คนมองหนัง | ล่ามสาว “ชารอน ชเว” กับภารกิจพาคนใน “โลกภาษาอังกฤษ” กระโดดข้าม “กำแพงสูง 1 นิ้ว”

คนมองหนัง
ชารอน ชเว (ผู้หญิงสวมแว่นคนกลาง) ถ่ายโดย Robyn BECK / AFP

เมื่อฤดูกาลประกาศผลรางวัลทางภาพยนตร์ประจำปี 2019 ในฝั่งอเมริกากำลังงวดเข้าสู่จุดไคลแมกซ์

หนึ่งในหนังที่ถูกแสงสปอตไลต์จับจ้องก็คือ “Parasite” จากเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึง 6 สาขา

มิใช่เพียงผู้กำกับฯ อย่าง “บงจุนโฮ” และทีมงานนักแสดงของ “Parasite” จะได้รับการจับตามองจากสื่อสหรัฐเท่านั้น

ทว่าอีกคนที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่แพ้กัน ก็คือ “ชารอน ชเว” ผู้ทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาอังกฤษข้างกาย “บงจุนโฮ”

ชารอนเริ่มต้นทำงานเคียงคู่กับผู้กำกับฯ หนังเรื่อง “Parasite” ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เมื่อหนังเรื่องนี้คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์

เดิมที “ชารอน ชเว” มีสถานภาพเป็นคนทำหนังรุ่นใหม่วัย 20 กลางๆ (อายุ 25 ปีในปัจจุบัน) ที่ไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ และไม่เคยผ่านประสบการณ์การทำงานในฐานะล่ามมืออาชีพมาก่อน

แต่เธอกลับสามารถแปลการแสดงความเห็นที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และสลับซับซ้อนในภาษาเกาหลีของ “บงจุนโฮ” ออกมาเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างครบถ้วน กระชับ และเฉียบคม พร้อมการหยอดมุขเด็ดๆ ดึงดูดใจผู้ฟัง

กระทั่งหลายคนเห็นว่าชารอนคือผู้มีบทบาทสำคัญยิ่ง ซึ่งช่วยสนับสนุนให้ “Parasite” กลายเป็นตัวเต็งเบอร์ต้นๆ ที่จะคว้ารางวัลสำคัญๆ ในงานออสการ์ต้นปีนี้

เมื่อ “บงจุนโฮ” ได้รับเชิญไปออกรายการทอล์กโชว์ “The Tonight Show Starring Jimmy Fallon” ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และถูกขอให้ช่วยอธิบายเรื่องราวย่อๆ ของ “Parasite”

เขาหลีกเลี่ยงที่จะเปิดเผยรายละเอียดสำคัญๆ ของหนังเรื่องนี้ รวมทั้งวอนขอให้ผู้ชมชาวสหรัฐอย่าแชร์ข้อความภาษาอังกฤษที่สปอยล์เนื้อหาของหนัง

ชารอนได้สื่อสารเจตนารมณ์ของ “บงจุนโฮ” ออกมาเป็นภาษาอังกฤษอย่างสละสลวยว่า “I”d like to say as little as possible here, because the film is best when you go into it cold.” (ผมอยากที่จะพูดอธิบายอะไรให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ในรายการนี้ เพราะหนังจะมีความสนุกสุดยอดเอามากๆ ก็ต่อเมื่อคุณเข้าไปดูมันโดยไม่รู้อะไรมาก่อนเลย)

คลิปการแปลคำตอบดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่ในยูทูบ และมียอดคลิกชมเกิน 1 ล้านครั้ง โดยคนดูจำนวนมากได้เข้ามาคอมเมนต์ชื่นชมการทำหน้าที่ล่ามของชารอน

มีผู้ชมบางรายไปทวีตข้อความในทวิตเตอร์ว่า “ชารอน ชเว” คือ “ผู้เล่นทรงคุณค่าประจำฤดูกาลมอบรางวัลรอบนี้”

ต่อมา ในงานประกาศรางวัลลูกโลกทองคำเมื่อวันที่ 6 มกราคม ชารอนและทักษะการแปลภาษาอันดีเยี่ยมของเธอก็สามารถขโมยซีนบนเวทีได้อีกหน

หลังขึ้นไปรับรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม “บงจุนโฮ” ได้กล่าววิพากษ์เป็นภาษาเกาหลี ถึงปัญหาที่คนดูหนังอเมริกันมักไม่ค่อยมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์นอกโลกภาษาอังกฤษ เพราะนิสัยไม่ชอบอ่านซับไตเติล

“ชารอน ชเว” ได้แปลความเห็นดังกล่าวโดยตัดทอนเนื้อหาประกอบเล็กๆ น้อยๆ ออกไป และสรุปใจความหลักภายในประโยคเดียวอย่างคมคายว่า

“Once you overcome the one-inch tall barrier of subtitles, you will be introduced to so many more amazing films.” (เมื่อพวกคุณสามารถก้าวข้ามอุปสรรคกีดขวางที่มีความสูงเพียง 1 นิ้วอย่างซับไตเติลมาได้ พวกคุณก็จะพบพานกับภาพยนตร์ที่มหัศจรรย์อีกเป็นจำนวนมาก)

ไม่น่าแปลกใจที่ในการให้สัมภาษณ์หลังพิธีมอบรางวัลลูกโลกทองคำเสร็จสิ้นลง “บงจุนโฮ” จะกล่าวถึง “ชารอน ชเว” เอาไว้ว่า

“เดี๋ยวนี้เธอมีแฟนคลับกลุ่มใหญ่แล้วนะ เธอทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากๆ พวกเรา (ทีมงานหนังเรื่อง “Parasite”) ต่างต้องพึ่งพาเธออยู่เสมอ”

ก่อน “ชารอน ชเว” จะกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง “ปักชานวุก” คนทำหนังชาวเกาหลีอีกราย ผู้โด่งดังจากผลงานเรื่อง “Old Boy” ก็มีล่ามภาษาอังกฤษคู่ใจชื่อ “จองวอนโจ” ซึ่งสร้างชื่อเสียงจากการแปลข้อความภาษาเกาหลีเป็นอังกฤษได้อย่างแคล่วคล่องว่องไว

“จองวอนโจ” ซึ่งไปใช้ชีวิตในนิวซีแลนด์ตั้งแต่อายุ 12 ปี เป็นมากกว่า “ล่ามธรรมดา” เพราะเขายังทำหน้าที่เป็น “โปรดิวเซอร์ร่วม” ในหนังเรื่อง “Stoker” และ “The Handmaiden” ของ “ปักชานวุก”

สำหรับ “จองวอนโจ” วิชาชีพล่ามและโปรดิวเซอร์หนังนั้นไม่ได้มีความผิดแผกแยกขาดจากกันอย่างที่หลายคนคาดคิด

ดังที่เขาเคยอธิบายเอาไว้ว่า

“งานทั้งสองชนิดล้วนเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดแนวความคิดและการสร้างสะพานเชื่อมโยงความแตกต่าง ภารกิจของงานทั้งสองอย่างคือการทำให้เกิดความมั่นใจว่ากระบวนการสื่อสารระหว่างปักชานวุกกับทุกๆ คนในกองถ่าย จะดำเนินไปอย่างที่มันควรเป็น ทั้งในแง่ของความเหมาะสมกับกาลเทศะและความชัดเจนของเนื้อความ”

อย่างไรก็ดี บทบาทของล่ามแปลภาษาเช่น “ชารอน ชเว” และ “จองวอนโจ” จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น หากเรานำสถานะของเธอและเขา ไปวางอยู่ในกลุ่มประเทศ “แองโกลโฟน” (ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร)

หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือ โลกของผู้ชมภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

เป็นที่รับรู้กันว่าผู้บริโภคในสองประเทศดังกล่าวมักไม่ค่อยได้ทำความรู้จักกับหนังภาษาอื่นๆ มากนัก เพราะพฤติกรรมการไม่ชอบอ่านซับไตเติลคำบรรยายภาษาอังกฤษ (ดังที่ “บงจุนโฮ” ระบุ)

กระบวนการต่อสู้กับปัญหาข้างต้นมีอยู่หลายรูปแบบ

ข้อหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นคือ การที่คณะผู้จัดงานมอบรางวัลออสการ์ได้เปลี่ยนแปลงชื่อรางวัลสาขา “ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม” มาเป็น “ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม” ในปีนี้

โดยให้เหตุผลว่า คำว่า “ต่างประเทศ” นั้นแลดูล้าสมัยไม่เข้ากับบริบทของชุมชนภาพยนตร์โลกยุคปัจจุบัน ผิดกับคำว่า “นานาชาติ” ที่เหมาะสมกับยุคสมัยมากกว่า ทั้งยังช่วยส่งเสริมมุมมองแง่บวกและครอบคลุมเกี่ยวกับกระบวนการทำหนังและศิลปะภาพยนตร์ในฐานะประสบการณ์อันเป็นสากลของมนุษยชาติ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีกำแพงอีกหลายด่านที่คอยกีดขวางหนังนอกโลกแองโกลโฟน

ในประวัติศาสตร์ 92 ปีของออสการ์ มีหนังที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเพียง 12 เรื่องเท่านั้น ที่สามารถหลุดรอดเข้าไปชิงรางวัลสูงสุดคือภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ไม่นับรวมว่าการประสบความสำเร็จของ “อัลฟอนโซ กัวรอน” จากหนังเม็กซิกันเรื่อง “Roma” ที่คว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์เมื่อปีก่อน และ “บงจุนโฮ” ในปีนี้ ยังอาจเชื่อมโยงกับชื่อเสียงดั้งเดิมที่ทั้งคู่เคยทำหนังภาษาอังกฤษมาก่อน

สำหรับเวทีออสการ์ ผลงานที่มีสิทธิ์เข้าชิงรางวัลสาขาต่างๆ ยกเว้นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ/นานาชาติยอดเยี่ยมนั้น จะต้องเคยเข้าฉายเชิงพาณิชย์ที่ลอสแองเจลิสเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์

ทั้งๆ ที่ในแต่ละปี จะมีหนังภาษาอื่นๆ น้อยเรื่องมากที่ได้โอกาสออกฉายในแอลเอ

แม้รางวัลบาฟต้าหรือตุ๊กตาทองฝั่งอังกฤษ อาจไม่มีกฎกติกาหยุมหยิมเท่าฟากอเมริกา ทว่าตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ก็มีแต่หนังจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ชนะรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ยกเว้นเพียง “Roma” ที่ใช้ภาษาสแปนิชและภาษาพื้นถิ่นของเม็กซิโก และ “The Artist” หนัง “เงียบ” จากฝรั่งเศส ซึ่งชนะรางวัลสาขานี้ในปี 2019 และ 2012 ตามลำดับ

จะเห็นได้ว่า “อุปสรรคเล็กจิ๋วสูงหนึ่งนิ้ว” อย่างซับไตเติลนั้น ได้ขยายอำนาจอิทธิพลไปครอบงำเวทีมอบรางวัลยักษ์ใหญ่ชนิดอยู่หมัด

ทั้งนี้ แม้แพลตฟอร์มดูภาพยนตร์ผ่านระบบสตรีมมิ่งจะมีแนวโน้มเปิดกว้างต่อภาพยนตร์-ซีรี่ส์นานาชาติหลากหลายภาษามากขึ้น แต่พฤติกรรมของผู้ชมหนังออนไลน์ในกลุ่มประเทศแองโกลโฟนกลับยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง

พิจารณาได้จากอันดับหนังเน็ตฟลิกซ์ยอดนิยมประจำปี 2019 ของผู้ชมอเมริกันและอังกฤษ ที่ไม่ปรากฏภาพยนตร์นอกโลกภาษาอังกฤษเลยแม้เพียงเรื่องเดียว

ส่วนอันดับซีรี่ส์เน็ตฟลิกซ์ยอดนิยมฝั่งอเมริกานั้น ยังมี “La Casa de Papel” (Money Heist) และ “Elite” จากประเทศสเปน ที่สามารถทะลุเข้ากลุ่มท็อปเท็นได้สำเร็จ (โดยต้องคำนึงถึงประชากรฮิสแปนิกและลาติโน อเมริกัน จำนวนมหาศาล)

ผิดกับในสหราชอาณาจักร ที่ซีรี่ส์ยอดฮิตสิบอันดับแรกล้วนเป็นผลงานภาษาอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเน็ตฟลิกซ์ออกมายืนกรานว่าจะเพิกเฉยต่อสถิติดังกล่าว และมุ่งมั่นที่จะทุ่มเม็ดเงิน/เปิดพื้นที่ให้แก่สื่อบันเทิงนอกโลกภาษาอังกฤษต่อไป

อีกหนึ่งกลยุทธ์ใหม่ที่เน็ตฟลิกซ์พยายามนำมาช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซ้ำซากจำเจของชาวอเมริกันและอังกฤษ (ตลอดจนคนดูในประเทศอื่นๆ) ซึ่งมักหลีกเลี่ยงหนัง-ซีรี่ส์ภาษาต่างถิ่นและหวาดกลัวซับไตเติลก็คือ การหันไปใช้บริการ “พากย์เสียง”

ดังนั้น เน็ตฟลิกซ์จึงเริ่มต้นนโยบายที่จะ “พากย์เสียงตัวละคร” เป็นภาษาท้องถิ่นต่างๆ (โดยเฉลี่ย 10 ภาษา) ให้แก่โปรแกรมเด่นๆ ของตนเอง

นี่เป็นอีกหนึ่งหนทาง/สะพาน สำหรับคอหนังที่ไม่อยากกระโดดข้าม “เครื่องกีดขวางสูง 1 นิ้ว” ตามคำเปรียบเปรยอันคมคายของ “บงจุนโฮ” และ “ชารอน ชเว”

ข้อมูลจาก

http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20200110000497

https://www.theguardian.com/film/2020/jan/02/lust-in-translation-how-we-fell-for-the-people-giving-arthouse-auteurs-a-voice

https://theconversation.com/anglo-centric-film-culture-and-the-continuing-resistance-to-subtitles-130245