เปลี่ยนผ่าน : เปิดใจ “โสภณ วาราชนนท์” อดีต ผบช.น. 20 ปี หลังเกษียณ กับความห่วงใยถึงตำรวจรุ่นน้องๆ

โดย พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

“อาบน้ำร้อนมาก่อน” เป็นสำนวนที่ผู้มีประสบการณ์ผ่านร้อนหนาวมาแล้ว มักถ่ายทอด-ตักเตือนคนรุ่นหลัง (รุ่นใหม่) ที่กำลังจะ “เปลี่ยนผ่าน” เข้าสู่วัยที่ผู้อาวุโสเหล่านั้นเคยเผชิญมา

สอดคล้องกับคำพูดที่ว่า “บางสิ่งบางอย่างที่คนรุ่นเก่ารู้แต่คนรุ่นใหม่ไม่รู้ ต้องถามหาความรู้ประสบการณ์จากคนรุ่นเก่าบ้าง จะเกิดความสมบูรณ์ขึ้น”

นี่คือประโยคสุดท้ายที่ พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มือสืบสวนสอบสวนผู้ทำคดีสำคัญมาแล้วมากมาย กล่าวกับผู้สื่อข่าวมติชนทีวีในเทปสัมภาษณ์พิเศษ ก่อนจะอำลาจากกัน

ที่บอกว่า “ให้ฟังคนรุ่นเก่าด้วย” คงไม่ได้หมายถึงแค่ผู้ใหญ่วัยใกล้ 80 ปี อย่าง พล.ต.ท.โสภณ กำลังบอกกับเด็กนักข่าวรุ่นหลัง

แต่นี่คือประโยคที่อดีตนายตำรวจคนดัง อยากฝากถึงน้องๆ ในวงการตำรวจยุคปัจจุบันด้วย

พล.ต.ท.โสภณ เล่าว่า แม้บางคนจะมองหรือพูดว่า “ลุงอะแก่แล้วอย่ามายุ่งเลยดีกว่า” แต่ก็จำเป็นต้องพูด ในฐานะที่ตนเองอยู่มาจนถึงขนาดนี้ ผ่านอะไรมาเยอะ จึงอดเป็นห่วงวงการตำรวจในปัจจุบันไม่ได้

ฉะนั้น จะยุ่งในส่วนที่พอจะยุ่งได้ พอจะเตือนได้ ใครจะโกรธจะเกลียดเป็นเรื่องของเขา แต่ถือว่าเราหวังดีต่อส่วนรวม ไม่ได้ว่าหรือเจาะจงใครเป็นการเฉพาะ

ตนเองในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่ได้ติดตามฟังข่าวสารปัจจุบัน ก็รู้สึกเป็นห่วงตำรวจ สงสารตำรวจจากข่าวที่ได้ฟัง

ที่มีเข้ามามากมายไม่เว้นแต่ละวัน

 

เกือบ 20 ปีผ่านมา กับชีวิตหลังเกษียณ พล.ต.ท.โสภณ เล่าว่า ตอนใกล้เกษียณไม่เคยคิดว่าจะทำอะไรต่อ เพียงแต่อยากจะใช้ชีวิตให้สบายๆ ไปเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ เที่ยวจนอายุ 70 กระทั่งเลิกเที่ยวมาแล้ว 9 ปี อยู่แต่ที่บ้าน รับประทานอาหาร นั่งสมาธิ ติดตามข่าวสาร

และในฐานะที่ทำงานมามีคนรู้จักมากมาย ทำให้คนนั้นคนนี้มาเยี่ยมมาพูดคุยบ้าง เมื่อมาย้อนคิดกลับไปก็ไม่อยากว่างเสียทีเดียว อยากหาอะไรทำบ้าง อยากมีอะไรไว้ยึดเหนี่ยวบ้าง แต่ต้องไม่หนักจนเกินไป

จุดนี้ทำให้บางเวลาก็รู้สึกเหงาๆ เหมือนกัน รู้สึกเวิ้งว้าง คิดว่าจะยังอยู่ไปเพื่ออะไร จะไปเสียเลยดีหรือไม่? ก็เคยผ่านช่วงความคิดแบบนั้นมาเช่นกัน

แต่โชคดีที่ชีวิตนี้มีภรรยาที่อารมณ์ดี มีความสามารถจัดหาอาหารได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งการดำรงชีวิตในช่วงที่มีอายุมากเช่นนี้ เรื่องอาหารการกินถือเป็นเรื่องสำคัญมาก สุขภาพจะดี อยู่ที่การดูแลการกินอยู่

พล.ต.ท.โสภณ เล่าว่า ก่อนเกษียณก็เตรียมใจพร้อมและยอมรับสภาพความเป็นจริง ในสัจธรรมที่ว่าเกษียณไปจะไม่มีคนรายล้อม ไม่มีลูกน้องมาหา ไม่มีคนเข้าพบคับคั่งอย่างในอดีตที่มีตำแหน่ง

จุดนี้ตัดใจได้นานแล้วตั้งแต่วินาทีที่ขึ้นไปเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ หลังเป็น ผบช.น. มา 3 ปี และมีภาวะความเครียดจากเรื่องงานมาก

 

ที่สำคัญทุกวันนี้เวลาไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาล ก็เข้าคิวเหมือนคนปกติทั่วไป คือไปตั้งแต่เช้าตรู่ ไม่ได้มีสิทธิพิเศษใดๆ คนที่โรงพยาบาลก็อ่านชื่อ พล.ต.ท.โสภณ คิวต่อไป เชิญตรวจเชิญวัด ก็รู้สึกธรรมดา พอพ้นตำแหน่ง ผบช.น. ก็ทำใจได้ ดีที่เตรียมสภาพจิตใจพร้อมมานานแล้ว

ส่วนลูกน้องที่เคยช่วยๆ ไว้ ชาวบ้านที่เคยช่วยเหลือดูแล เขาจะคิดถึงเราหรือไม่ เป็นเรื่องของเขา แต่เราจะไม่ไปรำลึกสำนึกบุญคุณอะไรทั้งสิ้น

ทั้งนี้ เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสนัดสัมภาษณ์ พล.ต.ท.โสภณ ผู้ที่เคยเป็นบุคคลสำคัญในวงการตำรวจทั้งที จึงอดไม่ได้ที่จะคุยกันถึงประเด็นร้อนๆ และที่เคยร้อน แต่ยังมีผลผูกพันมาจนถึงวันนี้หลายๆ เรื่อง

เช่น กรณีของคำสั่งยุบ-เลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่เป็นข่าวร้อนแรงในวงการสีกากี ซึ่ง “อดีตจอมคนนครบาล” มองว่าเจตนาลึกๆ ของคำสั่งนี้ ออกมาเพื่อแก้ไขเรื่อง “ตำแหน่ง” หน้าที่การทำงานมากกว่าแก้ไขเรื่อง “การทำงาน”

ส่วนในเรื่องของเนื้องานคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยมองว่าคนที่เป็นพนักงานสอบสวนมีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง และเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม เป็นหน้างานที่มีความเครียดและกดดันสูง การแก้ไขครั้งนี้อาจจะไม่ได้มีอะไรมาก

และคิดว่าคงมีอีกหลายคำสั่งในอนาคต ที่จะทยอยประกาศออกมาเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบและโครงสร้างตำแหน่งหน้าที่ของตำรวจ

 

ทว่า ในมุมมองของ พล.ต.ท.โสภณ ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมตำรวจนั้นอยู่ที่ “คน” ถ้า “คนดี” เวลามีปัญหาอะไรก็แก้ไขได้หมด

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการตำรวจเป็นปัญหาของคน และถ้าแก้การบริหารงานบุคคลในสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้ จะแก้กฎใดๆ ปรับโครงสร้างเท่าไหร่อีกกี่ร้อยกี่พันครั้ง แต่คนยังเหมือนเดิม ปรับโครงสร้างไปก็เท่านั้น เมื่อตำรวจไม่ได้ดีขึ้น จึงมองว่าต้องแก้ที่ “คน””

อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีหน้าที่บริหารและผู้ที่มีอำนาจ อาจไม่เข้าใจและอาจทำให้งานของตำรวจมีปัญหา ฉะนั้น คนมีอำนาจเหล่านี้ต้องเรียกจิตสำนึกกลับคืนมา ถึงเวลาจะต้องช่วยกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะมีก๊กแบ่งพวกหรือไม่ ต้องสามัคคีกัน

พร้อมมองว่าตำรวจชั้นผู้น้อย ตัวเล็กๆ เด็กๆ ยังสร้างปัญหาไม่ได้มากเท่ากับผู้ใหญ่ผู้ที่มีอำนาจ

ส่วนการปฏิรูปแก้ไขงานตำรวจแต่ละครั้งที่ผ่านๆ มา ก็เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน อาทิ การเลือกหยิบแต่ประเด็นพนักงานสอบสวนมาพิจารณา ทั้งที่ในสถานีตำรวจ (โรงพัก) มีหลายงานที่รองรับความต้องการของสังคมปัจจุบัน

การปรับโครงสร้างแค่งานสอบสวนจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องปรับการทำงานทุกด้าน และหากจะปรับปรุงทั้งที ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ก็ต้องปรับทุกสายงานของโรงพักให้รองรับความต้องการของสังคมจริงๆ

“ในใจเคยคิดอยู่ว่าประชาชนเขาอยากได้หรือต้องการอะไรจากตำรวจ? ส่วนตัวมีคำตอบในใจว่า ประชาชนต้องการการปกป้องคุ้มครองดูแลไม่ให้เดือดร้อน หรืออยากให้ดูแล-สนใจ ให้ความเป็นธรรม เมื่อเขาได้รับความเดือดร้อน เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องที่ต้องเอาไปดำเนินการหาคำตอบให้ได้” พล.ต.ท.โสภณ กล่าว

ส่วนที่ใครๆ มองว่าในสังคมตำรวจมีการแบ่งก๊กแบ่งพวกกันนั้น อดีตนายตำรวจอาวุโสมองว่า โจทย์ที่ต้องแก้ไขคือ ทำอย่างไรให้ในแต่ละพวกมีคนคุณภาพมาช่วยประคับประคององค์กรเอาไว้ให้ได้ เพื่อให้ภาพลักษณ์ของตำรวจออกมาดีมีคุณภาพ

เพราะจริงๆ ในองค์กรตำรวจเอง ก็มีนายตำรวจที่มีเจตนาดีอยู่ไม่น้อย

 

พล.ต.ท.โสภณ ย้ำให้เห็นว่า ปัญหาในวงการตำรวจไม่มีใครรู้ดีไปกว่าตำรวจ จึงอยากถามคนกำหนดนโยบายหรือมีอำนาจกำหนดนโยบายว่ารู้ทิศทางของปัญหาหรือไม่?

ถ้าไม่รู้ อยากให้ลองไปสอบถามความคิดเห็นของผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงพักมานานๆ เข้าใจงานตำรวจลึกซึ้ง แต่ที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจกลับไม่มีการเรียกคนเหล่านี้ไปพูดคุย

จึงถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหารทุกคนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องจับกลุ่มคุยกัน เพื่อตรวจสอบว่าปัญหาที่แท้จริงในองค์กรคืออะไรกันแน่? และจะแก้ไขกันอย่างไร?

ไม่ใช่ฟังจาก “คนนอก” หรือคนรอบข้าง มากกว่า “คนใน” โดยเฉพาะตำรวจเด็กๆ ชั้นผู้น้อย ที่อยู่โรงพักมานาน ซึ่งจะรู้และทราบปัญหาถ่องแท้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญ คือการฟังเสียงผู้ใหญ่ ที่ผ่านประสบการณ์มาก่อนและเห็นอะไรมามาก เพราะหากจะแก้ปัญหาใดๆ โดยไม่สนใจฟังเสียงผู้ที่มีประสบการณ์ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” แล้ว

วงการตำรวจก็จะ…