มุกดา สุวรรณชาติ : คณะกรรมการเตรียมการปรองดอง ใครปรองดองกับใคร? …อย่างไร?

มุกดา สุวรรณชาติ
AFP PHOTO / MANAN VATSYAYANA

ในสถานการณ์ที่วัดพระธรรมกายกับรัฐบาลยังมีความขัดแย้งที่อาจจะขยายต่อไปได้เรื่อยๆ แต่เรื่องวัดกับอำนาจรัฐคงจะขอเว้นไว้ก่อน จากนี้ไปไม่กี่วัน แนวรบที่คลองหลวงคงถึงจุดตัดสิน แต่ความขัดแย้งไม่ยุติง่ายๆ ยังยืดเยื้อยาวนาน

วันนี้ คงจะต้องพูดถึงการปรองดองของ ป.ย.ป. อีกครั้ง

หลักที่สำคัญของการปรองดองอยู่ที่เป็นการปรองดองของใครบ้าง

ถ้าปรองดองแสดงว่ามีความขัดแย้งกันมาก่อนและต้องการแก้ไขข้อขัดแย้งนั้นนั่นคือมีเรื่องอดีต

ส่วนอนาคตที่จะก้าวเดินต่อไปก็ไม่ควรให้เกิดความขัดแย้งหรือเกิดให้น้อยที่สุด

ดังนั้น ก็ต้องมีหลักการ มีกฎเกณฑ์ที่เสนอเพื่อจะใช้ร่วมกัน

ล่าสุดเรามี “คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง” มีจำนวนกรรมการอย่างน้อย 33 คน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงกลาโหม เป็นรองประธาน

 

มีที่ปรึกษาและกรรมการ อย่างน้อย 8 คน ประกอบด้วย

1.ประธาน สนช.
2.ประธานสภา สปท.
3.ประธานคณะอนุกรรมการทุกคณะภายใต้คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (ถ้ามี)
4.พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์
5.นายปณิธาน วัฒนายากร
6.นายสุจิต บุญบงการ
7.นายสุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์
และ 8.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์

มีกรรมการอื่นอีก 23 คน ประกอบด้วย

1.รองประธาน สนช. คนหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย 2.รองประธาน สปท. คนหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย 3.รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 4.รมว.กลาโหม 5.รมว.ต่างประเทศ 6.รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

7.รมว.ยุติธรรม 8.รมว.มหาดไทย 9.ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ 10.เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 11.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

12.ผบ.ทหารสูงสุด 13.ผบ.ทบ. 14.ผบ.ทร.15.ผบ.ทอ. 16.ผบ.ตร. 17.อัยการสูงสุด

18.เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม 19.เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า 20.ผู้แทน คสช. 21.ปลัดกระทรวงกลาโหม 22.ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ 23.ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

โดยปลัดกระทรวงกลาโหม จะเป็นทั้งกรรมการและเลขานุการ

สิ่งที่มองเห็นจากการทำงานในช่วงเวลานี้คือการเชิญพรรคการเมืองต่างๆ และจะมีกลุ่มการเมืองมาคุยเสนอความคิดเห็นให้กรรมการ ป.ย.ป. รวบรวม เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็ป

หลายวันนี้ทางรัฐบาลเสนอให้ประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น โอกาสนี้จึงขอเสนอความคิดเห็นดังนี้

1. ถ้าดูคณะกรรมการเตรียมการปรองดอง คงไม่มีความขัดแย้ง เพราะมาทางเดียวกัน แต่ถ้าจะปรองดองให้ได้ผล ก็ต้องกำหนดกลุ่มที่ขัดแย้งหลัก ว่าจะต้องคุยกับกลุ่มไหน ให้น้ำหนักกับใคร

2. ต้องมีหลักการที่จะทบทวนอดีต ต้องกล้าเสนอแก้ไขประเด็นที่เป็นหัวใจของความขัดแย้ง

3. วางหลักการ กฎเกณฑ์อนาคตร่วมกัน

แค่นำพรรคการเมืองมาคุย แล้วให้มีเลือกตั้ง ไม่มีทางปรองดองได้ เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองไปไกลมากแล้ว

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ข้อมูลที่ 1 สถานการณ์การเมือง และการตื่นตัวของประชาชน เปลี่ยนไป

ลี กวน ยิว อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวไว้ในหนังสือ One Man’s View of the World ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2556 (ตัดตอนบางส่วนจากประชาไท)

…การเข้าสู่อำนาจของ ทักษิณ ชินวัตร เปลี่ยนการเมืองไทยไปตลอดกาล ก่อนที่เขาจะขึ้นสู่อำนาจนั้น ชนชั้นปกครองเน้นให้ผลประโยชน์ต่อเมืองหลวงเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่ทักษิณทำเป็นการก่อผลกระทบต่อสถานะทางอำนาจแบบเดิม โดยการนำทรัพยากรไปให้กับคนที่ยากจนของประเทศ ที่เคยถูกกีดกันมาก่อนโดยชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ ทักษิณเป็นเครื่องหมายของการเมืองแบบมีส่วนร่วมมากขึ้นที่ทำให้เกษตรกรในภาคเหนือและภาคอีสานได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ สิ่งที่ทักษิณทำเป็นแค่การปลุกประชาชนให้ตื่นรู้ว่ามีช่องว่างนี้อยู่ ให้เห็นว่ามีความไม่เป็นธรรมจากช่องว่างนี้ และใช้นโยบายเพื่อแก้ไขถมช่องว่างดังกล่าว ต่อให้ทักษิณไม่ทำ ผมก็เชื่อว่าใครสักคนก็จะคิดได้ แล้วจะทำแบบเดียวกัน…

…สำหรับศัตรูของทักษิณแล้วนี่ถือเป็นการพลิกโฉมประเทศแบบหน้ามือเป็นหลังมือ พวกเขาไม่ยอมปล่อยให้ทักษิณรอดไปได้ พวกเขาเรียกทักษิณว่าเป็นพวกประชานิยม และอ้างว่านโยบายของเขาจะทำให้รัฐล้มละลาย…

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็ไม่สนใจคำวิจารณ์เหล่านี้และยังคงเลือกเขากลับมาอีกในปี 2548 กลุ่มชนชั้นนำในกรุงเทพฯ เริ่มทนไม่ไหว ทำให้เขาถูกรัฐประหารโดยกองทัพในปี 2549 ในที่สุดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมืองหลวงของไทยก็ประสบแต่ความวุ่นวาย…

…ไม่มีทางอีกแล้วที่ประเทศไทยจะกลับไปสู่การเมืองแบบเก่าในยุคก่อนทักษิณที่ชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ผูกขาดอำนาจไว้กับตนเอง ประเทศไทยจะก้าวเดินต่อไปตามทางที่ทักษิณเคยนำทางมาก่อนหน้านี้

ในความเห็นของทีมวิเคราะห์สถานการณ์จนถึงหลังรัฐประหาร 2557 ชี้ว่าไม่สามารถดึงการเมืองกลับไปอยู่เฉพาะชนชั้นนำได้ แม้มีอำนาจก็จะอยู่ในสภาพยื้อยุดฉุดกระชากไปอีกหลายปี

AFP PHOTO / INDRANIL MUKHERJEE

ข้อมูลที่ 2 หลังการรัฐประหาร 2549 ประชาชนคิดว่า…อำนาจรัฐไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ให้เห็นดังนี้ คือ ระบอบประชาธิปไตยที่ใช้ไม่สามารถดำเนินการเป็นแบบสากลได้แม้จะมีการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญ มี ส.ส. มี ส.ว. มีระบบรัฐสภา มีรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงอํานาจอธิปไตยของประชาชนไม่สามารถใช้อำนาจผ่านตัวแทนที่เลือกตั้งมาได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงถูกล้มโดยตุลาการภิวัฒน์หรือการรัฐประหาร

ตัวเลขจากการหย่อนบัตร คือความนิยม ไม่ได้กำหนดพลังของอำนาจ การได้รับเสียงเลือกตั้งมากน้อยจึงยังไม่ใช่การชี้ขาดชัยชนะทางการเมืองสำหรับประเทศไทย

เพราะถ้าจะมองจำนวนคะแนนเลือกตั้ง จะเห็นว่าอำนาจไม่ได้แปรผันตามคะแนน

ปี 2548 การเลือกตั้งครั้งที่ 2 หลังจากเป็นรัฐบาลมาแล้วครบ 4 ปี ทั้งผลงานชื่อเสียงมีอำนาจรัฐอยู่ในมือทำให้พรรคไทยรักไทยได้เสียงสนับสนุนถึง 19 ล้านเสียง นั่นอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ศัตรูทางการเมืองคิดใช้ม็อบและใช้กำลังรัฐประหาร

การเลือกตั้ง 2551 ก็กลับมาชนะอีกได้เสียง 12.32 ล้าน ได้รัฐบาลพรรคพลังประชาชน หลายคนเข้าใจว่านั่นเป็นชัยชนะ แต่เมื่อตั้งรัฐบาลไม่ถึงปี ก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง ก็จัดการโค่นล้มรัฐบาลนายกฯ สมัคร สุนทรเวช และนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยตุลาการภิวัฒน์ในปี 2551

2554 พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากเกินครึ่ง ได้ถึง 15 ล้านเสียง ได้นายกฯ หญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ยังไร้อำนาจ ปกครองได้เพียงปีกว่าก็มีชุมนุมต่อต้านและก็ถูกโค่นล้มในที่สุด แต่เมื่อใช้วิธีการปลด ถอดถอนทางกฎหมาย แล้วไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาได้ สุดท้ายก็ต้องใช้การรัฐประหารในปี 2557

ประชาชนถามว่า อำนาจอธิปไตยของประชาชน จะได้มาและใช้เพื่อประชาชนอย่างไร การปรองดองต้องให้ประชาชนได้ประโยชน์ ประชาชนอาจหาทางใหม่

AFP PHOTO / Saeed KHAN / AFP PHOTO / SAEED KHAN

สถานการณ์จริงหลังรัฐประหาร 2557

หลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เมื่อเกิดการรัฐประหาร ไม่เพียงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหมดอำนาจ แต่อำนาจซ้อนที่เป็นแบบตุลาการธิปไตยผสมกับอนาธิปไตยที่ปะทะกับอำนาจรัฐบาลมาตลอดระยะเวลาสองปีก็ยุติลง การรัฐประหารทำให้สถานการณ์ความวุ่นวายสงบลงชั่วคราว ประชาชนเกิดความรู้สึกที่ดีกับ คสช. ประชาชนก็ให้โอกาส รอคอยตามที่ คสช. ขอเวลา แต่ตอนนี้กำลังจะครบ 3 ปี ที่อยู่ได้เพราะรวมศูนย์อำนาจไว้เหนียวแน่น อำนาจทางทหาร และกฎหมาย และมี ม.44 เป็นยาสารพัดนึก

ฝ่ายบริหารอำนาจสูงสุด เพราะนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นหัวหน้าคณะ คสช. เอง ส่วนรัฐมนตรีที่ร่วมบริหารก็จะมาจากคนใน คสช. บางส่วน และคนนอกที่มีความสามารถและได้รับความไว้วางใจจากบุคคลในคณะ คสช. ทำให้อำนาจของฝ่ายบริหารชุดนี้แตกต่างจากรัฐบาลเก่าอย่างมากมาย พวกเขาจะไม่กังวลเรื่องที่จะถูกรบกวนถ่วงเวลา จากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ การย้ายข้าราชการก็ทำได้ตามเป้าหมาย ย้ายแล้วนายกฯ ก็ไม่ต้องถูกฟ้อง อำนาจสูงสุดในยุคนี้อยู่ที่รัฐบาล

สนช. คือเครื่องมือออกกฎระเบียบ คสช. ก็จะเป็นผู้แต่งตั้งสภานิติบัญญัติฯ มีความเห็นแย้งน้อยมาก ไม่ได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ

ฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ ไม่สามารถขยายอำนาจ จากบทบาทที่เคยเข้าไปยุ่งกับการเมือง เคยมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายปลดคนโน้นลงโทษคนนี้ บทนี้คงน้อยลงมาก กฎเกณฑ์การคัดเลือกและขอบเขตของอำนาจยังขึ้นอยู่กับ คสช. ว่าจะมีนโยบายอย่างไร

 AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

ถ้าจะปรองดองแบบยั่งยืน
ไม่ต้องปรองดองกันทุกปี

ต้องมีเป้าหมาย

1.พัฒนาความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และกระจายรายได้ให้ทั่วถึงคนทุกชั้น…

2. ต้องให้สิทธิเสรีภาพ และโอกาสที่ทัดเทียมกันแก่ทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ทุกศาสนา และทุกพื้นที่ในสังคม ในการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ…

3. มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง

4. ปกครองโดยหลักนิติธรรม ต้องอาศัยกฎกติกาที่รัดกุมและมีหลักการ ต้องบังคับใช้อย่างตรงไปตรงมากับทุกๆ คนโดยไม่มีกรณียกเว้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์กรในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งตัวรัฐบาลเอง ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งกระบวนการตุลาการ ต้องมีอิสระ มีคุณภาพ ไม่ลำเอียง มีความเที่ยงธรรม และไม่ชักช้า ที่สำคัญ กฎหมายไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ลำดับขั้นตอนการดำเนินงานของรัฐบาลต้องคงเส้นคงวา

สุดท้ายอยากจะบอกว่า ที่ ป.ย.ป. ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น คงยาก เพราะความเห็นต่างยังถูกควบคุม ทุกวันนี้จึงมีข่าวทางสื่อเปิดเผย กับข่าวผ่านโซเชียลมีเดีย ที่เรียกว่าข่าวใต้ดิน คนเขียน คนวิเคราะห์บนสื่อเปิดเผย ยังไงก็ไม่ออกรสถึงพริกถึงขิงเท่ากับในยูทูบ และดูเหมือนคนจะเชื่อข่าวลือ ข่าวลับมากกว่า

จากนี้ไปเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเตรียมการปรองดอง ป.ย.ป. ในอนาคตที่จะทำให้คนเชื่อว่า นี่ไม่ใช่การแสดงปรองดอง คนที่มาร่วมคือของจริง ข้อเสนอทำได้ และจะมีผลดีในอนาคต