สมหมาย ปาริจฉัตต์ : การศึกษาภาคประชาชน บทเรียนจากเชียงใหม่ (จบ)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ตอนที่แล้วผมทิ้งค้างไว้ ถึงประเด็นที่ อ.ดร.มนต์นภัส มนูการณ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่ารายละเอียดผลงานวิจัย “รูปแบบกระบวนการบริหารแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการสร้างแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่”

ผลวิจัยตอกย้ำว่า สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนเพื่อนคือ ปฏิรูปครู กระบวนการเรียนการสอน รวมไปถึงระบบการผลิตครูและพัฒนาครู ซึ่งปรากฏในข้อเสนอประการที่ 4

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความสำเร็จขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ ต้องเกื้อหนุนด้วย เงื่อนไขอะไร สัปดาห์นี้มาว่ากันต่อ

คณะนักวิจัยเสนอทั้งหมด 7 ข้อที่ต้องทำให้เกิดขึ้น คือ

1. ขับเคลื่อนเชิงรุกให้มีการบัญญัติการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่

2. จัดให้มีหน่วยงาน/ทีมงาน รองรับการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อเป็นการเตรียมรับการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่

3. จัดทำระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลทุกภาคส่วน

4. บูรณาการยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ให้มีความเชื่อมโยงกับแผนการจัดการศึกษาชาติ

5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างความเข้าใจและร่วมมือกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์และผังมโนทัศน์สำหรับการปฏิรูปการศึกษาและนำไปดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบอย่างจริงจัง

6. กระทรวงศึกษาธิการและองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น ภาคประชาชน จัดสรรงบประมาณตามสภาพความจำเป็นเพื่อความมั่นใจและความต่อเนื่องของหน่วยงานระดับปฏิบัติ

7. จัดให้มีการกำกับ ติดตามการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา อย่างเป็นรูปธรรมและนำเสนอผลงานต่อทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง

 

ครับ ทั้งหมดเป็นข้อเสนอเกี่ยวกับปัจจัยที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ บรรลุเป้าหมาย

ว่าไปแล้วไม่น่าจะเป็นเงื่อนไขเฉพาะเชียงใหม่เท่านั้น แต่เป็นแนวทางปฏิบัติซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับทุกแห่ง สอดรับต่อหลักการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ที่มุ่งเน้นให้บทบาท ความสำคัญกับพื้นที่ เป็นหมุดหมายของการทำงานและแก้ปัญหา มุ่งไปสู่ท้องถิ่น ชุมชน โดยเฉพาะสถานศึกษาเป็นสมรภูมิหลักในการพัฒนาคุณภาพ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสทางการศึกษา

ตัวละครที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ฝ่ายไหนควรทำอะไร ปรากฏอยู่ในข้อเสนอทั้งสิ้น

กล่าวเฉพาะเชียงใหม่ก้าวหน้าไปไกลในหลายเรื่อง เริ่มต้นจากการจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อรองรับการประสานงานระหว่างหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาและจะก้าวลงไปในระดับโรงเรียนที่เรียกร้องให้มีฐานข้อมูลนักเรียน และครู รายบุคคล ทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด

ข้อเสนอที่ก้าวหน้าและสมสมัยน่าจะเป็นประเด็นที่เรียกร้องให้มีการบัญญัติหลักการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้มีการยกร่างกันแล้วหลายส่วน ทั้งของสภาการศึกษาแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ แทบทุกฉบับล้วนมุ่งหน้าไปสู่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและร่วมกลั่นกรองร่างกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่มาก่อนหน้านี้แล้ว

ผลผลิตจะออกมาอย่างไร เครือข่ายปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่และที่อื่นๆ คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า ข้อเสนออันเป็นเงื่อนไขของความสำเร็จของหลักการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จะบรรลุผลหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขทั้งหมดเป็นประเด็นเกี่ยวกับเนื้อหาสาระ แต่อีกส่วนหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยคือ ท่าทีการเคลื่อนไหว ซึ่งส่งผลถึงบรรยากาศโดยรวมด้วยว่าจะเป็นไปในลักษณะยิ่งเพิ่มความร่วมมือร่วมใจหรือยิ่งจะขยายความขัดแย้ง

ประเด็นหลังนี้จากการประกาศคำแถลง ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลและสังคม สาระตามที่เล่าตอนแรก อีกทั้งในเวทีสัมมนาภาคบ่ายปรากฏบรรยายากาศที่ดี แกนนำภาคีต่างล้วนเห็นด้วยกับ สิ่งที่ อ.ดร.อรรณพ พงษ์วาท อดีตคณบดีคณะศึกษาศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในแกนนำภาคีเครือข่าย ย้ำให้คิด

“เราจะไม่เป็นปฏิปักษ์ หรือศัตรูรัฐบาล กับข้าราชการ เราจะทำไปด้วยกัน หลายอย่างเราทำ หลายอย่างภาคราชการ ภาคส่วนอื่นๆ ทำ ต่อไปจะมีสภาการศึกษาเชียงใหม่ เคียงคู่กับกรรมการศึกษาธืการจังหวัด

แผนปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ 4 ปี 2559-2563 ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ส่วนกลางไม่สามารถสั่งการได้หมด คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ของเราจะรวบรวมปัญหา จะมีแผนการดำเนินงาน กศจ. จะทำอย่างไรให้เป็นเนื้อเดียวกัน”

ครับ ผมนั่งฟังด้วยความหวังว่า บรรยากาศความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคม ประชาขนกับภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ จะเดินหน้าไปด้วยกันอย่างราบรื่น

แต่ก็อดมีคำถามอยู่ในใจไม่ได้ว่า ปฏิรูปการศึกษากับประชาธิปไตยภายใต้อำนาจพิเศษ การศึกษากับเสรีภาพ จะไปด้วยกันได้ดีเพียงไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการบริหารจัดการภาครัฐ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด จะปรับบทบาทมาเล่นเรื่องการพัฒนาเป็นงานหลักได้จริง เมื่อไหร่

เงื่อนไข ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคีภาคประชาชน มีอะไรบ้าง จะได้รับการปลดล็อกอย่างไร ผมฝากคำถามเป็นการบ้านให้กับคณะนักวิจัยหาคำตอบให้กับภาคีเชียงใหม่และภาคีอื่นๆ ต่อไปก่อนรายการภาคบ่ายวันนั้นจะจบลง

ด้วยความหวังเช่นเดียวกับทุกคน ว่าภาคีเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ยังจะเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่นจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม เพราะเดิมพันของพวกเขาคืออนาคตของลูกหลานและสังคมโดยรวม