ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (7)

คลิกอ่านตอนอื่นๆ

เราได้กล่าวถึงความเห็นของฝ่ายที่สนับสนุนว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นผลสืบเนื่องในสายธารประวัติศาสตร์อันยาวนานไปแล้ว ในตอนนี้ จะกล่าวถึงความเห็นของฝ่ายที่ยืนยันว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสได้ตัดตอนความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ และเป็นเหตุการณ์แตกหักในทางประวัติศาสตร์

นักประวัติศาสตร์ฝ่ายนี้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสกับการปฏิวัติฝรั่งเศสมีเพียงแค่ความสัมพันธ์ในเชิงเหตุปัจจัยและผลลัพธ์เท่านั้น

หมายความว่า เหตุการณ์ก่อน 1789 คือ สาเหตุที่นำไปสู่การปฏิวัติ 1789

แต่การปฏิวัติ 1789 และเหตุการณ์หลังจากนั้นไม่ใช่ความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์จากระบบเก่า

การเกิดขึ้นของชนชั้นกระฎุมพีและวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นมูลเหตุที่ผลักดันให้เกิดการต่อต้านอภิสิทธิ์ที่พวกอภิชนได้รับมาอย่างยาวนาน จนลุกลามกลายเป็นการปฏิวัติขึ้น

อย่างไรก็ตาม เหตุปัจจัยเหล่านี้เป็นเพียงเงื่อนไขหรือสถานการณ์ที่นำพาไปสู่การปฏิวัติเท่านั้น

ส่วนแนวทางต่างๆ ที่บรรดานักปฏิวัติได้ดำเนินการหลังจากนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แยกออกจากอดีตได้

 

Timothy Tackett นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเรื่องปฏิวัติฝรั่งเศสได้อธิบายไว้ใน Becoming a Revolutionary : The Deputies of the French National Assembly and the Emergence of a Revolutionary Culture (1789-1790) ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1996 ว่า ความคิดทางการเมืองและอุดมการณ์วิธีคิดของบรรดาสมาชิกสภาแห่งชาติในช่วงปีแรกๆ ของการปฏิวัติฝรั่งเศสได้เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง ตามโอกาสและเดิมพันในแต่ละช่วงเวลา

สถานการณ์ที่ก้าวรุดหน้าขึ้นเรื่อยๆ และความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เปลี่ยนไปส่งผลให้ความคิดของสมาชิกสภาแห่งชาติเปลี่ยนตามไปด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราสังเกตพฤติกรรม คำอภิปราย และข้อเสนอต่างๆ ของสมาชิกสภาแห่งชาติ จะพบว่ามันเปลี่ยนแปลงไปตามดุลกำลังอำนาจของกลุ่มการเมืองต่างๆ ในสภา

ตั้งแต่ช่วงที่ยึดครองโดยฝ่ายสนับสนุนระบบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ การกำจัดสมาชิกสภากลุ่ม Girondins และการขึ้นมาของกลุ่ม Montagnards

ความน่าสนใจในงานชิ้นนี้ของ Timothy Tackett คือ ข้อเสนอที่ว่าสมาชิกสภาแห่งชาติไม่ได้รับอิทธิพลความคิดปรัชญาแสงสว่าง (Enlightenment) ในยุคศตวรรษ 17-18 แต่เพียงอย่างเดียว

แต่การรุดหน้าขึ้นของสมาชิกสภาแห่งชาติมาจากบริบทในแต่ละช่วงเวลาที่ผลักดันพวกเขา

ในการประชุมสภาฐานันดรในปี 1789 ผู้แทนของฐานันดรที่ 3 ไม่ได้ต้องการเคลื่อนไหวเพื่อล้มระเบียบแบบสถาบันกษัตริย์และไม่ได้สนับสนุนหลักการประชาธิปไตยเท่าไรนัก จนกระทั่งเกิดสถานการณ์ความไม่แน่นอนชัดเจนในทางการเมือง พวกเขาถึงได้ปรับเปลี่ยนความคิดให้ก้าวหน้าขึ้น

เมื่อพิจารณาการอภิปรายในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะพบว่ามีสมาชิกสภาจำนวนมากที่อภิปรายไปในแนวทางที่หลากหลาย ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน และไม่ได้สนับสนุนความคิดแบบปรัชญาแสงสว่างทั้งหมด

ตรงกันข้าม พวกเขาได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับปรัชญาแสงสว่างด้วย

 

การวิเคราะห์เหตุการณ์ใน 10 ปีแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศสแสดงให้เห็นว่า การเกิดขึ้นของแต่ละเหตุการณ์มีลักษณะเฉพาะและสร้างผลลัพธ์โดยเฉพาะของมันเอง

ความเฉพาะเจาะจงเช่นนี้มีมาก จนทำให้ไม่อาจยอมรับได้ว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส คือ ช่วงขยายต่อของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยระบบเก่าแล้ว

หลายเหตุการณ์ในช่วง 1789-1799 ได้เกิดขึ้นมาในลักษณะเป็น “ปฏิกิริยา” ตอบโต้กับอีกเหตุการณ์หนึ่งอย่างทันทีทันใด ไม่ใช่บ่มเพาะสืบเนื่องมาจากระบบเก่า

การล่มสลายของระบบกษัตริย์ไม่ได้เป็นกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่สืบเนื่องมาจากช่วงก่อน 1789 แล้วค่อยๆ พัฒนาจนระเบิดขึ้น

ตรงกันข้าม สถาบันกษัตริย์ฝรั่งเศสปลาสนาการไปในปี 1792 ก็เพราะเป็น “ปฏิกิริยา” ตอบโต้กับกรณีที่กษัตริย์ Louis XVI หลบหนีออกจากประเทศ แต่ถูกจับได้ที่ Varennes ในวันที่ 20-21 มิถุนายน 1791

และเป็นผลสืบเนื่องมาจากหลายเหตุการณ์ ได้แก่ กลุ่มการเมืองปีก radical เช่น พวก Jacobin พวก Montagnard ขึ้นมายึดครองสภาแห่งชาติได้

การกดดันของชาวปารีสในช่วงฤดูร้อน 1792 จนเรียกกันว่าเป็น “ปฏิวัติครั้งที่ 2”

และการแทรกแซงของกษัตริย์ต่างประเทศจนก่อสงครามกับฝรั่งเศส

 

การยึดครองอำนาจในสภาของกลุ่มการเมืองฝ่าย radical ในช่วงปี 1792 ถือเป็นห้วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่พลิกผันการปฏิวัติฝรั่งเศส ความคิดและข้อเสนอของพวกเขาแตกต่างจากความคิดและข้อเสนอของสมาชิกสภาในช่วง 1789-1791 อย่างมาก

นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งจึงยืนยันว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้สืบเนื่องจากระบบเก่า แต่เกิดขึ้นภายใต้บริบทของช่วงเวลาของการปฏิวัติ เราอาจพิจารณาได้จากตาราง