คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ความเข้าใจเรื่อง “ตรีมูรติ”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

มักมีความเข้าใจแพร่หลายว่า “ตรีมูรติ” คือการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ทั้งสามในศาสนาฮินดู อันได้แก่ พระพรหม พระวิษณุและพระศิวะ แล้วคิดกันต่อไปว่า พระตรีมูรติต้องมีแบบเดียวแบบนี้เท่านั้นคือแบบรวมร่างกัน

ในพจนานุกรมสันสกฤต ของวาสุเทวะ อัปเต “มูรติ” แปลว่า ร่าง, การสำแดง, ภาพ ฉะนั้น ตรีมูรติ (สันสกฤต เขียน ตฺริมูรฺติ) จึงแปลว่า “สามรูป” หรือ “สามการสำแดง” แค่นั้นเอง

ในทางประติมานวิทยา รูปเคารพตรีมูรติที่ปรากฏพบในอินเดียจึงมีความหลากหลาย มีทั้งที่ปรากฏเป็นเทพสามองค์แยกกัน มีทั้งแบบสามองค์รวมกัน และแบบ “องค์เดียว” แต่ปรากฏสาม “ภาค”

ซึ่งอย่างหลังนี่แหละที่ต่างกับความเข้าใจโดยทั่วไปของเรา

 

อาจารย์อรวินท์ ศรมา (Arvind Sharma) นักวิชาการใหญ่ทางปรัชญาอินเดียกล่าวว่า แนวคิดเกี่ยวกับตรีมูรติไม่ปรากฏในคัมภีร์พระเวทยุคต้นแต่อย่างใด แต่เริ่มปรากฏแนวคิดนี้ในไมตรีอุปนิษัท ซึ่งเป็นคัมภีร์อุปนิษัทรุ่นหลัง ตกในราว 200 ก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศตวรรษที่สอง โดยมีบทสวดของเกาตสยะ ตัวละครในอุปนิษัทนั้นว่า “ท่านคือพระพรหม คือพระวิษณุ คือพระศิวะ…”

นักวิชาการจึงยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ตรีมูรติเริ่มปรากฏความสำคัญในคัมภีร์ชั้นปุราณะแล้ว ซึ่งเป็นช่วงของการ “แต่ง” เทวตำนานจำนวนมากขึ้น อาจารย์อรวินท์อ้างงานของบาชาม (A. L. Basham) นักภารตวิทยา ว่า เรื่องตรีมูรติที่มีพระพรหมเป็นผู้สร้าง พระวิษณุเป็นผู้รักษา และพระศิวะเป็นผู้ทำลาย เริ่มในสมัยคุปตะตอนต้น

ทั้งนี้ บาชามยังกล่าวในหนังสือ The Wonder that was India ว่า

“ผู้ศึกษาศาสนาฮินดูชาวตะวันตกยุคแรกนั้น คงประทับใจภาพคู่เทียบระหว่างตรีมูรติ (ท่านใช้ว่า Hindu Trinity) กับตรีเอกานุภาพของศาสนาคริสต์ ทั้งที่ในความเป็นจริง คู่เทียบดังกล่าวมิได้ใกล้เคียงกันเลย และตรีมูรติก็ไม่ได้เป็นที่เข้าใจอย่างตรีเอกานุภาพของคริสต์ศาสนา แนวคิดตรีมูรติในศาสนาฮินดูมักชื่นชอบองค์ใดองค์หนึ่งจากสามองค์ จากความข้อนี้ ชัดเจนว่าบทกวีสรรเสริญตรีมูรติของกาลิทาสได้แสดงให้เห็นว่าพระพรหมเป็นเทพสูงสุด (กว่าองค์อื่น) ในความเป็นจริงแล้ว ตรีมูรติแพร่ขยายอย่างประดิษฐ์ขึ้น และมีผลกระทบจริงๆ น้อยมาก”

อาจารย์อรวินท์โต้แย้งว่า ที่กล่าวว่าตรีมูรติไม่แพร่หลายนั้นก็อาจจริงหากเทียบกับความแพร่หลายของแนวคิดตรีเอกานุภาพในหมู่ชาวคริสต์ แต่มิได้หมายความว่า ความคิดนี้ไม่ได้มีพัฒนาการและค่อยๆ ขยายตัวไปในยุคหลัง

 

ทั้งนี้ ผมอาจต้องแยกให้เห็นประเด็นสำคัญว่า จากข้อเสนอของบาชาม ตรีมูรติในทัศนะของฮินดูนั้นไม่ได้เป็นเทพสามองค์ที่ “เท่ากัน” แต่มักมีองค์ใดองค์หนึ่งสำคัญกว่าอีกสององค์เสมอ ซึ่งต่างกับตรีเอกานุภาพของคริสต์ “สามบุคคลในพระเจ้าองค์เดียว”

การเลือกว่าองค์ไหนจะมีความสำคัญกว่าอีกสององค์ขึ้นอยู่กับความเชื่อถือศรัทธาและนิกายเป็นสำคัญ

เช่น หากกล่าวถึงตรีมูรติจากผู้ที่นับถือพระวิษณุ พระวิษณุย่อมสำคัญกว่าอีกสององค์ หรือหากจะกล่าวจากมุมผู้นับถือพระศิวะ พระศิวะก็ย่อมสำคัญที่สุด

รูปเคารพตามแนวคิดนี้ มักปรากฏพระเป็นเจ้าทั้งสามองค์ โดยมีองค์ใดองค์หนึ่งอยู่ตรงกลางซึ่งแสดงความสำคัญที่สุด เช่น รูป “ศิวเอกบาท” ซึ่งนับถือกันในไศวะนิกายทางตอนใต้ของอินเดีย เป็นรูปพระศิวะยืนและมีเพียงเท้าเดียว โดยมีพระพรหมและพระวิษณุอยู่ด้านข้าง

ภายหลังจากอินเดียพัฒนาความคิดเรื่อง “เอกเทวนิยม” (monotheism) หรือแนวคิดเรื่องพระเจ้าองค์เดียวแล้ว แนวคิดเรื่องตรีมูรติก็เปลี่ยนจากการที่เทพองค์ใดองค์หนึ่งสำคัญกว่าองค์อื่น มาเป็นตรีมูรติก็คือ “พระเจ้าองค์เดียว” ของนิกายนั้น

แต่ทรงสำแดงออกมาเป็นภาคต่างๆ

 

ในไศวะนิกาย พระศิวะนั่นเองเป็นทั้งผู้สร้าง ผู้รักษาและผู้ทำลาย รูปเคารพที่เรียกกันว่าตรีมูรติในถ้ำเอลเลเฟนต้า (Elephanta) เมืองมุมไบ ที่ปรากฏเป็นสามเศียรในร่างเดียว สามเศียรนั้นมิใช่พระพรหม พระวิษณุและพระศิวะมารวมกัน แต่คือภาคทั้งสามของพระศิวะ อันได้แก่ สัทโยชาตะ เป็นพลังของการก่อกำเนิด, วามเทวะ พลังแห่งการธำรง และอโฆระ (แปลว่าดุร้าย) พลังของการทำลาย

ส่วนในไวษณพนิกาย มีคำสอนในปาญจราตระอาคมว่า พระวิษณุทรงมี “วยูหะ” หรือภาคสำแดงต่างๆ สี่ภาคเรียกว่า จตุรวยูหะ ได้แก่ วาสุเทวะ – ผู้สรรค์สร้าง, สังกรษณะ – ผู้รักษา, ปรัทยุมนะ – ผู้ทำลาย และอนิรุทธะ – ผู้ประกาศสัจธรรม

ตรีมูรติตามแนวคิดของนิกายต่างๆ ในอินเดียข้างต้น คือการที่พระเจ้าสูงสุดในนิกายนั้นๆ สำแดงหรือปรากฏภาคของพระองค์เองออกมาในสามลักษณะ ไม่มีตรีมูรติที่เป็นการรวมกันของเทพสามองค์แต่อย่างใด หรือถ้าจะมี ก็เป็นเพียงชื่อเรียกคุณลักษณะของภาคสำแดงนั้นๆ

ต่อมาเมื่อมีสำนักเวทานตะของศังกราจารย์ ก็เกิดแนวคิดเรื่องสัจธรรมหนึ่งเดียว (อไทฺวตะ-monism) ศังกราจารย์ถือว่า สัจธรรมเป็นสิ่งนามธรรมเรียกว่า “นิรคุณพรหมัน” (ไม่มีคุณสมบัติจึงเรียกว่านิรคุณ) แต่จากนิรคุณพรหมัน อาศัยพลัง “มายา” นิรคุณพรหมันจึงปรากฏออกเป็นพระเจ้าองค์เดียวที่มีสภาวะบุคคล เรียกว่า “สคุณพรหมัน” (พรหมันที่มีคุณสมบัติต่างๆ)

สคุณพรหมัน เรียกอีกชื่อว่า “อีศวร” คำนี้ในวรรณกรรมไทยใช้เรียกพระศิวะโดยเฉพาะ แต่ที่จริงคำนี้แปลว่าพระเจ้า (God) เฉยๆ ก็ได้ จากอีศวรจะปรากฏออกมาเป็นสามบุคคลเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ คือสร้าง รักษา และทำลาย

ฉะนั้น จากมุมเวทานตะของศังกราจารย์ พระพรหมา พระวิษณุ หรือพระศิวะ ก็เป็นเพียง “ภาพปรากฏ” ของพระเจ้าหนึ่งเดียว (อีศวรหรือสคุณพรหมัน) ซึ่งก็ปรากฏจากตัวสัจธรรมอันเป็นนามธรรมอีกที คือนิรคุณพรหมัน

 

ฉะนั้น ไม่ต้องทะเลาะกันว่าใครใหญ่กว่าใคร หลังแนวคิดเวทานตะของศังกราจารย์ก่อรูปเป็นนิกาย “สมารตะ” นิกายนี้จึงให้บูชาเทวดาทั้งห้าไปด้วยกัน ได้แก่ พระคเณศ พระเทวี พระวิษณุ พระสูรยเทพ (หรือพระพรหม) และพระศิวะ (ต่อมาเพิ่มขันทกุมารมาอีกองค์ รวมเป็นหก) ส่วนใครจะสำคัญ (เป็นตรงกลางของมณฑลพิธี) ขึ้นอยู่กับความเลื่อมใสของศาสนิก จะเลือกองค์ใดจากห้าองค์นั้นก็ได้

แนวคิดการบูชาเทพทั้งห้า (เรียกปัญจายตนเทวตา) ในทางหนึ่งเป็นกลยุทธ์ของท่านศังกราจารย์ที่จะแก้ความขัดแย้งระหว่างนิกายต่างๆ ของฮินดูในสมัยของท่าน จะได้ไม่ต้องเถียงกันแล้วว่าพระเจ้าของใครใหญ่กว่าใคร เอาพระเจ้าของนิกายใหญ่ๆ มาบูชารวมกันซะก็จบ

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดทางปรัชญาเกี่ยวพันกับตรีมูรติ ซึ่งเวทานตะก็นำมาประยุกต์ใช้ คือแนวคิดเรื่อง “ตรีคุณะ” (ตฺริคุณ) จากปรัชญาสำนักสางขยะ

 

ปรัชญาสำนักนี้คิดว่า จักรวาลประกอบด้วยความจริงสองอย่าง ความจริงอย่างแรกเรียกว่า “ปุรุษะ” หมายถึง จิตสำนึกรู้บริสุทธิ์ ถ้าเทียบกับสำนักอื่นคืออาตมันหรือตัวรู้

กับอีกสิ่งคือ “ประกฤติ” หมายถึงธรรมชาติ คือพลังที่สามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นสิ่งอื่น เป็นมูลกำเนิดของสิ่งต่างๆ

ประกฤติมีคุณสมบัติในตัวมันสามอย่าง (ตรีคุณะ) ได้แก่ หนึ่ง “สัตวะ” คุณสมบัติแห่งความนิ่ง ความสงบ ความเย็น บุญกุศล ความจริง ชีวิต ความกระจ่างใส ปัญญา การดำรงอยู่ ฯลฯ แทนด้วย “สีขาว”

อย่างที่สองคือ “รชัส” ได้แก่ คุณสมบัติแห่งการก่อกำเนิด ความร้อน พลังงาน ความเร็ว ความโกรธ ความว่องไว การเคลื่อนไหว ความรุนแรง ความรัก อารมณ์ ฯลฯ แทนด้วย “สีแดง”

อย่างที่สาม “ตมัส” คุณสมบัติของความตาย ความสิ้นสุด ความง่วงเหงา ซึมเซา ความมืดทึบ ความหลง ความหนัก ความเนิ่นช้า บาป ความหลง ความยึดมั่น ฯลฯ แทนด้วย “สีดำ”

คุณสมบัติทั้งสามนี้ ปรากฏในสิ่งทั้งหมดของจักรวาล ดังนั้น จึงถูกบุคลาธิษฐานให้สัตวะ – พระวิษณุ, รชัส – พระพรหม, ตมัส – พระศิวะ

ตามหลักปรัชญา ตรีมูรติคือตัวแทนของคุณสมบัติสามประการนี้ซึ่งปรากฏในรูปของเทพสามองค์นั่นเอง และเทวตำนานต่างๆ จะสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างเทพทั้งสามกับคุณสมบัติข้างต้น

ดังนั้น ตรีมูรติจึงซับซ้อนกว่าที่เราคิด มีทั้งเรื่องปรัชญา เรื่องนิกาย มีหลากหลายรูปแบบ

แต่เรื่องราวยังไม่จบ ยังมีตรีมูรติอีกแบบซึ่งเป็นที่นิยมในอินเดียและได้มาถึงบ้านเราแล้ว คือรูป “พระทัตตาเตรยะ”

จะขอยกไปเล่าในคราวหน้าครับ