ต่างประเทศอินโดจีน : คอร์รัปชั่นกับประชาธิปไตย

ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นปีล่าสุด ที่จัดทำโดยองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ทรานส์แพแรนซี อินเตอร์เนชั่นแนล-ทีไอ) กัมพูชาถูกจัดอยู่ในอันดับ 162 จากจำนวน 180 ประเทศ

เพ็ช พิเสย ตัวแทนทีไอประจำสำนักงานพนมเปญชี้ให้เห็นว่า อันดับที่ว่านั้น ไม่เพียงทำให้กัมพูชาครองแชมป์ชาติที่คอร์รัปชั่นมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่าภาวะคอร์รัปชั่นในประเทศไม่ได้กระเตื้องขึ้นเลยแม้แต่น้อยในช่วงระยะเวลา 1 ขวบปีที่ผ่านมา

กัมพูชายังทำคะแนนได้เพียง 20 คะแนน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ 43 คะแนนอยู่เยอะมาก แถมยังเป็นคะแนนเดียวกันที่ได้รับในการสำรวจเพื่อจัดอันดับปีก่อนหน้านี้ และการอยู่กับที่ดังกล่าวทำให้อันดับลดลงมาอีก 1 อันดับ

เพ็ชตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ดูเหมือนว่าดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในแวดวงการเมืองการปกครองของประเทศ

ข้อน่าสังเกตก็คือ ในการเผยแพร่อันดับเมื่อครั้งที่ผ่านมา ปฏิกิริยาของทางการก็คือ การออกมาแถลงโจมตีว่าดัชนีทีไอจัดทำขึ้นอย่างลำเอียงและ “ไม่ได้สะท้อนสถานการณ์ที่แท้จริง” ของประเทศ

 

ถึงปีนี้ ก่อนที่จะมีการเผยแพร่อันดับใหม่ไม่นาน รัฐบาลก็ประเดิมปีใหม่ด้วยการเล่นงาน เกม โสขา ผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญด้วยข้อหา “กบฏ” ท่ามกลางเสียงกล่าวหากระหึ่มว่า “เป็นการเล่นงานด้วยเหตุผลทางการเมือง”

ส่งผลให้อันดับที่ออกมาเป็นไปอย่างที่เพ็ช พิเสย ให้คำนิยามเอาไว้ว่า “ไม่มีความหวัง” หลงเหลืออยู่มากมายเท่าใดนัก

เพ็ชอธิบายว่า สถานะด้านคอร์รัปชั่นของกัมพูชา คงที่มานานหลายปี จนกระทั่งเริ่มถดถอยลงตั้งแต่ปี 2018 ที่ผ่านมา

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการจัดอันดับในปีนี้คือภาพรวมของพฤติกรรมของทางการ ตั้งแต่การจำกัดการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ, การดำเนินการเพื่อปิดปากใครก็ตามที่แสดงทัศนะไม่ลงรอยกับทางการ และการสงวนกระบวนการตัดสินใจในทุกเรื่องไว้ในมือของคนเพียงไม่คนเท่านั้น

เพ็ชตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ปัจจัยทำนองเดียวกันนี้ส่งผลกระทบให้อันดับของหลายประเทศลดต่ำลง ไม่เพียงแค่กัมพูชา แต่ยังรวมถึงเวียดนามและประเทศใหญ่โตอย่างจีนอีกด้วย

รวมทั้งประเทศที่มีอันดับอยู่เหนือกัมพูชาไม่มาก และได้ชื่อว่าเป็นชาติคอร์รัปชั่นมากที่สุดเป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเมียนมา ทั้งๆ ที่อยู่ภายใต้ปกครองของนักสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างออง ซาน ซูจี

 

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ก็เผยแพร่ผลการจัดอันดับของตนเองที่เรียกว่า “โกลบอล เดโมเครซี อินเด็กซ์” ออกมาเช่นเดียวกัน

ที่เป็นการให้คะแนนเพื่อจัดอันดับความเป็นประชาธิปไตยใน 5 หมวดสำคัญ คือ กระบวนการเลือกตั้งและการยึดถือพหุนิยม, การทำหน้าที่ของรัฐบาล, การมีส่วนร่วมทางการเมือง, วัฒนธรรมการเมือง และเสรีภาพของพลเมือง

ปรากฏว่ากัมพูชาได้คะแนนรั้งท้ายทั้ง 4 หมวด อยู่ที่ 3.5 จากคะแนนเต็ม 10 และถูกจัดอันดับอยู่ที่อันดับ 124 ของโลก ต่ำกว่าระดับสูงสุดที่เคยทำได้ 4.96 คะแนนเมื่อปี 2012 อยู่มากมายทีเดียว

และยังเป็นอันดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ของกัมพูชา นับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีนี้ขึ้นมาครั้งแรกในปี 2006 อีกด้วย แม้ว่าอันดับประชาธิปไตยของกัมพูชาจะยังคงถูกจัดให้อยู่เหนือกว่าเวียดนามและลาวก็ตามที

ที่น่าคิดก็คือ ทั้งดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นและดัชนีประชาธิปไตย ล้วนสะท้อนความเชื่อมโยงของทั้งสองอย่างนี้เอาไว้อย่างชัดเจน

ยิ่งไร้ประชาธิปไตยมากเท่าใด ยิ่งยากที่จะกำจัดคอร์รัปชั่นออกไปจากระบบการเมืองการปกครองของประเทศอย่างแน่นอน