ศัลยา ประชาชาติ : พลิกปูม… เทอร์มินอล 21 โคราช อาณาจักรค้าปลีก “อนันต์ อัศวโภคิน”

เทอร์มินอล 21 โคราช กลายเป็นชื่อศูนย์การค้าที่ถูกกล่าวขานถึงมากที่สุดในเวลาเพียงข้ามคืน

จากเหตุการณ์กราดยิง-จับประชาชนเป็นตัวประกันจำนวนมาก

ก่อนจะเป็นที่มาของโศกนาฏกรรมและความสูญเสียครั้งใหญ่ของชาวโคราช เมื่อช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ วันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

“เทอร์มินอล 21 โคราช” เพิ่งเปิดให้บริการได้เพียง 3 ปีเศษๆ และถือเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองโคราช ที่กำลังเริ่มติดตลาด พร้อมปรากฏการณ์การ “เซลฟี่” ของชาวโคราชและจังหวัดใกล้เคียงกับบรรยากาศต่างๆ ภายในห้าง ที่ตกแต่งในคอนเซ็ปต์มาร์เก็ตสตรีตของมหานครการช้อปปิ้งระดับโลก อาทิ ปารีส สตรีต, ลอนดอน สตรีต, โตเกียว สตรีต เป็นต้น โดยมีร้านค้ามากกว่า 700 ร้าน ครอบคลุมทั้งไลฟ์สไตล์ แฟชั่น อาหาร และความบันเทิง

ภายในศูนย์ยังมีหอไอเฟลจำลองที่สูง 72 ฟุต หรือเทียบเท่าตึก 5 ชั้น Skydeck หอคอยชมทัศนียภาพ 360 องศา ด้วยความสูง 110 เมตร หอคอยชมทัศนียภาพที่สูงที่สุดในภาคอีสาน

เป็นการตอกย้ำความเป็น Innovative Shopping Mall ที่ครบวงจรที่สุดในภูมิภาค

ศูนย์การค้าแห่งนี้พัฒนาขึ้นโดยบริษัท สยาม รีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์, เดอะ พรอมานาด อีกหนึ่งธุรกิจของ “อนันต์ อัศวโภคิน” แม่ทัพใหญ่แห่งอาณาจักรแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ภายใต้งบฯ ลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท พื้นที่ 32 ไร่ บนถนนมิตรภาพ มีพื้นที่รวมอาคารกว่า 240,000 ตร.ม. และมีการขยายใหญ่กว่าเทอร์มินอล 21 อโศกถึง 3 เท่า

นอกจากนี้ เทอร์มินอล 21 โคราช ยังเตรียมจะลงทุนอีกเฉียด 2 พันล้านบาท เพื่อเปิดโรงแรมขนาด 400 ห้อง ในอนาคตอันใกล้นี้

 

หากย้อนกลับไป “อนันต์ อัศวโภคิน” ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงอสังหาฯ มานานกว่าครึ่งชีวิต ปลุกปั้นธุรกิจอสังหาฯ และทำให้ชื่อของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของธุรกิจอสังหาฯ เมืองไทย จากนั้นขยับมาทำธุรกิจธนาคาร “แอล เอช แบงก์” จนเติบใหญ่ และอีกหนึ่งธุรกิจที่ “อนันต์” ได้เริ่มต้นอย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป คือธุรกิจค้าปลีก

อาจกล่าวได้ว่าการเริ่มปลุกปั้น “เทอร์มินอล 21” เป็นการกระโดดเข้าสู่วงการนี้อย่างเต็มตัว หลังจากทำศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์มาระยะหนึ่งแล้ว

ในสมัยที่ “อนันต์” ยังนั่งเก้าอี้แม่ทัพใหญ่ที่บัญชาการรบของบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทสยามรีเทลฯ เคยเล่าถึงแนวคิดของการกระโดดเข้ามาทำธุรกิจค้าปลีกว่า

“…คำว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้จำกัดแค่ที่อยู่อาศัย แต่อสังหาริมทรัพย์มีหลายประเภท ที่ผ่านมา แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ทำเฉพาะเรื่องของที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ การก้าวเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ทำให้บริษัทเติบโตต่อเนื่อง”

“ตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ไม่ได้มากมายอะไร นอกจากนี้ ระยะหลังการแข่งขันในธุรกิจที่อยู่อาศัยก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีผลให้อัตรากำไรลดลง”

นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ต้องขยับขยายธุรกิจครั้งสำคัญ และก้าวไปสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ

อสังหาฯ ประเภทไหน คือคำตอบที่ดีที่สุด ที่จะสามารถตอบโจทย์การลงทุนได้ดีและมีความยั่งยืน

ที่ผ่านมา แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ลงทุนในเรื่องของอาคารสำนักงานจำนวนหนึ่ง อาทิ อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี เป็นต้น และยอมรับว่าธุรกิจอาคารสำนักงานไม่ใช่ธุรกิจที่มีอัตราผลตอบแทนดี ส่วนธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ก็มีหลายแห่ง เช่นเดียวกับธุรกิจโรงแรม แต่ธุรกิจโรงแรมก็เป็นธุรกิจที่มีความอ่อนไหวจากปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ และการเมือง

เจ้าสัวอนันต์สรุปว่า ธุรกิจที่มีโอกาสในการขยายตัวได้อย่างยั่งยืน และเป็นคำตอบที่ดีที่สุดคือ ค้าปลีก

แต่ด้วยความเป็น “อนันต์” เขาจึงคิดจะทำค้าปลีก ต้องแตกต่างจากเจ้าตลาดเดิมที่มีอยู่ ต้องทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ

 

ช่วงปี 2550-2551 “เจ้าสัวอนันต์” ทุ่มงบฯ กว่า 6,000 ล้านบาท เพื่อเปิด “เทอร์มินอล 21 อโศก” โดยเช่าที่ดินจากตระกูลหวั่งหลี ด้วยศักยภาพของทำเลที่ตั้งของโครงการ สุขุมวิท ซอย 19 ที่เป็นสถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 2 สาย และได้ตัดริบบิ้นโครงการใหม่นี้เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2554 ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่แตกต่างและฉีกแนวไปจากศูนย์การค้าที่มีอยู่ขณะนี้ และไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย เพื่อตอบโจทย์ของชีวิตคนเมือง

ภายใต้แนวคิด “Market Street” แห่งแรกของเมืองไทย

เป็นการรุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มตัว

การทำการบ้านมาเป็นอย่างดี รวมถึงการสร้างแม่เหล็กใหม่ๆ ด้วยการมอบประสบการณ์ในการช้อปปิ้งบนถนนแฟชั่นที่จำลองมาจากทั่วโลก มีสินค้าและบริการที่หลากหลาย ครบครัน รวมโครงสร้างภายนอกเน้นความล้ำสมัย สะดุดตา ราวกับอาคารท่าอากาศยาน การจำลองมาจากถนนแฟชั่นที่มีชื่อเสียงทั่วโลก อาทิ โตเกียว ซานฟรานซิสโก โรม ปารีส แคริบเบียน ร้านค้าสไตล์เก๋ๆ มีดีไซน์ คุ้มค่า ทุกร้านต่อรองราคาได้

และโดยเฉพาะสุขภัณฑ์ราคาแพงในห้องน้ำทุกห้อง ทุกชั้น ที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากมาย จึงทำให้ศูนย์การค้าใหม่แห่งนี้ติดลมบนในเวลาอันรวดเร็ว

จากความสำร็จของเทอร์มินอล 21 อโศก ทำให้ “อนันต์” หมายมั่นปั้นมือว่า จะขยายสาขา “เทอร์มินอล 21” ไปยังหัวเมืองท่องเที่ยวหลักอีกไม่ต่ำกว่า 10 จังหวัด

จะว่าไปแล้ว การรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกของ “อนันต์” ที่สยามรีเทลฯ เป็นหัวหอก และได้ทยอยกรุยทางเพื่อขยายอาณาจักรมาเป็นระยะๆ

เริ่มจากศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ที่โดดเด่นบนถนนรามอินทรา เปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงปี 2538 หรือกว่า 25 ปีมาแล้ว

เมื่อแฟชั่นไอส์แลนด์เริ่มอยู่ตัว ถัดมาอีก 11 ปี สยามรีเทลฯ ก็ได้ลงทุนเปิดสร้างค้าปลีกโมเดลใหม่ ในนามของ “ไลฟ์ เซ็นเตอร์” บนหัวมุมถนนสาทร เมื่อช่วงปี 2549

ก่อนที่จะสร้างความฮือฮาให้กับแวดวงอีกครั้ง กับการทุ่มสร้าง “เทอร์มินอล 21 อโศก” ที่ถือเป็นการพลิกเกมครั้งสำคัญ พร้อมๆ กับการเปิดไลฟ์สไตล์มอลล์ “เดอะ พรอมานาด” บนถนนรามอินทรา พื้นที่ราว 22 ไร่ ใกล้ๆ กับแฟชั่นไอส์แลนด์ เมื่อปี 2555

จากนั้นถัดมาอีก 3-4 ปีก็ได้ฤกษ์เปิด “เทอร์มินอล 21 โคราช” ท้าแข่งและชนกับ “เดอะมอลล์ นครราชสีมา” ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่เข้ามาปักธงที่เมืองย่าโมล่วงหน้าก่อน ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2543

ยังไม่นับรวมศูนย์การค้าค่าย “เซ็นทรัล” ที่ก็ยึดทำเลทอง เปิดศึก 3 เส้ากลางเมืองโคราช ปลุกกระแสการช้อปปิ้งให้ดำเนินไปอย่างเข้มข้น

ด้วยเหตุผลที่ว่า โคราชเป็นจังหวัดที่มีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (จีพีพี) สูงเป็นอันดับ 1 ในภาคอีสาน และเป็นจังหวัดที่มีกำลังซื้อสูง

“อนันต์” ยังมีแผนเตรียมจะตัดริบบิ้น “เทอร์มินอล 21 พระราม 3” ในนามของบริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด ที่มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 139,970 ตารางเมตร

ซึ่งเมื่อรวมตัวเลขผลประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุกแบรนด์ของ “เจ้าสัวอนันต์” ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2561 พบว่ามีรายได้รวมมากกว่า 4 พันล้านบาท และมีกำไรเบาะๆ งามๆ 600-700 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

อย่างไรก็ดี หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญในช่วงวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา นั่นย่อมส่งผลต่อสภาวะตลาดค้าปลีกในนครราชสีมาพอสมควร

ด้านหนึ่ง ทีมบริหารของเทอร์มินัล 21 โคราช ได้ร่วมมือกับภาครัฐช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจและผู้ประกอบการในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา

ล่าสุด นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือ เยียวยาผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานทั้งหมด 6 ชุด เพื่อดูแลงานในด้านต่างๆ

อีกด้านหนึ่ง หลังจากเปิดดำเนินการอีกครั้งในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ยังต้องมีกระบวนการเพื่อเรียกขวัญกำลังใจและสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยให้กับประชาชนและผู้ใช้บริการกันต่อไป