ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : กลยุทธ์อยุธยา เมื่อแผ่นดินมังกรผลัดราชวงศ์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

โดยปกติแล้ว ในช่วงร่วมสมัยกับอยุธยานั้น จีนมีนโยบายปิดประตูการค้า ยกเว้นแต่ประเทศที่นำเอาของกำนัลไปถวายพระจักรพรรดิจีน ในฐานะของโอรสสวรรค์เท่านั้น ที่จีนจะยอมรับเป็นครั้งคราว

แต่กรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ในยุคเริ่มแรกสถาปนาเป็นราชธานี ก็สามารถมีการติดต่อสัมพันธ์กับจีน ผ่านระบบการ “จิ้มก้อง”

คำว่า “จิ้ม” ในภาษาจีนนั้นแปลว่า “ให้” ส่วน “ก้อง” แปลว่า “ของกำนัล” ซึ่งโดยมากอยุธยามักจะนำพระราชสาส์นคำหับ (คือ ป้ายสั่งเคลื่อนทัพของจีนสมัยโบราณ), พระราชสาส์นสุพรรณบัฏ และเครื่องบรรณาการไปถวายพระจักรพรรดิจีนที่กรุงปักกิ่ง ผ่านเมืองกวางเจา ในมณฑลกวางตุ้ง ทุกๆ 3 ปี

โดยพระจักรพรรดิจีน ก็จะพระราชทานของกำนัลพระราชไมตรีเสมอ

และของกำนัลที่จักรพรรดิจีนพระราชทานตอบนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแพรไหมผ้าต่วน และของมีค่าอื่นๆ

โดยในการไปจิ้มก้อง หรือถวายเครื่องบรรณาการแต่ละครั้ง เรือของรัฐต่างๆ สามารถนำสินค้าของตนเองไปขายทำกำไร แลกเปลี่ยนเป็นสินค้าจีนลำเลียงกลับประเทศ

สินค้าที่เรือบรรณาการเหล่านี้บรรทุกนั้นจะได้รับการยกเว้น หรือลดหย่อนอัตราค่าธรรมเนียมและภาษี โดยสินค้าจากจีนเหล่านี้ล้วนเป็นที่ต้องการในตลาดโลก จึงทำให้รัฐที่เข้าไปจิ้มก้องจีน รวมถึงกรุงศรีอยุธยานั้น สามารถทำกำไรได้มาก

อย่างไรก็ตาม การที่พวกแมนจูยกทัพเข้ายึดกรุงปักกิ่ง เมื่อ พ.ศ.2187 ซึ่งจะนำไปสู่การผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ในจีน จากยุคราชวงศ์หมิงของชาวฮั่น มาสู่ยุคราชวงศ์ชิง ของชาวแมนจู ประกอบกับที่กรุงศรีอยุธยาในระยะนั้น ก็อยู่ในช่วงผลัดราชวงศ์เข้าสู่สมัยราชวงศ์ปราสาททอง ก็ทำให้ระบบจิ้มก้องต้องชะงักงันลงไประยะหนึ่ง

แน่นอนนะครับว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นย่อมส่งผลกระทบมาถึงอยุธยาด้วย

 

ในส่วนของจีนเอง ช่วงระยะแรกนั้นราชวงศ์ชิงยังไม่มีอำนาจครอบคลุมลงมาถึงมณฑลทางใต้ ซึ่งเป็นทางออกสู่ทะเลของจีน รัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมกองเรือสำเภา จำนวนกว่า 800 ลำ ที่ค้าขายกับญี่ปุ่น ดัตช์ และเมืองท่าต่างๆ ในทะเลจีนใต้ได้

จนกระทั่งราชวงศ์ชิงมีเสถียรภาพมั่นคงในระดับหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จึงค่อยทรงส่งเครื่องบรรณาการไปถวายปฐมจักรพรรดิซุ่นจื้อ แห่งราชวงศ์ชิง เมื่อ พ.ศ.2195 นับเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับราชวงศ์ชิงเป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ศ.2199 หรืออีกเพียง 4 ปีต่อมาเท่านั้น จักรพรรดิจีนก็ทรงประกาศห้ามคนจีนเดินทางไปโพ้นทะเล เพื่อปราบปรามกองกำลังที่ไม่ยอมสยบต่อราชวงศ์ชิง

โดยมาตรการดังกล่าวถูกบังคับใช้อยู่นานถึง 28 ปี หมายความว่า ประกาศดังกล่าวครอบคลุมช่วงระยะเวลาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททอง อยู่นานเกือบตลอดรัชกาลเลยทีเดียว

ถึงแม้ว่านโยบายห้ามชาวจีนเดินทางไปโพ้นทะเลดังกล่าว ย่อมส่งผลทำให้เรือพ่อค้าเอกชนของจีนกลายเป็นพวกนอกกฎหมาย ที่จะถูกทางการจีนปราบปราม แต่กรุงศรีอยุธยากลับเป็นฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์ จากกองเรือส่งเครื่องบรรณาการ และเรือที่ส่งไปค้าขายที่มาเก๊า และนางาซากิ ปีละ 2-3 ลำ สามารถทำกำไรได้ดี เนื่องจากว่าไม่มีคู่แข่งนั่นแหละนะครับ

จนกระทั่งใน พ.ศ.2223 รัฐบาลแมนจูสามารถปราบปรามกลุ่มต่อต้านราชวงศ์ชิงได้สำเร็จ และยึดเมืองเอ้หมึง อันเป็นเมืองท่าใหญ่ในมณฑลฮกเกี้ยนได้ จึงทำให้ดินแดนทางตอนใต้ของจีนมีเสถียรภาพ จนรัฐบาลจีนได้ประกาศยกเลิกคำสั่งไม่ให้เอกชนเดินทางออกไปโพ้นทะเล และเปิดเมืองท่าในมณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และเจียงหนาน เมื่อ พ.ศ.2227 จนทำให้สำเภาจีน โดยเฉพาะสำเภาฮกเกี้ยนได้หลั่งไหลเข้าสู่อุษาคเนย์เป็นจำนวนมาก

ตามรายงานของบาทหลวงนิโคลาส์ แชร์แวส (Nicholas Gervaise) ชาวฝรั่งเศส ระบุไว้ว่า หลังจากที่รัฐบาลจีนปล่อยให้พ่อค้าเอกชนออกไปค้าขายนอกประเทศนั้น เมื่อ พ.ศ.2228 กรุงศรีอยุธยามีสำเภาจีนแวะมาทำการค้าขายถึง 15-20 ลำ แตกต่างจากในช่วงที่จีนปิดประเทศนั้น ซึ่งมีรายงานว่า จะมีเรือนอกกฎหมายของจีนแวะมาเฉลี่ยปีละ 7-8 ลำเท่านั้น

ช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับปลายแผ่นดินพระนารายณ์ ซึ่งกำลังจะเกิดเหตุการณ์ผลัดราชวงศ์เป็น “ราชวงศ์บ้านพลูหลวง” อันเป็นราชวงศ์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา

 

หลังจากที่สมเด็จพระเพทราชา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ปราบดาภิเษกขึ้นมาแล้ว กรุงศรีอยุธยาก็ขาดส่งเครื่องบรรณาการ หรือจิ้มก้อง กับจีนไปนานถึง 24 ปีทีเดียวนะครับ ซึ่งก็มีใครต่อใครพยายามอธิบายถึงเหตุผลที่ทำให้พระเพทราชา ทรงเลือกที่จะไม่ส่งจิ้มก้องไปจีนมันเสียอย่างนั้น

และเหตุผลที่ผมว่าฟังดูเข้าทีที่สุดก็คือ กรุงศรีอยุธยาอาจจะเป็นฝ่ายที่เปลี่ยนวิธีทำการค้ากับจีนเอง เพราะมีพ่อค้าเอกชนชาวจีนออกมาค้าขายเป็นจำนวนมาก จนทำให้สินค้าพระคลังขายดี ทำให้ไม่ต้องแต่งเรือออกไปค้าขายต่างประเทศ

คำอธิบายดังกล่าวน่าสนใจเป็นอย่างมากทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างในยุคร่วมสมัยกัน เช่น กรณีที่เมื่อ พ.ศ.2232 กรรมการของห้างดัตช์ที่ปัตตาเวีย ก็ได้งดส่งเรือจากห้าง VOC จากเมืองปัตตาเวียไปจีน แต่หันมาซื้อและสั่งสินค้าจากสำเภาจีน ที่มุ่งมาเยือนปัตตาเวียแทน เพราะสามารถขนส่งสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่า

ดังนั้น ช่วงระยะเวลาที่ว่านี้ กรุงศรีอยุธยาจึงสามารถสั่งซื้อสินค้าจีนได้สะดวก แถมยังเรียกเก็บภาษีได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยไม่ต้องส่งเรือไปเมืองจีน ที่ทั้งต้องเสี่ยงภัยธรรมชาติ และมีความยุ่งยากในการบริหารจัดการ

 

แต่ช่วงนาทีทองอย่างที่ว่านี้ก็คงดำรงอยู่ไม่นานนัก เพราะเมื่อ พ.ศ.2251 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเสือ กรุงศรีอยุธยาก็ได้รือฟื้นเอาธรรมเนียมการแต่งเรือบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีนขึ้นมาอีกครั้ง

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2260 จักรพรรดิคังซีมีพระราชโองการห้ามสำเภาจีนของมณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และเจ้อเจียง เดินทางออกไปค้าขายต่างประเทศอีกครั้ง

จึงส่งผลให้พวกสำเภาจีนที่เดินทางมาค้าที่สยามกลายเป็นพวกนอกกฎหมายอีกรอบ โดยจะถูกลงโทษเมื่อกลับไปขึ้นท่าที่จีน

แต่ครั้งนี้ทางการจีนไม่ได้ห้ามปรามเด็ดขาดอย่างเช่นที่เป็นในช่วงผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ คือยังเดินทางค้าขายในประเทศได้ และผ่อนผันให้เดินทางไปญี่ปุ่น ริวกิว และเวียดนามได้ในปีถัดมาคือ พ.ศ.2261 ส่วนเรือต่างชาติยังคงเดินทางไปค้าขายที่จีนได้ตามปกติ

พระราชโองการดังกล่าวของจักรพรรดิคังซี ส่งผลให้การขนส่งสินค้าของสำเภาสยามกลับมาคึกคักอีกระลอก ในช่วงนี้เรือของกษัตริย์อยุธยาก็ได้เดินทางไปส่งเครื่องราชบรรณาการต่อจักรพรรดิจีนถี่ขึ้น

ส่วนสินค้าของกรุงศรีอยุธยาที่จีนต้องการ ก็เป็นจำพวกของป่า ได้แก่ ดีบุก ไม้แดง ไม้แก่น เขาสัตว์ หนังสัตว์ งาช้าง นรมาด (นอแรด) กำยาน ครั่งรง เร่ว กระวาน เนื้อแห้ง ปลาแห้ง ข้าว และเกลือ

 

การปิดไม่ให้พ่อค้าจีนออกมาค้าขายนอกประเทศ และเหตุการณ์ความไม่สงบในจีนตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ ยังส่งผลสำคัญอีกอย่างต่อกรุงศรีอยุธยา เช่น ในช่วงผลัดราชวงศ์นั้น ก็ทำให้มีผู้ภักดีในราชวงศ์หมิงเข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยาด้วย

ที่สำคัญก็คือ ขุนนางเก่าของราชวงศ์หมิงที่ชื่อ กังกัวไท้ ที่ได้ลี้ภัยมาอยู่ในอยุธยา และภายหลังก็ได้แต่งงานกับเจ้านายไทย ที่เป็นเชื้อพระวงศ์อยุธยาด้วย เป็นต้น

สำหรับคำสั่งห้ามออกนอกประเทศใน พ.ศ.2260 ก็ทำให้มีชาวฮกเกี้ยนที่ประกอบอาชีพทางทะเลหลายคน ได้ย้ายเข้ามาทำงานเดินเรือในราชสำนักสยาม เพราะฝ่ายอยุธยาจะปกป้องคนเหล่านี้ด้วยการมีพระราชสาส์นขอละเว้นโทษให้กับลูกเรือจีนที่ทำงานในเรือของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกรุงศรีอยุธยายังคงดำเนินต่อไปในทำนองนี้ในรัชกาลต่อๆ ไป ตราบจนถึงยุคล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียวนั่นแหละครับ