ขอแสดงความนับถือ /ฉบับประจำวันที่ 7-13 กุมภาพันธ์ 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

เดือนแรกของปี

ผ่านไปอย่าง “หนักหน่วง”

ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม

หลายคนสั่นคลอน ร้อนรุ่ม

ดังนั้น จงใช้สัปดาห์แรกแห่งเดือนสอง ที่มีวันพระใหญ่ คือ “มาฆบูชา”

เป็น “ร่มไม้” ให้คลายร้อนรุ่มเถิด

ดังคำแนะนำจากไปรษณียบัตรฉบับนี้

 

“การศึกษาธรรมด้วยความศรัทธา จะได้ทั้งสติ และสมาธิ

เมื่อศึกษาแล้วนำไปปฏิบัติ

จะเกิดปัญญา เห็นธรรม

ปัญญาเป็นแสงสว่าง

กำจัดอวิชชา

เมื่อไม่มีอวิชชา ก็เข้าถึงนิพพานเท่านั้นเอง

การได้มาซึ่งปัญญา พระองค์บอกไว้ในพละ 5 หรืออินทรีย์ 5 คือ

1) ต้องมีศรัทธา

2) ต้องมีวิริยะ

3) ต้องมีสติ

4) ต้องมีสมาธิ

5) จึงจะมีปัญญา

และปัญญาจะได้มาอีกทาง โดยหลัก 3 ประการคือ

1) ปริยัติ คือการศึกษาธรรม ตามหลักธรรมต่างๆ

2) ปฏิบัติ คือการนำหลักธรรมมาปฏิบัติ

3) ปฏิเวธ คือผลที่ได้จากข้อ 1-2 จะทำให้รู้แจ้ง

การรู้แจ้งนั้นแหละ คือปัญญา

ปัญญานำไปสู่นิพพาน ดังกล่าวแล้ว”

ด้วยความนับถือ

ร.ต.ท.นฐพล พิทักษ์

 

สําหรับมติชนสุดสัปดาห์

แกลเลอรี่ ของกรินทร์ จิรัจฉริยากูล แปลงเป็นแกลเลอรี่ธรรม

พร้อมด้วยรูปและความหมายดีๆ ของ “มาฆบูชา”

รูปที่ไร้ใจครอง ของละไมมาด คำฉวี ลึกซึ้งด้วยบทนิพนธ์ “ดอกไม้ในฝาบาตร”

ขณะที่ “เสฐียรพงษ์ วรรณปก” ซึ่งเริ่มต้นงานชุดใหม่ “สูตรสำเร็จในชีวิต” มาเป็นสัปดาห์ที่ 3

แนะเคล็ดลับ “ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต”

ด้วยนิทานสอนใจ

 

อกิตติดาบส อดีตลูกชายมหาเศรษฐีเมืองพาราณสี บำเพ็ญพรตอยู่ในป่า

ไม่ยอมกินอะไรนอกจากใบหมากเม่าที่ร่วงหล่นลงมา

เอาไปต้มกินทั้งน้ำทั้งใบ ยังชีพอยู่ด้วยอาหารชนิดนี้เรื่อยมา

วันหนึ่งขณะต้มใบหมากเม่าสุกแล้วยกวางบนพื้นรอให้เย็น

มีพราหมณ์แก่คนหนึ่งเดินโซเซมาขอกินบ้าง

ก็ให้ไปจนหมด ตัวเองไม่ได้กินอะไรเลย

เป็นเช่นนี้อยู่สามวัน

วันที่สาม พราหมณ์แสดงตัวว่าเป็นพระอินทร์ปลอมตัวมาเพื่อพิสูจน์ความอดทนของดาบสหนุ่ม

แล้วถามว่าอยากได้พรอะไรไหม ให้ขอมาสักอย่างหนึ่งจะประทานให้

ดาบสหนุ่มแทนที่จะขอทรัพย์สินเงินทอง

กลับขอพรแปลกๆ คือ

ขออย่าได้เห็นคนพาล

อย่าได้ยินคนพาล

อย่าได้อยู่ร่วมกับคนพาล

อย่าได้สนทนาปราศรัยกับคนพาล

อย่าได้ชอบใจคนพาล

“คนพาลเขาทำอะไรให้เจ็บช้ำน้ำใจหรือ จึงไม่อยากพบอยากเห็น” พระอินทร์ถาม

ดาบสหนุ่มจะตอบลุ่มลึก-ร่มเย็นอย่างไร

โปรดพลิกอ่านหน้า 72