การศึกษา / ผ่าปม ‘อายุ’…อธิการบดี พิสูจน์ฝีไม้ลายมือ ‘สุวิทย์ เมษินทรีย์’

การศึกษา

 

ผ่าปม ‘อายุ’…อธิการบดี

พิสูจน์ฝีไม้ลายมือ ‘สุวิทย์ เมษินทรีย์’

 

ปัญหาเรื่อง “อายุ” ของ “อธิการบดี” ที่เกิน 60 ปี กลับขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้ง

หลังจากที่ ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยส่วนราชการ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ และมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ เกิดความกังวลในเรื่องความไม่ชัดเจนของการดำรงตำแหน่งอธิการบดีที่มีอายุเกิน 60 ปี

เนื่องจาก พ.ร.บ.ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ได้กำหนดอายุอธิการบดีไว้ชัดเจน รวมทั้งมีผู้ยื่นฟ้องศาลปกครองหลายแห่ง ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้ตัดสินไปคนละแนวทาง

จึงไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานตัดสินได้!!

“ขณะนี้ไม่มีความชัดเจนใดๆ ฉะนั้น รัฐบาลต้องแอ๊กชั่นในเรื่องนี้บ้าง ไม่ใช่ให้มหาวิทยาลัยรอชะตากรรมจากการตัดสินของศาล เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น คือการบริหารราชการของมหาวิทยาลัยทั้งหมดที่เป็นส่วนราชการ จะอึมครึม บริหารงานลำบาก” ผศ.ดร.อดิศรระบุ

อย่างไรก็ตาม นายเชษฐา ทรัพย์เย็น อาจารย์คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.ธนบุรี ในฐานะประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ระบุว่า เมื่อปี 2560 “ศาลปกครองสูงสุด” เคยมีคำตัดสินกรณีสภา มรภ.กาญจนบุรี แต่งตั้งอธิการบดี หรือรักษาการอธิการบดี ที่มีอายุเกิน 60 ปี “ไม่ได้”

โดยพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด ทั้ง พ.ร.บ.มรภ., พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา, พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2560 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา

แม้ศาลปกครองชั้นต้นที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ จะตัดสินไปคนละแนวทาง แต่ศาลปกครองสูงสุดมีเพียงศาลเดียวครอบคลุมทั้งประเทศ

ดังนั้น ควรถือเป็น “บรรทัดฐาน” ให้หน่วยงานราชการปฏิบัติตาม!!

 

ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ เพราะเป็นเรื่องค้างคาที่ไม่ได้รับการแก้ไขมาเป็นระยะเวลานานหลายปีแล้ว

นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยยังอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในขณะนั้น ให้ความเห็นไว้ว่า แม้คำสั่งนี้จะมีผลเฉพาะ มรภ.กาญจนบุรี แต่มหาวิทยาลัยอื่นต้องดู เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องอีก และไม่จำเป็นต้องมีเกณฑ์กลาง เพราะศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินแล้ว ว่าห้ามผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีเป็นอธิการบดี หรือรักษาการอธิการบดี

ซึ่งเดิมมีการตีความไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะมีข้อกำหนดว่าการสรรหาอธิการบดี ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัย

ปัญหานี้ค่อยๆ เงียบหายไป ไม่ได้รับการแก้ไข จนกระทั่งฝากฝั่งสถาบันอุดมศึกษา แยกตัวออกไปจัดตั้งเป็นกระทรวงใหม่คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้การนำของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ อว.

ประเด็นนี้ ดร.สุวิทย์ระบุว่า อว.ต้องศึกษาข้อมูล เพื่อหาทางแนวทางให้มหาวิทยาลัยที่แต่ละแห่งมีระบบการบริหารงานที่ต่างกัน เพราะมีทั้งมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ และมหาวิทยาลัยของรัฐ ให้มีทางออกให้เป็นไปในทางเดียวกัน

“อายุเป็นเพียงตัวเลข เราต้องการประสบการณ์ของบุคคลที่จะขึ้นมาเป็นอธิการบดี อย่าเอาเรื่องอายุเป็นตัวขีดขั้น อย่าให้อายุมาเป็นตัวที่ทำให้มหาวิทยาลัยบริหาร หรือเดินหน้าไม่ได้” ดร.สุวิทย์ระบุ

 

เมื่อ “อายุ” ของอธิการบดีกลับมาเป็นประเด็นถกเถียงอีกครั้ง บุคคลในแวดวงอุดมศึกษา ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นหลากหลาย เช่น ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เห็นว่า ถ้าไม่พูดถึงประเด็นด้านกฎหมาย อายุอธิการบดีนั้นเป็นเพียงตัวเลข เชื่อว่าปัจจุบันคนอายุ 60 ปี ยังมีความสามารถในการบริหารต่างๆ และสามารถเป็นผู้นำได้

“ในการประชุม ทปอ.แต่ละครั้ง ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนหยิบยกเรื่องอายุของอธิการบดีขึ้นมาหารือ เนื่องจากอายุของอธิการบดีเป็นข้อบังคับของแต่ละมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว” ศ.สุชัชวีร์ระบุ

ด้าน ผศ.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มรภ.สส.) กล่าวว่า อว.จะต้องหาทางออก และแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ไม่ควรจะปล่อยให้วงจรการได้มาซึ่งอธิการบดี จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีความ หรือส่งผลให้มีการฟ้องร้องเหมือนที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ ผศ.รัฐพงศ์ได้เสนอ “ทางออก” ว่า จะต้องการปรับแก้ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของอธิการบดี รวมทั้งข้อบังคับสภามหาวิทยาลัยที่ว่าด้วยการได้มาซึ่งอธิการบดี ที่จะต้องกำหนดเรื่องอายุของผู้ดำรงตำแหน่งให้ชัดเจน

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) ระบุ ในอนาคตมองว่า ควรจะออกประกาศหรือกำหนดอายุการดำรงตำแหน่งอธิการบดีให้ชัดเจน แต่ควรทำในภาพรวม ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ และมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ เพราะต่างเป็นมหาวิทยาลัยที่ใช้งบประมาณของแผ่นดิน

แต่เท่าที่ดูขณะนี้ อธิการบดีของมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐหลายแห่งอายุเกิน 60 ปี!!

 

ความปั่นป่วนวุ่นวายดูท่าจะยังไม่จบง่ายๆ เพราะมหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่อธิการบดีอายุเกิน 60 ปี จำนวนมาก เมื่อยังไม่มีคำตอบ หรือระเบียบที่ชัดเจนจาก อว. การฟ้องร้องจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ

เพราะแม้ศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินกรณีสภา มรภ.กาญจนบุรี แต่งตั้งอธิการบดี หรือรักษาการอธิการบดี ที่มีอายุเกิน 60 ปี ไม่ได้ แต่หลายคนตั้งคำถามว่า การตัดสินของศาลปกครองสูงสุดนี้ อาจจะถือว่ามีผลเฉพาะแค่ มรภ.กาญจนบุรีหรือไม่ มหาวิทยาลัยอื่นอาจนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานไม่ได้

ในขณะที่หลายคนมีความคิดเห็นว่า มรภ.ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้ง มทร.และมหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่ง ดังนั้น ทุกมหาวิทยาลัยควรต้องยืนตามแนวทาง และหลักการเดียวกันที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินกรณี มรภ.กาญจนบุรี

อย่างไรก็ตาม สาเหตุของปัญหานี้อาจมาจากการดำรงตำแหน่งที่ “นานเกินไป” ของผู้มีอำนาจ ทำให้บางรายอาจยึดติดกับตำแหน่ง “อธิการบดี” หรือบางกรณีอาจมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างตำแหน่งอธิการบดี และสภามหาวิทยาลัย ทำให้ไม่ยอมสรรหาคนใหม่เข้ามาบริหารแทน

ซึ่งสังคมอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ถ้าอธิการบดีคนหนึ่งดำรงตำแหน่งติดต่อกันนานเกินไป จะส่ง “ผลร้าย” ต่อการศึกษาไทยหรือไม่??

  ต้องจับตาดูว่า อว.ภายใต้การนำของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ จะจัดการปัญหานี้อย่างไร หรือจะเมินเฉย และไม่แก้ไขเหมือนที่ผ่านมา ปล่อยให้มหาวิทยาลัยต่างๆ “ฟ้องร้อง” กันเอาเอง จนส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการ และคุณภาพของการศึกษา!!