เกษียร เตชะพีระ | อนาธิปัตยาภิวัตน์จากเบื้องล่าง

เกษียร เตชะพีระ

อนาธิปัตยาภิวัตน์จากเบื้องล่าง (ตอนต้น)

สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลกปัจจุบันเปลี่ยนไปมากจากช่วงหลังสงครามเย็นต้นสหัสวรรษนี้ โดยเฉพาะหลังวิกฤตหนี้ซับไพรม์และเศรษฐกิจโลกถดถอยใหญ่ปี ค.ศ.2008 และการผงาดขึ้นของทุนนิยมแบบอำนาจนิยมของจีน (the China model of authoritarian capitalism) ในฐานะตัวแบบทางเลือกการพัฒนาต่างหากจากทุนนิยมแบบเสรีประชาธิปไตยของตะวันตกซึ่งกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจชะงักงันลากยาวยากแก่การฟื้นตัว ความเหลื่อมล้ำขยายตัวสุดโต่ง และการผงาดขึ้นของพลังประชานิยมทางการเมืองโดยเฉพาะฝ่ายขวาแผ่กว้างออกไป ท่ามกลางกระแสก่อการร้ายทางการเมืองบนฐานความแตกต่างขัดแย้งทางศาสนาและเชื้อชาติผิวสีทั้งโดยรัฐและ โดยกลุ่มทยอยเกิดขึ้นไม่ขาดสายทั่วโลก

อาจกล่าวได้ว่า ทั้งระบอบการเมืองเสรีประชาธิปไตยและอำนาจนิยม (liberal democracy & authoritarianism) รวมทั้งแนวทางเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberal capitalism) กำลังประสบวิกฤตความชอบธรรมรอบด้านทั่วโลก มิอาจสะกดมวลชนให้สยบยอมรับดังก่อน

จนนับวันมันจะถูกปฏิเสธมากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การลุกฮือขึ้นกบฏของเยาวชนคนหนุ่มสาวกระจายกว้างหลายประเทศทั่วทุกทวีป

ในบรรดานักวิเคราะห์ผู้เสนอแนวมองต่อสถานการณ์การลุกฮือของมวลชนในโลกปัจจุบัน ปังกัจ มิสชรา (ค.ศ.1969-ปัจจุบัน) นักเขียนชาวอินเดียผู้โด่งดังเป็น พลุแตกจากผลงานที่ถูกกล่าวขวัญและได้รางวัลหลายเล่ม

อาทิ An End to Suffering: The Buddha in the World (ค.ศ.2004), Temptations of the West : How to Be Modern in India, Pakistan and Beyond (ค.ศ.2006), From the Ruins of Empire: The Intellectuals Who Remade Asia (ค.ศ.2012)

และล่าสุด Age of Anger : A History of the Present (ค.ศ.2017) ฟันธงว่าเนื้อแท้แล้วจุดร่วมของการลุกฮือของคนหนุ่มสาวในหลายประเทศคือสิ่งที่ผมใคร่เรียกว่า “อนาธิปัตยาภิวัตน์จากเบื้องล่าง” (Anarchization from below) ในบทความ “A Global Anarchy Revival Could Outdo the 1960s” (https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2019-12-18/a-global-anarchy-revival-could-outdo-the-1960-s) เมื่อ 19 ธันวาคมศกก่อน

ซึ่งผมขอเรียบเรียงมานำเสนอดังต่อไปนี้ :

“การประท้วงได้ระเบิดขึ้นในอินเดียต่อกฎหมายพลเมืองซึ่งเลือกปฏิบัติอย่างโจ่งแจ้งกับประชากรมุสลิม 200 ล้านคน รัฐบาลชาตินิยมฮินดูของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ตอบโต้ด้วยการให้ตำรวจยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมแสดงพลังและบุกโจมตีวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง

ไฟป่าของการประท้วงบนท้องถนนทั่วโลก จากซูดานถึงชิลี เลบานอนถึงฮ่องกง ในที่สุดก็ลุกลามมาถึงประเทศซึ่งส่วนใหญ่ของพลเมือง 1.3 พันล้านคนนั้นอายุต่ำกว่า 25 ปี ผลกระทบทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจของการนี้ย่อมหาที่ร้ายแรงกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว

เพิ่งจะเดือนที่แล้วนี้เองที่นักศึกษาในวิทยาเขตมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกง กำลังขว้างระเบิดขวดใส่ตำรวจและต้องรับมือกับแก๊สน้ำตา กระสุนยางและปืนน้ำ ในทางกลับกัน

การต่อต้านรัฐอำนาจนิยมด้วยความรุนแรงนี้เป็นสิ่งแปลกใหม่ผิดปกติวิสัยในฮ่องกง ขบวนการร่มในปี ค.ศ.2014 ซึ่งแสดงทีทรรศน์ของมวลชนออกมาเป็นครั้งแรกว่าต้องการเป็นอิสระมากขึ้นจากทางการปักกิ่งนั้นยึดสันติวิธีอย่างน่าตราตรึงใจ

พวกผู้รณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงทุกวันนี้ก็เดินทางมาไกลโขจากบรรดานักศึกษาจีนผู้ยึดครองจัตุรัสเทียนอันเหมินในปี ค.ศ.1989 ด้วยเหมือนกัน การเอาทั้งสองกลุ่มมาเปรียบเทียบกันจึงนับว่าผิดฝาผิดตัว

ย้อนหลังไปสมัยปี ค.ศ.1989 นั้น พวกนักศึกษาเคารพยำเกรงรัฐอย่างลึกซึ้ง ภาพถ่ายของเหล่านักศึกษาคุกเข่ายื่นคำร้องขออยู่เชิงบันไดมหาศาลาประชาคมบ่งชี้ให้เห็นชัดไม่น้อยไปกว่าภาพจำของผู้ประท้วงที่ยืนเผชิญหน้ารถถัง

การยอมรับอำนาจหน้าที่ของรัฐในฐานะอนุญาโตตุลาการสุดท้ายที่ว่านั้นบัดนี้กำลังมลายหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงเฉพาะในฮ่องกง แต่ในอินเดียและประเทศอื่นอีกหลายประเทศด้วย

มันกำลังถูกแทนที่ด้วยความปักใจเชื่อว่ารัฐได้สูญเสียความชอบธรรมของมันไปแล้วโดยผ่านการกระทำอันโหดเหี้ยมชั่วร้ายทั้งหลายแหล่

เป็นประโยชน์ที่จะเปรียบเทียบบรรดาผู้ประท้วงทุกวันนี้ซึ่งส่วนใหญ่อย่างท่วมท้นยังเยาว์วัย กับเหล่านักศึกษาฝรั่งเศสผู้ชุมนุมแสดงพลังในกรุงปารีสเมื่อปี ค.ศ.1968 พวกนักศึกษาฝรั่งเศสตอนนั้นเข้ายึดครองที่ทำงานและสถานศึกษา ถนนและจัตุรัสต่างๆ พวกเขายังตอบโต้การปราบปรามของตำรวจด้วยการตั้งด่านที่มั่นขวางถนนชั่วคราวและระเบิดขวดเช่นกัน

เหมือนบรรดาผู้ประท้วงทุกวันนี้ นักศึกษาฝรั่งเศสระเบิดความรุนแรงออกมา ท่ามกลางการต่อสู้บนท้องถนนที่ไต่ระดับสูงขึ้นทั่วโลก พวกเขากล่าวอ้างว่าตนปฏิเสธคุณค่าและทีทรรศน์ของคนรุ่นเก่า และเราก็ไม่อาจจัดประเภทพวกเขาเป็นปีกซ้าย ปีกขวา หรือเดินสายกลางอย่างง่ายๆ ด้วยเช่นกัน

อันที่จริงแล้ว พวกเรียกร้องต้องการการเปลี่ยนแปลงชนิดขุดรากถอนโคนชาว ฝรั่งเศสทำให้ผู้คนมากหลายตอนนั้นสับสนเพราะพวกเขาชิงชังพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสเกือบจะพอๆ กับที่ชิงชังบรรดาพรรคฝ่ายขวาทั้งหลาย ในทางกลับกัน พวกคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสก็ปัดปฏิเสธนักศึกษาผู้ประท้วงว่าเป็นพวก “อนาธิปัตย์”

(ต่อสัปดาห์หน้า)