คนมองหนัง : ดูหนัง “[นิรโทษกรรม จำเลยคดี ๖ ตุลา]”

คนมองหนัง

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เพิ่งจะจัดฉาย “หนังสารคดี/หนังข่าว” ความยาวประมาณ 1 ชั่วโมง เรื่อง “[นิรโทษกรรม จำเลยคดี ๖ ตุลา]” ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา

หนังมีสถานะเป็นหนึ่งในแผ่น “วีซีดี” ที่แจกมาพร้อมกับหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2559”

สำหรับชื่อ “[นิรโทษกรรม จำเลยคดี ๖ ตุลา]” นั้น ถูกตั้งขึ้นมาเองโดยหอภาพยนตร์ เนื่องจากแผ่นวีซีดีไม่ได้ระบุชื่อ/หัวข้อของ “หนังข่าว” เรื่องนี้เอาไว้

 

แน่นอนว่า “พระเอก” ของ “หนังข่าว” เรื่องนี้ ย่อมต้องเป็น พล.อ.เกรียงศักดิ์

หนังเริ่มต้นปูเรื่องราวด้วยการเล่าถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากมุมมองของฝ่ายรัฐ ก่อนจะ “บลั๊ฟฟ์” ถึงปัญหาที่รัฐบาลหลังรัฐประหาร 6 ตุลา ก่อเอาไว้ จนต้องมีการรัฐประหารซ้อน และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งคืน “ประชาธิปไตย” ให้แก่ประเทศไทย

แล้วจึงเข้าสู่ไฮไลต์หลัก นั่นคือ ภาพเหตุการณ์อดีตผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา จำนวน 19 คน เดินทางเข้าพบและขอบคุณ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ภายหลังพวกเขาได้รับการนิรโทษกรรมในปี 2521

ประเด็นหลักข้อหนึ่งที่วงเสวนาหลังหนังฉายจบคุยถึงกันมาก ก็คือการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะการพูดจา/ส่งสารอัน “วกวนซ้ำไปซ้ำมา” ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์

“สุธรรม แสงประทุม” อดีตจำเลยคดี 6 ตุลา ตัวแทนฝ่ายนักศึกษาที่มีบทบาทเด่นสุดในหนังเรื่องนี้ ซึ่งมาร่วมชมและพูดคุยหลังการฉายหนัง แสดงความเห็นว่าเหตุการณ์ช่วง “พล.อ.เกรียงศักดิ์เล็กเชอร์นักศึกษา” (ที่มีความยาวร่วมครึ่งหนึ่งของเรื่อง) อันเต็มไปด้วยคำพูดซ้ำไปซ้ำมานั้น ไม่น่าจะดำเนินไปตาม “ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นจริง”

หากเป็นผลของกระบวนการตัดต่อ/ลำดับภาพมากกว่า

วงสนทนาวิเคราะห์ว่า “การพูดซ้ำๆ” ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ที่เกิดขึ้นในหนัง อาจเกิดจาก

(1) “การตัดต่ออย่างตั้งใจ” เพื่อเน้นย้ำ “สาร” บางประการ ที่รัฐบาลยุคนั้นต้องการสื่อไปถึงทั้งกลุ่มนักศึกษาหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ตลอดจนเครือข่ายชนชั้นนำ-กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาด้วยกันเอง

(2) แต่ก็มีคนพูดถึงความเป็นได้ว่า “หนังข่าว” ชุดนี้ อาจเกิดจากการเก็บรวบรวมฟุตเทจจากแหล่งต่างๆ มา “คัทชน” เรียงต่อๆ กันแบบไม่ตั้งใจ/ไร้เป้าหมาย จึงนำไปสู่การฉายซ้ำ “ซีนเดิม/ประโยคเดิม” แต่ต่างมุมมอง/ต่างกล้อง

โดยส่วนตัว ขอสารภาพว่าขณะดูหนัง ผมกลับเชื่อเสียสนิทว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ พูดซ้ำไปซ้ำมาแบบนั้นจริงๆ (ไม่ได้เป็นผลของกระบวนการลำดับภาพ)

ความเชื่อเช่นนั้นมีพื้นฐานมาจากการเคยอ่านบทความชื่อ “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549 : จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี)” ของ “ธงชัย วินิจจะกูล”

ซึ่งอาจารย์ธงชัยเขียนเล่าเหตุการณ์ที่ตนเองไปขอสัมภาษณ์หนึ่งในอดีตแกนนำที่เคยปลุกระดม-จัดตั้งกลุ่มมวลชนขวาจัดก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลา

ปรากฏว่าเมื่อพบกัน แกนนำคนนั้นพยายามพูดจาประโยคเดิมๆ กับอาจารย์ธงชัย ซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายรอบ เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึง “สาระสำคัญ” บางข้อ

ผมจึงทึกทักว่า สงสัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็คงจงใจพูดจาซ้ำๆ เพื่อจะส่ง “สาร” บางอย่าง (ซึ่งแตกต่างจาก “สาร” ของแกนนำกลุ่มขวาจัดอยู่ไม่น้อย) ออกมาเช่นกัน

 

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นการจงใจพูดซ้ำหรือตั้งใจตัดต่อให้ผู้ชมได้รับฟังคำพูดเดิมๆ แบบซ้ำไปซ้ำมา สิ่งที่สำคัญกว่า คือ “สาร” ที่ถูกนำเสนอในลักษณะ “ซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

ตัวอย่างของสิ่งที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ พยายามสื่อสารออกมาซ้ำๆ ก็มีอาทิ

(1) การนิรโทษกรรมครั้งนั้นมิได้มีจุดประสงค์ทางการเมืองหรือไม่ได้เกิดจากความต้องการเสียงสนับสนุนทางการเมือง แต่รัฐบาลตัดสินใจผลักดันเรื่องนี้เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งถูกต้อง เหมาะสม ชอบธรรม

(2) การนิรโทษกรรมครั้งนั้นถือเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่ “เสี่ยง” เพราะด้านหนึ่ง รัฐบาลก็มีภาระต้องการปกป้อง “สามสถาบันหลัก” แต่อีกด้าน รัฐบาลก็ทำการปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาว่าคิดร้าย/กระทำผิดต่อแผ่นดินให้เป็นอิสระ (ซึ่งย่อมสร้างแรงกระเพื่อมในกลุ่มขวาจัด)

(3) พล.อ.เกรียงศักดิ์ พยายามสอนนักศึกษาเรื่องการวางตัว ว่าสังคมไทยชอบคนที่ “humble” (อ่อนน้อมถ่อมตน) สอนเรื่องแนวทางการให้สัมภาษณ์สื่อ สอนเรื่องภาวะสมดุลระหว่าง “theory” กับ “fact”

(4) อีกประเด็นที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ กล่าวซ้ำกับกลุ่มผู้ได้รับการนิรโทษกรรมบ่อยครั้งมาก คือ เรื่องที่ผ่านมาแล้วให้ถือว่ามันเป็น “ฝันร้าย” และขอให้ “ลืม” หรือ “ลบ” มันทิ้งไป

 

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนรุ่นหลัง ก็คือ การมีโอกาสได้เห็นบุคลิก การพูดจา และวิธีคิดของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ซึ่งเป็น “ขุนศึก” ที่มี “ลักษณะพิเศษ” อยู่พอสมควร

แน่นอน หนังต้องฉายภาพการทำอาหารของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ แม้จะเป็น “ข้าวผัดผงกะหรี่ไก่” ไม่ใช่ “แกงเขียวหวานเนื้อใส่บรั่นดี” ก็ตาม

บุคลิกเด่นอีกประการหนึ่งของอดีตนายกฯ-ขุนทหารรายนี้ ก็คือ การพูด “ไทยคำอังกฤษคำ” คนดูจึงได้รับฟังศัพท์ภาษาอังกฤษจำนวนมากจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ (ด้วยสำเนียงที่ดีเสียด้วย)

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ มีบุคลิกเป็นนายทหารใหญ่ ฐานคิดหลักยังวางอยู่บนแนวทางอนุรักษนิยม แต่ความเห็นหลายอย่างของอดีตนายกฯ ผู้นี้ กลับ “ก้าวหน้า” จนน่าทึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นความเห็นที่ว่าการต่อสู้ทางการเมืองไม่ควรใช้ความรุนแรง แต่ควรสู้กันผ่านการคิด เขียน และพูด

หรือการยอมรับว่าอำนาจรัฐเองไม่สามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนความคิดจิตใจของใครได้หรอก

สุธรรม แสงประทุม ภาพจากเฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive

ข้ามมาที่ฝั่งอดีตจำเลยผู้ได้รับการนิรโทษกรรม คนที่โดดเด่นสุดใน “หนังข่าว” ได้แก่ “สุธรรม แสงประทุม” ดังระบุไปแล้ว

“สุธรรม” ในหนัง ดูจะเป็นตัวแทนนักศึกษา ซึ่งมีบุคลิกอ่อนน้อม พูดจาอ่อนหวาน และเข้าหาผู้ใหญ่ได้เก่งที่สุด (เล่นเป็น/อยู่เป็น)

ขณะที่นักวิชาการที่มีชื่อเสียงในยุคปัจจุบัน อย่าง “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” และ “ธงชัย วินิจจะกูล” รวมถึง “วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์” ซึ่งได้รับนิรโทษกรรมในคราวเดียวกัน จะปรากฏตัวให้เห็นในหนังแบบแว้บๆ

พวกเขาไม่อยู่ในจุดโฟกัส แต่เป็นเพียง “ตัวละครสมทบ” ที่ถูกเอ่ยขานชื่อตอนต้นๆ หากไร้บทบาทเด่นใดๆ

ถ้าให้เปรียบเทียบกันแล้ว คนดูจะได้เห็นสีหน้าอารมณ์ความรู้สึกของ “ธงชัย” มากกว่า “สมศักดิ์”

จากที่มองเห็นในหนัง “ธงชัย” ดูจะมีบุคลิกเป็นเด็กเรียน ผู้มักเผยรอยยิ้ม เปล่งเสียงหัวเราะ แล้วก็พยักหน้า (คล้าย) ขานรับคำสอนของนายกฯ เกรียงศักดิ์

“หนังข่าว” เรื่องนี้ปิดฉากลงด้วย “มู้ดแอนด์โทน” แบบ “สมานฉันท์-ปรองดอง-คืนดี” เพราะหลังการเล็กเชอร์ซ้ำไปซ้ำมาอันยาวนาน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็ออกไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับผู้ได้รับนิรโทษกรรมจำนวน 19 ราย ในบรรยากาศที่มีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และการชูไม้ชูมือ

แต่น่าเชื่อว่าบรรยากาศเช่นนั้นคงเกิดขึ้นได้ยากในปัจจุบัน

สุรชาติ บำรุงสุข ภาพจากเฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive

ทั้งด้วยเหตุผลที่ “สุรชาติ บำรุงสุข” อีกหนึ่งผู้ปรากฏตัวในหนัง และผู้ร่วมเสวนาหลังฉายหนังจบ เสนอเอาไว้ว่าภาวะสงครามเย็นระดับโลกที่เปลี่ยนบริบทไป (สหรัฐและจีนเริ่มต้อง “เปลี่ยนบทเล่น” ของตัวเอง) คู่ขนานไปกับความสูญเสียจากสงครามประชาชนระหว่างรัฐไทยกับ พคท. ซึ่งมีแนวโน้มจะลุกลามขยายตัวเป็นสงครามกลางเมืองนั้น

ได้กลายเป็นแรงบีบคั้นหนัก ซึ่งทำให้ “ชนชั้นนำไทย” ต้องแสวงหาฉันทามติร่วมกัน เพื่อผลักดันการนิรโทษกรรม การสร้างบรรยากาศปรองดอง และการพาประเทศกลับคืนสู่การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย (ครึ่งใบ)”

แต่ความขัดแย้งทางการเมืองไทยร่วมสมัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ได้ถูกขนาบด้วย “สภาวะสงคราม” หรือ “แรงบีบคั้น” จากทั้ง “ภายนอก” และ “ภายใน” เหมือนช่วงต้นทศวรรษ 2520

อีกปัจจัยหนึ่งที่แตกต่างกันชัดเจนระหว่างสถานการณ์ปี 2521 กับ 2560 ในมุมมองของผม ก็คือ ความแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายระหว่างกลุ่มคนผู้มีความเชื่อทางการเมืองต่างกัน ณ ยุคปัจจุบันนั้น มีลักษณะฝังรากลึกมากกว่า

การพยายาม (แม้จะแค่เพียง) สร้างภาพ “ความปรองดอง-คืนดี” ระหว่างแกนนำแต่ละกลุ่มจึงอาจเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก หรือถึงเกิดขึ้น “คนในภาพ” ก็คงถูกแรงกระแทกกลับอย่างรวดเร็วและรุนแรงจากกลุ่มผู้สนับสนุนของตนเอง (ในโซเชียลมีเดีย) นั่นแหละ

อีกคำถามที่น่าคิดต่อ คือ การตัดสินใจ “เสี่ยง” ที่จะนิรโทษกรรม (ซึ่งจริงๆ เป็นการปูทางไปสู่คำสั่ง 66/23) และการเปิดโอกาสให้ “คนคิดต่าง” ได้กลับมาต่อสู้กันทางความคิดบนสนามการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ นั้น ถูกประเมินอย่างไรโดยฝ่ายอนุรักษนิยมไทยในอีกหลายปีต่อมา?

สำหรับพวกเขาแล้ว การตัดสินใจ “เสี่ยง” ดังกล่าว ถือว่า “เสียของ” หรือไม่?