วิรัตน์ แสงทองคำ : รถยนต์อเมริกัน-จีน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เรื่องของเรื่องมีความเป็นไป

ว่าด้วยมุมมองและโอกาสที่แตกต่างกัน

กรณี General Motors (GM) ประกาศถอนตัวจากประเทศไทยอีกครั้งเป็นครั้งที่สอง ด้วยเหตุปัจจัยแตกต่างกันไป เมื่อเปรียบเทียบครั้งแรกเมื่อราว 4 ทศวรรษที่แล้ว

ความจริงแล้ว GM เข้ามาเมืองไทยครั้งแรกในยุคสงครามเวียดนาม ในช่วงเวลาฐานทัพอเมริกันอยู่ในพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ในประเทศไทย มาพร้อมๆ กับเงินช่วยเหลือทางทหารต่อกองทัพไทยจำนวนมาก

มีบางภาพชิ้นเล็กๆ ที่จับต้องได้ รถยนต์ทางทหารแบรนด์ GMC (ต่อมากลายเป็น Generic name ของรถยนต์ทหาร) ปรากฏตัวอย่างโดดเด่น ประหนึ่งเป็นสินค้าอเมริกันตัวอย่างที่น่าสนใจอยู่มาพักใหญ่

ก่อน GM จะพยายามเข้าสู่ตลาดรถยนต์เอผู้บริโภคในเมืองไทย ด้วยการก่อตั้ง General Motors Thailand ขึ้นเมื่อปี 2515 ตามแผนการนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบในเมืองไทย ด้วยความร่วมมือกับบางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี โรงงานประกอบรถยนต์ในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2513

เป็นจังหวะก้าวซึ่ง GM ตัดสินใจค่อนข้างช้า ในเวลานั้นรถยนต์ญี่ปุ่นได้เข้าเมืองไทยแล้วหลายราย ไม่ว่า Nisan และ Toyota ในปี 2505 และ Honda ในปี 2507 ทั้งๆ กระแสอเมริกันกำลังไปได้ดีในสังคมไทย ผ่านสินค้าและบริการเชื่อมโยงไลฟ์สไตล์ผู้คนยุคใหม่ กำลังขยายวงกว้างมากขึ้นๆ ในสังคมไทย

มองในภาพใหญ่กว่านั้น ในช่วงเวลานั้น GM ยิ่งใหญ่ในสังคมอเมริกัน มาจากแรงขับเคลื่อนการเติบโตครั้งใหญ่จากยุคหลังสงครามโลกในรัฐบาลประธานาธิบดี Eisenhower ปรากฏว่ามีรัฐมนตรีกลาโหมเคยเป็นผู้บริหารของ GM มาก่อน

ในเชิงบริหารธุรกิจสมัยใหม่ ยุคการศึกษา MBA แบบฉบับจากอเมริกันกำลังขยายอิทธิพล พร้อมๆ กับเครือข่ายธุรกิจอเมริกันกำลังขยายทั่วโลก

มีหนังสือขายดีมีอิทธิพลอย่างมากเล่มหนึ่ง My Years with General Motors โดย Alfred P. Sloan ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2506 โดยอดีตผู้บริหาร GM ผู้อยู่ในตำแหน่งยาวนานอย่างมาก (2447-2499) ผู้ก่อตั้ง MIT Sloan School of Management (ปี 2495)

ว่ากันว่าเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลไม่น้อย เชื่อกันว่ามีส่วนไม่มากก็น้อยต่ออดีตผู้บริหารคนสำคัญเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี ผู้มีบทบาทอย่างสำคัญผลักดันเอสซีจีเข้าสู่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในช่วงยุคทศวรรษ 2530

ดูไปแล้วสถานการณ์ไม่เป็นใจต่อ GM ทั้งภาพใหญ่ สงครามเวียดนามกำลังไปสู่จุดจบอย่างไม่คาดคิดไว้แต่แรก กองทัพมหาอำนาจต้องประสบความพ่ายแพ้อย่างราบคาบ

จากนั้นไม่นานเกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน (oil shock) หลายครั้ง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยพอสมควร

ในเวลาต่อมารัฐไทยให้ความสนใจอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นพิเศษมากขึ้น มีนโยบายให้ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ (local content) มากขึ้น

ในที่สุด GM ตัดสินใจถอนตัวออกจากประเทศไทย ท่ามกลางกระแสธุรกิจอเมริกันล่าถอยไปในเวลานั้นด้วย

 

เว้นว่างไปราว 2 ทศวรรษ GM จึงเข้ามาเมืองไทยอีกครั้ง ในเวลาที่น่าสนใจ ธุรกิจไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ บางมิตินั้นดูเหมือนว่าธุรกิจอเมริกันจะได้ประโยชน์อย่างมาก ไม่ว่าฐานะบริษัทที่ปรึกษา เพื่อแก้ไขปัญหากิจการ ไปจนถึงกิจการจัดการหนี้เสียของรัฐ ฯลฯ เป็นครั้งย่อยๆ อีกครั้ง ขบวนธุรกิจอเมริกันกลับเข้ามามีบทบาทในเมืองไทย

และเป็นอีกครั้งซึ่งสถานการณ์ไม่เอื้อเท่าที่ควร ตลาดรถยนต์เมืองไทยรวมทั้งภูมิภาคในเวลานั้น ถูกยึดครองโดยเครือข่ายยานยนต์ยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น และสินค้าของ GM อยู่ในระดับเดียวกันเป็นคู่แข่งกันโดยตรง ผลประกอบการธุรกิจไม่เติบโตอย่างที่ควร ไม่จำเป็นต้องพิจารณางบการเงินให้เสียเวลา แค่พิจารณายอดขายรถยนต์ในช่วงที่ผ่านๆ มา ก็พบดัชนีสำคัญที่ว่านั้นแล้ว

เรื่องราวซึ่งได้รับความสนใจระดับรัฐบาลด้วย (อ้างจาก “กระทรวงอุตสาหกรรม เผย GM ขายศูนย์การผลิตรถยนต์ให้กับ GWM (Great Wall Motors) เป็นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก” 18 กุมภาพันธ์ 2563 อ้างจาก https://www.thaigov.go.th/) มีบางตอนที่น่าสนใจเกี่ยวกับ GM จากความเห็นของดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

“บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอตั้งโครงการอยู่ในจังหวัดระยอง โดยบริษัทใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลตสำหรับตลาดในประเทศไทย และรถยนต์ยี่ห้อโฮลเด้นสำหรับตลาดประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่ด้วยสภาพการตลาดปัจจุบันซึ่งยอดขายทั้งในประเทศและส่งออกไม่เป็นไปตามคาด บริษัทจึงตัดสินใจประกาศหยุดการผลิตรถยนต์และการขายรถยนต์เชฟโรเลตในประเทศไทย พร้อมกับการหยุดจำหน่ายรถยนต์โฮลเด้นในประเทศออสเตรเลีย”

 

มีปรากฏการณ์ใหม่อย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจยานยนต์ประเทศไทย ไม่ว่าใครๆ ก็จับตา นั่นคือการมาของรถยนต์จีน

Shanghai Automotive Industry Corp (SAIC) กิจการซึ่งเป็นพันธมิตรของ GM ในประเทศจีนนั่นเอง การร่วมทุนครั้งใหญ่เพื่อผลิตรถยนต์แบรนด์ต่างๆ ของ GM เพื่อขายในประเทศอันกว้างใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ถือเป็นช่วงเดียวกันที่ GM กำลังดำเนินแผนการขยายพรมแดนทางธุรกิจมายังโลกตะวันออกครั้งใหญ่

Shanghai Automotive Industry Corp (SAIC) เกิดขึ้นอย่างจริงจังในปี 2538 ต่อเนื่องมาจากตำนานอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีนดำเนินการโดยรัฐบาล ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบัน SAIC เป็น 1 ใน 4 ยักษ์ใหญ่กิจการยานยนต์ซึ่งเป็นของรัฐบาลในประเทศจีน ผลิตรถยนต์หลายแบรนด์ในประเทศจีน นอกจากร่วมทุนเครือข่ายธุรกิจระดับโลกกับ GM แห่งสหรัฐแล้ว ยังมี Volkswagen แห่งเยอรมนีด้วย ต่อมาปี 2555 ภายหลังการควบรวมกิจการรถยนต์ในเครือข่ายรัฐบาลจีนครั้งใหญ่ จึงเป็นที่มาของชื่อ SAIC Motor Corporation Limited

SAIC เข้ามาเมืองไทย ตามหลัง GM ถึง 13 ปี มีความตั้งใจอย่างเจาะจง นำทางด้วยแบรนด์ MG

รถยนต์ MG มีประวัติศาสตร์และรากเหง้ามาจากสหราชอาณาจักร ก่อตั้งเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ปี 2550 กิจการและแบรนด์ MG ได้ขายและกลายเป็นสินค้าจีน โดย Nanjing Automobile Group (ต่อมาปี 2551 ปรับโครงสร้างและได้ควบรวมกิจการเข้ามาอยู่ใน SAIC) กิจการ MG ในอังกฤษ ภายใต้ SAIC ยังดำเนินไปด้วยดี รวมทั้งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นเรือธงใหม่ MG 6 ครั้งแรกในปี 2555 ที่อังกฤษ โดยมี Wen Jiabao นายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้นไปเป็นประธานในพิธี

กิจการร่วมทุน SAIC-CP เป็นเรื่องลงตัวว่าด้วยยุทธศาสตร์ทั้งสองฝ่าย โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีถือหุ้นข้างน้อย ปล่อยให้ SAIC บริหารกิจการไปอย่างเต็มที่ ว่าไปแล้วโมเดลจีนนั้นแตกต่างจากอเมริกัน

ขณะที่ทั้งสองครั้งสองครา GM เข้ามาเมืองไทย เดินหน้าด้วยกิจการตามโมเดล GM ถือหุ้น 100%

 

SAIC เปิดฉากในเมืองไทยด้วยการก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์แห่งแรกในปี 2556 ใช้เวลาเพียง 3 ปีก็เชื่อแน่แล้วว่ารถยนต์จีนแบรนด์รากเหง้าอังกฤษไปได้ดีในตลาดเมืองไทย ด้วยยอดขายรวมกันมากกว่า 10,000 คันแล้ว จึงตามมาด้วยแผนสร้างโรงงานแห่งใหม่ (ปี 2559) บนพื้นที่กว่า 400 ไร่ (700,000 ตารางเมตร) ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่ 2 ชลบุรี ว่ากันว่าใช้งบประมาณการลงทุนถึง 10,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตสูงสุด 100,000 คัน/ปี เป็น “โรงงานที่มีระบบอัตโนมัติ (Automations) และหุ่นยนต์อัจฉริยะ (Intelligent Robotics)…เป็นจุดเริ่มต้นใหม่สำหรับการพัฒนาแบรนด์ MG ในประเทศไทย เป็นฐานผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาที่ประเทศไทย และครอบคลุมทั่วอาเซียน” (อ้างจากถ้อยแถลง SAIC-CP ที่มีขึ้นเวลานั้น)

ในที่สุดโรงงานแห่งที่ 2 ได้ฤกษ์เปิดขึ้น (8 ธันวาคม 2560) โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์

เท่าที่สังเกต ตั้งแต่ปี 2562 ตัวเลขการขายรถยนต์ในเมืองไทย เครือข่าย SAIC มีจำนวนมากกว่าค่าย GM แล้ว เป็นแนวโน้มหนึ่งสะท้อนความเป็นไปของรถยนต์อเมริกันกับจีน

เชื่อว่าภาพทั้งหมดข้างต้นเชื่อมโยงกับแผนของ Great Wall Motors (GWM) กำลังเดินหน้าเข้ามาเมืองไทย ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์จีนรายที่สอง

 

Great Wall Motors (GWM) กิจการยานยนต์แห่งประเทศจีนซึ่งเป็นของเอกชน ผู้ผลิตรถยนต์เฉพาะชนิด ที่เรียกว่า sport utility vehicle (SUV) และรถกระบะ (pick-up truck) ฐานใหญ่อยู่ที่มลฑลเหอเป่ย (Hebei) คนละที่กับหูเป่ย (Hubei) แหล่งปะทุ COVID-19 กำลังเป็นเรื่องราวและปัญหาระดับโลกในเวลานี้ (หมายเหตุ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ณ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ Hubei มีถึง 64,287 ราย ขณะที่ Hebei มีเพียง 311 ราย)

GWM ก้าวกระโดดครั้งใหญ่ เมื่อกลายเป็นผู้นำรถกระบะในประเทศจีนเมื่อปี 2541 พัฒนาการเป็นไปตามกระแสธุรกิจใหญ่ในจีน กำลังเติบโตอย่างขนานใหญ่ในช่วงเวลาเดียวกัน และเป็นไปตามโมเดลเดียวกัน

ขั้นที่หนึ่ง GWM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Stock Exchange of Hong Kong Limited หรือ SEHK) ในปี 2546

ขั้นที่สอง GWM ออกสู่ตลาดโลก ที่สำคัญเปิดฉากไปยังยุโรป (2549) และตามมาด้วยประเทศออสเตรเลีย (2552)

ขั้นที่สาม แสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ด้วยการร่วมมือกับ BMW แห่งเยอรมนีในปี 2551 ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเทศจีน

อันที่จริง GWM เคยวางแผนจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2556 ในช่วงเดียวกันกับ SAIC-CP ในช่วงเวลานั้น สินค้าแบรนด์จีนเกี่ยวกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะ Smartphone มีที่ยืนในตลาดไทยค่อนข้างมั่นคงแล้ว ตามแผนที่ประกาศไว้ว่า GWM จะลงทุนถึง 340 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปีต่อมาได้ยกเลิกแผนดังกล่าวไว้ก่อน

จนมาประจวบกับโอกาสที่ดีกว่า ทั้งในช่วงเวลา GM แห่งสหรัฐอเมริกากำลังค่อยๆ ถอนตัวออกจากภูมิภาค และรถยนต์จีนแบรนด์อังกฤษปักหลักค่อนข้างมั่นคงในตลาดไทย และกำลังมีแผนการขยายสู่ระดับภูมิภาคด้วย