“ทรัมป์” กับการขยายขนาดกองทัพเรือสหรัฐ 1.89 ล้านล้านบาท

AFP PHOTO / SAUL LOEB

เมื่อสัปดาห์ก่อน โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยืนอยู่บนเรือบรรทุก “ยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์.ฟอร์ด” ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และแพงที่สุดตั้งแต่เคยมีการสร้างเรือรบมาในประวัติศาสตร์ พร้อมประกาศเพิ่มงบประมาณทางทหารประจำปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.89 ล้านล้านบาท

บนเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีราคาสูงถึง 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 455,000 ล้านบาท “ทรัมป์” ยืนยันทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการหาเสียงเมื่อปี 2559 ในการขยายกองเรือของกองทัพเรือสหรัฐจากที่เคยมี 275 ลำ เพิ่มขึ้นเป็น 350 ลำ นับเป็นแผนขยายกองเรือครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา

“ในเร็วๆ นี้ เราจะมียุทโธปกรณ์ที่ดีที่สุดในโลก” ทรัมป์ ผู้สวมแจ๊กเก็ตนักบินกองทัพเรือสหรัฐพร้อมด้วยป้ายชื่อระบุตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” ประกาศ พร้อมทั้งเรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านร่างงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และ “ลบ” เพดานงบประมาณกลาโหมออกไป

ทรัมป์ระบุด้วยว่า เรือรบลำใหม่แบบเดียวกันกับ “ยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์.ฟอร์ด” นั้นจะถูกใช้ในการเสริมสร้าง “อำนาจชาวอเมริกันในดินแดนที่ห่างไกล”

การเพิ่มงบฯ ดังกล่าวแน่นอนว่าเป็นการสนองนโยบาย “อเมริกามาก่อน” เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาทั้งในและต่างประเทศ และอาจมองในแง่ของความพยายามในการสร้างสมดุลกับความก้าวร้าวทางทะเลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้เช่นกัน

ทว่า นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกองทัพเรือสหรัฐกลับเห็นว่า “แผน” ดังกล่าวจะสร้างภาระทางงบประมาณอย่าง “มโหฬาร” และต้องใช้เวลามากกว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่คาดคิด เพื่อขยายขนาดกองทัพเรือออกไปตามเป้าที่วางไว้

รายงานจากสำนักงานงบประมาณประจำรัฐสภาของสหรัฐอเมริการายงานว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา กองทัพเรือสหรัฐมีขนาดนับเป็นจำนวนเรือราว 270 ถึง 290 ลำ

การเพิ่มจำนวนเรือขึ้นเป็น 350 ลำตามเป้าของทรัมป์ นั้นจำเป็นตั้งใช้งบประมาณ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 876,000 ล้านบาทภายในระยะเวลา 30 ปี นั่นหมายถึงงบประมาณเฉลี่ยที่ใช้สำหรับการสร้างเรือในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้นถึง 60 เปอร์เซ็นต์

จิม โฮล์มส์ ศาสตราจารย์ด้านยุทธศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญจีน จากวิทยาลัยการทัพเรือสหรัฐ ระบุว่า การขยายขนาดกองทัพเรือตามนโยบายของทรัมป์นั้นเป็นไปพร้อมกับการจับตากองทัพเรือจีนที่ขยายขนาดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โฮล์มส์ระบุว่า กองทัพเรือจีนอาจมีขนาดทัดเทียมกับสหรัฐอเมริกาได้ภายในปี 2020 นี้ แต่จะเน้นไปที่พื้นที่ในภูมิภาคเท่านั้น ขณะที่กองทัพเรือสหรัฐนั้นกระจายไปทั่วโลก

“หากกองทัพเรือจีนขนาด 500 ลำมุ่งเน้นในพื้นที่ทะเลนอกชายฝั่งจีน ขณะที่กองทัพเรือสหรัฐขนาด 350 ลำกระจายไปในหลายที่อย่างอ่าวเปอร์เซีย ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และอื่นๆ คุณจะเห็นชัดเจนถึงความไม่สมดุลกันของกองเรือสองประเทศในทะเลเอเชียตะวันออก” โฮล์มส์ระบุ และว่า นั่นทำให้สหรัฐต้องลดความไม่สมดุลนั้นลงด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีที่สูงกว่า

รายงานการประเมินโครงสร้างกำลังของกองทัพเรือหลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง ระบุว่าเป้าหมายในการเพิ่มเรือ 308 ลำเป็น 355 ลำของสหรัฐตามแผนนั้นจะ เป็นการเพิ่มเรือดำน้ำโจมตี 18 ลำ เรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ เรือรบ 16 ลำ เรือสะเทินน้ำสะเทินบก 4 ลำ และเรืออื่นๆ อีก 8 ลำ

และนั่นหมายถึงการเพิ่มจำนวนทหารเรืออีก 26,000 นาย ขึ้นจาก 324,000 นาย เป็น 350,000 นาย

รายงานของ โรนัลด์ โอโรก นักวิเคราะห์กองทัพเรือ ระบุด้วยว่า การเพิ่มจำนวนเรือในกองทัพเรือระดับดังกล่าว แม้จะเพิ่มอัตราการผลิตเรือให้เร็วขึ้นก็อาจต้องใช้เวลานานถึงปี 2030

แผนดังกล่าวนั้นถือเป็นข่าวดีของอู่ต่อเรือและบริษัทผู้สร้างเรือ โดย เมตธิว แพ็กซ์ตัน ประธานคณะกรรมการผู้สร้างเรือออกแถลงการณ์แสดงความชื่นชมทรัมป์ ระบุว่า “ประธานาธิบดีแสดงให้เห็นว่าการสร้างงานให้กับคนอเมริกันและความมั่นคงของชาติ เป็นนโยบายสำคัญลำดับแรกของรัฐบาลนี้”

พร้อมทั้งแสดงความหวังว่า จะมีการสร้างงานให้กับชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นอีกนับแสนตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมการต่อเรือไปในตัวด้วย

อย่างไรก็ตาม จานีน เดวิสสัน ผู้เคยดำรงตำแหน่งปลัดทบวงทหารเรือ ในยุคประธานาธิบดี บารัค โอบามา ชี้ว่า การขยายขนาดกองทัพเรือสหรัฐตามแผนของทรัมป์นั้นมีความซับซ้อนมากกว่าเพียงแค่การเพิ่มงบประมาณ

และว่า ขณะที่คนมองไปที่การสร้างเพิ่มขึ้น ในเวลาเดียวกันกองทัพเรือก็ต้องบริหารจัดกองเรือเดิมที่มี ซึ่งหมายถึงต้นทุนการบำรุงรักษาจำนวนมหาศาลด้วย