ศัลยา ประชาชาติ : พิษไวรัส-ภัยแล้ง นักท่องเที่ยวหาย ฉุดจีดีพีหด เศรษฐกิจไทยซึมยาว

แรงเหวี่ยงของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้าย 2562 ติดหล่มภัยแล้งทั่วประเทศ บวกกับงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ล่าช้าไปถึง 6 เดือน ต่อเนื่องด้วยพิษไวรัสโคโรนา ลามถึงธุรกิจทุกเซ็กเตอร์

ทั้งสภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจไทย จึงปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่ยกแผง

ซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา พ่นพิษใส่ภาค “ธุรกิจท่องเที่ยว” เครื่องยนต์เศรษฐกิจ ที่เป็นพลังขับเคลื่อนร้อยละ 12 ต่อจีดีพี

ตัวเลข “นักท่องเที่ยวจีน” ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวไทยลดลงถึงร้อยละ 80 (มกราคม-เมษายน) จากการรายงานของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 5 แห่งในจีน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 95,000 ล้านบาท

นักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 27.5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด สะเทือนไปถึงเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2563 จำนวน 41.8 ล้านคน 2.22 ล้านล้านบาท “ต่ำกว่าเป้า”

 

นํามาสู่การออกมาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย “ล็อตแรก” จากกระทรวงการคลัง เฉพาะมาตรการสินเชื่ออย่างเดียวต้อง อัดฉีดเศรษฐกิจ-ภาคท่องเที่ยวกว่า 125,000 ล้านบาท ได้แก่

โครงการสินเชื่อ SME ประชารัฐสร้างไทยของธนาคารออมสิน วงเงิน 40,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 7 ปี จ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน 4 ปี

โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ของธนาคารเอสเอ็มอี วงเงิน 15,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี 3 ปีแรก ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลา 7 ปี

โครงการสินเชื่อกรุงไทย SME ของธนาคารกรุงไทย วงเงิน 55,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดต่อรายไม่เกิน 3 เท่าของหลักประกัน ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี จ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน 4 ปี

โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft Loan) ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2 ของธนาคารออมสิน 15,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปีสำหรับปล่อยสินเชื่อให้กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

ขณะที่ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสำหรับปล่อยกู้ต่อให้ SME คิดอัตราร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 50 ล้านบาท สูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี

มาตรการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม ธนาคารออมสิน ขยายเวลาชำระหนี้ 2 เท่า สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยพักชำระหนี้เงินต้นที่มีวงเงินคงเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท 6 เดือน

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผัดผ่อนการชำระครั้งละไม่เกิน 12 เดือน ต่อเนื่องไม่เกิน 5 ครั้ง หรือขอปรับโครงสร้างหนี้ไม่เกิน 20 ปี

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ลดดอกเบี้ยเงินกู้และงวดผ่อนชำระไม่เกิน 6 เดือน ดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 12 เดือน

มาตรการภาษี ขยายการยื่นแบบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป 3 เดือน จากเดิมภายในมีนาคมเป็นมิถุนายน บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายจากการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศเป็นจำนวน 2 เท่า

บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมสามารถหักรายจ่ายจากการต่อเติม-ซ่อมแซมโรงแรมเป็นจำนวน 1.5 เท่า

มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น จากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 8 เดือน หรือถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

 

ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 รุนแรงที่สุดในรอบ 14 ปี มี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีเป็น “หัวเรือใหญ่” ต้องบริหารจัดการน้ำกิน-น้ำใช้กันมือเป็นระวิง

โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม-เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563-2580)

ภายใต้กลไกสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เป็นโรดแม็ปขับเคลื่อน

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ปี 2562/2563 โดยมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ประกอบด้วย ด้านอุปโภค-บริโภค มีพื้นที่เสี่ยงในเขตการประปา 31 จังหวัด และนอกเขตการประปา 38 จังหวัด

ด้านการเกษตร มีพื้นที่เสี่ยงในเขตชลประทาน 36 จังหวัด และนอกเขตชลประทาน 20 จังหวัด พร้อมทั้งเสนอมาตรการรองรับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 อนุมัติงบฯ กลาง เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2562 “ไปพลางก่อน” จำนวน 3,079 ล้านบาท สำหรับแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง 57 จังหวัดของ 5 หน่วยงาน จำนวน 2,041 โครงการ

อาทิ ขุดเจาะบ่อบาดาล 1,100 โครงการ จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน 230 โครงการ ซ่อมแซมระบบน้ำประปา 654 โครงการ และโรงพยาบาล 157 โครงการ โดยโครงการทั้งหมดต้องเสร็จสิ้นภายใน 120 วัน

นอกจากนี้ ไฟเขียวโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้ง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ มีเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธาน

ระดับที่ 2 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มี พล.อ.ประวิตรเป็นประธาน และระดับ 3 หรือ “ระดับวิกฤต” ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน

 

ขณะที่ “ปัจจัยแทรกซ้อน” กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องการตราร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ “โครงการลงทุนใหม่” ไม่สามารถเบิกจ่ายได้กว่า 3-4 แสนล้านบาท

คาดว่าจะมีเวลาเบิกจ่ายงบประมาณ 2563 ได้เพียง 4 เดือน

จากปัจจัยเสี่ยง-ปัจจัยแทรกซ้อนทั้งหมด “ครม.เศรษฐกิจ” จึงต้อง “ปรับลดตัวเลขคาดการณ์” เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้ม “ชะลอตัวลง” และ “ขยายตัวต่ำ” กว่าประมาณการ

สะท้อนจากเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายสำคัญ ได้แก่ มูลค่าการส่งออกไตรมาสที่ 4 ลดลงร้อยละ 4.5 และการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่ 4 ลดลงร้อยละ 18.3 เป็นรายจ่ายประจำลดลงร้อยละ 14 และรายจ่ายลงทุนลดลงร้อยละ 65.4

ขณะที่เครื่องชี้ด้านการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีผลผลิตการเกษตรในไตรมาสที่ 4 ลดลงร้อยละ 1.5 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 6.9

หลายหน่วยงานได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.5-2.6 และจะปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 2.7-2.8 ในปี 2563

ดังนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะต่ำกว่าประมาณการครั้งที่ผ่านมาที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7-3.7 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 3.2 โดยสภาพัฒน์จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 อย่างเป็นทางการในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้

 

โดยในช่วงครึ่งปีหลัง “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เตรียมออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ “รอบใหม่”

รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะเร่งรัดโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น คาดว่า 2 ปีข้างหน้าจะมีเม็ดเงินจากโครงการใหม่ 100,000 ล้านบาท

คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจจึงเข็นทุกวาระ กวาดงบประมาณทุกกองที่เหลือ เพื่อดันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ฝ่าสารพัดปัจจัยเสี่ยงที่รุมฉุดจีดีพีติดหล่ม

เพื่อหาทางให้ฟื้นจากการซมพิษไข้ให้ได้ในช่วงครึ่งปีหลัง