วิกฤติศตวรรษที่ 21 | สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : การพัฒนาตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของจีน

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (39)

การแปรสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นเชิงธุรกรรมการเงิน

ในศตวรรษที่ 21 ปรากฏการแปรสินค้าโภคภัณฑ์เป็นเชิงธุรกรรมการเงินอย่างชัดแจ้ง เป็นปรากฏการณ์ที่ทุนการเงินและนักลงทุนได้ขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ใช่นักการเกษตรหรือนักอุตสาหกรรมอย่างที่เคยเป็นมา

กล่าวอย่างชาวบ้านคือเกิดการเก็งกำไรในการค้าสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

กล่าวได้ว่า การเก็งกำไรด้านสินค้าโภคภัณฑ์เป็นขั้นสุดท้ายของการเก็งกำไรของทุนการเงิน จากนี้ไปก็ไม่เหลือการเก็งกำไรขนาดใหญ่แบบนี้อีกแล้ว

ขณะนี้เงินทุนส่วนหนึ่งไหลไปสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยี เกิดธุรกิจสตาร์ตอัพ เป็นต้น แต่ก็ยังคงเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก บางแห่งประมาณว่าทั่วโลกในปี 2018 มีมูลค่ากว่า 400 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่อยู่ในสองประเทศคือสหรัฐและจีน ตามด้วยอินเดียและอังกฤษ

การแปรสินค้าโภคภัณฑ์มีลักษณะเด่นอยู่ 2 ประการ

ข้อแรกคือ นักลงทุนสังเกตเห็นว่าตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ได้สมมาตรกับตลาดเงินทุนทั่วไป ตลาดเงินทุนนั้นมีช่วงรุ่งเรืองและซบเซาในขั้นท้าย แต่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น คล้ายว่าเมื่อตลาดเงินทุนซบเซาเป็นสัญญาณว่าควรจะลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องจากของในคลังสินค้าเริ่มลดลง ทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วไปมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น

ข้อสองคือ กิจกรรมการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์มีปริมาณสูงกว่าการผลิตที่เป็นจริงเป็นอันมาก ซึ่งเห็นชัดในน้ำมันดิบที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายมากที่สุดในโลก การแปรเป็นเชิงธุรกรรมการค้าของสินค้าโภคภัณฑ์ปรากฏในสหรัฐและยุโรปตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 และชัดเจนในช่วงระหว่างปี 2002 ถึงกลางปี 2008 ที่เกิดวิกฤติการเงินใหญ่ในสหรัฐ ความต้องการและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทรุดฮวบ

แต่ภายในเวลาเพียงราว 1 ปี กิจกรรมซื้อ-ขายก็ฟื้นตัวขึ้นมาอีก บางการศึกษาชี้ว่า ในปี 1995 ทั่วโลกมีการผลิตน้ำมันดิบได้รวม 22.8 พันล้านบาร์เรล แต่การค้าในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์กรุงนิวยอร์ก และบริษัทสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างทวีป (ICE) มีปริมาณรวมกันถึง 33.5 พันล้านบาร์เรล เมื่อถึงปี 2018 การผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกรวม 30.2 พันล้านบาร์เรล แต่มียอดซื้อ-ขายน้ำมันล่วงหน้ารวมถึง 541.6 พันล้านบาร์เรล สูงกว่าการผลิตจริงถึง 18 เท่า

ตัวเลขนี้ยังไม่ได้นับอนุพันธ์สินค้าโภคภัณฑ์อื่น ได้แก่ ออปชั่นและสวอป

จากการที่กิจการรุ่งเรืองเช่นนี้ย่อมก่อกำไรงามแก่บริษัทผู้ทำการค้า พบว่า จากปี 2003 ถึง 2017 รายได้สุทธิรวมของกลุ่มบริษัทซีเอ็มอีและบริษัทสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างทวีป (ICE) ที่เน้นด้านพลังงาน (เพิ่งก่อตั้งปี 2000) เพิ่มขึ้นถึง 29 เท่า จาก 175 ล้านดอลลาร์เป็นมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์โดยมีอัตรากำไรราวร้อยละ 60

ในปี 2017 เฉพาะกลุ่มซีเอ็มอีได้ทำธุรกรรมสินค้าโภคภัณฑ์กว่า 4 พันล้านอนุพันธ์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 คว็อดรีลเลียน หรือพันล้านล้านดอลลาร์ (1 ตามด้วยเลขศูนย์ 15 ตัว)

(ดูบทความของ Ruslan Kharlamov และ Heiner Flassbeck ชื่อ Understanding Commodity Financialization and Why it Matters to Everyone ใน medium.com 14/04/2019)

เมื่อเกิดกำไรมากมายเช่นนี้ มีคำถามว่าใครป็นผู้ขาดทุน

ผู้ขาดทุนที่สำคัญได้แก่ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลางที่มีทุนน้อย ต้านทานต่อการไหวตัวสูงของสินค้าโภคภัณฑ์ได้ยาก

ต่อมาได้แก่ประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะที่พึ่งการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์มาก ประเทศเหล่านี้จำนวนไม่น้อย ไม่เพียงถูกพายุใหญ่จากการเก็ง กำไรเท่านั้น ยังถูกแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจและปฏิบัติการลับเพื่อเปลี่ยนระบอบ

ตัวอย่างเช่น เวเนซุเอลาที่เคยมั่งคั่ง เป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก แต่นับแต่ปี 1999 เดินนโยบายชาตินิยมทางทรัพยากรธรรมชาติ โอนกิจการน้ำมันมาเป็นของรัฐ และจะค้าน้ำมันในสกุลเงินอื่นนอกจากดอลลาร์สหรัฐ ได้ถูกแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจจากสหรัฐรุนแรงต่อเนื่อง

กระทั่งเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนระบอบประธานาธิบดีมาดูโร ในที่สุดเวเนซุเอลาทนทานต่อการไหวตัวของราคาน้ำมันดิบไม่ได้ เศรษฐกิจล่มสลาย เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง บ้านเมืองระส่ำระสายถึงขั้นจะเป็นรัฐล้มเหลว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเวเนฯ ไม่ใช่ข้อยกเว้น หากแต่เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่มีทรัพยากรธรรมชาติและน้ำมันมาก

จนกล่าวว่าเป็น “คำสาปของทรัพยากร” ซึ่งเกิดจากหลายเหตุปัจจัยนอกจากการเก็งกำไร และการแทรกแซงจากมหาอำนาจดังกล่าวแล้ว

รัสเซียเป็นประเทศที่ใหญ่และเข้มแข็งกว่าเวเนซุเอลาเป็นอันมาก เป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ก็ยังแทบเอาตัวไม่รอดจากการไหวตัวของราคาน้ำมัน และการแซงก์ชั่นของสหรัฐและยุโรปในปี 2014 ค่าเงินรูเบิลดิ่งเหว เศรษฐกิจหดตัวรุนแรง เพิ่งแสดงการฟื้นตัวแข็งแรงในปี 2020 นี้เอง

ผู้ที่ขาดทุนรายสุดท้ายที่ควรกล่าวถึงได้แก่สังคมโดยรวม ที่เสียประโยชน์จากการที่ภาคเศรษฐกิจที่เป็นจริง ได้แก่ การผลิตภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมถูกชักใยจากการเก็งกำไรของทุนการเงิน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เหมาะไม่ควร

เหตุที่มีการแปรสินค้าโภคภัณฑ์เป็นธุรกรรมการเงินเด่นชัดในตอนต้นศตวรรษที่ 21 เนื่องจากเหตุปัจจัยหลายประการ ได้แก่

ก) เกิดวิกฤติทางการเงินหลายครั้งตั้งแต่ทศตวรรษ 1990 ทำให้ทรัพย์สินทางการเงินมีการไหวตัวรุนแรง มีความเสี่ยงสูง วิกฤติครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2001 เป็นวิกฤติดอตคอม ทำให้นักลงทุนเห็นว่าสินค้าโภคภัณฑ์ที่จับต้องได้ น่าจะเป็นสิ่งที่ประกันความเสี่ยงและหากำไรได้ดี

ข) ความหลงเชื่อในกลไกตลาดว่าจะสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างไม่รู้จบ รวมทั้งความเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางทั่วโลกสามารถแก้ปัญหาวัฏจักรธุรกิจได้ด้วยมาตรการทางการเงินการคลังขับเคลื่อนให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ทุกครั้ง

ค) การเข้ามามีบทบาทของประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่เคยยากจนล้าหลัง คือจีนและอินเดีย การขยายตัวของเศรษฐกิจของสองประเทศอย่างก้าวกระโดด ทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างถาวร และราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่ว่าจะน้ำมัน ทองแดง เงิน ข้าวโพดและถั่วเหลือง ราคาน้ำมันดิบในปี 2008 พุ่งสูงเกือบถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนจะทรุดฮวบลงเมื่อเกิดวิกฤติการเงิน

น่าสังเกตว่าในช่วงตลาดสินค้าโภคภัณฑ์รุ่งเรือง เกิดการมองด้านดีเป็นพิเศษในหลายประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ได้แก่ บราซิล อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย และแคนาดา เป็นต้น แต่ถึงบัดนี้ไม่ใช่เช่นนั้น การค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกขณะนี้มีความเสี่ยงสูงมาก ราคาก็มีความไหวตัวรุนแรงตามข่าวและสถานการณ์ที่คาดเดาได้ยาก

ความเสี่ยงที่สูงขึ้นในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เนื่องจากเหตุปัจจัยหลายประการ ได้แก่

ก) ผู้เข้ามาเล่นในตลาดนี้จำนวนมากไม่ได้เป็นผู้ชำนาญด้านนี้และต้องใช้วัตถุดิบเหล่านี้จริง หากเป็นนักลงทุนประกันความเสี่ยงและหากำไร ได้แก่ ธนาคาร บริษัทประกัน กองทุนบำเหน็จบำนาญและกองทุนรวม เป็นต้น นอกจากนั้นได้แก่ นักลงทุนรายย่อย ซึ่งมีความรู้และข่าวสารจำกัด ตื่นข่าวง่าย ตั้งราคาผิด ซึ่งทำให้วัฏจักรรุ่งเรือง-ซบเซายิ่งรุนแรง

ข) การเกิดสงครามการค้าทำให้ตลาดโลกซบเซาและคาดการณ์ได้ยาก สงครามการค้านี้ยังเกิดร่วมกับสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ระหว่างสหรัฐและจีน-รัสเซีย

ค) การไม่อุดมสมบูรณ์และเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาตินานาประการ รวมทั้งการตั้งถิ่นฐานแบบแออัด การต้องสัมพันธ์พึ่งพากันทั่วโลก ทำให้เหตุเกิดในที่หนึ่งส่งผลกระทบได้ทั่วโลก

เช่นกรณีไข้โควิด-19 ที่เริ่มในจีนส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์รุนแรง กระทั่งกระทบต่อโครงสร้างและการจัดการห่วงโซ่อุปทานของโลก

การรุ่งเรืองด้านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของจีน

จีนได้มีการพัฒนาตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จริงจังนับแต่ทศวรรษ 1990 โดยมีจุดประสงค์หลักสองประการได้แก่

ประการแรก ทำให้การค้าสินค้าโภคภัณฑ์ของตนได้มาตรฐานสากล ด้วยเครื่องมือการเงินได้แก่ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ฟิวเจอร์และออปชั่น (ให้สิทธิในการเลือกแก่ผู้ซื้อมากขึ้น) การมีตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ซื้อ-ขายล่วงหน้าจะเกิดผลดีแก่ผู้ขายคือเกษตรกร ผู้ประกอบการเหมืองแร่และพลังงานที่จะได้ราคาที่เป็นธรรม และแก่ผู้ซื้อคือโรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้ราคาที่เหมาะสมมีวัตถุดิบป้อนการผลิตอย่างเหมาะสมตามแผน รวมความคือเกิดผลดีแก่ภาคการผลิตที่เป็นจริง

ในประการที่สอง ทำให้ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของตนสามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์กับตลาดสากลที่ควบคุมโดยสหรัฐ-ยุโรปได้ การเชื่อมโยงนี้มีประโยชน์สำคัญในการช่วยให้จีนมีบทบาทในการกำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์บ้าง ไม่ใช่ต้องอ้างอิงราคาที่กรุงนิวยอร์ก ชิคาโกหรือลอนดอนอยู่เสมอ

ผลประโยชน์อีกอย่างคือตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของจีนนั้นใช้เงินหยวนเป็นฐาน ซึ่งย่อมส่งเสริมความเป็นสากลของเงินหยวนไปในตัว

การเปิดตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเสรีในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้มีบริษัทดำเนินกิจการหลายสิบแห่งมีการฉ้อฉล สร้างราคา ก่อความเสียหายแก่นักลงทุนนับพันล้านดอลลาร์ ทางการจึงเข้าคุมเข้ม ยุบบริษัทที่ไม่เข้าเกณฑ์ลงไปเมื่อถึงปี 1998 ก็เหลือตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จีนเพียง 3 แห่ง ได้แก่

ก) ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เจิ้งโจว ที่มณฑลหูหนานที่มีประชากรมากที่สุดของจีนมีฐานการเกษตรอุตสาหกรรมและพลังงานที่เข้มแข็ง ตลาดนี้เปิดในปี 1990 นับเป็นแห่งแรก และเป็นโครงการนำร่อง เปิดการค้าแบบซื้อขายล่วงหน้าในปี 1993 เน้นด้านสินค้าการเกษตร ปัจจุบันเป็นตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ใหญ่ติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก

ข) ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ต้าเหลียน ก่อตั้งปี 1999 เมืองต้าเหลียนเป็นท่าเรือ ใหญ่ ได้สมญาว่าเป็น “ฮ่องกงแห่งจีนตอนเหนือ” เน้นด้านสินค้าเกษตรได้แก่ ถั่วเหลือง เป็นต้น และเคมีภัณฑ์

ค) ตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ ก่อตั้งปี 1999 เน้นสินค้าวัตถุดิบของโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มพลังงาน มีน้ำมันดิบ (เพิ่งเปิดตัวมีนาคม 2018 ถึงกลางปี 2019 ขึ้นสู่อันดับใหญ่ที่สามของโลก) โลหะมีค่าได้แก่ ทองคำและเงิน โลหะอุตสาหกรรม ได้แก่ เหล็กกล้าและเหล็กต่างๆ ทองแดง (ซื้อ-ขายใหญ่อันดับสามของโลก) อะลูมิเนียมและยางธรรมชาติซึ่งเป็นที่อ้างอิงราคายางของโลก เนื่องจากเป็นผู้บริโภคยางรายใหญ่

ทั้งสามตลาดไม่เน้นแสวงหากำไร ยึดหลักการเปิดกว้าง ไม่เข้าข้างใคร เป็นธรรมและมีบูรณภาพทางการเงิน เพื่อส่งเสริมภาคเกศรษฐกิจที่เป็นจริง

การที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของจีนก้าวมาเป็นดาวเด่นของโลกในช่วงเวลาที่สั้นมาก เนื่องจากมีจุดแข็งสำคัญ ดังนี้คือ

1) มีการควบคุมและได้รับสัญญาณนโยบายจากรัฐบาล เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร สร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องและส่วนรวมได้ง่าย

2) มีการใช้เทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ โดยเฉพาะทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสามตลาดได้เชื่อมกันทางอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ปี 2001

3) มีการออกสินค้าใหม่อย่างสม่ำเสมอ และการเปิดให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาค้ายอย่างเสรีมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนมีสำนักงานในประเทศจีนเหมือนเดิม

4) จีนเป็นตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ใหญ่ที่สุดของโลก เนื่องจากจีนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญของโลก เช่น จีนเป็นผู้ผลิตข้าวสาลี ข้าวเจ้าและหมูมากที่สุดของโลก เป็นผู้บริโภคทองแดง เหล็กกล้าและอะลูมิเนียมสูงสุด จีนยังเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก จึงย่อมมีบทบาทในการกำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยธรรมชาติ

ขณะนี้จีนได้เปิดตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของตนสำหรับนักลงทุนสหรัฐยุโรป โดยลำดับ หวังด้านดีว่าจีนจะมี บทบาทส่งเสริมให้ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โลกเป็นไปเพื่อประโยชน์ของภาคเศรษฐกิจที่เป็นจริง มากกว่าการเก็งกำไร ตามเจตนาที่ประกาศไว้

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการลงทุนของจีนในแอฟริกา ตลาดน้ำมันและศึกชิงน้ำมันของตุรกี