็นว่าแหล่งข่าวให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน

“66/23 ไม่ได้เพิ่งมาเริ่มทำตอนที่ พล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์) รับตำแหน่งนายกฯ จริงๆ เขาคิดและทำมาก่อนหน้านั้นแล้ว” จากนั้นเจ๊ก็อธิบายเสียยืดยาว

ผมไม่เชื่อคำอธิบายของเจ๊ยุในวันนั้น เพราะคิดว่าเจ๊แก่แล้ว ในวัย 71 ปี ความจำอาจเลือนราง จึงจำรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ไม่ได้ ทว่า ต่อมาเมื่อได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้า จึงได้พบว่า “จริงของเจ๊”

เจ๊จึงเป็นคลังข้อมูลชั้นดีที่ให้น้องๆ นักข่าวสืบค้นได้โดยง่ายเพียงการไถ่ถาม

ว่าแล้วเจ๊ให้ผมดีดกีตาร์ นักข่าวรุ่นใหญ่ร้องเพลงอย่างอารมณ์ดี

“อย่าเหมือนน้ำค้างพราวพร่างใบพฤกษ์ พอยามดึกเหมือนดังจะดื่มกินได้ พอรุ่งรางก็จางหายไป รู้แน่แก่ใจ ได้แต่ระทมชีวี” เจ๊ร้องท่อนฮุกเพลงที่รักได้เพราะจับใจ

“เออดี มีกิจกรรมคลายเครียด” เจ๊เห็นดีเห็นงามด้วย

ร่วมร้องเพลงกับเราได้ไม่เกิน 2 เดือน เจ๊ก็ไม่มีสิทธิ์มาทำข่าวในทำเนียบ เมื่อสำนักโฆษกฯ ออกมาตรการคุ้มเข้มนักข่าว ด้วยการให้เปลี่ยนบัตรประจำตัวนักข่าวทำเนียบ ทั้งที่บัตรเก่าจะหมดอายุอีก 1 เดือนข้างหน้า มาตรการนี้กระทบต่อเจ๊ยุโดยตรง เพราะเจ๊อยู่ในฐานะผู้สื่อข่าวอิสระ และอดีตต้นสังกัดอย่างบางกอกโพสต์ซึ่งเปลี่ยนผู้บริหาร ไม่ได้ออกบัตรให้เจ๊เช่นเคย …ผลคือเจ๊หมดสิทธิ์เข้าทำเนียบ

กระนั้นเจ๊ก็ไม่ได้เลิกเป็นนักข่าว เพราะวันต่อมาเจ๊ได้พาตัวเองไปปักหลักมอนิเตอร์ข่าวสารอยู่ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เจ๊ไม่เคยแสดงให้ใครเห็นความอ่อนแอ แม้ลึกๆ แล้วเจ๊จะเจ็บปวดมากก็ตาม

น้องๆ นักข่าวต่างเป็นห่วง กลัวว่าเจ๊จะเครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้น ต่างพากันยกโขยงเยี่ยมเยียนถึงสมาคมนักข่าวฯ สลับสับเปลี่ยนกันไปพูดคุยทักทาย และนั่นเป็นช่วงเวลาที่เจ๊แสดงความเข้มแข็งให้น้องๆ เห็น ทั้งนี้ก็เพื่อความสบายใจของน้องๆ เอง

“เมื่อมีมาตรการแบบนี้ออกมา เราก็ต้องปฏิบัติ และไม่เห็นว่าจะต้องไปเต้นอะไรเลย แล้วก็ไม่เห็นว่าตัวเองวิเศษวิโสอะไร แต่ก็ตลกดี เราให้เกียรติทุกรัฐบาล นายกฯ ทั้งนักการเมืองหรือที่มาจากการปฏิวัติ ทุกคนเราให้เกียรติเขา” เจ๊กล่าวหลังหมดสิทธิ์เข้าทำเนียบได้ไม่ถึงสัปดาห์

น้องๆ ต่างคิดว่านี่เป็นแค่เรื่องชั่วคราว ซึ่งเมื่อลมพาท้องฟ้าเปิด หรือเมฆครึ้มหมดไปแล้ว เจ๊ก็จะกลับมาทำข่าวในทำเนียบแต่เช้าก่อนใครเช่นเคย เราจะยังเห็นเจ๊นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ถือเทปสัมภาษณ์ ดักรอแหล่งข่าวในตึกบัญชาการคนเดียว เหมือนที่เจ๊เคยทำในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา

ไม่น่าเชื่อว่าการจากทำเนียบครั้งนั้น จะเป็นการจากกันอย่างถาวร

และแน่นอน เราจะไม่ได้ยินเรื่องเล่าจากปากเจ๊ยุอีกแล้ว

นักข่าวอาวุโสผู้นี้มีสารพัดเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิต เช่น เมื่อนักข่าวสาวๆ กำลังพูดถึงเรื่องสวยๆ งามๆ เจ๊ไม่พลาดที่จะสาธยายเทรนด์แฟชั่นในอดีตอย่างออกรส ว่าไปพลางเจ๊ก็หยิบรูปสมัยเรียนมหาวิทยาลัยออกมาเรียกเสียงฮือฮา

เจ๊เข้าเรียนธรรมศาสตร์เมื่อปี 2508 ขณะนั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นอธิการบดี และ “เกษม ศิริสัมพันธ์” เป็นคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ซึ่งถือว่าเป็นคณบดีคนแรกของคณะ และเจ๊เองก็เป็นนักศึกษารุ่นแรกของคณะด้วยเช่นกัน

เจ๊ยุสมัยสาวๆ ช่างแสนสวย หุ่นได้สัดส่วน ผมยาว ตาคม จมูกโด่ง ผิวพรรณดี และด้วยความที่เป็นคนกล้าแสดงออก เจ๊จึงได้ตำแหน่งเป็นดาวธรรมศาสตร์มาครอง

“นี่รูปฉันตอนเป็นดาวดูสิ” เจ๊ยุชวนน้องๆ นักข่าวเข้าสู่การเม้าธ์มอย

ครั้งหนึ่งเจ๊เคยเล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาของเพลงดังเพลงหนึ่งในอดีต โดยบอกว่าเมื่อครั้งที่ “สุรพล โทณวณิก” นักแต่งเพลงชื่อดัง เข้ารับราชการเป็นทหารเกณฑ์ ในวัยหนุ่มนักแต่งเพลงรูปงามนามระบือคนนั้นใช้ชีวิตค่อนข้างผาดโผน

วันหนึ่ง “สุรพล” คนหล่อ วิ่งหนีสารวัตรทหาร (สห.) เข้ามาหลบในบริเวณบ้านพักนายทหารแล้วได้เจอกับเด็กผู้หญิงน่าตาสะสวย สดใส ผมยาว น่ารัก ถักเปีย

ความประทับใจเกิดขึ้นในบัดนั้น โดยเฉพาะเปียคู่ที่เธอถัก จนเมื่อ “สุรพล” คนห้าว ได้เข้าไปอยู่ในคุกก็ยังได้เจอ ด.ญ.ถักเปีย เพราะบ้านของเธออยู่หลังคุกทหาร นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้ “สุรพล” แต่งเพลงเพลงหนึ่งขึ้นมา “เปียจ๋า” อันโด่งดัง

ถามว่าเด็กหญิงคนนั้นคือใคร คำตอบคือ “เจ๊ยุ” นั่นแหละครับ เพลง “เปียจ๋า” จึงมีที่มาจากเปียสวย สดใส น่ารักสมวัยของ “ยุวดี” นั่นเอง

“เปียจ๋าเปีย เปียคนดี เปียสวยออกอย่างนี้ น่าชื่นชม ผมเปีย ไกวต้านลม เปียทั้งคู่ ดูงามสม ใครได้ชมเป็นชื่นใจ

เปียจ๋าเปีย เปียคนงอน ดูซิชอบมองค้อน อยู่ร่ำไป ยิ้มหน่อยจะได้ไหม ลองยิ้มให้พี่ได้เห็นคงจะเป็นบุญตา

เปียจ๋าเปีย อย่าเอาแต่ดื้ออยู่เลยเปียจ๋า ไหนลองยิ้มให้หวานซักครา ยิ้มเพียงหน่อยเดียว เปียจ๋ายิ้มเถิดนะ เปียของพี่

เปียจ๋าเปีย เปียคนงาม ลองนึกตอบคำถาม ให้พี่ที ถามว่า ในโลกนี้ ใครหนอดื้อ ดื้อสิ้นดี เปียจ๋า

เปียจ๋าเปีย อย่าเอาแต่ดื้ออยู่เลยเปียจ๋า ไหนลองยิ้มให้หวานซักครา ยิ้มเพียงหน่อยเดียว เปียจ๋ายิ้มเถิดนะ เปียของพี่

เปียจ๋าเปีย เปียคนงาม ลองนึกตอบคำถาม ให้พี่ที ถามว่า ในโลกนี้ ใครหนอดื้อ ดื้อสิ้นดี เปียจ๋า”

 

ศิลปินแห่งชาติ “สุรพล โทณวณิก” อธิบายเกี่ยวกับเพลงเปียจ๋า ว่า “ตอนที่ติดคุกอยู่นั้นแล เห็นลูกสาวผู้หมวด ซึ่งบ้านอยู่หลังคุก อายุประมาณสามสี่ขวบน่ารักมาก ไว้ผมเปีย ผมเลยได้ความคิด แต่งในห้องขังนั่นแหละหนึ่งท่อน กันลืม พอออกจากห้องขัง ผมก็หนีทหาร นำเพลงนี้ไปบันทึกเสียงให้ นริศ อารีย์ เพื่อนรักเจ้าบทบาทของผมเป็นผู้ร้อง บันทึกเสร็จผมก็กลับไปมอบตัวเข้าห้องขังใหม่ ไม่ให้เสียประเพณีคนหนีทหาร…”

ช่วงรับใช้ชาติ “สุรพล” แต่งเพลง อาทิ ใครขโมยกางเกง ขับร้องโดย วิเชียร ภู่โชติ แดดออก, ท่าเตียน, แม่ลำแขนไผ่, แตกดังโพละ ขับร้องโดย มีศักดิ์ นาครัตน์ และ เปียจ๋า, ม่วยจ๋า ให้ นริศ อารีย์ ขับร้อง

เพลง “เปียจ๋า” ถูกแต่งขึ้นในปี 2499 บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกปี 2500 เป็นหนึ่งในเพลงที่สร้างชื่อให้กับ “นริศ อารีย์” น้องชายแท้ๆ ของ วรนุช อารีย์ นักร้องนำวงสุนทราภรณ์ เขาได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 3 ขุนพลเพลงลูกกรุง ร่วมกับ สุเทพ วงศ์กำแหง และ ชรินทร์ นันทนาคร

เล่ากันว่าเพลง “เปียจ๋า” ที่ได้แรงดลใจจากเปียสวยของ “ยุวดี ธัญญสิริ” กลายเป็นแฟชั่นให้สาววัยรุ่นในยุคนั้น นิยมไว้ผมเปียกันทั่วเมืองกันเลยทีเดียว