อัญเจียแขฺมร์ : กายกรรมแขฺมร์-เกมฝันเดิมพันชีวิต (1)

มัวแต่สนใจกัมพูชา 1979/2522 แต่ประเด็นผู้นำนักการเมืองจนหลงลืมไปว่า ยังมีเรื่องราวของคนธรรมดาที่ต้องอยู่ในช่วงเวลาว้าเหว่และสิ้นหวังของพนมเปญเวลานั้น โดยเฉพาะเด็กกำพร้าที่มีชีวิตอยู่ในศูนย์เลี้ยงเด็ก พวกเขาต้องเงิบมองชีวิตใหม่ โดยปราศจากพ่อแม่และบุคคลที่รักดูแล

มม รัสมี ก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น เขาอาศัยในศูนย์เด็กกำพร้าที่หาทางกลับไปเรียนหนังสือต่อ ด้วยมันคือสิ่งเดียวที่พ่อและแม่ให้ไว้ ก่อนที่เขมรแดงจะพรากชีวิตของท่านไปตอนที่เขาอายุได้สิบเอ็ดปี

แต่เมื่อเขาต้องใช้ชีวิตแต่เดียวดายต่อไปจากนี้ เขาจึงหวังจะเอาดีกับการเรียนให้ได้ และทันทีที่ทราบจากครูว่า มีเจ้าหน้าที่เวียดนามกำลังคัดสรรเด็กจากโรงเรียนทั่วพนมเปญ เพื่อไปเล่าเรียนที่ประเทศรัสเซีย

มม รัสมี ขณะนั้นเพิ่งจะย่าง 15 ปี แต่เหมือนกับเด็กที่ผ่านชีวิตมานานนับ เขาเฝ้าแต่บอกตัวเองว่า จะต้องออกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อื่น ที่ไม่ใช่เมืองร้างอย่างพนมเปญที่เขากำลังประสบชีวิตอันว้าเหว่และหิวโหย ในแต่ละวันแต่ละคืน ที่เขาต้องเผชิญกับความอดอยากจากการแบ่งปันอาหารจากสภาพบ้านเมืองที่เพิ่งฟื้นตัวจากระบบคอมมิวนิสต์

รัฐบาลสาธารณรัฐประเจียมานิตกัมพูชาซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นหนักกับสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพโซเวียต ด้วยเหตุนั้น รัฐบาลจึงส่งคนของตนเพื่อไปเล่าเรียนในศาสตร์สาขาต่างๆ โดยผ่านการคัดเลือกจากเวียดนามอีกคำรบหนึ่ง

แต่ใครจะนึกว่าจะมีศาสตร์สาขานี้อยู่ด้วยสำหรับรัฐบาลสังคมนิยมเวลานั้น?

มันคือ สาขานักกายกรรมศาสตร์ค่ะ

ซึ่งคัดนักเรียนอย่างจริงจังรอบแรกในปี พ.ศ.2523 จนเหลือจำนวน 50 คน ที่ถูกส่งไปฝึกที่โรงเรียนศิลปศึกษาหรือวิทยาลัยศิลปากรพนมเปญปัจจุบัน ก่อนคัดรอบสุดท้ายให้เหลือเพียงแค่ 10 คนโดยเจ้าหน้าที่จากรัสเซีย

และมี มม รัสมี คนหนึ่งละที่สามารถพาตัวเองไปสู่โลกแห่งความฝันจนสำเร็จ สำหรับฤดูร้อนแรกของปี 2528 ที่เขาและนักเรียนทุนคนอื่นๆ เดินทางไปกรุงมอสโก

นี่ทำให้ฉันนึกถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัย มีเพื่อนที่ได้ทุนไปเรียนรัสเซีย สร้างความตื่นเต้นแก่เรานัก ขณะที่เพื่อนอีกคนหนึ่งบอกว่า “สมัครขอทุนน่ะง่าย แต่ตอนกลับมานี่สิ”

นอกจากจะหางานทำยากแล้ว ยังต้องไปรายงานตัวกับสันติบาลอีกตะหาก!

ในที่สุด เด็กหนุ่มกำพร้าคนนี้ มม รัสมี ก็มีโอกาสเป็นนักเรียนทุนรัสเซียที่รัฐทยอยส่งไปศึกษาทั้งที่โซเวียตและกลุ่มประเทศในเครือสหภาพ แต่สำหรับสาขาศิลปะกายกรรมศาสตร์นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า L”Ecole d”Etat des Arts du Cirque et de Variete de Moscou โรงเรียนศิลปะกายกรรมและการแสดงแห่งกรุงมอสโกนี้ ถือเป็นสถาบันแถวหน้ายุคนั้น

มม รัสมี ไปถึงรัสเซียในเดือนมิถุนายน แม้จะเป็นฤดูร้อน แต่สำหรับเขาก็รู้สึกหนาวมาก แถมในกระเป๋ายังไม่มีเสื้อผ้าติดตัวไปอีก

ลำพังเป็นเด็กกำพร้าเกรด-3 ของโรงเรียน มีข้าวกินพออิ่มแม้จะไม่ใช่อาหารดีมีรสอร่อย เรื่องเสื้อผ้าสวมใส่นั้นไม่ต้องพูดถึง-ไม่มี ความลำบากยากแค้นนี้ นอกจากจะเป็นเด็กกำพร้าไร้ที่พึ่งพิงแล้ว ความหวังที่จะมีใครช่วยเหลือเป็นกำลังจิตใจนั้นมิต้องหวัง มีแต่ความมุ่งมั่นที่จะเล่าเรียนให้สำเร็จเท่านั้น

ที่เป็นภารกิจแรกของชีวิตเด็กกำพร้าคนหนึ่ง ซึ่งหาทางจะหนีจากชีวิตที่ลำบากไปสู่ดินแดนแห่งสวรรค์ที่เขาพอจะฝันได้ จึงไม่ว่าจะลำบากแค่ไหน ก็จะต้องบากบั่น สู้ทนเล่าเรียน จนสำเร็จประกาศนียบัตรสาขาศิลปศาสตร์ด้านกายกรรมวิทยาภายใน 4 ปีเท่านั้น

โดยในปีแรก มม รัสมี เล่าไว้ในเพจของตนว่า หนักไปในการม้วนและทรงตัวบนเสื่อ การจัดระเบียบร่างกาย การท่องโศลก ท่องบทละครพูด การเต้นบัลเล่ต์ วิชาการขับร้อง และวิชาทั่วไป เช่น ภาษารัสเซีย คณิตศาสตร์ เคมีวิทยา รัสเซียการเมือง ประวัติศาสตร์สังคมนิยมและประวัติศาสตร์ทั่วไป

เขาได้รับการดูแลจากวิทยาลัยอย่างดี ซึ่งดูเหมือนว่า รัฐบาลพนมเปญจะขัดสน และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมอสโกคอยจัดหาทุกสิ่งแก่พลเมืองของตน

โดยเฉพาะรัสมีซึ่งขาดแคลนทุกอย่าง ตั้งแต่เสื้อผ้าชุดเล่าเรียน ชุดฝึกซ้อม และอุปกรณ์การเรียนอื่นๆ แต่สิ่งเดียวที่เขามีความสุขขึ้นมามากกว่าเดิม คืออาหารการกินที่สมบูรณ์ จนทำให้เขามีเรี่ยวแรงฝึกฝนร่างกาย จน มม รัสมี ถึงกับเล่าในเฟซบุ๊ก-Mam Rasmey ของตนว่า

“มีรูปร่างที่สง่างามราวกับเทพบุตร” (หุ หุ)

กระนั้นก็มีอีกเรื่องที่เขาไม่เคยนึกมาก่อนเมื่อไปเห็นในรัสเซีย นั่นคือความสะดวกสบายที่เขาเคยมโนเมื่อเปรียบกับประเทศของตน (ในปี พ.ศ.2524) นั้น

แต่การณ์กลับเป็นว่า นอกจากความยิ่งใหญ่ในอาคารบ้านเรือนที่ปลูกสร้างไว้แต่ในอดีตแล้ว กัมพูชาและรัสเซียก็มีสภาพที่แตกต่างกัน

กล่าวคือ ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากไร้ แร้นแค้น และทุกขเวทนากับอดอยากโดยไม่ต่างกันนัก

หรืออาจจะมากกว่าเขมรด้วยซ้ำ

และนั่นคือปี 2528 ที่ มม รัสมี เจ้าของประกาศนียบัตรนักกายกรรมเอกคนแรก (ๆ) ของกัมพูชาที่ได้ศึกษาในต่างแดน

มม รัสมี เองก็วาดฝันไว้มากว่า เขาน่าจะมีอนาคตรุ่งรางรอคอยอยู่เบื้องหน้า

คิดดูสิ สมัยที่ยังเป็นแค่ศิลปินนิสิตของทางการโซเวียต เขายังได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มีรึ ถ้ากลับมาทำงานที่บ้านเกิดเมืองนอนของตนแล้วก็คงไม่แคล้วจะไม่ได้รับการฟูมฟัก

แต่อนิจจา เหมือนตกจากสวรรค์

จากสภาพบ้านเมืองที่ยังย่ำแย่ ค่ายังชีพยังตกต่ำ และข้าราชการที่ยังต้องอาศัยระบบแบ่งปัน และเพื่อประทังชีวิตจากปัจจัยที่รัฐมอบให้คือ ข้าวสาร 20 กิโลกรัม น้ำตาล 1 กิโลกรัม สบู่ 2 ก้อน บุหรี่ 2 ซอง ฯลฯ อันเล็กน้อยมาก สำหรับการประทังชีวิตให้อยู่รอดใน 1 เดือน

พ่อแม่พี่น้องคงไม่ทราบหรอกว่า การแสดงกายกรรมผาดโผนที่น่าตื่นตาตื่นใจพวกนี้ต้องใช้พละกำลังถึงเพียงไหน ทั้งการแสดงที่โอลิมปิกสเตเดี้ยม โรงมโหรสพจตุมุขที่สร้างความตื่นตาตื่นใจต่อผู้ชม

พวกเขาเล่าขานปากต่อปากถึงความสามารถ “ละครเซียะ” นักกายกรรมเขมร-เป็นความบันเทิงอันน้อยนิดที่มีอยู่ในเขมรเวลานั้น

แต่เบื้องหลังนักแสดงแล้ว พวกเขาแทบจะหมดแรงข้าวต้ม

มม รัสมี นั่นเองที่รำพึงรำพันว่า เขาเริ่มมีอาการเจ็บป่วยกับภาวะขาดอาหาร ร่างกายเขาอ่อนแอ แต่ก็ข่มจิตใจสู้เพื่อให้การแสดงแต่ละโชว์จบลงอย่างสมบูรณ์

บางครั้ง ก็อาศัยน้ำตาลกรวด พอประทังให้ร่างกายมีเรี่ยวแรงและสามารถแสดงจนจบ

แต่ มม รัสมี ก็รักษาอาชีพที่แผนกศิลปะกายกรรมเพียงแค่ 15 ปี กระทั่งราวปี พ.ศ.2543 กระทรวงโฆษณาการวัฒนธรรมและข่าวสารที่เขาสังกัด ประกาศขายกิจการโรงละครสบัก/โรงละครกายกรรมตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งเพิ่งผ่านพ้นระบบสังคมนิยมมาไม่นาน

โรงละครที่รัฐบาลสหภาพโซเวียตสร้างเป็นของขวัญแด่มิตรภาพแก่ประเทศกัมพูชาโรงนั้น พร้อมกับคณะกายกรรมรุ่นแรกที่รัสเซียอุตสาหะปั้นมา

เมื่อทุนนิยมกลับมา ทุกอย่างตลอด 2 ทศวรรษที่ก่อตัวมาจากสังคมนิยมสหภาพโซเวียตยุคนั้น ก็ถึงกาลล่มสลาย

โดย มม รัสมี นั้นถึงกับคร่ำครวญว่า

“เขา (รัฐบาล) คงไม่ชอบเราแล้ว จึงลอยแพเราแบบนี้”

เครดิตภาพ : Mam Rasmey/Facebook