วิรัตน์ แสงทองคำ : การปรับตัวของ เอสซีจี จากอดีตสู่ปัจจุบัน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

บางช่วงบางเวลา เมื่อสังคมธุรกิจเผชิญหน้าความซับซ้อน การศึกษาและทบทวนเรื่องราวในอดีตให้เชื่อมโยงปัจจุบัน

กว่าศตวรรษที่ผ่านมา คงไม่มีธุรกิจใดมีบทเรียนอันอุดมเช่นเอสซีจี ด้วยเผชิญสถานการณ์สำคัญๆ จำต้องปรับตัวครั้งใหญ่หลายต่อหลายครั้ง

เชื่อว่าจะเป็นกรณีควรศึกษาและทบทวนในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นภาพใหญ่สะท้อนสู่สังคมธุรกิจไทย แม้กระทั่งเอสซีจีเอง ซึ่งเดินทางมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกช่วงหนึ่งก็ว่าได้

 

ยุคก่อตั้ง

ตั้งแต่ยุคก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (หรือ “เครือซิเมนต์ไทย” ในเวลาต่อมา และ “เอสซีจี” ในปัจจุบัน) เกิดขึ้นท่ามกลางยุคอาณานิคม

จากกรณีลงนามสัญญาเบาว์ริ่ง (2398) “ส่งผลให้ราชอาณาจักรไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตด้านการศาลและการคลังให้กับประเทศอังกฤษ คือสามารถเก็บภาษีจากเรือสินค้าของอังกฤษได้ในอัตราเดียวคือ 3%” เป็นภาพชิ้นส่วนของภาพใหญ่

ระบบอาณานิคมเข้าครอบงำเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค ไม่เฉพาะราชอาณาจักรไทย ขณะเดียวกัน พันธสัญญาข้างต้นกลายเป็นกติกาพื้นฐานที่ราชอาณาจักรไทยต้องผูกมัดกับอาณานิคมรายอื่นๆ

ทว่าอีกด้านหนึ่ง ระบบอาณานิคมได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับสังคมไทย เช่นกรณีโรงงานปูนซีเมนต์แห่งแรกในสยามสามารถก่อตั้งขึ้นได้

จุดเปลี่ยน การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง และสื่อสาร จากการขุดคลองสุเอซ (2412) ประเทศอาณานิคมจึงมีเส้นทางเดินเรือเข้าสู่โลกตะวันออกเร็วขึ้น

มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเรือกลไฟ (Steamboats) และการสื่อสารทางโทรเลขระหว่างยุโรปกับเอเชียตะวันออกและออสเตรเลียเริ่มต้นในระยะใกล้เคียงกัน

เครือข่ายแรก ผ่านทางตุรกี-การาจี ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2413-2423 เครือข่ายต่อมาเชื่อมจากเมืองอเล็กซานเดอร์ถึงบอมเบย์ ผ่านทางทะเลแดง ในปีเดียวกัน (2413) จากนั้นเชื่อมต่อมายังสิงคโปร์ โดยผ่านทางมัทราสและปีนัง ในอีกซีกโลกหนึ่งดำเนินโครงการจากประเทศรัสเซียถึงจีนแผ่นดินใหญ่ ไปญี่ปุ่น จนถึงฮ่องกง และสุดท้ายมาถึงสิงคโปร์ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของระบบอาณานิคม ในการสร้างอิทธิพลเหนือฝั่งตะวันออก

ในเวลาเดียวกัน กลายเป็นระบบพื้นฐานของอุตสาหกรรมครั้งแรกในสยาม ไม่ว่ากระบวนการจัดหาเครื่องจักร อะไหล่และวัตถุดิบ ตามแบบแผนการผลิตแบบอุตสาหกรรม ไปจนถึงเครือข่ายการค้าและระบบธนาคาร

ที่สำคัญอีกมิติหนึ่งคือ การมาถึงของผู้คนในระบบอาณานิคม บางคนมีความรู้และประสบการณ์เฉพาะ

บางคนกลายมาเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจในภูมิภาค

บางคนเป็นบุคคลสำคัญในการบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ในราชอาณาจักรไทย

รวมทั้งอีกบางคนมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย

 

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ช่วงปี 2475-2488 ถือเป็นช่วงปูนซิเมนต์ไทยเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ เป็นช่วงเวลาแห่งความผันแปรรอบด้าน ทั้งกินเวลายาวนานถึง 2 ทศวรรษ

ปี 2476 กรมพระคลังข้างที่ได้เปลี่ยนเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่ ภายใต้การกำกับโดยนายกรัฐมนตรีภายใต้ระบอบการปกครองใหม่

ต่อมาปี 2480 มีการตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นแทนกรมพระคลังข้างที่ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เป็นจุดเปลี่ยน จากยุคบริหารโดยชาวเดนมาร์ก ไปสู่ยุคใหม่โดยคนไทยมีบทบาทมากขึ้นๆ ตามลำดับ

ขณะเป็นฉากตอนใหม่ สู่ธุรกิจต่อเนื่องครั้งแรก ที่เรียกว่า “ทำการค้าวัตถุสำเร็จรูปที่ทำจากปูนซีเมนต์หรือคอนกรีต” เริ่มด้วยผลิตสินค้าที่เรียกว่า Asbestos Cement เริ่มด้วยกระเบื้องหลังคา (ปี 2481) และผลิตสินค้าคอนกรีตอัดแรง หรือ Reinforced concrete (ปี 2495) โดยก่อตั้งบริษัทต่างหาก ร่วมทุนกับกลุ่มคนไทยผู้มีสายสัมพันธ์กับอำนาจในเวลานั้น

นอกจากนี้ มีบทบาทอย่างสำคัญสู่อุตสาหกรรมอุดมคติของผู้นำสังคมไทยหลังยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นช่วงเวลามองกันว่าปูนซิเมนต์ไทยเข้าไปเกี่ยวข้องทางการเมืองและร่วมมือกับรัฐบาลยุคนั้นอย่างเต็มกำลังในการบุกเบิกอุตสาหกรรมเหล็ก

กลายเป็นตำนานการเดินทางไกลกว่าจะมาถึงบทสรุปในอีก 6 ทศวรรษต่อมา

 

สงครามเวียดนาม

ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 สังคมไทยได้เข้าสู่ช่วงความขัดแย้งทางการเมือง (Power struggles) เป็นเวลายาวนานพอสมควร ถือกันว่าได้สร้างความเฉื่อยต่อการพัฒนาสังคมไทยทั่วด้าน ขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคกำลังพัฒนาไป จนมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จุดเปลี่ยนที่แท้จริง เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทอย่างทั่วด้านในยุคสงครามเวียดนาม ทั้งทางการทหาร เศรษฐกิจและสังคมธุรกิจ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กับการสิ้นสุดระบบอาณานิคม อิทธิพลสหรัฐอเมริกามาถึง บางมิติสร้างแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจในภูมิภาคครั้งใหญ่ ไม่ว่าการลงทุนสร้างระบบสาธารณูปโภคขนานใหญ่ ขบวนธุรกิจระดับโลกเข้ามาเป็นระลอก

ปูนซิเมนต์ไทยสามารถกู้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นดีล เป็นเหตุการณ์ และเป็นความสำเร็จสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ตามแผนการขยายธุรกิจครั้งใหญ่ ท่ามกลางโครงสร้างอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์กำลังปรับเปลี่ยนจาก “ผูกขาด” สู่ “การผลิตแบบน้อยราย”

ไม่เพียงปูนซิเมนต์ไทยสามารถรักษาบทบาทผู้นำอุตสาหกรรมของประเทศ หากได้ปรับโครงสร้างธุรกิจให้ทันสมัยแบบตะวันตก และพัฒนาทีมบริหารมืออาชีพอย่างเป็นแบบแผน สอดรับกับเครือข่ายธุรกิจจาก “ปูนซิเมนต์ไทย” สู่ “เครือซิเมนต์ไทย”

เป็นโมเมนตัมแห่งการขยายอาณาจักรธุรกิจ จากโอกาสที่เปิดอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ทศวรรษต่อมา

แบบฉบับแผนพัฒนาการธุรกิจ โดยใช้เงินกู้ (Debt financing) เป็นหลัก กรณีปูนซิเมนต์ไทยมาจากเงื่อนไขเฉพาะ ประเด็นสำคัญอาจมาจากผู้ถือหุ้นใหญ่มีพลังทางเศรษฐกิจไม่สมดุลกับแผนการขยายกิจการอย่างก้าวกระโดด ด้วยแผนการลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก

หลังสงครามเวียดนาม ขบวนเครือข่ายธุรกิจโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่นได้เข้ามาเสริม ขณะอิทธิพลสหรัฐยังคงอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่างเครือซิเมนต์ไทยกับธุรกิจญี่ปุ่นเป็นตำนานหลายตอนแห่งการขยายเครือข่ายธุรกิจให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

แม้ว่าสังคมธุรกิจไทยเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจย่อยๆ ในบางช่วง ส่งผลกระทบไม่น้อย บางอุตสาหกรรมต้องเผชิญการปรับโครงสร้าง ทว่าเป็นโอกาสใหม่ของเครือซิเมนต์ไทย โดยเฉพาะเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวหลายทศวรรษ จนมาถึงช่วงขาขึ้นในปัจจุบัน

 

ความมั่งคั่งใหม่

“หลังจากได้พบและพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเมื่อปี 2523 …เป็นโอกาสให้ไทยเริ่มอุตสาหกรรมปลายทาง (Downstream) …ต่อมาในปี 2529 ได้ตั้งบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (NPC) ซึ่งเป็นโรงงานโอเลฟินส์แห่งแรกของประเทศไทย…เครือซิเมนต์ไทยได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นตั้งต้น และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ธุรกิจด้านปิโตรเคมี ซึ่งกลายมาเป็นธุรกิจหลักหนึ่งของเครือซิเมนต์ไทยในปัจจุบัน” หนังสือ The Siam Cement 1998 (แผนการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญต่อนักลงทุนต่างประเทศ) ได้สรุปความเป็นมาของธุรกิจเคมีภัณฑ์ไว้อย่างกระชับ

โครงการปิโตรเคมีแห่งชาติเมื่อ 3-4 ทศวรรษที่แล้ว เป็นเรื่องใหญ่ เป็นภาพขยายแห่งยุค “โชติช่วงชัชวาล” ต่อเนื่องเป็นอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ มีวงจรกว้างใหญ่ ตั้งแต่ต้นธารจนถึงปลายทาง ในเวลานั้น

เป็นกระแสและโอกาส ว่าด้วยความมั่งคั่งใหม่ ของบรรดาเครือข่ายธุรกิจใหญ่และทรงอิทธิพลในสังคมไทย

การปรับเปลี่ยนอย่างนัยยะบางอย่าง โดยเฉพาะจาก “เครือซิเมนต์ไทย” เป็น “เอสซีจี” เมื่อราว 2 ทศวรรษที่แล้วอาจจะมาจากธุรกิจใหม่ซึ่งเติบโตอย่างมากมาย จนมีบทบาทมากกว่าธุรกิจดั้งเดิม

บางทีอาจกล่าวได้ว่า หากเอสซีจีไม่เข้าสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทยคงอยู่ในสภาวะสั่นคลอนอย่างไม่น่าเชื่อ

 

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540

วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรง เปิดฉากขึ้นเมื่อรัฐบาลไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท (2 กรกฎาคม 2540 ) ค่าเงินบาทตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในช่วงต่ำที่สุดถึงระดับ 55 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นภาพสะท้อนมิติอีกด้านของโลกาภิวัตน์ จะถือเป็นยุคที่ต่อเนื่องจากยุคสงครามเวียดนามก็ได้

เครือซิเมนต์ไทยเป็นธุรกิจแรกๆ ยอมรับว่ามีหนี้สินเงินตราต่างประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท ส่งผลถึงการขาดทุนครั้งใหญ่ (ปี 2541) มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท และไม่สามารถจ่ายเงินปันผลกับผู้ถือหุ้น ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้

เหตุและปัจจัยสำคัญสะท้อนมุมมาแรงแห่งโมเดลธุรกิจไทย ซึ่งตื่นเต้นกับยุคเปิดเสรีทางการเงิน นำมาซึ่งความล่มสลายทางธุรกิจไทยครั้งใหญ่

“เครือซิเมนต์ไทย มีธุรกิจอย่างหลากหลาย อันเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง…บางกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนร่วมกับต่างประเทศ… การขยายตัวได้สร้างองค์กรอย่างซับซ้อน มีหลายผลิตภัณฑ์ไม่เกี่ยวเนื่องกัน แต่ได้ดูดซับทรัพยากรให้กระจายออกไป” หลักการและเหตุผล ตอนสำคัญๆ ว่าด้วยแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ (จาก The Siam Cement Group, December 1998) แผนการซึ่งใช้เวลา แต่ได้ผล

ข้างต้นควรเป็นหมุดหมายสำคัญ การตั้งต้น ศึกษาและทบทวน โฉมหน้าเอสซีจีอย่างแท้จริงอีกครั้งในปัจจุบัน ซึ่งเวลาได้ล่วงเลยมาแล้วกว่า 2 ทศวรรษ