คำ ผกา | ยุบอนาคตใหม่ แต่กังวลใจอนาคตเพื่อไทยมากกว่า

คำ ผกา

และแล้วพรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบ

มีหลายคำถามตามมาหลังจากพรรคถูกยุบ เช่น เงินกู้ถือเป็นรายรับหรือรายจ่าย?

การกู้เงินหัวหน้าพรรคมาเป็นค่าใช้จ่ายในการทำพรรคถือเป็นการครอบงำพรรคหรือไม่?

เงินกู้เป็นเงินบริจาคหรือไม่? ไปจนกระทั่งถึงคำถามที่ว่า ต่อให้การกู้เงินครั้งนี้ “ผิด”

ความผิดเช่นนี้มีโทษถึงกับต้องยุบพรรคหรือไม่?

การที่พรรคการเมืองถูกยุบเป็นว่าเล่น เท่ากับการประหารประชาธิปไตยในสังคมไทยหรือไม่?

หนักที่สุดคือคำถามว่า ในประวัติศาสตร์การยุบพรรคการเมืองในไทยนั้น

มีแต่พรรคการเมืองที่เป็นขวากหนามของการครองอำนาจของฝ่ายที่เป็นมิตรกับประชาธิปไตยและประชาชน

ดังนั้น เหตุผลที่แท้จริงของการยุบพรรคการเมืองคืออะไรกันแน่?

ทำบนพื้นฐานของการเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนจริงหรือไม่?

ท่ามกลางข้อกังขาเหล่านี้ อีกคำถามหนึ่งคือการเมืองไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรหลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ?

การยุบพรรคอนาคตใหม่จะส่งผลที่แตกต่างจากการยุบพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และไทยรักษาชาติ เพราะสามพรรคข้างต้นในการรับรู้ของคนไทยคือพรรคของทักษิณ

และฐานเสียงสิบเก้าล้านเสียงโดยประมาณของทั้งสามพรรค ถูกมองว่าเป็นสิบเก้าล้านเสียงคนชนบทที่สนับสนุนพรรคการเมืองเหล่านี้เพราะผลประโยชน์มากกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตย

คนในเมือง คนชั้นกลาง คนมีการศึกษาจำนวนไม่น้อย รังเกียจและเกลียดทักษิณด้วยเหตุผลต่างๆ กันออกไป เช่น แม้จะไม่ชอบเผด็จการ ไม่เห็นด้วยกับการมีองค์กรอิสระและการวินิจฉัยขององค์กรอิสระ แต่ลึกๆ แล้วก็รู้สึกว่า พรรคการเมืองของทักษิณและทักษิณนั้นมีความโสมมอยู่ในตัว จึงไม่ได้รู้สึกอยากออกมาปกป้อง หรือต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม หรือความถูกต้องอะไรให้กับพรรคการเมืองของ “ทักษิณ”

ส่วนสิบเก้าล้านเสียงที่ถูก “เท” ไปอย่างไม่เห็นหัวนั้น คนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยก็มองว่าเป็นสิบเก้าล้านเสียงที่เพิ่งตาสว่างจากทักษิณเสียที

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งมีการยุบพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และแม้แต่ไทยรักษาชาติ สำหรับฉัน มันเป็นการถูกยุบพรรคที่แสนจะโดดเดี่ยว อ้างว้าง ไม่มีนักวิชาการ หรือสถานทูต หรือคนที่เครดิตทางสังคมออกมาปกป้อง หรือตั้งคำถามว่า การยุบพรรคนั้นเป็นการลงโทษที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการประชาธิปไตยในระยะยาวอย่างไร

และเป็นการไม่เห็นหัวสิบเก้าล้านเสียงของพรรคเหล่านั้นอย่างไร มีแต่ชาวบ้าน “ควายแดง” ที่เจ็บช้ำเพราะพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของตนต้องถูกปลิดชีพไปครั้งแล้วครั้งเล่า

มิหนำซ้ำปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนไม่น้อยยังซ้ำเติมว่า เป็นเพราะการสู้ไม่จริง สู้แบบทรยศมวลชนของทักษิณนั่นแหละ ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น – เกลียดเหลือเกิน อะไรทำนองนั้น

การยุบพรรคของ “ทักษิณ” จึงทำให้เกิดแรงกระเพื่อม และแรงกดดันต่อองค์กรอิสระและองคาพยพของฝ่ายที่ถือครองอำนาจอยู่ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเสื้อแดง และ นปช.ถูกทำลายลงไปแล้วอย่างราบคาบ

และไม่มีวันที่จะ mobilized มวลชนนับแสนนับล้านลงถนนได้อีก

แต่กรณีที่เกิดกับพรรคอนาคตใหม่นั้นแตกต่างออกไป ฝ่ายถือครองอำนาจและมวลชนของพวกเขาพยายามจะป้ายสีและชวนให้สังคมเชื่อว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล คือนอมินีของทักษิณ อีกด้านหนึ่งก็พยายามป้ายสีว่า ธนาธร ปิยบุตรคือภัยต่อความสงบเรียบร้อยของชาติ คือกลุ่มบุคคลที่อยากเข้ามาทำลายรากเหง้าแห่งความเป็นไทย คือกลุ่มบุคคลที่ทำงานเป็นขบวนการเพื่อมาล้างสมองคนรุ่นใหม่ให้ชังชาติ ชังความไทย โอ๊ย น่ากลัวๆๆๆๆ

ฝ่ายครองอำนาจได้วางตำแหน่งแห่งที่ของพรรคอนาคตใหม่และธนาธรไว้เช่นนี้ และดาบแรกที่ลงคือการไม่ให้ธนาธรได้เป็น ส.ส.

แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ พรรคอนาคตใหม่มีมวลชนที่ไทยรักไทย พลังประชาชน และไทยรักษาชาติ ไม่มี นั่นคือ อนาคตใหม่มี

หนึ่ง กลุ่มคนที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยและอกหักจาก นปช. อกหักจากทักษิณ

สอง กลุ่มสลิ่มเก่า เช่น ส.ศิวรักษ์ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. อดีตพันธมิตร อดีต กปปส. สายแกนนำเอ็นจีโอ นักวิชาการ อดีตพันธมิตรที่เคยชุมนุมไล่ทักษิณกับสนธิ สื่อมวลชนที่เคยสนับสนุนรัฐประหาร แต่ไม่ได้ไปมีเอี่ยวในผลประโยชน์ ไม่ได้ตำแหน่ง เริ่มเห็นพิษของรัฐบาลประยุทธ์และพวก

พรรคอนาคตใหม่จึงเป็นอ่างล้างมือทองคำ เป็นบันไดลงให้คนเหล่านี้ออกมากรี๊ดกร๊าดว่า ถ้าเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงๆ ไม่หลอกลวงแบบทักษิณ ผมหรือดิฉันก็พร้อมสนับสนุน – เนี่ย ใครว่าชั้นเป็นสลิ่ม ชั้นไม่ได้เป็น ชั้นเป็นพวกที่ยึดมั่นในอุดมการณ์แท้ๆ เพียวๆ ต่างหาก เห็นไหม เนี่ย อนาคตใหม่เขามีอุดมการณ์จริงอะไรจริง เราจึงต้องออกมาปกป้องหลักการ และเรียกร้องความเป็นธรรมให้พวกเขา

สาม กลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ใช่แค่กลุ่มอายุสิบแปด แต่กลุ่มที่สนับสนุนอนาคตใหม่มีตั้งแต่เด็กมัธยมต้น เด็กอายุสิบสอง สิบสาม ไม่ต้องอินการเมืองลึกๆ แค่ใช้สามัญสำนึกแบบตรงไปตรงมาแบบเด็กๆ เมื่อได้ฟังสมาชิกพรรคอนาคตใหม่พูด เมื่อได้ฟังนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ในข่าว ในทีวี ในสื่อโซเชียล เทียบกับการฟังนายกฯ และคนในรัฐบาลพูด สามัญสำนึกแบบใสๆ ของเด็กก็บอกได้ทันทีว่า เขาอยากได้คนแบบไหนเป็นนายกฯ มากกว่ากัน

เรื่อยไปจนถึงเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย คนเหล่านี้เกิดหลังปี 2545 ด้วยซ้ำ พวกเขาคือเจเนอเรชั่นที่รอดพ้นจากการถูกโฆษณาชวนเชื่อจาก “สื่อเก่า” เกิดมาในยุคหลัง ทักษิณ vs สนธิ เกิดไม่ทันยุครุ่งเรืองของ “ความสุขของกะทิ”

เกิดไม่ทันเสพสื่ออย่างแมแนเจอร์ และเกิดมาอีกที เนชั่นก็ไม่ได้อยู่ในยุคของการเป็นสื่อที่ซีเรียสอีกต่อไป

คนกลุ่มนี้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ เพราะชัดเจนว่า นี่แหละนักการเมืองแห่งอนาคตที่พวกเขาต้องการคือแบบนี้ เป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาเดียวกับพลเมืองโลก (ในขณะที่นายกฯ พูดจาเหมือนหลุดมาจากหนังโฆษณาชวนเชื่อในโลกยุคสงครามเย็น) และแน่นอนว่า คนกลุ่มนี้ไม่มีข้อสงสัยว่าสังคมต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่อาจเป็นอื่นไปได้เลย

ดังนั้น สิ่งที่อนาคตใหม่แตกต่างจากไทยรักไทย พลังประชาชน และไทยรักษาชาติ คือ อนาคตใหม่มีมวลชนที่เป็นทั้งอดีตของมวลชนทักษิณ และอดีตมวลชนของฝ่าย “อนุรักษนิยม” มาอยู่ด้วยกัน ไม่นับพลังคนรุ่นใหม่ที่ต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปหาความเป็นประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ในมาตรฐานสากล

ทั้งหมดนี้ทำให้การจัดการสถานการณ์หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ไม่ง่าย อีกทั้งการสร้างความชอบธรรมให้กับการยุบพรรคก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก

ไม่นับว่าฝ่ายประชาธิปไตยที่ยังเหนียวแน่นกับพรรคเพื่อไทยและไม่ได้เป็น “ติ่ง” ของพรรคอนาคตใหม่ก็ย่อมคัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่อยู่แล้วเพราะนี่เป็นเรื่องของหลักการและเป้าหมายร่วมกันเรื่องการกอบกู้ชีวิตประชาธิปไตยในสังคมนี้ขึ้นมาให้ได้

ดังนั้น หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่

เราจึงเห็นทั้งการออกแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค

(ซึ่งสมัยที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบ ไม่มีพรรคการเมืองไหนออกแถลงการณ์ให้เลย) มีทั้งแถลงการณ์จากอเมริกา จากสหภาพยุโรป ที่แสดงความเป็นห่วงต่อการปฏิเสธสิทธิทางการเมืองของคนหกล้านกว่าคนที่เป็นผู้ลงคะแนนเลือกพรรคอนาคตใหม่ มีแม้กระทั่งแถลงการณ์จากคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ

ซึ่งถ้าเป็นอดีต จะมีแต่นิติราษฎร์ ที่ก็ดูนอกคอกมาก

ไม่ใช่แค่นั้น มีการแสดงออกทางการเมืองจากกลุ่มนิสิต-นักศึกษาอย่างกล้าหาญ

เช่น ป้ายผ้าที่นิเทศ จุฬาฯ ที่แม้จะถูกเก็บไปอย่างรวดเร็ว แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่แคร์ เพราะป้ายถูกแสดงแล้ว ถ่ายรูปแล้ว ลงโซเชียลแล้ว ตามเก็บป้ายของจริงได้ แต่ตามเก็บรูปในโซเชียลไม่ได้นะจ๊ะ พวกป้าๆ ลุงๆ ช่างไม่รู้อะไรเลย

ยังไม่จบ นักศึกษายังคงจัดกิจกรรมคัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างต่อเนื่องเกือบทุกคณะ เกือบทุกมหาวิทยาลัยหลักทั่วประเทศ คณะที่ขึ้นชื่อว่า สวยงาม หน่อมแน้ม อย่างอักษรฯ จุฬาฯ ยังมีกิจกรรมเลย

คิดดูว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่นี้มันไม่ง่ายเหมือนการยุบพรรคทักษิณที่มวลชนของทักษิณไม่มีทุนทางสังคมสูงเท่ามวลชนของอนาคตใหม่

บวกกับพลวัตทางการเมืองที่ทำให้เงื่อนไขของการยุบพรรคในปีนี้ต่างจากการยุบพรรคในอดีต

เพราะในปีนี้ มีคน “ตื่น” ขึ้นมามากกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ

ที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกก็คือ เกมการเมืองของพรรคอนาคตใหม่หลังจากถูกยุบพรรค

ในอดีต การรับมือกับการถูกยุบพรรคจะเน้นความ practical ทางการเมือง นั่นคือให้ความสำคัญกับการตั้งพรรคสำรอง วางตัวกรรมการบริหารพรรคแถวสอง พูดง่ายๆ เน้นเรื่องการจัดการบริหารพรรคใหม่ และแผนการ “อยู่ให้รอด” การรักษาฐานเสียง และแยกอีกขาหนึ่งของพรรคไปทำงานการเมืองบนท้องถนน

แต่สิ่งที่อนาคตใหม่ทำแตกต่างออกไป นั่นคือ ไม่ได้ให้น้ำหนักกับการจัดตั้งพรรคสำรองและกรรมการบริหารพรรคแถวสอง แต่เน้นการปลุกพลังมวลชนต่อเนื่อง ไม่ให้เกิดความสลด ไม่ให้เกิดความเสียกำลังใจ

เริ่มตั้งแต่ไม่เสียเวลาไปฟังคำตัดสิน แต่ใช้เวลาและพลังงานไปกับการจัดเวทีที่พรรค ชนิดที่ตัดสินปุ๊บ เวที “รัน” ได้ทันที กรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสินออกมาปราศรัย ยิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมสู้ พร้อมลุยต่อ อนุญาตให้เสียใจ แต่ไม่อนุญาตให้หมดหวัง อะไรทำนองนั้น ประกาศตั้งคณะอนาคตใหม่

เรียกได้ว่าเปิดเกมรุกเร็วชนิดที่ไม่ให้ใครมีเวลาร้องไห้กันเลย

เวลาร้องไห้ก็ไม่มี เวลาเช็ดน้ำตาก็ไม่มี ทีมอนาคตใหม่ยังเดินเกมรุกต่อด้วยการเปิดอภิปรายนอกสภาแบบแสง สี เสียง ครบจบสวยงาม

และสะเทือนสังคมทันทีด้วยการยกประเด็นรัฐบาลไทยพัวพันคดีอื้อฉาวของมาเลเซีย 1MDB

ที่คิดว่ายุบอนาคตใหม่แล้วจะบังเกิดความสลด หมดความเคลื่อนไหว จึงเป็นไปในทางตรงข้าม ยิ่งยุบ รัฐบาลยิ่งเละตุ้มเป๊ะหมดหน้าตัก และยิ่งยุบ รัฐบาลยิ่งเสียความชอบธรรม

และเสียหายที่สุดคือเสีย “สลิ่ม” ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสลิ่ม “คุณภาพ” ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นต้นทุนความชอบธรรม ต้นทุนภาพลักษณ์ที่สำคัญของฝ่ายรัฐบาลมาก่อน

พอเกิดเรื่องแบบนี้ สลิ่มคุณภาพ หันมาแทงหวยพรรคอนาคตใหม่ แล้วการเปิดโปงคดี 1MDB ก็เป็นประเด็นที่ถูกจริตชนชั้นกลาง เพราะเป็นเรื่องจริยธรรม ความอื้อฉาวระดับอินเตอร์เนชั่นแนล (ที่เรารู้สึกว่ามันขายขี้หน้า)

ความโอละพ่อที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือพล็อตทวิสต์ของการเมืองไทย รัฐบาล คสช.เข้าสู่อำนาจ และถือครองอำนาจต่อเนื่องได้พลังของชนชั้นกลางในเมือง ปัญญาชนที่มีความรู้ กับความใฝ่ฝันถึงการเมืองสะอาด ปราศจากคอร์รัปชั่น การเมืองเปี่ยมคุณธรรม จริยธรรม

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ รัฐบาล คสช. ที่ต่อมาเป็นรัฐบาลประยุทธ์ กลับมีภาพของธรรมนัส ปารีณา อนุทิน ศักดิ์สยาม สมศักดิ์ เทพสุทิน แรมโบ้อีสาน กลุ่มสามมิตร บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การแจกเงิน ประชานิยม คำพูดคำจากร่างๆ ของ รมต.แบบสมคิด ความป่วงของพรรคประชาธิปัตย์ที่แตกกระจัดกระจายขายของเล่น ไม่นับปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาฝุ่น ปัญหาไวรัส

ณ วันนี้ เป็นสภาวะ “ลมหวน” กลุ่มคนชั้นกลาง (กลุ่มเดียวกับที่เคลมความสำเร็จสมัยพฤษภาทมิฬ) กำลังจะหวนคืนสู่ฉากทางการเมืองไทยอีกครั้งโดยการยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นดั่งการปูพรมแดงให้ชนชั้นกลางจะได้แสดงบทบาทผู้รักและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

พร้อมๆ กับที่เราจะเห็นพรรคพลังประชารัฐเริ่มรุกคืบได้รับชัยชนะในสนามเลือกตั้งในชนบทมากขึ้น และโดยกลไกของกติกาทางการเมือง การออกแบบรัฐธรรมนูญที่ไม่มีใครตอบได้ว่า พรรคเพื่อไทยจะยืนระยะของการเป็นพรรคการเมืองของฝ่ายประชาธิปไตยแบบ populism democracy ได้แค่ไหน

ความน่ากังวลของฉากทัศน์ทางการเมืองไทยที่จะเปลี่ยนไปนี้คือ

1. ชนชั้นกลางที่สนับสนุนอนาคตใหม่กำลังสถาปนากลุ่มประชาธิปไตยสาย socialist มีฐานเสียงในเขตเมือง

2. พลังของ populism ของการเมืองไทยจะกลายเป็นเวทีของการช่วงชิงกันระหว่าง conservative/authoritarian base populism คือ พลังประชารัฐ vs Democracy poppulism คือ เพื่อไทย

ถามว่า สนามที่แท้จริงของการเมืองไทยอยู่ที่ชนชั้นกลาง หรืออยู่ที่ชนบท?

และถามว่า ถ้าสนามที่แท้จริงอยู่ในชนบท แล้วในระยะยาว ถ้าเพื่อไทยแพ้พลังประชารัฐ ถ้าเป็นเช่นนั้น หน้าตาของประเทศไทยในวันนั้นจะเป็นเช่นไร?

คงเร็วเกินไปที่จะตอบ ไม่ช้าเกินไปที่จะกังวล!