เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ปลูกป่าในใจคน

๐ ครู่หนึ่งถึงชะวากชากลูกหว้า

ล้วนพฤกษายางยูงสูงไสว

แต่ล้วนทากแต่ละรากลำพูไพร

ไต่ใบไม้ยูงยางมากลางแปลง

กระโดดเผาะเกาะผับกระหยับคืบ

ถีบกระทืบมิใคร่หลุดสุดแสยง

ปลดที่ตีนติดขาระอาแรง

ทั้งขาแข้งเลือดโซมชโลมไป ฯ

นิราศเมืองแกลงของท่านกวีเอกสุนทรภู่แต่งเมื่อไปหาบิดาซึ่งเป็นพระอยู่บ้านกร่ำ อำเภอแกลง เมืองระยอง ราว พ.ศ.2350 สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นนิราศเรื่องแรกของท่าน

บรรยายภาพตัวทากได้ “สุดแสยง” ดีนัก

คณะเรามีโอกาสได้ไป “ป่าวังจันทร์” อำเภอวังจันทร์ เมืองระยอง เมื่อศุกร์ 17 เสาร์ 18 กุมภาพันธ์นี้ ในโครงการสถาบันปลูกป่าของ ปตท. นำโดย คุณประเสริฐ สลิลอำไพ และพี่ใหญ่ของคณะเราคือ คุณสัญลักษณ์ เทียมถนอม มี คุณกนกพร รอดรุ่งเรือง เป็นแม่งาน

น่าสนใจที่ ปตท. สนใจพิทักษ์ผืนป่าโดยถือเป็นภารกิจสำคัญควบคู่ไปกับธุรกิจเรื่องพลังงาน

“การปลูกป่าคืนพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย ถือเป็นภารกิจหลักสำคัญของ ปตท. เพราะเราตระหนักอยู่เสมอว่า ในฐานะที่เราดำเนินธุรกิจโดยนำทรัพยากรพลังงานในรูปฟอสซิลมาใช้ ซึ่งนำเข้าและผ่านกระบวนการผลิต จัดจำหน่ายให้กับประชาชนในรูปของพลังงาน ที่สุดท้ายปลายทางจะแปรสภาพกลายเป็นก๊าซเรือนกระจก หนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำมาซึ่งภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย ปัญหาภัยแล้ง ล้วนเกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทั้งสิ้น

ปตท. ได้ตระหนักรู้ในความรับผิดชอบ เพื่อบรรเทาผลกระทบร่วมกัน จึงนำมาสู่บทสรุป “โครงการปลูกป่า” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลกได้ดีที่สุด”

นี่เป็นบทสัมภาษณ์ของ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตประธาน จนท.บริหาร และ กก.ผจก.ใหญ่ของ ปตท.

น่าสนใจด้วยเวลานี้เรามีปัญหาความขัดแย้งเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่อยู่พอดี

ถ่านหินเป็นหนึ่งในฟอสซิลที่อาจก่อให้เกิดสภาพ “ก๊าซเรือนกระจก” ได้อย่างไรหรือไม่

แล้ววันนี้เรากำลังพยายามจะ “ฟอกถ่าน” กันอยู่หรือไม่ หรืออย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม เราสนับสนุนโครงการปลูกป่าของ ปตท. เต็มที่ จากการมีโอกาสเยี่ยมชม “โครงการป่าวังจันทร์” ที่ระยอง ในพื้นที่กว่าสามร้อยไร่

โครงการปลูกป่านี้ ปตท. ดำเนินการอย่างจริงจังมาแต่ปี พ.ศ.2537 โดยร่วมปลูกป่าจำนวนหนึ่งล้านไร่ รวมกว่า 417 แปลงใน 48 จังหวัด ทั่วประเทศ ป่าวังจันทร์เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ.2557 ซึ่งจะเป็นการเริ่มล้านไร่ ต่อจากยี่สิบปีแรกต่อไป

พิเศษคือ โครงการป่าวังจันทร์ เป็นศูนย์เรียนรู้ดังเป็น “ห้องเรียนใหญ่” มีธรรมชาติเป็น “ขุมคลังความรู้” ให้ได้ศึกษา นำข้อมูลมาเป็นองค์ความรู้สู่การปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทาง “นำร่อง” ขยายสู่สถาบันและชุมชนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วย

พื้นที่โครงการมีเทือกเขาขุนอินทร์อันเชื่อมต่อจากเทือกเขาพนมศาสตร์ อันเป็นแหล่งกำเนิดของสายน้ำใหญ่น้อยสู่แม่น้ำประแสร์ของระยอง

เขาขุนอินทร์จึงเป็น “ครูใหญ่” โดยธรรมชาติ

ในพื้นที่เดียวกันนี้ยังมีสถาบันการศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษากับมหาวิทยาลัยอีกด้วย คือโรงเรียนกำเนิดวิทย์ กับมหาวิทยาลัยวิทยสิรเมธี ซึ่งได้รับพระราชทานนามอันเป็นมงคลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

การบริหารจัดการด้านวิชาการนั้น ประกอบด้วย นักวิชาการด้านป่าไม้และการเกษตร เป็นหลัก มีรายงานว่า

“จากงานวิจัยผลสัมฤทธิ์โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ปตท. 1 ล้านไร่ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2538-2557) โดยศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าผืนป่าสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 30.27 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนสู่ชั้นบรรยากาศ 24.22 ล้านตันออกซิเจน

ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากป่าคิดเป็นมูลค่า 7,830 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 391.5 ล้านบาท รวมถึงมีฐานมวลชนปกป้องดูแลผืนป่าในโครงการ ยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตมวลชนที่อยู่รอบแปลงปลูกป่าให้ดีขึ้น”

เป้าหมายต่อไปคือตั้งแต่ปี พ.ศ.2567 คือสิบปีหลังจากเริ่มโครงการช่วงใหม่ (2557-2567) ตั้งเป้าให้ป่าสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 2.1 ล้านตันต่อปี

ป่าและต้นไม้ให้คุณค่าแก่คน แก่ชุมชนและแก่โลกถึงปานฉะนี้

 

สมเด็จพระพุทธโฆษจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) ท่านเคยลิขิตเป็นใจความว่า

สิ่งแวดล้อมคือชีวิต เมื่อใดเราเริ่มรู้สึกว่าต้องรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อนั้นเรากำลังแยกสิ่งแวดล้อมออกจากชีวิตแล้ว คือสิ่งแวดล้อมกลายเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องรักษาไว้เพื่อเป็นประโยชน์หรือนำมารับใช้ชีวิตนั่นเอง

คือเรายังไม่ตระหนักว่า ชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่อาจแยกจากกันได้เลย แม้ลมหายใจของเราก็คืออากาศหรือลมที่แวดล้อมเราอยู่นี่เอง

การได้ตระหนักในเรื่องนี้โดยเฉพาะคุณค่าแห่งป่านี่แหละสมดังพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสอนให้เราช่วยกัน

“ปลูกป่าในใจคน”

“ใจวังจันทร์”

ป่าวังจันทร์ ประจำอยู่ ภูขุนอินทร์

รู้ใจไม้ ใจดิน รู้ถิ่นเก่า

รู้แหล่งน้ำ รักน้ำ ร่วมลำเนา

ป่าคือเรา เราคือป่า มาโยงใย

ธรรมชาติคือธรรมที่กำหนด

อันเป็นกฎความจริงที่ยิ่งใหญ่

อันหนึ่งอันเดียวกันอันเป็นไป

มีธรรมะอยู่ใน ใจวังจันทร์ ฯ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์