วิรัตน์ แสงทองคำ : โรงเรียนจากอังกฤษ (จบ) : ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กับ ทยา ทีปสุวรรณ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

โรงเรียนอังกฤษกับสังคมไทยกรณีล่าสุด มีเรื่องราวซับซ้อนอย่างน่าสนใจ

Rugby School Thailand กำลังเปิดการศึกษาขึ้นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2560 นั้นมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กับ ทยา ทีปสุวรรณ (นามสกุลเดิม ศรีวิกรม์) ทั้งคู่มีความสัมพันธ์สำคัญเกี่ยวข้องกันหลายมิติ

นอกจากมีบทบาทในความเคลื่อนไหวทางการเมืองสำคัญกรณี กปปส. (2556-2557) แล้ว ถือว่ามีบทบาททางการเมืองเชื่อมโยงกับพรรคประชาธิปัตย์ ณัฏฐพล เคยลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรค ส่วนทยา เคยเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (สมัยแรก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริบัตร แห่งพรรคประชาธิปัตย์)

เคยนำเสนอมาแล้วว่า นักการเมืองไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความผูกพันกับคนกรุงเทพฯ เป็นพิเศษอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีโมเดลบางอย่างคล้ายกัน พวกเขาเป็นนักเรียนอังกฤษตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนจบอุดมศึกษา โดยเฉพาะจาก Oxford University ในสาขา Philosophy, Politics and Economics หรือ PPE

พวกเขาล้วนเป็นนักการเมืองผู้โดดเด่น สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ได้แก่ อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ผู้จบโรงเรียนมัธยมอังกฤษชื่อดัง Eton College

กรณ์ จาติกวณิช แกนนำคนสำคัญผู้ดูแลนโยบายเศรษฐกิจ จบจากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงอีกแห่ง–Winchester College

และโดยเฉพาะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จบโรงเรียนมัธยมอังกฤษ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีที่กำลังนำเสนอโดยตรง นั่นคือ Rugby School

เฉพาะกรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ให้ภาพเชื่อมโยงกับโรงเรียนอังกฤษอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นราชสกุลบริพัตร–สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรส ร.5 ผู้มีบทบาทสำคัญทางการทหาร ซึ่งก็เคยไปศึกษาในโรงเรียนอังกฤษเมื่อศตวรรษที่แล้ว

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

มุมมองเกี่ยวกับธุรกิจการศึกษากับโรงเรียนอังกฤษ เชื่อว่ามีความสัมพันธ์อย่างซับซ้อน มากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับการเมือง มีหลากหลายมิติ ทั้งโอกาสทางธุรกิจ ความเชื่อ อารมณ์ความรู้สึก ตัวตน ประสบการณ์ จนถึงความเชื่อมโยง และสายสัมพันธ์อันลึกซึ้ง

คู่สามี-ภรรยามีพื้นฐานมาจากครอบครัวธุรกิจไทย ซึ่งผ่านร้อนหนาวมาพอสมควร ตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม จนถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ (อายุประมาณ 51 ปี) เป็นบุตร วีระพันธุ์ ทีปสุวรรณ (อายุประมาณ 75 ปี) ซึ่งเป็นผู้บริหารธุรกิจคนสำคัญของตระกูลรัตนรักษ์ จากข้อมูลที่ว่าณัฏฐพลเกิดที่รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เข้าใจว่าขณะนั้นบิดาของเขากำลังศึกษาอยู่ที่นั่นอย่างต่อเนื่องหลายปี (ปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์ Boston University และ MBA Northeastern University)

ปัจจุบัน วีระพันธุ์ ทีปสุวรรณ เป็นประธานกรรมการบริษัทสำคัญ 2 แห่ง คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปี 2550 ในช่วงเวลาเดียวกับที่ GE Capital แห่งสหรัฐ เข้าถือหุ้นและบริหารกิจการ แม้เมื่อปี 2556 เมื่อธนาคารญี่ปุ่น–BTMU เข้ามาถือหุ้นใหญ่ เขาก็ยังอยู่

อีกแห่ง ปูนซีเมนต์นครหลวง เขาเข้ามาเป็นกรรมการตั้งแต่ปี 2541 ในช่วง Holcim แห่งสวิตเซอร์แลนด์มาถือหุ้นและบริหาร จนปี 2549 เขาได้ขึ้นเป็นประธานกรรมการบริษัท แทนกฤตย์ รัตนรักษ์ จนผ่านช่วงปี 2558 ซึ่ง Holcim ถอนหุ้นไปแล้ว

เชื่อว่าเรื่องราวข้างต้นอาจถือเป็นเพียงความเชื่อมโยงบางส่วน ขณะเรื่องราวฝ่ายภรรยา มีความสัมพันธ์กับกรณีแวดล้อมเกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงเรียนอังกฤษที่กำลังกล่าวถึงอย่างซับซ้อน

ทยา ทีปสุวรรณ

ทยา ทีปสุวรรณ (อายุประมาณ 44 ปี) ทายาทคนสุดท้อง และบุตรีคนเดียวของ เฉลิมพันธ์-ศศิมา ศรีวิกรม์ ครอบครัวธุรกิจที่เริ่มต้นมาจากโอกาสครั้งใหญ่ในยุคสงครามเวียดนาม

เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ (2479-2554) นักเรียนเก่าอเมริกัน สมาชิกในตระกูลเก่าแก่ที่มีรากฐาน (บิดาของเขาคือ พระยาวิกรมาฑิตย์) เริ่มต้นธุรกิจสำคัญ คือโรงแรมในที่ดินมรดกใจกลางกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาเมืองหลวงปรับโฉมครั้งใหญ่ ในช่วงเดียวกัน Pan American Airline สายการบินระดับโลกของอเมริกา ก่อสร้างโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล (ปี 2509)

จากนั้นเดินทางเข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมอันเป็นทิศทางใหม่ในช่วงบุกเบิกผลิตสินค้าไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ โดยเฉพาะกรณีร่วมทุนในปี 2512 กับ American Standard (ปัจจุบันคือ Lixil Group แห่งญี่ปุ่น และเข้าใจว่าตระกูลศรีวิกรม์ไม่ได้เกี่ยวข้องแล้ว)

จากนั้นโอกาสได้เปิดกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเวลาคาบเกี่ยวที่เขามีบทบาทางการเมือง เคยเป็นถึงเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (2522-2526) และรัฐมนตรีอุตสาหกรรม (2534) เขาค่อยๆ ถอยฉากทางการเมืองเมื่อถึงจังหวะเวลาที่ไม่ดีนัก

ขณะที่โอกาสธุรกิจเปิดกว้าง โดยเฉพาะกรณีธุรกิจการเงิน โดยเข้าซื้อกิจการเดิมของธนาคารแห่งอเมริกาในปี 2531 ต่อมา คือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีธนา ขณะนั้นเชื่อว่าจะกลายเป็นธุรกิจธงนำ

เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ปี 2540 ธุรกิจตระกูลศรีวิกรม์ คือธุรกิจครอบครัวหนึ่งต้องประสบชะตากรรม พร้อมๆ กับครอบครัวธุรกิจรากฐานเดิมของสังคมไทย บริษัทเงินทุนถูกปิดกิจการ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

บาดแผลในใจของบรรดาผู้เกี่ยวข้องธุรกิจครอบครัวดั้งเดิมหลายคน มักเชื่อมโยงมายังบทบาท IMF (สหรัฐมีบทบาทสำคัญ) กับบริษัทสหรัฐที่เข้ามาแสวงหาดอกผลจากความล่มสลายครั้งนั้น

ส่วนทยาจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนระดับปริญญาโทด้านการบริหารจัดการระบบข้อมูล เธอได้หันเหแตกต่างออกไปโดยเข้าศึกษาสถาบันในอังกฤษ เมื่อจบการศึกษาได้เข้าทำงานธนาคารไทยพาณิชย์ในช่วงสั้นๆ

เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ในปี 2540 เธอจึงกลับเข้าสู่ธุรกิจครอบครัว บริหารโรงเรียนศรีวิกรม์ ซึ่งบิดาของเธอก่อตั้งปี 2506 ถือเป็นธุรกิจแรกของครอบครัว

กลายเป็นโมเดลธุรกิจคลาสสิค อ้างอิงกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลายเป็นธุรกิจคลาสสิค ธุรกิจครอบครัวดั้งเดิม ในฐานะผู้ครอบครองที่ดินในย่านสำคัญๆ

ว่าไปแล้ว โดยรวมธุรกิจตระกูลศรีวิกรม์ได้กลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง ดูเหมือนมีทิศทางที่ผสมผสานกันอย่างน่าสนใจ ธุรกิจดั้งเดิม บางธุรกิจสูญเสียไป บางธุรกิจยังอยู่ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พัฒนาไปเป็นขั้นๆ ไม่ว่าศูนย์การค้า โรงแรม ที่อยู่อาศัย หรือบ้านพักตากอากาศ

ความสัมพันธ์กับธุรกิจสหรัฐดูเหมือนมีการเริ่มต้นใหม่ๆ บ้างเช่นกัน กรณี Intercontinental hotel หลังจากความสัมพันธ์เดิมจบลงในช่วงหลังวิกฤตการณ์ปี 2540 ในช่วงกลุ่มสยามพิวรรธน์ก่อตั้งขึ้น ได้หันมาร่วมมือกับตระกูลศรีวิกรม์

ศศิมา ศรีวิกรม์ ยังคงมีบทบาทอยู่ ในฐานะนักเรียนเก่าอเมริกันผู้มีชื่อเสียง มาจากครอบครัวรากฐานสังคม มารดาของเธอเป็นบุตรีของ ควง อภัยวงศ์ ผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์

เธอเองมีพื้นฐานครอบครัวธุรกิจเช่นกัน ในฐานะคนของตระกูลวุฒินันท์ ซึ่งมีธุรกิจสำคัญหนึ่งควรกล่าวถึง บริษัทไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ ก่อตั้งในปี 2512 ตามกระแสบุกเบิกอุตสาหกรรม โดยร่วมกับผู้ผลิตเซรามิกชั้นนำของประเทศเยอรมนี

ต่อมามีเครื่องหมายการค้า “CAMPANA” ในปี 2522 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2523 ขยายกิจการขยายตัวท่ามกลางการแข่งขัน ปี 2536 ได้ย้ายฐานการผลิตมายังนิคมอุตสาหกรรมหนองแค สระบุรี แต่แล้วในปี 2551 เมื่อผ่านช่วงการแข่งขันอันเหนื่อยล้า ตัดสินใจขายกิจการให้เครือซิเมนต์ไทย หรือ SCG

ศศิมา มีชื่อเสียง มีบทบาทโดดเด่นเคียงคู่กับสามี บางครั้งได้กระโจนเข้าสู่การเมือง ซึ่งมักไม่ประสบความสำเร็จ

ในภาพใหญ่บรรดาทายาทของเธอทั้งหมด ล้วนเจริญรอยตามหลายสิ่งหลายอย่างของบิดา-มารดา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาตามแบบฉบับอเมริกัน (ยกเว้นทยาคนเดียว) และบ่อยครั้งก็เข้าสู่การเมือง ภายใต้สายสัมพันธ์ค่อนข้างซับซ้อน โดยทั่วไป เมื่อพวกเขาเข้าสู่แวดวงธุรกิจ มักเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถพอตัว

จะว่าเป็นโมเดลธุรกิจครอบครัวดั้งเดิมที่มีลักษณะเฉพาะก็ว่าได้ ว่าด้วยการปรับตัวอย่างยืดหยุ่น ภายใต้สิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ และกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะหลังๆ มานี้ สร้างสัมพันธ์กับอังกฤษมากเป็นพิเศษ ด้วยมุมมองธุรกิจตามกระแส ในความหมายที่แตกต่างจากธุรกิจแบบฉบับดั้งเดิม

–ปี 2558 ศศิมา ศรีวิกรม์ ร่วมมือกับพันธมิตรนักธุรกิจไทย เข้าซื้อสโมสรฟุตบอลอังกฤษ-Reading ตามกระแสธุรกิจไทยซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านั้น ตามกระแสธุรกิจผู้มั่งคั่งระดับโลก

–จนมาถึงปี 2559 ความคิดชักนำโรงเรียนอังกฤษเริ่มต้นอย่างจริงจัง ทยา ทีปสุวรรณ ในฐานะผู้จัดการโรงเรียนศรีวิกรม์ เคยกล่าวไว้ว่า มีความพยายามจะขยายจินตนาการโรงเรียนดั้งเดิม โรงเรียนศรีวิกรม์ ให้เป็นโรงเรียนนานาชาติ ด้วยแผนการร่วมมือกับโรงเรียนอังกฤษ แต่จะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ได้กลายเป็น Rugby School Thailand ซึ่งตั้งขึ้นในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษโครงการชายฝั่งทะเลตะวันออก ในเนื้อที่ค่อนข้างกว้างเกือบๆ 200 ไร่

เป็นไปได้ว่าเป็นโมเดลเทียบเคียงกับ Rugby School UK ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่กว้างใหญ่นอกเมือง อีกด้านหนึ่งอาจเป็นแผนการเชื่อมโยงกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เชื่อว่ายั่งยืนในแผนการที่ใช้เวลาพอสมควร

อย่างไรก็ตาม กรณีข้างต้น สะท้อนโมลเดลธุรกิจครอบครัวหนึ่ง ธุรกิจครอบครัวดั้งเดิม ซึ่งแสดงตัวตน แสดงสายสัมพันธ์กับกระแสสังคมในช่วงบริบทต่างๆ อย่างเปิดเผย