บทสนทนาที่ปักกิ่งวันนั้น กับ “สุชาติ ภูมิบริรักษ์” | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

ผมได้รับทราบข่าวการจากไปของคุณสุชาติ ภูมิบริรักษ์ ด้วยความโศกสลด

เพราะเขาเป็นลูกผู้ชายนักสู้ นักคิด นักเขียนที่ต้องอยู่ต่างแดนเพียงเพราะการไม่ยอมรับความเห็นต่างทางการเมืองของไทยในยุคสมัยแห่งสงครามเย็นที่ร้อนระอุ

บทสนทนาของเราที่บ้านของคุณสุชาติชานเมืองปักกิ่งเมื่อประมาณ 3 ปีก่อนขณะที่ผมไปถ่ายทำสารคดี “สายลมบูรพา” ในโอกาสครบ 42 ปีแห่งการเปิดสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ผ่านการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับการติดต่อลับๆ เพื่อปูทางเจรจาการฟื้นคืนการคบหาทางการทูตอย่างเป็นทางการ

หนึ่งในบุคคลที่ผมขอพบเพื่อสัมภาษณ์คือคุณสุชาติ ภูมิบริรักษ์

ผมได้รับทราบข่าวเศร้าของการเสียชีวิตของคุณสุชาติเมื่อวันที่ 13 มกราคม จากข้อความที่ ดร.นพนันท์ อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ได้โพสต์เฟซบุ๊กที่รายงานว่า

“นายสุชาติ ภูมิบริรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ อดีตผู้ต้องหาคดีกบฏสันติภาพ นักเขียนและนักแปลผู้ได้รับรางวัลสุรินทราชา ซึ่งเป็นคนไทยผู้พำนักอาศัยในกรุงปักกิ่งอย่างยาวนาน 62 ปีตั้งแต่ 2501 ถึงแก่กรรมแล้วอย่างสงบด้วยโรคชรา สิริอายุ 93 ปี

สุชาติ, ศรีกานดา กับ “ศรีบูรพา” ที่ปักกิ่ง

“สำหรับประวัตินายสุชาติ ภูมิบริรักษ์ ซึ่งเรียบเรียงโดยโสภิต หวังวิวัฒนา เผยแพร่ในเว็บไซต์ CRI online ระบุว่า นายสุชาติ ภูมิบริรักษ์ พำนักถาวรอยู่ในประเทศจีน หลังจากที่ร่วมคณะกับผู้แทนส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทยในฐานะเลขานุการ โดยมีหัวหน้าคณะคือ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” เดินทางไปเยือนจีนตามคำเชิญของสมาคมวัฒนธรรมแห่งประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ.2501 ในเวลาเดียวกัน ได้เกิดการรัฐประหารที่ประเทศไทย ทำให้เขาไม่กล้ากลับประเทศ จึงขอลี้ภัยการเมืองอยู่ในจีนนับแต่นั้นเป็นต้นมา

“ระยะเวลาที่นายสุชาติพำนักอยู่ในประเทศจีน จนกลายเป็นบ้านหลังที่สอง เขายังคงทำงานเกี่ยวข้องกับวงการสิ่งพิมพ์ หลังจากเข้าศึกษาวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง แล้วออกมาเป็นอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง จากนั้นย้ายไปทำงานที่แผนกภาษาไทย สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ ปักกิ่ง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญจนเกษียณอายุ

“นอกจากนี้ ยังมีผลงานบรรณาธิการอีกหลายเล่ม ทั้งที่เป็น บก.เอง และทำงานร่วมกับเพื่อนชาวจีน อาทิ ชุมนุมเรื่องสั้นของหลู่ซวิ่น ศึกซังกำเลียง หวนระลึกการเดินทัพทางไกล สงครามฝิ่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลงานแปล เช่น คลื่นลมวันวิวาห์ นิทานพื้นเมืองชนชาติไต รังว่าง หมิงกูเหนียง ฯลฯ”

วันสัมภาษณ์ที่ปักกิ่ง กับสุชาติและศรีกานดา ภูมิบริรักษ์ เมื่อ 3 ปีก่อน

วันที่ผมไปพบคุณสุชาตินั้น มีโอกาสได้ร่วมสนทนากับคุณศรีกานดา ภรรยาของท่านด้วย

ถือเป็นโอกาสพิเศษอย่างยิ่งที่ได้ฟังเรื่องราวจากปากคำของสามี-ภรรยาปัญญาชนนักสู้ที่กลายเป็นเหยื่อการเมืองไทยที่ต้องบันทึกเอาไว้สำหรับคนรุ่นหลัง

คุณศรีกานดายังได้ให้หนังสือ “ปักกิ่งในความทรงจำ” ที่ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตในเมืองจีน โดยเฉพาะตอนที่เขียนถึง “พบศรีบูรพาที่ปักกิ่ง” ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ได้พบคุณสุชาติที่ต่อมากลายเป็นคู่ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขจนถึงลมหายใจสุดท้ายของคุณสุชาติ

หลังจากถ่ายทำบทสัมภาษณ์แล้ว คุณศรีกานดายังได้ติดต่อทีมงานของผมให้รีบส่งคลิปไปให้ดู

“คุณสุชาติอายุมากแล้ว สุขภาพก็ไม่ค่อยดี แกอยากจะได้ดูบทสัมภาษณ์นี้ก่อนจะช้าเกินไป…” คุณศรีกานดาฝากข้อความมาบอก

ปีนั้นคุณสุชาติอายุ 91 พอดี แต่ยังมีความจำดีเยี่ยม ความคิดความอ่านยังคล่องแคล่วว่องไว

ผมเชื่อว่าคุณสุชาติคงได้ดูวิดีโอที่บันทึกความทรงจำของเขาที่ผมภูมิใจเสนอ เพราะได้สะท้อนถึงวิถีชีวิตและปรัชญาของนักคิดนักเขียนที่ทรงคุณค่าของประเทศไทยคนหนึ่ง

 

พอเปิดการสัมภาษณ์วันนั้น ผมก็ขอให้คุณสุชาติเล่าเรื่องชีวิตก่อนจะมาปักหลักที่ปักกิ่ง…

“ปี 2501 ผมมาเมืองจีนกับคณะส่งเสริมวัฒนธรรม มีอาจารย์กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นหัวหน้าคณะ เรามาทั้งหมด 12 คน…

“เดิมตกลงกับฝ่ายจีนว่าเราจะมาสองเดือน แต่พออยู่มาได้ 40 กว่าวันก็เกิดรัฐประหารในเมืองไทย (โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) นายกฯ โจว (เอินไหล) พบคุณศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) หัวหน้าคณะของเรา ท่านบอกว่าเมืองไทยเกิดการปฏิวัติ ผมทราบแล้ว แต่ไม่เป็นไรหรอก พวกคุณยังกลับไม่ได้ ให้อยู่ในจีนไปก่อน…”

ส่วนใหญ่ในคณะต้องการจะกลับไทย คุณสุชาติเป็นเลขานุการของคณะ ได้เอ่ยขึ้นว่า “ผมเคยอยู่ในคุกมาก่อน เขาไม่เอากฎหมายอะไรมาพิจารณาหรอก คุณคิดให้ดี แต่พวกเขาก็บอกว่าคิดถึงบ้าน ทางจีนก็จัดการส่งกลุ่มที่ต้องการจะกลับบ้านกลับไป แต่พอกลับถึงไทย ยังไม่ทันถึงบ้านก็เข้าคุกหมด”

เหลือแต่คุณกุหลาบและคุณสุชาติเท่านั้นที่อยู่ในเมืองจีน มีโทรเลขจากกรุงเทพฯ ผ่านทางอังกฤษถึงเมืองจีนว่า “คุณกุหลาบกับคุณสุชาติอย่าเพิ่งกลับ อันตราย! เราสองคนก็เลยต้องอยู่ต่อ

“ชีวิตจึงผันเปลี่ยนไปอย่างชนิดที่คาดไม่ถึงมาก่อน”

“ทางฝ่ายจีนก็ดูแลเราดี…และอยู่จนถึงทุกวันนี้”

นั่นหมายถึงจากปี 2501 ถึง 2563 หรือ 62 ปีเต็มๆ ปี 2517 กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของประโยค “ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” และเจ้าของผลงานลือเลื่อง “ข้างหลังภาพ” เสียชีวิตที่ปักกิ่ง ไม่มีโอกาสได้เดินทางกลับบ้านเกิดอีกเลย

คุณสุชาติเล่าว่า “ดูเหมือนท่านป่วยอยู่ไม่นาน…”

คุณศรีกานดาเสริมว่า “คือคุณกุหลาบเป็นหวัด ถูกความเย็น ต่อมาก็มีอาการปอดบวม ตอนนั้นสุขภาพของท่านก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว อายุ 74”

เธอเล่าต่อว่า “ตอนนั้นมีเหตุการณ์บางอย่าง อยู่ในภาวะไม่ปกติ จีนอยู่ระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม พูดตามความจริง และผู้นำของจีนที่ท่านเคยไปมาหาสู่ก็…”

คุณสุชาติแทรกเข้ามาว่า “…ถูกเล่นงาน”

คุณศรีกานดาพูดต่อ “…ถูกเล่นงาน หายหน้าหายตาไปหลายคน”

วันโบกมืออำลาของคุณสุชาติและศรีกานดา ที่บ้านที่ปักกิ่ง

คุณกุหลาบไปอยู่โรงพยาบาล “การดูแลก็ไม่ค่อยดี…มีวันหนึ่งท่านไปล้มในห้องน้ำ ท่านเสียเร็ว ตั้งแต่ล้มจนเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตยังไม่ถึงเดือนเลย” คุณศรีกานดาพูดด้วยน้ำเสียงที่เศร้าสร้อย

คุณศรีกานดาเขียนเล่าไว้ในหนังสือ “ปักกิ่งในความทรงจำ” ว่า ก่อนเสียชีวิตไม่นาน “ศรีบูรพา” เข้ารักษาโรคปอดบวมที่โรงพยาบาลเสียเหอซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุดของจีนขณะนั้น

“ฉันสังเกตเห็นคุณลุง (ศรีบูรพา) พูดคุยกับเราตามปกติ เพียงแต่มีอาการเพลียบ้าง ก็รู้สึกว่าไม่น่าเป็นห่วงอะไรมาก ขณะที่คุยกัน ท่านได้ขอให้คุณสุชาติเล่าสถานการณ์ในเมืองไทยให้ท่านฟังโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคมของนักศึกษาซึ่งผ่านมาแล้วระยะหนึ่ง แต่ท่านยังคงสนใจติดตามเหตุการณ์อยู่…

“คุณสุชาติเล่าตามข่าวที่อ่านในหน้าหนังสือพิมพ์ คุณลุงนั่งฟังอย่างตั้งใจ มีบางตอนดูเหมือนคุณสุชาติจะเล่าทวนข่าวเก่า แต่คุณลุงก็นั่งฟังเงียบๆ สุดท้ายคุณลุงได้พูดออกมาด้วยอาการอ่อนเพลียว่า…นี่เป็นชัยชนะของนักศึกษา…ท่านหยุดครู่หนึ่ง แล้วพูดออกมาอีกว่า เยาวชนเป็นอนาคตของประเทศชาติ!”

คุณศรีกานดาเขียนเล่าต่อว่า

“แล้ววันต่อมาคือ 16 มิถุนายน ค.ศ.1974 (พ.ศ.2517) เราได้รับข่าวร้ายจากทางสมาคมวิเทศสัมพันธ์แห่งประเทศจีนว่า “คุณกุหลาบได้ถึงแก่กรรมแล้ว…”

“พอทราบข่าวฉันกับคุณสุชาติอยู่ในอาการนิ่งงัน พูดอะไรไม่ออก ได้แต่หลั่งน้ำตาด้วยความเศร้าโศกเสียใจ เมื่อฉันข่มความเศร้าลงได้แล้ว ก็พูดอยู่ในใจว่า…

“ขอให้คุณลุงจงไปสู่สุคติเถิด!””

วันนี้ ขณะที่ผมรำลึกถึงบทสนทนากับคุณสุชาติและคุณศรีกานดาที่ปักกิ่งวันนั้นก็ต้องขอกล่าวถ้อย “ขอให้คุณสุชาติไปสู่สุคติ” เช่นกันครับ

ด้วยความคารวะยิ่งแด่นักคิด นักเขียน นักสู้พลัดถิ่นท่านนี้ครับ