“ชายผู้รากมากดี” ชาวอยุธยา ฝังลูกปัดไว้ที่องคชาต?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ขุนนาง (ซึ่งก็น่าจะเป็นผู้รากมากดี) ชาวอยุธยา ภาพวาดในเอกสารของ ซิมง เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามาในอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หลังจากยุคของหม่าฮวนถึง 200 ปี ไม่มีบันทึกระบุว่า เดินแล้วมี "เสียงองุ่นดังกรุ๋งกริ๋ง"? ภาพจาก : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1422331538

ผู้ชายในยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ถ้านับว่าเป็น “ผู้รากมากดี” แล้ว เขาจะนิยมตกแต่ง “องคชาต” ของตนเองกันนะครับ โดยการตกแต่งที่ว่า ไม่ได้กระทำไปเพื่อความสวยงาม แต่เพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานเวลาเยื้องย่างไปไหนต่อไหนต่างหาก

เรื่องนี้ถึงจะไม่มีบอกอยู่ในพงศาวดาร แต่มีหลักฐานอยู่ในเอกสารของชาวต่างชาติบางคน ที่ได้บันทึกเอาไว้ แถมหนึ่งในชาวต่างชาติบางคนที่ได้บันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ ยังเป็นคนที่ชวนให้รู้สึกน่าเชื่อถือเสียด้วย เพราะเขาทำหน้าที่ล่ามในกองเรือมหาสมบัติ แห่งราชวงศ์หมิง

“กองเรือมหาสมบัติ” ก็คือ กองเรือที่จักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิง (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1946-1968) ทรงมีพระบรมราชโองการให้สร้างขึ้น ประกอบไปด้วย เรือสินค้า เรือรบ และเรือสนับสนุน เพื่อไปเยือนเมืองท่าต่างๆ ในทะเลจีนใต้ มหาสมุทรอินเดีย และทวีปแอฟริกา (ส่วนในปฏิบัติการจริงจะเดินเรือเลยเถิดไปถึงไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า และเครื่องราชบรรณาการจากรัฐต่างๆ แน่นอนว่าทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อความมั่งคั่งของราชสำนักหมิง ว่ากันว่า นี่เป็นกองเรือที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชนชาติจีน และมหึมาที่สุดเท่าที่โลกทั้งใบในยุคนั้นเคยรู้จักมาเลยทีเดียว

ดังนั้น บันทึกหรือรายงานอะไรก็ตามจากกองเรือมหาสมบัตินี้ จึงมีฐานะไม่ต่างไปจากเอกสารราชการหรอกนะครับ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะประเมินเอกสารราชการนั้นมีความน่าเชื่อถือขนาดไหน?

 

ส่วนบันทึกที่ว่าด้วย การตกแต่ง “องคชาต” ของผู้ดีชาวอยุธยานี้ ก็อยู่ในส่วนหนึ่งของเอกสารเหล่านี้ คนที่บันทึกเรื่องนี้ไว้ชื่อ หม่าฮวน ทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาอารบิก (แน่นอนว่า เขาเป็นชาวจีนมุสลิม) ประจำกองเรือมหาสมบัติ ซึ่งเขาได้เดินทางเข้ามาถึงอยุธยาด้วยตนเอง (ส่วนกองเรือฯ จอดอยู่ที่ทะเลแถวๆ เมืองมะละกา ในประเทศมาเลเซียโน่น) โดยเขาได้อ้างถึงเรื่องนี้ (สำนวนแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธุ์ พ.ศ.2543) เอาไว้ ดังนี้

“…พอชายมีอายุได้ยี่สิบปี พวกเขาจะดึงหนังหุ้มองคชาตออกมา, แล้วใช้มีดคมบางรูปร่างอย่างใบหอมกรีดผ่าผิว และยัดลูกปัดดีบุกโหลหนึ่งเข้าไปใต้ผิวหนัง ปิดมันไว้ แล้วเยียวยาด้วยสมุนไพร รอกระทั่งแผลหายสนิทดี พวกเขาจึงเดินไปไหนมาไหน (ลูกปัดดีบุกเหล่านั้น) มองๆ ดูก็เหมือนอย่างกับพวงลูกองุ่น

มีคนหมู่หนึ่งที่เป็นผู้รับจ้างทำการผ่าตัดเช่นนี้ พวกนี้มีความชำนาญในการฝังและหล่อเชื่อมลูกปัดดีบุกให้กับผู้คน เขาทำกันอย่างถือเอาเป็นอาชีวะอย่างหนึ่งทีเดียว

หากว่าเป็นพระมหากษัตริย์หรือขุนนางใหญ่หรือคนมั่งมี พวกเขาจะใช้ทองคำทำเป็นเม็ดกลวงในนั้น ใส่เม็ดทรายแล้วเอาฝัง ไปไหนก็ส่งเสียงกรุ๋งกริ๋ง แลถือกันว่างามนัก ผู้ชายที่ไม่มีลูกปัดฝังคือพวกคนชั้นต่ำ นี่เป็นเรื่องพิลึกพิสดารเหลือหลาย…”

กองเรือมหาสมบัติของจักรพรรดิหย่งเล่อ ที่มี “เจิ้งเหอ” (หรือที่คนไทยเชื้อสายจีนคุ้นหูกันมากกว่าในชื่อ “ซำปอกง”) เป็นผู้นำกองเรือฯ ออกทำการ “สมุทรยาตรา” ในท้องทะเลยุคโน่นถึง 7 ครั้ง แต่ครั้งที่มี “หม่าฮวน” เป็นล่ามครั้งแรกนั้น (ที่จริงแล้วในกองเรือฯ ชุดเดียวกันนี้ยังมีล่ามภาษาอารบิกอีกคนคือ ฮะซาน) เป็นการเดินเรือครั้งที่ 4 ในช่วงระหว่าง พ.ศ.1956-1958 ก่อนที่จะกลับมาถึงเมืองปักกิ่ง และเขียนบันทึกฉบับนี้เสร็จในปีถัดมา ตรงกับ พ.ศ.1959

อย่างไรก็ตาม หม่าฮวน ได้มีโอกาสท่องสมุทรไปกับกองเรือมหาสมบัติอีกถึงสองครั้งคือ ครั้งที่ 6 เมื่อระหว่าง พ.ศ.1964-1965 และครั้งสุดท้ายคือครั้งที่ 7 ในระหว่าง พ.ศ.1974-1976 แล้วจึงมีการเขียนเพิ่มเติม และปรับปรุงบันทึกที่ชื่อ “การเดินทางสำรวจดินแดนโพ้นทะเล” (อิ๋งหยาเซิ่งหลั่น) จนแล้วเสร็จในอีกสามปีถัดมาคือ พ.ศ.1979

ปัญหาก็คือ ในหนังสือ “การเดินทางสำรวจดินแดนโพ้นทะเล” นั้นไม่ได้ระบุชัดเจนว่า หม่าฮวนเดินทางไปยังอยุธยาเมื่อครั้งไหน? เราจึงไม่รู้แน่ชัดว่า เสียง “พวงองุ่นดังกรุ๋งกริ๋ง” ที่ดังเข้ามากระทบโสตแก้วหูของหม่าฮวน ในปี พ.ศ. อะไรตามไปด้วย?

 

ชาวจีนในยุคใกล้เคียงกับหม่าฮวนที่เคยเดินทางเข้ามาในอยุธยาอย่าง “หวังต้าหยวน” ที่เดินทางเข้ามายังดินแดนแถบนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.1871-1876 (แน่นอนว่า นี่เป็นตัวเลขปีพุทธศักราชก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 20 ปี แต่ช่วงเวลานั้นก็มีหลักฐานการคงอยู่ของอาณาจักรแห่งนี้แล้ว) ไม่ได้กล่าวถึงเสียงพวงองุ่นกรุ๋งกริ๋งดังกล่าว

เช่นเดียวกับ “เฟยซิน” ซึ่งก็เป็นชาวจีนมุสลิม ไม่ต่างจากหม่าฮวน และเจิ้งเหอ แถมยังเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน และเป็นทหารใต้บังคับบัญชาของเจิ้งเหอมาก่อน แน่นอนว่าเขาได้เดินทางร่วมกับกองเรือมหาสมบัติ 3 ครั้งคือ การเดินทางของกองเรือครั้งที่ 3 ระหว่าง พ.ศ.1952-1955 ส่วนอีกสองครั้งคือ ครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 นั้น เขาเดินทางร่วมกับหม่าฮวนเลยด้วยซ้ำไป แต่หนังสือบันทึกการเดินทางที่เขาเขียนขึ้นที่มีชื่อว่า “ภาพรวมการสำรวจของแพดวงดาว” (แพดวงดาว หมายถึง ธงราชทูตบนกองเรือมหาสมบัติ) กลับไม่ได้เอ่ยถึงเสียงพวงองุ่นที่ดังกรุ๋งกริ๋งเลยแม้แต่นิด ทั้งๆ ที่หนังสือของเขาก็เขียนเสร็จสิ้นลงในปี พ.ศ.1979 ปีเดียวกับที่หม่าฮวนปรับปรุงบันทึกการเดินทางของเขาสำเร็จนั่นแหละ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีใครคนอื่นนอกจากหม่าฮวน พูดถึงเสียงพวงองุ่นที่ว่านี่นะครับ คนจีนในรุ่นใกล้ๆ กันนั้นอย่าง “ก่งเจิน” ระบุไว้ว่า “…เพศชายทั้งหมดจะเป็นคนชั้นสูงหรือชั้นต่ำใช้ลูกปัดทองคำหรือเงินฝังเข้าไปในอวัยวะเพศ…”

ในขณะที่ “หวงเฉิงซิง” ระบุไว้อย่างคลุมเครือและแปลกออกไปอีกนิดว่า “…เมื่อผู้ดีชั้นสูงอายุ 20 ปี เขาใช้ทรายสำหรับสอด…” แถมยังมีหลักฐานคล้ายๆ กัน แต่ไม่สู้จะน่าเชื่อถือนัก ว่าธรรมเนียมทำนองนี้ก็มีใน เมืองพะโค (ปัจจุบันคือ หงสาวดี ในประเทศพม่า) และชวา

ความลักลั่นกันของบันทึกอย่างนี้แหละครับ ที่ทำให้น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่า อันที่จริงแล้ว ชายผู้รากมากดี ในอยุธยายุคโน้น เขาเอาเม็ดอะไรต่อมิอะไร ยัดเข้าไปไว้ในองคชาต ให้เป็นพวงองุ่นเสียงดังกรุ๋งกริ๋ง จริงหรือเปล่า?

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ในสมัยโบราณนั้น จีนถือว่าอารยธรรมของตนเองยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นศูนย์กลางของโลก ดังนั้น จึงเห็นใครต่อใครที่ไม่ใช่พวกตนไม่เป็นอารยะไปเสียหมด ถ้าจะเห็นเราเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร?

อาจบางที หม่าฮวน ซึ่งเป็นคนที่พรรณนาถึงเจ้า “เสียงองุ่นดังกรุ๋งกริ๋ง” นี่อย่างละเอียดลออ และพิสดารเป็นที่สุด จึงอาจจะเพียงแต่ฟังเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาจากใครสักคน แล้วก็สบอารมณ์ว่า แม้แต่ผู้ดีชาวอยุธยาก็ยังไม่เป็นอารยะ สอดคล้องกับภาพชาวอยุธยาอันป่าเถื่อนในหัวของตัวหม่าฮวนเอง จึงทำให้เขาเชื่อ และเลือกที่จะบันทึกลงไปอย่างนั้น

หม่าฮวนจึงอาจจะไม่เคยได้ยินเสียงดัง “กรุ๋งกริ๋ง” ของเจ้าพวงองุ่นที่ว่าเลยก็เป็นได้ เช่นเดียวกับก่งเจิน และหวงเฉิงซิง ซึ่งก็อาจจะแค่ฟังความมาจากใครสักคนเช่นกัน ดังนั้น ความที่พรรณนาออกมานั้นจึงแตกต่างกันออกไปในรายละเอียด (และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่า ทำไมบันทึกในช่วงร่วมสมัยฉบับอื่นๆ จึงไม่ได้กล่าวถึงเจ้าเสียงพวงองุ่นนี้?)

เพราะก็มีอยู่ออกบ่อยไม่ใช่หรือครับ ที่หนังสือราชการไม่ได้รายงานอะไรตามความเป็นจริง?