ประภาส อิ่มอารมณ์ : หนานบัวผัน ยอดอัจฉริยะจิตรกรแห่งล้านนา

สมัยที่เรียน Research ภาพเขียนไทย ส่วนใหญ่จะใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นครูสำหรับศึกษาและคัดลอก เพราะนักศึกษารวมทั้งอาจารย์ที่สอนวิชานี้ สามารถเดินไปเรียนและกลับได้สะดวก ซึ่งมีทั้งจากตู้เก็บพระไตรปิฎกที่เขียนด้วยเทคนิคลายรดน้ำ อย่างเช่น ตู้ลายรดน้ำวัดเซิงหวาย และภาพจิตรกรรมฝาผนังบนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ล้วนเป็นฝีมือช่างสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่เป็นสุดยอดฝีมือ ซึ่งฝากไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้เป็นการศึกษาวัฒนธรรมดั้งเดิม

วินัย ปราบริปู

ส่วนจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยานั้น มีชื่อเสียงและงดงามลงตัว แต่ได้เสียหายไปมากจากการถูกทำลายโดยภัยสงคราม ตามวัดต่างๆ ยังสมบูรณ์ เช่น ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี ซึ่งแม้จะได้ชื่อว่าเป็นฝีมือศิลปินสกุลช่างเพชรบุรี แต่คงเป็นการสืบสานต่อกันมาจากช่างในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่แตกฉานซ่านเซ็นหนีสงครามตอนกรุงแตกมานั่นเอง

สำหรับภาคเหนือนั้นศิลปกรรมส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากพม่า ซึ่งเป็นงานแกะสลักไม้ประดับสถาปัตยกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ใช่ว่าจะหางานจิตรกรรมที่ดีๆ ให้ดูไม่ได้ เพราะภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เด่นดังเอามากๆ ด้วยการสร้างสรรค์งานที่เป็นอัตลักษณ์

อันสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนในสมันนั้น และมีรูปทรงที่แหวกความเป็นศิลปะอนุรักษนิยม อย่างกล้าหาญชาญชัยแบบไม่มีใครเหมือน

จนแล้วจนรอด ความชื่นชมนั้นได้เพียงการรับชมจากภาพถ่าย และเอกสารที่มีการเผยแพร่อย่างกระท่อนกระแท่น

หอศิลป์ ริมน่าน ของ วินัย ปราบริปู

ในที่สุดช่วงเวลาแห่งการรอคอยที่จะได้มีโอกาสไปเห็นด้วยสายตาของตนเองก็เป็นความจริง เมื่อเวลาได้ผ่านพ้นมาถึง 50 กว่าปี

เมื่อมีธุระจะต้องคุยกับศิลปากรรุ่นน้องซึ่งเรียนคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ชื่อ วินัย ปราบริปู แต่ไปจบปริญญาที่คณะมัณฑนศิลป์

เพราะเมื่อมีกลุ่มอาจารย์จิตรกรรมฯ แบ่งแยกเป็นสองฝ่ายด้วยความเห็นไม่ลงรอยกัน ฝ่ายหนึ่งย้ายออกไปสอนที่คณะมัณฑนศิลป์ และหนึ่งในนั้นมีอาจารย์อาวุโส ทวี นันทขว้าง ศิษย์เอกด้านงานจิตรกรรมของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ร่วมอยู่ด้วย วินัยจึงขอย้ายคณะตามไปเรียนด้วยความศรัทธา และด้วยจิตวิญญาณเขายังเป็นจิตรกรอยู่อย่างมั่นคง

La Primavera by Botticelli

ดังนั้น เมื่อวินัยกลับไปยังจังหวัดน่านถิ่นฐานภูมิลำเนาที่เขาเกิด จึงพลิกฟื้นทุ่มเททั้งแรงกายและทุนทรัพย์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกที่ทรงคุณค่าของเมืองน่านให้โลกรู้จัก รวมทั้งสร้างหอศิลป์ริมน่านเป็นที่แสดงงานศิลปะร่วมสมัยไปพร้อมๆ กัน

แม้จะมีเวลาเพียงแค่สองวัน แต่เป็นสองวันที่มีคุณค่ามากมาย เพราะได้ดื่มด่ำกับการที่ได้รับชมผลงานจิตรกรรมอันทรงอัจฉริยภาพของศิลปิน “หนานบัวผัน” ซึ่งสามารถสะกดให้ต้องตกอยู่ในภวังค์แห่งความอิ่มเอิบอย่างไม่รู้ตัว

เช่นเดียวกับได้รับมนต์เสน่ห์แบบเดียวกันนี้ เมื่อต้องอยู่ตรงหน้าภาพเขียนอันโด่งดัง ชื่อ La Primavera ของจิตรกรเอกสมัยยุครุ่งเรืองของศิลปะอิตาลี นาม Botticelli ในพิพิธภัณฑสถานแห่งเมืองฟลอเรนซ์ เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา

และความรู้สึกดีๆ เหล่านั้นยังอบอวลอยู่ในก้นบึ้งของความทรงจำดีๆ มาอย่างเงียบๆ

แต่…วันหนึ่ง ไปนั่งกินข้าวร้านอาหารญี่ปุ่น (เจ้าของเป็นคนไทย) ระหว่างรออาหารมาเสิร์ฟ สายตาไปพบปฏิทินเก่าหลายปีแล้วพิมพ์บนผ้า (น่าจะมาจากญี่ปุ่น) มีภาพอยู่ภาพเดียว เป็นหญิงในชุดกิโมโนเต็มยศสองคน คนข้างหลังกำลังเอามือป้องปากกระซิบความนัยใส่หูคนข้างหน้า

ภาพนี้อาจจะเป็นภาพที่มีชื่อเสียงรู้กันในประเทศญี่ปุ่น หรือ…? อะไรก็ช่างหัวมัน

แต่ทำให้นึกไปถึงภาพที่สื่อในลักษณะเดียวกันนี้ บนจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ประเทศไทย

ชื่อภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” เป็นภาษาล้านนาเขียนกำกับบรรยายภาพ ซึ่งมีการสันนิษฐานเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนว่า น่าจะเป็นภาพศิลปินผู้วาดกับคู่รัก แต่เมื่อมีข้อมูลที่เชื่อได้ว่าศิลปินผู้วาดภาพนี้เป็นชาวไทลื้อ นาม “หนานบัวผัน”

(หนาน หมายถึงคนที่เคยบวชมาแล้ว หรือคุ้นหูกันว่า ทิด ของภาคกลาง)

ภาพชายหนุ่มเกาะไหล่หญิงสาวและป้องมือกระซิบ ขณะที่หญิงสาวแสดงอาการรับรู้นัยยะและประทับใจด้วยรอยยิ้มกรุ้มกริ่มบนใบหน้า

ซึ่งศิลปินหนานบัวผัน ได้ตั้งชื่อภาพด้วยเจตนารมณ์การแสดงออกถึงมนต์ขลังของวัฒนธรรมการแต่งกายแบบพม่า ที่ทรงอิทธิพลต่อความรู้สึกของคนล้านนาในสมัยนั้น จึงมีการเขียนอักษรล้านนาด้วยสีขาวกำกับไว้ด้านบนของภาพว่า “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ซึ่งเป็นการเขียนภาพนอกกรอบเรื่องชาดกนี้ แสดงท่าทางการเกาะไหล่กระซิบหยอกล้อกับคู่รัก

และการจับไหล่สตรีในที่แจ้ง ในสมัยร้อยกว่าปีนั้นบ่งบอกความเป็นสามีภรรยาอย่างชัดเจน

ดังนั้น ภาพดังกล่าวจึงหาใช่การกระซิบกระซาบเล้าโลมบอกรักของหนุ่มสาว ดังที่มีการแปลความหมาย หรือสรรค์สร้างนำความงดงามของถ้อยคำด้านวรรณกรรมล้านนา เปรียบเปรยบรรยายความงดงามของภาพ ในแนวทางโน้มเอียงเป็นรูปแบบศิลปะกามวิสัย ซึ่งอาจนำเยาวชนสู่การเข้าใจคลาดเคลื่อน จากลักษณะท่าทางการแสดงออกของรูปภาพตามเจตนารมณ์ของศิลปิน

และอาจเป็นการก้าวล้ำวิถีวัฒนธรรมอันงดงามของชาวน่านในอดีตสู่ทิศทางที่ไม่เหมาะสมได้

 

ภาพภาพนี้ หนานบัวผันได้แหวกความจำเจในการสืบสานรูปแบบการเขียนภาพไทยที่นิยมเขียนหน้าตาของคนทั้งหญิงชายต้องอยู่ในทรงวงรีลักษณะเป็นรูปไข่ เป็นกลมแป้นใกล้เคียงกับความเป็นจริงของสตรีคนพื้นเพ และของชายมีกรามเหลี่ยม

นอกจากนั้น ขนาดสรีระของทั้ง ปู่ม่าน ย่าม่าน นั้นมีขนาดใหญ่เกือบเท่าคนจริง ซึ่งไม่เคยปรากฏอยู่ในสารบบของภาพเขียนในเรื่องราวใดๆ ของจิตรกรรมไทย นอกจากเป็นภาพเขียนบนด้านในของประตูโบสถ์ที่เขียนภาพเทวดายืนหันหน้าเข้าหากันอยู่บานละองค์ เรียกภาพชนิดนี้ว่า “ทวารบาล” เท่านั้น

จึงน่าจะมีเหตุผลที่ตัวผู้วาดต้องการจะเน้นถึงสิ่งที่ตั้งข้อสังเกตนี้ไว้อย่างแน่นอน ซึ่งต้องอาศัยผู้รู้และสันทัดในวิชาโบราณคดีเป็นผู้ค้นหา เพื่อนำไปสู่การถอดรหัสที่แอบแฝงไว้ให้เป็นที่กระจ่างกันต่อไป

หนานบัวผัน อัจฉริยะจิตรกรแห่งล้านนา ยังได้ฝากฝีมือไว้ก่อนหน้าที่ “วัดหนองบัว” ซึ่งไม่ไกลจากวัดภูมินทร์นัก ซึ่งเขียนเรื่องจันทคาธชาดก และพุทธประวัติ

จันทคาธชาดกเป็นนิทานธรรมที่นิยมเล่ากันแพร่หลายทั้งล้านนาและล้านช้าง เพื่อสอนให้กุลบุตรกุลธิดาให้รับแบบอย่างจริยธรรมที่ดีงาม เช่น การเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ความเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที มีความซื่อสัตย์และเมตตากรุณา

ภาพดงกล้วยเป็นการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเหมือนจริงจากธรรมชาติ ด้วยการจัดวางจังหวะและการเคลื่อนไหวของต้นกล้วยแต่ละต้นเข้าด้วยกันอย่างมีความสุนทรียภาพ และการแสดงออกในรูปลักษณ์ที่เริ่มต้นเป็น realistic art อย่างที่ไม่เคยปรากฏในงานภาพเขียนไทยมาก่อน

จากสมุดกระดาษสาที่เป็นผลงานการเขียนภาพด้วยปากกาและหมึกดำ ทำให้เห็นได้ว่า หนานบัวผัน เป็นผู้เก่งกาจในเรื่องการวาดเส้น (Drawing) และเป็นนักศึกษาศิลปะตัวยง

ภาพหนุมานทำให้สามารถปักใจได้เลยว่า หนานบัวผัน ได้เคยเดินทางมากรุงเทพฯ และได้ชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ระเบียงวัดพระแก้วและเก็บบันทึกไว้ในความทรงจำบนสมุดบันทึกเล่มนั้น รวมทั้งศึกษาความเคลื่อนไหวของสรรพสัตว์และสิ่งรอบตัว อาทิ ภาพการเคลื่อนไหวของนก

และนำมาเขียนเป็นภาพประกอบในบางจังหวะ

ภาพชายลึกลับที่เป็นปริศนา

ก่อนจะกลับจากวัดภูมินทร์ และดูภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” เป็นครั้งสุดท้าย

สายตาเจ้ากรรมแอบไปเห็นภาพอยู่ภาพหนึ่ง น่าจะเป็นรูปชายสูงอายุ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้มีฐานะ เป็นรูปเหมือนคนภาพแรกที่ให้ความรู้สึกเหมือนจริง มีการแสดงออกจากอากัปกิริยาผิดแผกไปจากภาพไทยทั่วไป

และภาพชายปริศนานี้โผล่เพียงครึ่งตัวจากบานหน้าต่าง แบบโดดๆ ไม่ไกลจากรูป “ปู่ม่าน ย่าม่าน” เสมือนกำลังจ้องมองทั้งคู่อย่างมีเลศนัย

ทำให้ต้องกลับมาคิดเป็นการบ้านว่า อาจเป็นความจงใจที่หนานบัวผันแอบซ่อนเรื่องราวไว้เป็นปริศนาให้ต้องขบคิด

เช่น ทำไมรูป “ปู่ม่าน ย่าม่าน” จึงแสดงอากัปกิริยาต่อกันแบบนั้น และมีขนาดสัดส่วนของสรีระใหญ่โตเกือบเท่าคนจริงเหมือนมีการจงใจ ทั้งๆ ที่ทั้งคู่ไม่ได้เป็นตัวเอกในเรื่องราวของงานจิตรกรรมชุดนั้น

รวมทั้งภาพชายปริศนาที่มีลักษณะสูงศักดิ์ที่ปรากฏอยู่ใกล้ๆ กันก็ดี

จึงอดหวาดระแวงไปด้วยความเชื่อและคุ้นเคยเสมอตลอดมาว่า ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตมักจะประสบสำเร็จกับการสร้างสรรค์งานศิลปะ ด้วยพรสวรรค์ที่พระเจ้าประทานให้

แต่เทพเจ้าแห่งโชคมักจะลำเอียงใส่ความโหดร้ายให้แบบไม่ยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็น… วินเซนต์ แวน โก๊ะ – โมดิกริญานี่ – เบอร์นาร์ด บุฟเฟ่ แม้กระทั่งสุดยอดมหากวีของไทยอย่าง ศรีปราชญ์… ต้องพบความชอกช้ำกับชีวิตที่แสนรันทดเป็นการตอบแทน

ดังนั้น ภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” อาจสันนิษฐานได้ว่า เป็นการกระซิบร่ำลาก่อนเดินทางไปกรุงเทพฯ ของหนานบัวผัน ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการเดินทางเนิ่นนานจากการคมนาคมในสมัยนั้น…และช่วงเวลาดังกล่าว

…อาจมีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เมื่อหนานบัวผันกลับมาเมืองน่านอีกครั้ง ต้องพบสิ่งที่เขาไม่คาดฝัน…อันน่าจะเป็นปริศนาที่ต้องขบคิด และนำมาถอดรหัสเจตนาของหนานบัวผัน กับภาพอมตะที่เขาได้ทิ้งไว้ให้เป็นสมบัติที่ทรงคุณค่าของชาวล้านนา และโด่งดังมาตราบเท่าทุกวันนี้

ข้อมูลบางส่วนจาก : หนังสือ จิตรกรรมฝาผนัง วัดภูมินทร์ – วัดหนองบัว ของ วินัย ปราบริปู