4 ทศวรรษประชาชาติธุรกิจ ก้าวคู่ธุรกิจไทยในวันที่ “โลกเปลี่ยน” “สู่ยุคทำลายล้าง เพื่อสร้างสรรค์”


“ประชาชาติธุรกิจ”
คือหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจฉบับแรกของประเทศไทย

ที่เดินเคียงข้างนักธุรกิจและคนไทยมาตลอด 40 ปี ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านมรสุมเศรษฐกิจมานับครั้งไม่ถ้วน

แต่ “ประชาชาติธุรกิจ” ยังคงยืนหยัดทำหน้าที่ส่งสัญญาณเศรษฐกิจมาตลอด 4 ทศวรรษ

ทั้งข่าวดี ข่าวร้าย ประชาชาติธุรกิจทำหน้าที่เตือนคุณล่วงหน้า ทุกคำ ทุกข่าว

และในยุคดิจิตอล “ประชาชาติธุรกิจ” ก็ได้ปรับตัวเพื่อที่จะไม่กลายเป็นผู้ถูกไล่ล่า

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จึงไม่ได้เป็นเพียงหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ แต่เป็นสถาบันสื่อที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจที่ครบถ้วน รอบด้านให้กับนักธุรกิจและประชาชนทุกช่องทาง

และในภาวะปัจจุบันที่โลกหมุนเร็วขึ้น โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวเร่งให้ “โลกเปลี่ยน” และพลิกโฉมหน้าอย่างรวดเร็ว ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 40 ของหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้เปิดเวทีสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ธุรกิจไทย…ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม” เมื่อ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา

เพื่อส่งสัญญาณเตือนถึงสถานการณ์การแข่งขันของโลกธุรกิจที่ไม่ได้เล่นกันในเกมแบบเดิมๆ อีกต่อไป

โดยได้รับเกียรติจาก “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “โลกที่ไม่เหมือนเดิม”

อดีตผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า “หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ถือเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่เจนจัดบนโลกที่ไม่หยุดนิ่ง กว่าจะยืนหยัดถึงวันนี้ก้าวสู่ปีที่ 40 ถือว่าไม่ธรรมดา”

พร้อมฉายภาพว่า “โลกที่ไม่เหมือนเดิม” หรือ New normal ซึ่งกำลังเป็นกระแสสนใจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกที่เราอยู่นี้ไม่เหมือนเดิม มองไปทางไหนก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่าในอดีต และมองไปข้างหน้าการเปลี่ยนแปลงก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง

ดร.ประสาร กล่าวว่า 4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกเปลี่ยนก็คือ “ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี” จาก 20 ปีก่อนทั่วโลกมีคนใช้อินเตอร์เน็ตเพียง 1% แต่ปัจจุบันประชาชนกว่าครึ่งโลกเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้

ปัจจัยต่อมาคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี กว่า 20% ของประชากรโลก

ปัจจัยที่สาม ศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนมาที่ “จีนและอินเดีย” คาดว่าภายในปี 2030 “จีนกับอินเดีย” จะมีสัดส่วนจีดีพีรวมกันมากกว่า 1 ใน 4 ของโลก อำนาจซื้อในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น ศูนย์กลางการค้าจะย้ายมาอยู่เอเชีย แต่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง ตลาดเงินจะผันผวนคาดเดาได้ยาก

ปัจจัยที่สี่ “กติกาและมาตรฐาน” จะต้องมีความเป็นสากลมากขึ้น เช่น คำเตือนจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) หรือกรณี IUU การแก้ปัญหาทำประมงผิดกฎหมาย

“เหล่านี้กำลังทำให้การแข่งขันของโลกธุรกิจเปลี่ยน กิจการที่เคยอยู่ในฟอร์จูน 500 ช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันบริษัทเหล่านั้นเหลือเพียง 12% อยู่ในลิสต์

สะท้อนว่าไม่มีใครจะใหญ่อยู่ค้ำฟ้า บางบริษัทเสียแชมป์ถาวร บางบริษัทพลิกกลับมาทวงแชมป์ได้ การรักษาแชมป์ต้องก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ”

อย่างไรก็ตาม ทุกการเปลี่ยนแปลงมีทั้งโอกาสและความท้าทาย และธุรกิจไทยมีโอกาสปรับตัวได้หลายแนวทาง ไม่ว่าจะ “ขี่กระแส” ไปกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี “เปลี่ยนชัยภูมิ” ไปผลิตหรือค้าขายประเทศเพื่อนบ้าน “ยกระดับ” คุณภาพสินค้าด้วยนวัตกรรม “หาพันธมิตร” มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ หรือ “ถอยมาตั้งหลัก” หรือ “ขยับออกข้าง”

ดร.ประสาร กล่าวว่า นอกจากภาคธุรกิจต้องปรับตัว อีกสิ่งสำคัญคือ “ภาครัฐ” ต้องปรับตัวเช่นกัน

ภาครัฐต้องปรับตัวใน 3 มิติ คือ

1. ให้ท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น แม้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นหลายด้าน แต่การตัดสินใจยังเป็นการรวมศูนย์ ทำให้มีสูตรแก้ปัญหาแบบเดียว หรือ One Size Fits All ยากจะตอบโจทย์ความต้องการประชาชนในแต่ละพื้นที่ซึ่งแตกต่างกัน

2. ปรับกลยุทธ์ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ต้องหันไปใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของภาคเอกชน

3. ภาครัฐต้องปรับบทบาทจาก “ผู้ควบคุมกำกับ” มาเป็น “ผู้สนับสนุน” ปล่อยให้เกิดตลาดเสรี พร้อมทั้งทบทวนกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพราะกฎระเบียบที่มากเกินพอดี ทำให้ต้นทุนสูงถึง 10-20% ของจีดีพี

อย่างไรก็ตาม ดร.ประสาร ทิ้งท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในโลกไม่เคยหยุดนิ่ง ถือเป็นสัจธรรมชีวิต กระบวนการเหล่านี้มีให้เห็นทั้งระดับบุคคล องค์กร ประเทศและระดับโลก ขึ้นกับว่าจะปรับตัวกันอย่างไร

ขณะที่ “กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล” ผู้จัดการกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊กส์ ที่คร่ำหวอดในวงการสตาร์ตอัพร่วมแบ่งปันข้อมูลในหัวข้อ “new business new frontier” กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจดั้งเดิม กำลังถูกนวัตกรรมใหม่เข้าไปทำลายล้าง อย่างที่คนยุคเบบี้บูมเมอร์ หรือเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ไม่เคยคิดมาก่อน ตอนนี้การทำธุรกิจอยู่ในยุค Creative Destruction เรียกว่า “ยุคการทำลายล้างธุรกิจเก่าเพื่อสร้างธุรกิจใหม่”

เช่น “อูเบอร์” บริการแอพพลิเคชั่นเรียกรถแท็กซี่ ที่กำลังเป็นคู่แข่งสำคัญของบริการรถแท็กซี่แบบดั้งเดิม ทั้งที่อูเบอร์ก็ไม่มีรถยนต์เป็นของตนเอง หรือบริการ “แอร์บีเอ็นบี” บริการจองห้องพักทั้งที่ไม่มีที่พักเป็นของตนเอง และ “เฟซบุ๊ก” ก็ไม่มีคอนเทนต์เป็นของตนเอง ที่สำคัญทั้งหมดนี้สามารถให้บริการได้ทั่วโลก ไม่มีเส้นแบ่งทางภูมิศาสตร์และอุตสาหกรรมอีกต่อไป

ธุรกิจในยุคทำลายล้างเพื่อสร้างสรรค์มีฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนคือ “สตาร์ตอัพ”

ธุรกิจขนาดใหญ่กำลังมีอายุสั้นลงเรื่อยๆ เห็นได้จากบริษัทที่ติดอยู่ใน S&P 500 ในปี 2501 มีอายุเฉลี่ย 61 ปี แต่ปี 2523 อายุเฉลี่ยลดลงมาเหลือ 25 ปี และปัจจุบันเหลือแค่ 18 ปี เพราะบริษัทสตาร์ตอัพเกิดใหม่เข้ามาแทนที่

“ถ้าประเทศไทยไม่สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ โอกาสที่เราจะแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ลดลงเรื่อยๆ แต่ถ้าเรานำเทคโนโลยีเข้ามา หรือใช้แนวคิด Creative Destruction ก็อาจจะได้เห็นเน็กซ์ซัมซุง, เน็กซ์เฟซบุ๊ก และธนาคารในประเทศไทยอาจจะยิ่งใหญ่ในระดับโลกได้เช่นกัน”

นอกจากนี้ ยังมีผู้นำในธุรกิจต่างๆ ที่ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ทั้ง สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ซีอีโอ เอไอเอส, ธีรพงศ์ จันศิริ ซีอีโอ ไทยยูเนี่ยน, ชฎาทิพ จูตระกูล ซีอีโอ สยามพิวรรธน์ และ ธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ที่ทุกคนต่างยอมรับว่าในยุคโลกเปลี่ยน ทุกคนต้องปรับ เพราะแม้จะเป็นยักษ์ใหญ่ถ้าไม่ปรับตัวก็ล้มได้

นี่คือสัญญาณเตือนล่าสุดที่ “ประชาชาติธุรกิจ” ส่งไปถึงผู้อ่านและธุรกิจไทยให้พร้อมรับกับโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วนั่นเอง