วิเคราะห์ : สำรวจ Circular Economy ไปถึงไหน ท่ามกลางมนุษย์ผลาญไร้ขีดจำกัด

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ดูข่าวจ่าคลั่งควงปืนไล่ยิงชาวบ้านตายเจ็บอื้อแล้วต้องบอกว่ามีอาการทั้งเศร้าทั้งเครียด

อะไรหนอทำให้คนไทยด้วยกันต้องฆ่ากันยังกับผักปลา ไม่เว้นกระทั่งเด็ก ผู้หญิง

วันเกิดเหตุสลดก็ตรงกับวันพระใหญ่ “มาฆบูชา”

ศาสนาไม่ได้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คนให้ทำแต่ความดี ละเว้นความชั่วเหมือนอย่างอดีต?

ก่อนหน้าไม่กี่สัปดาห์ มีเหตุคนร้ายบุกปล้นร้านทองกลางห้างดัง คนร้ายซึ่งเป็นครูระดับผู้อำนวยการโรงเรียน ใช้อาวุธยิงกราดไม่เว้นเด็ก ผู้หญิงเช่นกัน

ความอำมหิตเลือดเย็นในทั้งสองเหตุการณ์บอกให้รู้ว่า สังคมไทยเข้าสู่สังคมหฤโหดอย่างเต็มขั้น

คอลัมน์นี้ แม้จะเน้นเรื่องราวข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม แต่ขอวิงวอนให้ทุกคนในสังคมนี้ช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางแก้ไขเยียวยาจิตใจของผู้คนให้กลับเข้าสู่ความมีจิตใจกรุณา มีเมตตาเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

เพราะหากคนในสังคมนี้มีแต่ความโหดเหี้ยมอำมหิต ต่อให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมดีเลิศประเสริฐแค่ไหนก็ไม่มีทางเป็นสังคมน่าอยู่น่าอาศัย

 

กลับมาว่ากันด้วยเรื่องของการบริโภคของสังคมโลกดีกว่า

เว็บไซต์เดอะ การ์เดียนของอังกฤษตีแผ่ข้อมูลชาวโลกเผาผลาญทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อตอบสนองความสุขความสบายแต่ละปีมีมากกว่า 100,000 ล้านตัน

การเผาผลาญอย่างไร้ขีดจำกัดเช่นนี้ ผลักให้โลกเข้าสู่ห้วงภัยพิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตามข่าวบอกว่า ตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมาจำนวนประชากรโลกขยายตัวพุ่งเป็นทวีคูณ

เศรษฐกิจโลกเติบโตรวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ในแต่ละปีอัตราเฉลี่ยการบริโภคและการใช้สอยทรัพยากรของแต่ละคนมีมากกว่า 13 ตัน และมีอัตราเติบโตมากกว่า 8 เปอร์เซ็นต์

แต่ทรัพยากรซึ่งชาวโลกนำไปใช้ประโยชน์แล้วดึงกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลลดลงจากเดิม 9.1% เหลือแค่ 8.6%

ตัวเลขนี้ชี้ว่า ชาวโลกให้ความใส่ใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อยลงกว่าเดิม แต่ให้ความสำคัญกับการเสพสุขด้านวัตถุนิยมมากขึ้น

รายงานชิ้นนี้จัดทำโดยกลุ่มนักคิดที่เรียกตัวเองว่า เดอะ เซอร์เคิล อีโคโนมี (The Circle Economy) รวบรวมข้อมูลการใช้ทรัพยากร การบริโภคในแต่ละด้านนำไปเผยแพร่ในที่ประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

รายงานยังบอกอีกว่า มีเพียงบางประเทศที่พยายามปรับทิศทางประเทศเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน เน้นการนำพลังงานหรือวัตถุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุดและวางเป้าไม่ให้มีขยะอีกต่อไป

 

ฮาราลด์ ไฟร์เอ็ดเดิล ผู้บริหารของเซอร์เคิล อีโคโนมี บอกว่า โลกเข้าสู่ภาวะเสี่ยงภัย ถ้าชาวโลกยังใช้ทรัพยากรอย่างไร้ขีดจำกัดเช่นนี้อีก

มีทางรอดให้เห็นอยู่บ้างถ้ารัฐบาลในแต่ละประเทศเร่งกระตุ้นให้ประชาชนใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมเหตุสมผล เพราะในกลางศตวรรษนี้ประชากรโลกจะขยายตัวเกือบถึง 10,000 ล้านคน

เมื่อจำนวนประชากรมีมากขึ้น นั่นเท่ากับมีความต้องการใช้ทรัพยากรใหม่ๆ มากขึ้นเช่นเดียวกัน ฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาทางหยุดยั้งความอยากมีอยากใช้ทรัพยากรใหม่ๆ ให้ได้

เมื่อปี 2560 ทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวโลกนำมาใช้ตอบสนองความต้องการจำนวน 100,600 ล้านตัน

ครึ่งหนึ่งของจำนวนนั้นคือ ทราย ดินเหนียว ก้อนกรวดและปูนซีเมนต์ นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำปุ๋ยเคมี

จำนวนทรัพยากรถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ถูกขุดมาใช้มากขึ้น 15% แร่เหล็กและแร่โลหะชนิดอื่นๆ 10%

ต้นไม้และพืชหญ้าราว 1 ใน 4 ของจำนวนทรัพยากรโลกที่นำมาใช้ทำอาหารและเชื้อเพลิง

คำนวณปริมาณของวัสดุธรรมชาตินำมาใช้ในบ้านเรือนมีมากถึง 40% หลักๆ ที่เอาใช้เป็นอาหาร ใช้สำหรับการขนส่ง สุขภาพอนามัย การสื่อสาร และใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า รวมถึงเฟอร์นิเจอร์

วัสดุที่นำมาทำบ้านเรือนหรือรถยนต์มีอายุการใช้งานนานกว่า 1 ปี นอกเหนือจากนั้นราว 15% เผาผลาญกลายเป็นก๊าซพิษ ขี้เถ้า ลอยฟุ้งกระจายในอากาศ หรือไม่ก็กลายเป็นเศษขยะ เช่น พลาสติกกระจายไปทั่วหรือลอยอยู่ในทะเล

ส่วนวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่มีเพียง 8.6% เท่านั้น

 

รายงานชิ้นนี้เป็นการแจ้งเตือนให้ชาวโลกรู้ว่า การดำรงวิถีชีวิตอย่างเสพสุข หลงใหลในวัตถุนิยมเช่นในปัจจุบัน จะทำให้โลกใบนี้เกิดปัญหาใหญ่หลวงตามมา

ผู้คนจะพากันแย่งชิงทรัพยากรมาเป็นของตัวเองให้มากที่สุดด้วยคิดว่านั่นจะตอบสนองความสุขได้มากกว่าคนอื่น

เมื่อทุกคนคิดเช่นนี้ ความอลหม่านจึงเกิดไปทั้งโลก เพราะจำนวนทรัพยากรมีจำกัด มีไม่มากพอต่อความต้องการของทุกคน

ลองคิดเรื่องอาหารการกิน เช่น เนื้อสัตว์ กว่าจะนำมาปรุงเป็นอาหาร ต้องผ่านกระบวนการผลิตในหลายขั้นตอน ต้องใช้วัตถุดิบเลี้ยงดูในปริมาณมหาศาล

จำนวนประชากรที่ต้องการกินเนื้อสัตว์มีมากขึ้น การขยายพันธุ์ไก่ หมู หรือวัว การขยายพันธุ์ด้วยวิธีธรรมชาติเป็นไปอย่างเชื่องช้า ไม่สามารถรองรับปริมาณความต้องการได้

ผู้เลี้ยงสัตว์ต้องเอาวิทยาศาสตร์เคมีมาช่วยเร่งให้สัตว์โตเร็ว

เราต้องใช้พื้นที่มากมายในการปลูกพืช เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบ

การบุกรุกป่า การใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช แมลง การเผาแผ้วถางหญ้ากลายเป็นสิ่งจำเป็นของชาวไร่

กว่าจะได้วัตถุดิบมาใช้ทำอาหารสัตว์ เราทำลายทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างมากมาย

เช่นเดียวกัน ในการผลิตเครื่องใช้พลาสติก เราต้องดึงก๊าซธรรมชาติมาสกัด

พลาสติกใช้เพียงครั้งสองแล้วทิ้งจะสร้างความสูญเสียสิ้นเปลืองและทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง

การกำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และชีวิตความเป็นอยู่อย่างชัดเจนแล้ว

ประเทศใดที่มีการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจนแข็งแกร่ง จะช่วยลดการปล่อยก๊าซพิษ การทำลายผืนป่าและคุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น

ปัจจุบัน ในยุโรปมีราว 13 ประเทศกำหนดแผนการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างจริงจัง

โลกใบนี้ ประกอบด้วย 195 ประเทศ สัดส่วนประเทศที่ใช้นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนมีไม่ถึง 10% ทุกคนคงประเมินได้ว่าอนาคตข้างหน้า โลกใบนี้จะแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติมากขนาดไหน?