เขมรปลูกบ้าน-กุลาปลูกเรือน

อภิญญา ตะวันออก

อาจจะด้วยตอนวัยเด็ก ฉันเติบโตมากับบ้านไม้ในชุมชนชายทะเล มีลานดินดำปนทรายและมะพร้าวสูง ความจำแบบเด็กๆ เราๆ สวยงามไม่เจือเรื่องปรุงแต่ง มีแต่ความสนุกสวยงาม

แต่พอแก่ตัวพลัน กลับพบแต่เรือนชานมากมายที่กลายเป็นความหลัง พรั่งพรูมากมายอยู่ในความทรงจำ

เช่น บ้านของชาวมอญตอนที่ฉันยังเด็ก และพบว่าพวกเขาเหล่านั้นซึ่งเป็นคนไทยมารุ่นหนึ่งแล้ว และพบว่า พื้นที่ใช้สอยของบ้านมอญในไทย มีความร่วมกันกับชาวเขมรชนบท

แต่ตอนนี้เรือนเก่าๆ ของชาวมอญในไทยก็หายไปมาก ส่วนในเมืองเขมรนั้น หากเป็นชนบทแล้ว หลายแห่งที่ได้ไปเห็นมาพบว่า ส่วนใหญ่ปลูกเรือนด้วยไม้จริงเกือบทั้งหมด

ยิ่งประดาเศรษฐีด้วยแล้ว ทั้งพื้นเรือน ฝาบ้าน เพดาน เครื่องทรงประตูหน้าต่าง เตียง ตั่ง เฟอร์นิเจอร์ ล้วนแต่เป็นไม้จริงทั้งสิ้น แม้แต่ซุ้มในตลาด ไม้จริงหลังคาจั่วกระเบื้องดินเผา แบบว่า ขาดแต่เพียงความประณีตของช่างฝีมือและสมณะเท่านั้นก็จะกลายเป็นกุฏิสงฆ์สมบูรณ์แล้ว

มากระจ่างภายหลังว่า เขมรมีบ้านชนิดหนึ่งเรียกว่า “บ้านกึง” ซึ่งปลูกคล้ายกุฏิ

แต่ไม่ว่าจะปลูกสร้างแบบไหน เวลาที่จะทำให้รู้ว่าคือบ้านเขมรหรือไม่ ก็ตอนที่พวกเขาตั้งศาลไหว้บรรพบุรุษกันในวันปจุมเบ็ญบุญเดือนสิบนั่นเอง เป็นอัตลักษณ์หนึ่งเดียวที่เราจะสังเกตเห็น

นอกเหนือโครงสร้างบ้านเขมรแบบอื่นๆ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า : บ้านเขมร บ้านกึง บ้านโรงดวล บ้านบึด บ้านกันเตียง และหลังปี พ.ศ.2493 ไปแล้ว บ้านตึกหรือโอเตลก็เริ่มเข้ามาในเมืองใหญ่

ในส่วนเหล่านี้ ไม่นับรวมกรณีที่ฝรั่งปลูกอาคารแบบโคโลเนียลสมัยอาณานิคมอินโดจีน

และหลังจากปี 1993/2535 หลังเลือกตั้งครั้งใหญ่แล้ว เรือนชานทั้งในเมืองและชนบทกัมพูชาก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามระบอบการค้าเสรี มีการนำเข้าวัสดุก่อสร้างที่อยู่อาศัยจากไทยและต่างประเทศ จนเกิดยุค “ไม่เอาไทย” ผู้นำฮุน เซน ก็สั่งห้ามปลูกบ้านแบบไทยในพนมเปญ (2541)

กระนั้นก็ดี ยังไม่ถึงกับมีอิทธิพลความเชื่อเกี่ยวกับฮวงจุ้ยที่ระบาดหนักมากในเมืองไทย กระทั่งไม่นานมานี้ พลันฮวงจุ้ยและโชคลางจากโทรทัศน์ของไทยระบาดไปทั่วในทีวีเขมร

รวมทั้งร้านค้าเขมรบางแห่ง ที่เริ่มวางนางกวัก แมวกวัก ลึงค์ และอื่นๆ ซึ่งไม่เคยปรากฏว่าอยู่ในความเชื่อชาวเขมรมาก่อน (เว้นแต่ตามพรมแดน) ไม่ว่าจะเป็นตะกรุด พระเครื่อง ผ้ายันต์ รวมทั้งอาชีพที่เกี่ยวกับฮวงจุ้ยพวกนั้น

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหรอกนะที่นำความเชื่อใหม่ๆ มาสู่เขมร ท่านวัณณ์ โมลีวรรณ (2469-2560) ร่วมกับพระกรุณารัตนโกศ พระบาทนโรดม สีหนุ ในการเปลี่ยนเมืองหลวงเป็นเวนิสตะวันออก

โดยบ้านเขมรโบราณก็อยู่ในชนบทไป ส่วนอาคารบ้านเรือนสมัยใหม่ก็อยู่ในหัวเมืองเมืองทั้งหมด

แต่สถาปนิกผู้สร้างทั้งหมดยุคนั้นคงไม่ทราบว่า ทันทีที่ทหารป่าเขมรแดงพากันตะลึงหลงใหลต่อความงามของตึกรามอาคารในกรุงพนมเปญนั้น

อีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็ขับความเกรี้ยวกราด ขุ่นเคืองต่อ Urbanism ความอัปลักษณ์ของเมืองที่ทำลายอารยธรรมเขมรเดิม และนั่นคือสิ่งที่เขาต้องทำลาย!

 

สะดือบ้าน-สะดือชีวิต

ฉันนึกขอบคุณซูซานน์ คาร์เปเลส ผู้ริเริ่มก่อตั้งกัมโพชสุริยา

นิตยสารวัฒนธรรมฉบับแรกกัมพูชาตีพิมพ์ผลงาน “การสร้างเคหสถาน” ของสรัย อู (พฤศจิกายน 2497) ซึ่งไรยุมนำมารวบรวมไว้ (ดู Cultures of Independence, 2544)

มิฉะนั้นแล้ว บ้านเขมรต่างๆ คงกระจัดกระจายในอัตลักษณ์ไปอีกนาน

โดยกล่าวว่า มีบ้านเขมร 3 แบบ : บ้านเขมร โรงดวล/โรงเดือง บ้านกึง ซึ่งนิยมปลูกกันต่อๆ มาตั้งแต่สมัยนครวัดจนรัชกาลพระบาทสุระมฤทธิ์ (2498-2503)

ความน่าสนใจของการปลูกเรือนเขมรสมัยก่อน มีศูนย์กลางอยู่ที่องค์พระอาทิตย์ เทพที่ได้รับการเคารพสูงสุดกันมาแต่บรรพกาล โดยเพียงการหันประตูบ้านไปทางตะวันออกเท่านั้น สรรพสิ่งอันดีงามก็จะมาสู่เรือนชานของบ้านเขมร จากองค์เทวาอวตาร-พระสุริยาทิศ/อาทิตย์ มีมารดาให้กำเนิดชื่อนางอทิติและอิทธิฤทธิ์ในการให้แสงสว่างต่อชาวโลก

ชาวเขมรแต่บรรพกาลจึงมีพิธีกรรมมากมายตั้งแต่เกิด แต่งงาน และตาย อันเกี่ยวกับเทพเจ้าองค์นี้ อาทิ บทสวดโศลกเก่าแก่สำหรับกล่าวสรรเสริญบูชาพระอาทิตย์ ซึ่งเกือบจะสาบสูญไปแล้วในปัจจุบัน

ตัวอย่าง พิธีมงคลการ์/แต่งงาน ที่กมเลาะ/เจ้าบ่าวจะต้องแสดงความสักการะต่อพระสุริยะ โดยคุกเข่าลงตรงหน้าขบวนแห่ก่อนนำแถวไปที่บ้านเจ้าสาว/โกนกระมอม ซึ่งตรงกับเวลาพระอาทิตย์ขึ้นในเวลารุ่งอรุณ

นี่คือพิธีไหว้พระอาทิตย์/สมเปียะเปียเลีย และเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของชีวิตในการมีคู่ครอง แบบเดียวกับการปลูกบ้านหันหน้าไปทางทิศตะวันออกนั่นเอง

อู สรัย เล่าไว้ ตอนที่เขาอายุได้ 17 ปีนั้น เรื่องเหล่านี้ได้รับการบอกต่อๆ จากผู้อาวุโสประจำหมู่บ้านที่ตำบลโคลญเตาเขตสวายเรียง

เคร่งครัดเป็นจารีตมาตั้งแต่รัชกาลพระกรุณาราชานุโกศ พระบาทสีโสวัตถิ์ (2447-2470) จนถึงรัชกาลพระกรุณาอุทิตยโกศ พระบาทมุนีวงศ์ (2470-2484) นั้น ชาวเขมรโบราณนิยมปลูกบ้านโรงดวล พบมากที่หมู่บ้านเฆลียงสแบกและปรางจำแระ

แต่พอเริ่มรัชกาลพระบาทสุระมฤทธิ์เท่านั้น สะดือบ้านสะดือชีวิตของชาวเขมรก็เริ่มเปลี่ยน ตะวันออก-มิใช่ทิศแห่งชีวิตอีกต่อไป

เช่นเดียวกับการปลูกบ้านที่เรียกกันว่า “กันเตียง” และ “บ้านบึด” นั้น ก็เริ่มมาแทนบ้านเขมรที่เคยนิยม

 

บุญขึ้นบ้านใหม่

ก่อนจะปลูกบ้านเขมรนั้น จะมีการนำดินบริเวณบ้านมาสักการะพิธีด้วยเครื่องบูชาต่างๆ ตามวันเดือนเวลาที่กำหนด และไปตามชนิดของบ้านเขมร

ตัวอย่าง บ้านโรงดวล หลังคาทรงวีนั้น จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน แยกพื้นที่ใช้สอยซึ่งเรียกว่าละแวงเป็น 4 ห้อง โดยห้องครัวท้ายบ้าน-ทิศตะวันตกนั้น นอกจากเก็บเสบียงกรังแล้ว ยังจัดเป็นห้องนอนของเด็กสาวบริสุทธิ์ที่ยังไม่แต่งงาน มีฉางข้าวซึ่งแยกออกไปจะอยู่ทางทิศเหนือ คอกวัว-ทิศใต้ คอกควาย-ตะวันออก

อนึ่ง วันทำพิธีขึ้นบ้านนั้น “อาทิตย์-จันทร์ระวังระไว” เขมรจึงไม่นิยม 2 วันนี้ ส่วนวันอังคารนั้นก็ถือเป็นวันอัปมงคลด้านอุบัติเหตุแก่ผู้อยู่อาศัย มีแต่วันพุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์เท่านั้นที่เป็นวันฤกษ์ดี นิยมทำพิธีในเดือนสิบสอง เดือนสาม เดือนห้า ไม่นิยมเดือนเจ็ด เดือนเก้า และเดือนสิบเอ็ด เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน

ก่อนพิธีบุญขึ้นบ้านใหม่ เจ้าบ้านต้องเตรียมสลาธอร์หรือหมากธรรม์จำนวน 1 คู่ มัดจีบด้วยใบพลูและเทียนเล่มด้วยกัน จากนั้นจึงกล่าวบวงสรวงเทวดา อืมห์ ตามภาษาเขมรนั้น ฉันเหลือจะแปลไหว

ตัวอย่างงานขึ้นบ้านใหม่ของชาวสวายเรียง มีการเชิญญาติมิตรและเพื่อนบ้านมาฟังธรรมในตอนค่ำ ราวทุ่มหนึ่ง พระสงฆ์ 4 รูปจะเริ่มสวดบทพระปริตร สำหรับพิธีขึ้นบ้านใหม่เขมร ระหว่างกำลังสวดนั้น เจ้าเรือนจะต้องนั่งรับพรจนเสร็จพิธีประพรมน้ำมนต์และกล่าวให้พร

จากนั้นจะมีการกล่าวคำเป็นมงคลโดยครูบ้าน อันเกี่ยวกับละแวงทั้ง 3 ส่วนของบ้าน อันได้แก่ : มุข-ส่วนหน้า จั่น-ส่วนกลาง และลักษณ์-ส่วนหลัง

 

บ้านเขมรหลังหนึ่งซึ่งจดจำไม่ลืม คือบ้านชาวกุลา-ชนกลุ่มน้อยเมียนมา ที่อพยพมาทำพลอยในไพลิน จนย้ายถิ่นฐานไปอาศัยตามชนบทของกัมพูชาในบางเขตนั้น

บ้านไม้เล็กๆ หลังนี้ปลูกอยู่ในดงกล้วยมีมะม่วงแซมประปราย พื้นที่ใช้สอยของบ้านราว 2 ละแวง นอกจากชานรับแขกหน้าบ้านอบอุ่นในบรรยากาศสนทนาแล้ว ฉันก็ชอบส่วนหลังของบ้านซึ่งเป็นห้องครัวเล็กๆ สะอาดสะอ้านเป็นสัดส่วน ด้วยเครื่องใช้ไม้สอยไม่กี่ชิ้น รวมทั้งหม้ออวยทองเหลือง 2 ใบแขวน เด่นสะดุดตาตรงฝาบ้าน

วันหนึ่งฉันก็ได้รับเชิญไปเยี่ยมและกินข้าว โดยจากห้องครัวหลังบ้าน พี่กุลาแม่บ้านกำลังลงมือทำเมนูรับแขก

อย่างไรมิทราบ สารภาพว่า มีความเรียบง่าย ละมุนละไมอยู่ในบ้านกุลาหลังนี้ อีกอาหารมื้อนั้นก็อร่อยลืมไม่ลง ไม่อยากเชื่อว่ามีอาหารเลิศรสแบบนี้อยู่ในโลก

และให้สงสัยว่าการปรุงใบมะม่วงเป็นอาหารในหม้อทองเหลืองใบนั้นของหญิงกุลา ได้กลายเป็นโอสถมหัศจรรย์ที่ฉันเองก็อธิบายไม่ถูกว่า…มันคืออะไร

อาหารเรือนกุลามีแค่นั้น แต่อาการถวิลหาของฉันนี่สิ

ผ่านไปหลายปี ก็ยังติดแน่นที่เรือนใจ