จิตต์สุภา ฉิน : Biohacking แฮ็กร่างกายสู่ความอมตะ

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ความกลัวว่าสักวันหนึ่งหุ่นยนต์จะเข้ายึดครองโลกและใช้งานมนุษย์เป็นทาสอาจจะเกิดขึ้นได้จริงเฉพาะในภาพยนตร์เท่านั้น

หรือไม่เช่นนั้นก็คงจะไกลตัวเรามากๆ ในแบบที่เราไม่จำเป็นต้องกังวลในตอนนี้เลย เพราะตายแล้วเกิดใหม่กลับมาก็อาจจะยังมาไม่ถึง

แต่มีอีกหนึ่งรูปแบบของอนาคตการอยู่ร่วมกับหุ่นยนต์ที่น่าสนใจก็คือ การเปลี่ยนตัวเราเองให้เป็นกึ่งมนุษย์กึ่งหุ่นยนต์

ร่างกายมนุษย์เป็นข้อจำกัดที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการผุพังไปตามกาลเวลา ความไม่อมตะ อวัยวะที่ใช้งานได้อย่างจำกัดและไม่สามารถถอดสลับเปลี่ยนได้ง่ายดาย ในขณะที่หุ่นยนต์ไม่มีข้อจำกัดแบบเดียวกันนี้

ดังนั้น การจับเอาบางส่วนของหุ่นยนต์เข้ามาใส่ไว้กับร่างกายมนุษย์จึงดูจะเป็นการอุดช่องโหว่ที่ว่านี้ได้ดี

ที่เห็นบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ การใช้ชุดสูทโครงกระดูกภายนอก หรือที่เรียกว่า exoskeleton หรือ exosuit ซึ่งก็คือการสวมแมชชีนไว้บนร่างกายเพื่อช่วยให้แขนขาของเรามีพละกำลังที่แข็งแกร่งและทนทานมากขึ้น

ชุดสูทจะทำหน้าที่ช่วยรองรับส่วนหลัง บ่า ไหล่ เอว และต้นขา ทำให้เราเคลื่อนไหวได้รวดเร็วขึ้น ยกของหนักได้

และทำภารกิจต่างๆ ที่ปกติร่างกายมนุษย์ของเราไม่สามารถทำได้

 

ต้นปีที่ผ่านมา ฉันมีโอกาสได้ไปลองเทคโนโลยีแบบนี้ด้วยการสวมแขนขวาของตัวเองเข้าไปในชุดสูทที่ว่า จากเดิมที่แทบจะไม่สามารถทำให้กระเป๋าน้ำหนัก 20 กิโลกรัมขยับลอยขึ้นมาจากพื้นได้สักเท่าไหร่

เมื่อมีเครื่องนี้เป็นตัวช่วย เพียงแค่ขยับแขนขึ้นนิดเดียวก็แทบจะทำให้กระเป๋าน้ำหนักเท่านั้นลอยหลุดมือออกไปได้ง่ายๆ

สายการบิน Delta Airlines เขาเล็งนำเทคโนโลยีนี้ไปช่วยพนักงานที่ต้องยกกระเป๋าเดินทางหนักๆ อยู่บ่อยๆ เพื่อให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพและป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากการยกของหนักได้

เทรนด์การเปลี่ยนบางส่วนของร่างกายตัวเองให้มีความเข้าใกล้แมชชีน หรือ Biohacking เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอยู่ในกลุ่มคนบางกลุ่ม

อย่างเช่นในรัสเซีย ที่เริ่มเห็นคนฝังชิพไว้ในร่างกายตัวเองมากขึ้น

คนรัสเซียจำนวนหนึ่งเบื่อหน่ายกับการต้องทำภารกิจในชีวิตประจำวันบางอย่างซ้ำๆ อย่างการหยิบบัตรพนักงานเข้ามาแตะเพื่อเปิดประตูออฟฟิศ หรือการแตะบัตรโดยสารรถไฟใต้ดิน ก็เลยเอาชิพที่อยู่ในบัตรเหล่านั้นมาฝังเอาไว้ใต้ผิวหนังระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้แทน ครั้งต่อไปก็ไม่ต้องหยิบบัตรออกมาให้เสียเวลา แค่ใช้มือโบกผ่านก็จบ

นอกจากจะประหยัดเวลาแล้วก็ยังดูเก๋ เท่ มีความไซบอร์กให้คนรอบข้างได้ฮือฮาเล่น

การแฮ็กร่างกายประเภทนี้ไม่มีอะไรหวือหวามาก แค่หยิบเอาฟีเจอร์ของสิ่งของอะไรสักอย่างมาใส่เข้าไปในร่างกาย อย่างชิพที่อยู่ในบัตร แม่เหล็ก เข็มทิศให้มันสั่นเบาๆ เวลาหันหน้าไปทางทิศเหนือ ฝังฟีเจอร์การสตาร์ตรถ เปิดมือถือ คอมพิวเตอร์ ปริ๊นเตอร์ ตรวจอุณหภูมิร่างกาย ฯลฯ

พอเบื่อฟีเจอร์ที่มีอยู่แล้วก็อาจจะเอาชิพไปรีโปรแกรมใหม่ให้มันทำอย่างอื่นได้ต่อไปอีก ต้นทุนของชิพก็อยู่ที่ประมาณ 200 บาท คิดค่าฝังชิพก็อาจจะไปตกอยู่ที่ราวๆ 1,000 บาทเท่านั้น

ส่วนใหญ่คนที่จะเอาร่างกายตัวเองไปฝังชิพแบบนี้ก็มักจะเป็นผู้ชายอายุต่ำกว่า 35 ปีนี่แหละที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก

 

แต่ Biohacking ไม่ได้มีแค่การฝังชิพกรุบกริบ เพราะก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตั้งใจจะ “แฮ็ก” ร่างกายอย่างจริงจัง และถือเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในหมู่เศรษฐี เพราะถ้าไม่มีเงินเยอะก็จะไม่สามารถตามเทรนด์นี้ได้

แนวปฏิบัตินี้มีชื่อเรียกกันว่า transhumanism หรือการใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยปรับปรุงร่างกายมนุษย์ สิ่งที่บรรดามหาเศรษฐีเหล่านี้ทำกันก็คือ การเข้าคลินิกบ่อยๆ เจาะเลือดทีละ 20 หลอดเพื่อให้เอาไปวิเคราะห์และวัดค่าต่างๆ ทั้งคอเลสเตอรอล กลูโคส ความหนาแน่นของกระดูก ฮอร์โมนคอร์ติซอล ฯลฯ ทดสอบทางพันธุกรรมว่าตัวเองมีความเสี่ยงด้านไหนบ้างและจะชดเชยได้อย่างไร กินวิตามินและอาหารเสริมวันละเป็นกำๆ ออกกำลังกายหนักๆ

ทั้งหมดนี้ทำไปก็เพื่อการเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่อาจจะมาพรากชีวิตไปได้ คนกลุ่มนี้เชื่อว่าถ้าเอาชนะโรคที่เป็นสาเหตุใหญ่ๆ ของการเสียชีวิตของมนุษย์ อย่างโรคหัวใจ อัลไซเมอร์ และโรคมะเร็งได้ ก็แทบจะไม่เหลือสาเหตุอะไรให้ตายง่ายๆ อีกแล้ว

เว้นแต่อุบัติเหตุกับความรุนแรงเท่านั้น

 

นักแฮ็กร่างกายบางคนใช้วิธีบำบัดทางพันธุกรรม เปลี่ยนดีเอ็นเอตัวเองด้วยการใช้เครื่องมือตัดต่อยีน บนพื้นฐานความเชื่อว่าความชราภาพของมนุษย์ถูกโปรแกรมเอาไว้ในยีนของเราแล้ว และทางทฤษฎีเชื่อว่าหากเราสามารถเข้าไปปิดกั้นโปรแกรมตัวนี้ได้ มนุษย์ก็จะสามารถชะลอความแก่ชรา และยืดอายุขัยออกไปจนไปถึงวันที่การมีชีวิตอยู่เกินร้อยปีจะเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน

ซึ่งความคาดหวังของนักแฮ็กร่างกายกลุ่มฮาร์ดคอร์กลุ่มนี้ไม่ใช่การทำให้ตัวเองมีอายุอยู่ได้แค่ร้อยกว่าปีเท่านั้น แต่เล็งไปถึงหลายร้อย หลายพันปีเลยทีเดียว

ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้เทคโนโลยียังทำไม่ได้แม้กระทั่งทำให้ค่าเฉลี่ยของอายุขัยมนุษย์เป็น 100 ปี ดังนั้น สิ่งที่คนกลุ่มนี้กำลังทำอยู่ก็คือการประคองร่างกายของตัวเองให้อยู่ไปได้นานที่สุดเพื่อรอวันที่เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ก้าวไกลกว่านี้ เผื่อว่าจะอยู่ไปถึงวันที่มนุษย์เราค้นพบอะไรบางอย่างที่นำมาซึ่งความเป็นอมตะได้

อย่างไรก็ตาม มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เราจะต้องไม่ลืม มนุษย์สมัยก่อนอายุขัยสั้นกว่านี้มากและไม่ได้มีชีวิตยืนยาวพอที่จะเจอกับโรคใหญ่ๆ อย่างโรคหัวใจ อัลไซเมอร์ หรือมะเร็ง ซึ่งในตอนนี้ได้กลายเป็นโรคที่มนุษย์ในปัจจุบันต้องรับมือกันอยู่ทุกวัน

เมื่อเราสามารถยืดอายุของเราให้ออกไปเป็นหลายร้อย (หรือหลายพัน) จนเข้าขั้น super elderly ก็น่าจะต้องมีโรคใหม่ๆ ที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อนผุดงอกขึ้นมาให้มนุษย์ต้องปวดหัวและคิดค้นหาวิธีรักษากันต่อไปอีก ไม่ใช่ศึกสงครามการต่อสู้กับโรคที่มาพร้อมความชราเป็นครั้งสุดท้ายของมนุษย์แน่ๆ

การจะแฮ็กร่างกายไม่ว่าจะแฮ็กเพื่อความสะดวกสบายเล็กๆ น้อยๆ หรือแฮ็กไปด้วยความหวังและความฝันว่าจะประคองสังขารไปให้ถึงวันที่เราเข้าสู่ความเป็นอมตะได้ ก็คงจะเป็นตัวเลือกของใครของมัน ไม่ว่าจะอย่างไรมนุษย์เราก็อยู่กับความฝันของการค้นพบยาอายุวัฒนะในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่ในระหว่างที่เราเล็งเป้าไปที่ความอมตะในอนาคต

ก็อย่าลืมใช้ชีวิตในปัจจุบันให้คุ้มค่าด้วยนะคะ