วิรัตน์ แสงทองคำ : กรณีดุสิตธานี-เซ็นทรัล (1) ดีลที่น่าสนใจที่สุดช่วงต้นปี 2560

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ดีลที่น่าสนใจที่สุดช่วงต้นปี 2560 คงเป็นกรณีความร่วมมือกันทางธุรกิจครั้งใหญ่ ระหว่างโรงแรมดุสิตธานี กับกลุ่มเซ็นทรัล ด้วยเกี่ยวข้องกับบริบท เชื่อมโยงเรื่องราวหลายมิติ ทั้งภาพกว้างวิวัฒนาการสังคม และยุทธศาสตร์ทางธุรกิจใหม่

ภาพรวมและโหมโรงเรื่องราวข้างต้น (หลายตอน) เกี่ยวข้องโดยตรงกับบุคคสำคัญ 2 คน–ชนินทธ์ โทณวณิก ผู้นำรุ่นที่ 2 ของกลุ่มโรงแรมดุสิตธานี กับ ทศ จิราธิวัฒน์ ผู้นำรุ่นที่ 3 ของกลุ่มเซ็นทรัล

ทั้งสองเป็นผู้บริหารธุรกิจไทย จะเรียกว่ารุ่นราวคราวเดียวกันไม่ได้เสียทีเดียว แต่ถือว่าไม่ห่างกันนัก เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์และบริบทสำคัญๆ ส่วนใหญ่ในช่วงเดียวกัน

ชนินทธ์ โทณวณิก มีอายุมากกว่า ทศ จิราธิวัฒน์ ประมาณ 5 ปี ทั้งคู่ถือได้ว่ามีประสบการณ์ทำงานในธุรกิจครอบครัวมาอย่างโชกโชน

ชนินทธ์เข้าไปมีบทบาทบริหารธุรกิจโรงแรมมาค่อนชีวิตเกือบๆ 40 ปีแล้ว

ส่วนทศ ไม่น้อยเช่นกัน บริหารธุรกิจค้าปลีกของครอบครัวมาแล้วประมาณ 3 ทศวรรษ ที่สำคัญทั้งสองเป็นผู้บริหารซึ่งมีอำนาจ มียุทธศาสตร์นำพาธุรกิจครอบครัวไทย สามารถผ่านช่วงเวลาผันแปรต่างๆ มาแล้ว

ทั้งสองมีโปรไฟล์ตามสูตรทายาทธุรกิจครอบครัวไทยอย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยประสบการณ์ในช่วงต้นๆ สัมพันธ์กับดีลที่เกิดขึ้นอย่างน่าทึ่ง

ชนินทธ์ โทณวณิก เป็นบุตรคนโตของ ปวิต โทณวนิก-ชนัตถ์ ปิยะอุย หลายคนคงไม่ทราบว่าบิดาของเขา (ปวิต โทณวนิก) เป็นบุตรพระยาโทณวณิกมนตรี ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังช่วงสั้นๆ ในรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม

ชนินทธ์ โทณวณิก ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ประเทศอังกฤษ (Chigwell school โรงเรียนชื่อดังอายุกว่า 400 ปี) ในช่วงเดียวกับโรงแรมดุสิตธานี โรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เปิดดำเนินการ (ปี 2513) เป็นโรงแรมสูง 23 ชั้น มีห้องพักกว่า 500 ห้อง

อันเกิดจากความพยายามของ ชนัตถ์ ปิยะอุย มารดาของเขา

 

ส่วน ทศ จิราธิวัฒน์ เป็นบุตรชายคนหนึ่งของ สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ พี่ใหญ่และผู้นำรุ่นที่ 2 ผู้เพิ่งผ่านประสบการณ์สำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนผ่านรุ่น สามารถสร้างธุรกิจค้าปลีกโมเดล “ห้างสรรพสินค้า” บนถนนสีลม (ปี 2511) หลังจาก ทศ จิราธิวัฒน์ ลืมตามองโลกไม่นาน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเกิดขึ้นของโรงแรมดุสิตธานี

“บทเรียนสำคัญอีกบทหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นพิเศษ จากกรณีห้างเซ็นทรัล สีลม โดยเชื่อว่าไม่เพียงเป็นบทเรียนของกลุ่มเซ็นทรัล หากเป็นของธุรกิจค้าปลีกโดยรวมด้วย นั่นคือ การเลือกทำเลที่ตั้งด้วยมุมมองในอนาคต ในเวลาต่อมา ถนนสีลมกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ มีแรงดึงดูดอย่างมากในช่วงทศวรรษ 2520-2530 จนเรียกกันว่า “วอลล์สตรีตของกรุงเทพฯ” เริ่มต้นจากการปรากฏขึ้นของโรงแรมดุสิตธานี (2513) อาคารสำนักงานธุรกิจแห่งใหม่ อาทิ อาคารเกษมกิจ สูง 10 ชั้น (2512 ) และอาคารบุญมิตร สูง 12 ชั้น (2517) ไปจนถึงการเกิดขึ้นของสำนักงานใหญ่ธนาคารสำคัญๆ จากธนาคารไทยทนุ (2516) จนถึงธนาคารกรุงเทพ (2525)”

ผมเคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกไทยพาดพิงกรณีเซ็นทรัลไว้เมื่อปี 2557

จากบทเรียนและความสำเร็จกรณีเซ็นทรัล สีลม ส่งผ่านมาสู่ช่วงรุ่งโรจน์และก้าวกระโดด กรณีเซ็นทรัล ชิดชม (เปิดตัวปี 2517) จากนั้นไม่นาน ทศ จิราธิวัฒน์ ได้เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ เริ่มต้นตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ไมอามี สหรัฐอเมริกา

ทั้งสองมาบรรจบกันที่สหรัฐ ชนินทธ์ โทณวณิก ในฐานะรุ่นพี่ (หลายปีเหมือนกัน) ข้ามน้ำข้ามทะเลอีกครั้งมาจบการศึกษาปริญญาโทสาขาสำคัญ (MBA) จาก Boston University ขณะที่ ทศ จิราธิวัฒน์ จบจาก Columbia University ถือว่าได้มีคุณสมบัติพื้นฐานสำคัญเช่นเดียวกับนักบริหารรุ่นใหม่ของสังคมไทยเวลานั้น

 

ดีลสำคัญเกิดขึ้นภายใต้การตัดสินใจครั้งสำคัญของบุคคลทั้งสอง มีสาระสำคัญโดยสรุปมาจากรายงานที่นำเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (1 มีนาคม 2560) ของ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัทดุสิตธานี (ก่อตั้งปี 2509 เข้าตลาดหุ้นปี 2518 กับบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา (ก่อตั้งปี 2523 เข้าตลาดหุ้นปี 2538)

ทั้งสองบริษัทได้ลงนามสัญญาจะร่วมลงทุนโครงการลักษณะผสมผสาน (Mix-used) ประกอบด้วย โรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน มูลค่าโครงการรวม 36,700 ล้านบาท บนเนื้อที่ประมาณ 24 ไร่

“โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนถนนสีลม ถือเป็น “สัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ยุคสมัยใหม่แห่งแรก” สร้างขึ้นเมื่อปี 2513 ตั้งตระหง่านเป็นอาคารที่สูงโดดเด่นใจกลางกรุงเทพฯ” บทสนทนาบางตอนที่สำคัญของ ชนินทธ์ โทณวณิก ในฐานะรองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการบริหาร ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเกี่ยวกับดีลข้างต้นไว้ ย่อมมีความหมายเชื่อมโยง “กรุงเทพฯ ยุคสมัยใหม่” ภายใต้แรงกระตุ้นในช่วงสงครามเวียดนาม

ความจริงแล้วในยุคนั้น ศูนย์กลางการพัฒนากรุงเทพฯ ขยายตัวครอบคลุมพื้นที่กว้างพอสมควร เมื่อมองผ่านการก่อสร้างอาคารซึ่งสร้างแลนด์มาร์กใหม่ๆ ตั้งแต่ปี 2500 โรงแรมเอราวัณ เกิดขึ้นบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ต่อมาปี 2505 เชื่อมเข้าสู่ย่านถนนพระราม 1-เปิดตัวโรงแรมสยามคอนติเนนตัล (เครือโรงแรมระดับโลก-Inter Continental Hotel ขณะนั้นอยู่ภายใต้เครือข่ายธุรกิจของสายการบิน Pan Am แห่งสหรัฐ) กับศูนย์การค้าสยาม จากนั้นก็ไปถึงหัวถนนสีลม ด้วยการปรากฏขึ้นของโรงแรมดุสิตธานี (2513) ต่อมาไม่นานถนนสีลมกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ มีแรงดึงดูดอย่างมากในช่วงทศวรรษ 2520-2530 โดยเฉพาะเป็นย่านสำนักงานธุรกิจการเงิน-ธนาคาร จนเรียกกันว่า “วอลล์สตรีตกรุงเทพฯ”

จากนั้นโรงแรมปาร์คนายเลิศ เกิดขึ้นราวๆ ปี 2523 โดย คุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ (บุตรีนายเลิศ เศรษฐภักดี) เชื่อมโยงศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ (2516) และห้างเซ็นทรัล ชิดลม (2517) อยู่ทำเลใกล้เคียงกันกับย่านธุรกิจราชประสงค์-ถนนพระราม 1 รวมไปถึงชุมชนย่านสุขุมวิท

ส่วนกรณีที่ดินโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น มีทั้งตำนานว่าด้วยการปรับโฉม (Regeneration) กับยุทธศาสตร์ธุรกิจอันหลากหลาย ที่ควรสนใจเช่นกัน

“ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนโฉมกรุงเทพฯ ให้ก้าวสู่การเป็นมหานครที่มีความทันสมัยแห่งหนึ่งในยุคโลกาภิวัตน์”

ชนินทธ์ โทณวณิก กล่าวถึงอีกตอนที่สำคัญ สะท้อนถึงความคาดหวัง ตามโครงการใหม่โครงการใหญ่หลายหมื่นล้าน

ความคาดหวังเกิดขึ้นท่ามกลางพัฒนาการกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย “วอลล์สตรีตกรุงเทพฯ” จำกัดบทบาทตัวเองลงไปพอสมควร ภายใต้สถานการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ในเวลานั้นโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่อาณาบริเวณใจกลางกรุงเทพฯ เกิดขึ้นตามจังหวะเวลา อย่างคึกคัก ต่อเนื่อง โครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวว่าไปแล้วถือว่าเป็นโครงการลักษณะผสมผสาน

ไม่ว่ากรณี อัมรินทร์ พลาซ่า (ปี 2527) ศูนย์การค้ามาบุญครอง (ปี 2528) ซึ่งมีปัญหาต้องเปลี่ยนมือการบริหารในช่วงปี 2537 (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ในปี 2543) และเพลินจิต เซ็นเตอร์ (ปี 2539)

จนถึงการเกิดขึ้นของศูนย์การค้าใจกลางกรุงเทพฯ ใหม่ ผมเคยอรรถาธิบายปรากฏการณ์นั้นไว้

 

กลุ่มสยามพิวรรธษ์ กลุ่มธุรกิจเพิ่งปรับโครงสร้างและก้าวเข้าสู่มหากาพย์ใหม่ในปี 2546 ในฐานะเจ้าของศูนย์การค้าสำคัญ 2 แห่งที่มีอยู่แล้ว-สยามเซ็นเตอร์ (เปิดบริการปี 2516) และสยามดิสคัฟเวอรี่ (เปิดบริการปี 2540) ในทำเลสำคัญ ซึ่งเชื่อมโยงเข้ากับศูนย์กลางระบบขนส่งมวลชนที่เกิดขึ้นใหม่ ได้เดินหน้าครั้งใหญ่ ปรับโฉมศูนย์การค้าเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ ผนึกรวมสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ เข้ากับสยามพารากอน ที่เกิดขึ้นใหม่ปี 2546 จนอาณาบริเวณดังกล่าว กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจค้าปลีกในกรุงเทพฯ ไปอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังมีโครการที่สำคัญๆ อีกบางแห่ง กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้เช่นกัน รวมทั้งโครงการของกลุ่มเซ็นทรัล

“ยืนหยัดเป็นโรงแรมชั้นนำจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 48 โดยในวันนี้ ดุสิตธานีมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะพัฒนาโครงการบนที่ดินผืนนี้ให้เป็นโครงการระดับโลก เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ของดุสิตธานี ซึ่งเป็นบริษัทไทยที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับบนเวทีระดับโลกมาอย่างยาวนานกว่า 65 ปี ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น” อีกตอนหนึ่งคำกล่าวของ ชนินทธ์ โทณวณิก เป็นไปได้ว่าเป็นความคาดหวัง สะท้อนภาพอีกมุมของบางปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้า

เรื่องราวดุสิตธานีในช่วง 65 ปีเอง ซึ่งได้ผ่านร้อนหนาว ผ่านเหตุการณ์ ผ่านช่วงวิกฤตการณ์ต่างๆ มาอย่างระทึก เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งควรทบทวนให้เห็นภาพต่อเนื่องเช่นกัน

กรณีสยามพิวรรธน์กับศูนย์กลางค้าปลีกกรุงเทพฯ จะถือเป็น “ต้นแบบ” โครงการแบบผสมผสานใหม่ที่อ้างอิงก็ได้ ที่สำคัญมีโรงแรมอยู่ด้วย นั่นคือโรงแรมสยามเคปินสกี้ ซึ่งเปิดตัวในปี 2555 มีแนวคิดคล้ายๆ กับแผนการของดุสิตธานีอย่างไม่น่าเชื่อ โรงแรมเกิดขึ้นยุคเดียวกัน ยุคสงครามเวียดนาม ภายใต้เครือข่ายโรงแรมระดับโลก (โรงแรมสยาม คอนติเนนตัล กล่าวไว้แล้ว) ถือเป็นกรณีแรก ถูกทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ภายใต้ชื่อใหม่ และการบริหารโดยเครือข่ายใหม่

อาจพาดพิงถึงกรณีโรงแรมปาร์คนายเลิศด้วย จะเป็นโรงแรมในยุคเดียวกันก็ได้ แม้เปิดตัวขึ้นหลังโรงแรมดุสิตธานีประมาณ 1 ทศวรรษ ในที่สุดจำเป็นต้องปรับตัว ภายใต้แรงกดดันและความผันแปรธุรกิจโรงแรม ด้วยการขายกิจการ แล้วปรับเปลี่ยนกลายเป็นโรงพยาบาลโมเดลใหม่

ดุสิตธานี คงไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น คงไม่เพียงหวังว่ากิจการโรงแรมซึ่งเป็นธุรกิจหลักยังคงอยู่ ที่สำคัญชื่อดุสิตธานี ยังคงอยู่อย่างโดดเด่นในใจกลางกรุงเทพฯ ต่อไป

ทศ จิราธิวัฒน์ ได้กล่าวถึงดุสิตธานีไว้ด้วยว่าเป็นแบรนด์สำคัญอันภาคภูมิใจของไทย และทิ้งท้ายเกี่ยวบกับดีลนี้ไว้ว่า “การเติบโตของธุรกิจ ต้องมองถึงการรวมกลุ่ม ผนึกกำลังสร้างการเติบโต มากกว่าการเป็นคู่แข่งขัน ภาพใหญ่เวลานี้ เป็นยุคของการแข่งขันระดับประเทศ”

ซึ่งควรปุจฉา วิสัชนาต่อไป