เดิมพันเอาบ้านเอาเมือง จากไก่เชลยพระนเรศวร ถึงไก่ท้าพระญาเชลียง

ศ.ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร หนึ่งในคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย เคยกล่าวปาฐกถาในงานรำลึกครบรอบ 400 ปีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อ 19 สิงหาคม 2533 ณ ทำเนียบรัฐบาลว่า

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องรื้อทิ้งบทเรียนประวัติศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องพระนเรศวรเคยชนไก่กับพระมหาอุปราชา เพราะไม่สามารถยืนยันได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีอยู่จริง ด้วยไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารอื่นใดทั้งไทย-เทศ ยกเว้นแต่เพียง “คำให้การของชาวกรุงเก่า” และ “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ซึ่งเอกสารทั้งสองนี้เป็นบันทึกย้อนหลังห่างจากเหตุการณ์จริงนานกว่า 130 ปี เนื้อหาย่อมคลาดเคลื่อน

ภายหลังจากที่มีการทักท้วงเรื่องไก่ชนนเรศวร ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ สืบค้นข้อเท็จจริงต่อประเด็นปริศนานี้ แต่ก็จำกัดเฉพาะในวงแคบๆ

ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของสังคมไทย กลับย้อนศรไปสู่ทิศทางตรงข้าม ความเข้มข้นของลัทธิพิธีบูชาพระนเรศวรทวีความขลังเข้มขึ้นเรื่อยๆ บนทุกเส้นทางที่เชื่อว่ากองทัพพระนเรศวรเคยเสด็จผ่าน ล้วนตระหง่านไปด้วยอนุสาวรีย์ พร้อมเครื่องเซ่นบวงสรวงรูปไก่ชน จนชวนฉงนใจ

กูรูบางท่านฟันธงว่าสายพันธุ์ไก่ต้องเป็น “ไก่เหลืองหางขาว” เท่านั้น สำทับว่าพระนเรศวรทรงนำติดตัวไปจากบ้านกร่าง (นามเดิมคือบ้านหัวเพ) พิษณุโลก เนื่องจากทรงประสูติและเจริญชันษาที่สองแคว

ส่วน “แอ๊ด คาราบาว” ระบุว่าไก่ชนนเรศวร มีต้นกำเนิดมาจากบ้านเหล่าป่าก๋อย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ทั้งๆ ที่หมู่บ้านนี้เพิ่งมีการอพยพชาวยองจากสิบสองปันนามาตั้งถิ่นฐานแค่เพียง 200 ปีเท่านั้น

วิวาทะเรื่องตำนานไก่ชนนเรศวร ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดาของสังคมไทย!

จาก “ชนไก่” สู่ “ชนช้าง”

บุคคลผู้หยิบยก “ไก่ชนนเรศวร” มาเชิดชูรายแรกคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยอ้าง “คำให้การของชาวกรุงเก่า” และ “คำให้การขุนหลวงหาวัด”

ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงท้ายรัชกาลของพระเจ้าบุเรงนอง ผู้มีวัยชราภาพ เตรียมมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสนันทบุเรง (มังเอิง หรือมังชัยสิงห์) พร้อมกับได้สถาปนา “หลานปู่” ชื่อ “มังสามเกียด” หรือ “มังกะยอชวา” ขึ้นเป็น “พระมหาอุปราช”

มังสามเกียด มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระนเรศวร ผู้ซึ่งราชสำนักอยุธยาส่งไปเป็นองค์จำนำที่เมืองหงษา ในช่วงเสียกรุงครั้งที่ 1

เหตุการณ์ชนไก่นั้น เกิดขึ้นเมื่อพระนเรศวรมีพระชันษาเพียง 9 ขวบ แถมยังเป็นเณรน้อย วันหนึ่งยุพราชทั้งสององค์ได้เล่นไก่ชนเบื้องหน้าพระพักตร์ของพระเจ้าบุเรงนอง ปรากฏว่าไก่ของมังสามเกียดพ่ายแพ้ต่อไก่ของพระนเรศวร ด้วยความอับอายจึงกล่าวถ้อยคำเสียดสีว่า

“ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงหนอ” คำถากถางนี้คงจี้ใจดำพระนเรศวรไม่น้อย ถึงกับโพล่งประโยคคลาสสิคที่ถูกนำมาอ้างซ้ำแล้วซ้ำอีก ว่า

“ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่จะชนะในวังนี้เลย ต่อให้ท้าพนันเอาบ้านเอาเมืองก็ย่อมได้”

สัมพันธ์ระหว่างสองยุพราชขาดสะบั้นลงทันที หลังจากที่ถูกปรามาส ก็เกิดแรงผลักดันให้พระนเรศวรคิดที่จะหนีออกจากกรุงหงษาทุกลมหายใจ

เมื่อมองบริบทของเณรน้อยวัย 9 ขวบที่แน่นอนว่าต้องบรรพชาในนิกายมอญอันเคร่งครัด แต่ไฉนจึงกลับมานั่งเล่นชนไก่ ไม่ผิดศีลวัตรหรืออย่างไร

แถมยังเล่นกันต่อหน้าเบื้องพระพักตร์ของบุเรงนองอีกด้วย ทำราวกับว่าผู้ชนะสิบทิศคนนี้ว่างราชกิจมากเสียเหลือเกิน ถึงกับมานั่งทอดพระเนตรสองยุพราชตีไก่กัน

กรณีการระบุเพศและวัยของพระนเรศวรที่ทรงพระเยาว์เกินไปนั้น ได้มีผู้พยายามช่วยเปลี่ยนแก้ เขยิบจากวัย 9 ขวบขึ้นเป็น 13 หรือ 15 บ้างก็แก้เป็น 23 ดังเช่นพระวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงเชื่อแน่ว่ามีการเล่นไก่ชนจริง แต่อาจไม่ได้เกิดขึ้นในยุคที่บุเรงนองยังมีชีวิตอยู่ น่าจะเป็นการกลับมาเมืองหงษาของพระนเรศวรตอนเป็นหนุ่มแล้วภายหลังจากที่ตีเมืองคังได้ จึงแวะมาท้าหยั่งเชิงสหายเก่า

สิ่งที่น่าคิดก็คือ เมื่อพระนเรศวรหนีออกมาจากเมืองหงษาได้สำเร็จ (เอกสารบางเล่มบอกว่ามิได้หนี แต่ป่วยเป็นโรคฝีดาษ บุเรงนองจึงส่งกลับพิษณุโลกด้วยเกรงว่าจะระบาดใส่ชาวหงษา และบ้างก็ว่าพระมหาธรรมราชาทูลขอจากบุเรงนองตรงๆ ว่าให้กลับมาช่วยราชการ) กาลเวลาผ่านไปนานหลายปี กระทั่งพระองค์ได้มีโอกาสกระทำยุทธหัตถีจนมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชาแล้วนั้น

เหตุไฉนพระองค์จึงกลับห้ามมิให้ไพร่พลทำร้ายทหารหงษา ทั้งๆ ที่ทัพของอยุธยากำลังเป็นต่อ จะว่าสำนึกในข้าวแดงแกงร้อนที่เคยอาศัยเมืองหงษาในวัยเยาว์ก็ใช่ที่ ด้วยพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้ระบุเหตุผลไว้ชัดว่า

“ซึ่งเราทำสงครามคราวนี้ มิได้คิดจะให้ไพร่พลทั้งปวงได้รับความลำบาก คิดแต่จะแก้แค้นพระมหาอุปราชาซึ่งหมิ่นประมาทเราอย่างเดียวเท่านั้น บัดนี้เราแก้แค้นได้แล้ว ตรัสดังนี้แล้ว ก็โปรดให้นายทัพนายกองแลพลทหารทั้งปวงกลับไปเมืองหงษา”

พระนเรศวรเคยถูกพระมหาอุปราชาหมิ่นประมาทด้วยเหตุอันใดหรือ ฤๅว่าเรื่องไก่เชลยนั่นเป็นความจริง?

อย่างไรก็ดี บันทึกของหลวงประเสริฐชิ้นนี้ มีนัยชวนให้วิเคราะห์ได้ต่อไปอีกว่า ถ้าเช่นนั้น การที่เราเคยเชื่อว่าพระนเรศวรทำสงครามยุทธหัตถีเพื่อต่อสู้ปลดแอกประเทศจากการเป็นเมืองขึ้นพม่านั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะสมัยอยุธยา “สำนึกความเป็นชาติ” ยังไม่เกิดขึ้น สงครามชนช้างทำแต่เพียงเพื่อแก้แค้นเรื่องส่วนตัวเท่านั้น?

การปลูกฝังให้พระนเรศวรเข้ามานั่งสถิตในดวงใจไทยทั้งชาติ มีขึ้นอย่างเป็นกระบวนการ “นาน” และ “เนียน” ผ่านแบบเรียนกระทรวงศึกษาธิการ จบลงด้วยรหัสบันเทิงด้วยละคร-ภาพยนตร์

แม้แต่พระนาม “พระองค์ดำ” ของพระองค์ ซึ่งตรงกันข้ามกับ “พระองค์ขาว” ของพระอนุชาเอกาทศรถ ที่ในเอกสารต่างชาติใช้ว่า “Black King-White King” นั้นก็ยังได้รับการปกป้องหาเหตุผลข้อแก้ต่างให้ว่า

พระองค์มิน่าจะมีพระฉวีคล้ำโดยกำเนิด หากแต่ชอบอยู่กลางแจ้งเป็นประจำ เช่นโปรดกีฬาชนไก่ ชนช้าง ซ้ำยังชอบอาบน้ำว่านเพื่อความอยู่ยงคงกระพัน พระวรกายจึงเปลี่ยนเป็นสีเข้ม โดยหารู้ไม่ว่าชาวต่างชาติเขานิยมชมชอบคนผิวคล้ำ

ส่วนกรณี “ชนไก่” กับ “ชนช้าง” นั้น จะให้เอาตรรกะอันใดมาใช้ดีเล่า

ระหว่าง “ทรงชนไก่จริง จากนั้นเขยิบมาชนช้างเพื่อชำระแค้นเก่า”

กับ “ไม่มีการชนไก่ มีแต่ชนช้างเพื่อปกป้องเกียรติภูมิแห่งกรุงศรีอยุธยา”?

 

หมื่นด้งนครแห่งล้านนา
รับชนไก่ท้าพระญาเชลียง

อันที่จริงเรื่องราวของ “ไก่ชน” ที่เกี่ยวข้องกับ “การเสียเมือง” นั้น ปรากฏอยู่อีกตอนหนึ่งของพงศาวดารฉบับวันวลิต เป็นเหตุการณ์คราวอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 1 ขณะที่กองทัพพม่าได้ล้อมพระราชวังไว้ แต่ “สมเด็จพระมหินทราธิราช” กลับนั่งสำราญพระราชหฤทัย ทอดพระเนตรการเล่นไก่ชนอยู่อย่างทองไม่รู้ร้อน

ที่น่าสนใจคือ “ชื่อบ้านนามเมือง” ของ “หุบเขาชนไก่” แห่งกาญจนบุรี (กลายเป็นค่ายฝึก ร.ด.) สถานที่นี้ปรากฏนามมาอย่างน้อยก็ในเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ว่าเป็นแหล่งที่ขุนไกร บิดาขุนแผนได้หลบราชภัยไปซ่อนตัวอยู่

กับอีกตำนานแห่งชายฝั่งทะเลตะวันออกแถบชลบุรี ฉะเชิงเทรา ต้นกำเนิดนิทาน “พระรถ-เมรี” มีเรื่องของพระอินทร์ปลอมตัวเป็นไก่ให้พระรถเสนนำไปท้าพนันกับใครต่อใคร ก็ยังเหลือชื่อบ้านนามเมืองว่า “ลานพระรถชนไก่”

มีเรื่องราวเกี่ยวกับการท้ารบ “เอาบ้านเอาเมือง” ผ่านการพนันไก่ชนที่น่าสนใจอีกเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งแทบจะไม่เป็นที่รู้จักกันเลย แม้ในแวดวงผู้สนใจประวัติศาสตร์ล้านนา

นั่นคือการที่พระญาเชลียง แห่งเมืองศรีสัชนาลัย ได้ส่งสาส์นมาท้า “หมื่นด้งนคร” เจ้าเมืองเขลางค์ ผู้เป็นแม่ทัพเอกของพระญาติโลกราช ให้ไปเล่น “ไก่ชน” ที่เมืองเชลียง เป็นทีว่าหากตนชนะจะต้องปล่อยเมืองเชลียงให้เป็นอิสระจากล้านนา

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2004 (ก่อนเหตุการณ์ไก่ชนนเรศวรร่วมศตวรรษเศษ) บันทึกอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งพระญาติโลกราชพยายามทัดทานมิให้หมื่นด้งนครพลาดท่าเสียทีรับคำท้านั้นด้วยรู้ว่าเป็นอุบายขอเอาเมืองคืน

แต่จนแล้วจนรอด พระญาติโลกราชก็จำใจจำยอมอนุญาต เมื่อหมื่นด้งนครยืนกรานที่จะไป ด้วยเหตุที่เมืองใต้เขาท้ามาถึงสามหนแล้ว กระไรเลยจะปล่อยให้ศักดิ์ศรีลูกผู้ชายถูกยีย่ำอยู่ได้เล่า

หมื่นด้งนครจัดทหารเดินทัพไปศรีสัชนาลัยถึง 5,000 นาย พกอาวุธหินเหล็กไฟประจำมือพร้อมลุยทุกเวลา กลับไม่ปรากฏว่าพระญาเชลียงได้ตระเตรียมลานไก่ชนไว้รอรับแต่ประการใด มีแต่กองทัพทหารเตรียมประจัญบาน แทนที่จะได้ “ชนไก่” กลับกลายเป็น “ชนช้าง” ไปเสียนี่

ผลสุดท้ายแผนลับลวงของพระญาเชลียง ก็มิอาจไถ่แคว้นศรีสัชนาลัยกลับคืนมาสู่อยุธยา ในทางกลับกันหมื่นด้งนคร ได้รับสร้อยต่อท้าย สะท้อนการได้กินเมืองเพิ่มว่า “หมื่นด้งนครเชลียง”

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าต้นตอของ “ไก่เชลยพระนเรศวร” นั้น จะมีการหยิบยืมเค้าโครงเรื่องจาก “ไก่ท้าพระญาเชลียง” มาใช้หรือไม่ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ชาวอยุธยายุคพระบรมไตรโลกนาถอาจเล่าขานต่อกันมาอีก ในระยะเวลาเพียงสองชั่วคน

หรืออาจไม่มีอะไรเกี่ยวพันกันก็ได้ เพราะ “ไก่ชน” เป็นกีฬาสากลของรัฐจารีตในละแวกอุษาคเนย์มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

บทความชิ้นนี้มิได้ปฏิเสธประวัติศาสตร์หน้า “ไก่ชนนเรศวร” ตรงกันข้าม ด้วยกลัวจะถูก “รื้อทิ้ง” จึงอยากให้มีการ “ทบทวน” บทเรียนของกระทรวงศึกษาธิการอย่างจริงจัง จะได้หายคาใจกันไปทั้งสองฝ่าย

ไม่อยากพลิกกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ชั้นมัธยม แล้วต้องทนเห็นการ “ปล่อยไก่” ออกมาเพ่นพ่านอีกโดยไม่มีใครทักท้วง

สมเด็จพระนเรศวร ทรงเล่นชนไก่กับพระมหาอุปราช ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดาราราม (ภาพโดย ธัชชัย ยอดพิชัย)