เทศมองไทย : เรือดำน้ำของไทยกับ “อันดีแคลร์ อาร์มเรซ” ในเอเชีย

ข้อเขียนของ เอช. ไอ. ซัตตัน ปรากฏในเว็บไซต์ของฟอร์บส์เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พูดถึงเรื่องเรือดำน้ำเอาไว้น่าสนใจครับ เขาบอกว่า กำลังเกิดปรากฏการณ์แข่งขันกันสะสม “เรือดำน้ำ” ไว้ในคลังสรรพาวุธของหลายต่อหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย

น่าเสียดายที่ซัตตันไม่ได้ให้ความคิดเห็นประกอบเอาไว้เท่าใดนัก นอกจากตอนเกริ่นนำในย่อหน้าแรก ที่พูดถึงคุณประโยชน์โดยรวมของ “เรือดำน้ำ” เอาไว้โดยไม่จำเพาะเจาะจงว่า เรือดำน้ำเป็นอาวุธ “อสมมาตร” ชั้นหนึ่ง

ผมไม่แน่ใจว่าทางการทหารเขาใช้คำ “อสมมาตร” นี้กันหรือเปล่า แต่มีใช้กันทั่วไปในทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ครับ หมายถึงความไม่เท่าเทียมกัน

ความเป็นอาวุธในเชิงอสมมาตรของเรือดำน้ำนั้น ซัตตันพรรณนาเพิ่มเติมเอาไว้ว่า “ช่วยให้กองทัพเรือที่มีขนาดเล็กกว่า สามารถยืนหยัดต่อกรกับกองทัพเรือที่มีพลานุภาพสูงที่สุดได้” โดยที่เรือดำน้ำที่มีพลานุภาพสูงสุด ย่อมจัดเป็นระบบอาวุธชั้นสูงสุดด้วยเช่นเดียวกัน

“ทุกวันนี้ ว่ากันว่า เรือดำน้ำคือแพลตฟอร์มอาวุธที่ทรงอำนาจมากที่สุดในบรรดาแพลตฟอร์มอาวุธทั้งหลาย” ซัตตันว่าเอาไว้อย่างนั้น แล้วก็อดวงเล็บต่อท้ายไว้ไม่ได้ว่า บรรดาแฟนๆ ของฝูงบินเจ้าเวหาทั้งหลายคงไม่เห็นพ้องด้วยแน่

แต่เขาย้ำไว้ในประโยคถัดมาว่า กองทัพเรือของทุกประเทศในเอเชียอยากได้ครับ

 

ข้อสังเกตของ เอช.ไอ. ซัตตัน ก็คือ เมื่อก่อนถ้าพูดถึงกองเรือดำน้ำของชาติในเอเชียแล้ว มักหมายความกันถึงชาติใหญ่ๆ ที่เป็น “บิ๊กเพลเยอร์” ทั้งหลาย อย่างจีน, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น และอินเดีย เรื่อยไปจนถึงประเทศย่อมๆ ลงมาอย่างปากีสถาน, เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เหล่านี้ล้วนมี “เรือดำน้ำระดับไฮเทค” ประจำการอยู่ในกองทัพด้วยกันทั้งสิ้น

แต่ปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงกันที่ซัตตันสังเกตพบในเวลานี้ คือสิ่งที่เขาเรียกว่า “การปฏิวัติเรือดำน้ำ” ที่แม้แต่บรรดาประเทศขนาดเล็กทั้งหลายในภูมิภาคเอเชียก็กำลังสร้างศักยภาพกองเรือดำน้ำของตนเองขึ้นมากันทั้งหมด

กลายเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า “อันดีแคลร์ อาร์มเรซ” หรือ “การแข่งกันสะสมอาวุธโดยไม่มีการประกาศ” เกิดขึ้นในภูมิภาค

เป็นการแข่งขันซึ่ง “กำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการคุกคามจากเรือดำน้ำไปทั่วทั้งโลก”

ซัตตันไม่ได้ขยายความประโยคสำคัญที่ว่าเพิ่มเติม แต่ยกตัวอย่างแรกให้เห็นซึ่งน่าสนใจมาก นั่นคือ เมียนมา ประเทศซึ่งไม่ค่อยมีใครนึกถึงสักเท่าใดนักถ้าหากถกกันเรื่องเรือดำน้ำ

แต่เมื่อเดือนธันวาคมปีกลาย เมียนมาเพิ่งประกอบพิธีนำเรือดำน้ำลำแรกของประเทศเข้าประจำการในกองทัพไปเรียบร้อยแล้ว เป็นเรือดำน้ำจู่โจมชั้น “กิโล” ซื้อมือสองจากอินเดีย

เรือดำน้ำอีก 2 ลำในรุ่นเดียวกันแบบเดียวกันกำลังจะตามมา คราวนี้ซื้อใหม่เอี่ยมจากรัสเซียครับ

หรือแม้แต่บังกลาเทศ ก็เพิ่งเริ่มต้น “ตั้งไข่” สั่งสมพลานุภาพของกองเรือดำน้ำของตนเองขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ด้วยการจัดซื้อรวดเดียว 2 ลำจากจีน

ซัตตันบอกว่า บางประเทศที่คิดจะจัดซื้อก็ไม่ถนัดนัก ก็เริ่มต้นพัฒนาโครงการจัดสร้างเรือดำน้ำของตัวเองขึ้นมา ตัวอย่างก็คือ ไต้หวัน ที่ใช้ “ไห่เซียะ คลาส” (กัปปี คลาส สมัยสงครามโลก) 2 ลำจากสหรัฐอเมริกาประจำการมานานจนทำสถิติเป็น “เรือดำน้ำในประจำการที่เก่าแก่ที่สุดในโลก” ก็เริ่มต้นโครงการสร้างเรือดำน้ำเองแล้ว

 

เวียดนามมีเรือชั้นกิโลประจำการอยู่แล้ว 6 ลำ เป็นเรือใหม่จัดซื้อจากรัสเซียทั้งหมด ถือเป็น “กระดูกสันหลัง” ของกองทัพเรือที่นั่น แต่กำลังริเริ่มโครงการพัฒนาเรือดำน้ำขนาดเล็กด้วยตัวเองขึ้นมาแล้วเช่นเดียวกัน เพื่อนำไปใช้ทดแทนเรือเล็กขนาด 100 ตันยูโกคลาส ซึ่งสร้างในเกาหลีเหนือ 2 ลำที่เตรียมปลดประจำการ

กองทัพเรืออินโดนีเซียนั้น ซัตตันระบุว่า มีเรือดำน้ำ “นำเข้า” อยู่แล้ว 5 ลำ แต่กำลังเริ่มโครงการต่อเรือดำน้ำขึ้นใช้เองด้วยเช่นเดียวกัน

ฟิลิปปินส์ ซึ่งเถียงเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ยังไม่ได้ข้อยุติ กำลังได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นในระยะหลังนี้ ซัตตันระบุว่า ข้อมูลล่าสุดเชื่อว่าน่าจะเป็นการจัดซื้อจากประเทศฝรั่งเศส โดยไม่ได้ระบุจำนวน

สุดท้ายก็คือไทยครับ ซัตตันบอกว่า กำลังอยู่ในกระบวนการจัดซื้อเรือดำน้ำ เอส 26 ที หยวนคลาส จากจีน 1 ลำ ส่วนอีกลำกำลังอยู่ระหว่างการวางแผนการจัดซื้อ

เรือดำน้ำที่สั่งซื้อจากจีนนี้ถือเป็นเรือดำน้ำลำแรกสุดของไทยนับตั้งแต่ปี 1951 เมื่อเรือดำน้ำ 4 ลำที่จัดซื้อจากญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1930 ถูกปลดประจำการครับ