คุยกับทูต ‘ยะอ์ฟัร อัครามี’ สัมพันธ์อิหร่าน-สหรัฐ จากพันธมิตรสู่ศัตรูคู่ปรปักษ์

คุยกับทูต ยะอ์ฟัร อัครามี สัมพันธ์อิหร่าน-สหรัฐ จากพันธมิตรสู่ศัตรูคู่ปรปักษ์ (1)

ในอดีตสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอิหร่านมาก เรียกได้ว่าอิหร่านเป็นพันธมิตรคนสำคัญที่สุดของสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลาง

แต่เกิดความเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979

หลายปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านเป็นไปอย่างคุกรุ่นมาโดยตลอด แม้จะไม่เคยเปิดสงครามกันโดยตรง ด้วยหลายปัจจัยและสาเหตุ โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันและอาวุธนิวเคลียร์ อันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานต่อเนื่องมาเกือบ 7 ทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่วันที่สหรัฐเข้าคุกคามอิหร่านในทศวรรษ 1950

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา สหรัฐส่งโดรนยิงจรวดโจมตีขบวนรถยนต์ของ พล.ต.คัสเซม โซไลมานี (Qasem Soleimani) ผู้นำกองทัพคนสำคัญสังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRGC) ทำให้เสียชีวิตทันที ขณะเดินทางจากสนามบินนานาชาติอิรักในกรุงแบกแดด

พล.ต. กัสเซม โซเลมานี และ นายอาบู มาห์ดี อัล มูฮันดิส – ภาพจาก Fars News Agency

นอกจากนายพลโซไลมานีแล้ว นายอาบู มาห์ดี อัล มูฮันดิส (Abu Mahdi al-Muhandis) รองผู้บัญชาการกองกำลังระดมพล (Popular Mobilisation Committee) แนวร่วมปราบปรามไอเอสของอิรักที่ ก็เสียชีวิตด้วย

ผู้นำอิหร่านออกมาประกาศว่าพร้อมแก้แค้นอย่างสาสมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้โดรนสังหารนายพลคัสเซม โซไลมานี ธงแดงแห่งการล้างแค้นได้ถูกชักขึ้นเหนือยอดมัสยิดอันศักดิ์สิทธิ์ในอิหร่าน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่า ตราบใดที่การล้างแค้นหรือหนี้เลือดยังมิได้ชำระ จะไม่มีการลดธงนี้ หรืออาจเป็นการแสดงออกได้ว่าอิหร่านกำลังประกาศสงครามต่อสหรัฐนั่นเอง ได้จุดชนวนความตึงเครียดในตะวันออกกลางถึงขีดสุด ส่งผลให้หุ้นร่วง ราคาน้ำมันทะยานขึ้นสูง โดยเฉพาะทองคำ

อิหร่านยังประกาศเผยแพร่เมื่อวันที่ 5 มกราคม ผ่านทางโทรทัศน์ของทางการหลังการโจมตีทางอากาศของสหรัฐว่า อิหร่านจะไม่ปฏิบัติตามข้อจำกัดใดๆ ภายใต้ข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์ปี 2015 ที่อิหร่านทำกับชาติมหาอำนาจอีกต่อไป

และเพื่อเป็นการตอบโต้ที่กองทัพสหรัฐปลิดชีพนายพลคัสเซม โซไลมานี ต่อมาในวันที่ 8 มกราคม กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่านก็ได้ยิงขีปนาวุธแบบพื้นสู่พื้นจำนวนหลายลูกเข้าถล่มฐานทัพอากาศสหรัฐที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอันบาร์ทางตะวันตกของประเทศอิรัก ที่ซึ่งสหรัฐได้ส่งทหารกว่า 5,000 นายไปประจำการ โดยมีภารกิจในการช่วยฝึกทหารและเป็นที่ปรึกษาให้กองทัพอิรักในการปราบปรามกลุ่มไอเอสที่ยังหลงเหลืออยู่

แม้ไม่มีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีของอิหร่าน สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ทหารสหรัฐ 8 นายถูกส่งตัวไปยังเยอรมนี ส่วนอีก 3 นายที่เหลือถูกส่งตัวไปยังคูเวตเพื่อเข้ารับการสแกนสมอง

ท่ามกลางความพยายามของผู้นำจากหลายประเทศ ที่เริ่มเข้ามาเรียกร้อง ขอให้ทั้งสองฝ่ายล้มเลิกการโต้ตอบกันด้วยความรุนแรง ก่อนสถานการณ์จะบานปลายยิ่งกว่านี้

แถลงการณ์เพนตากอนระบุว่า สหรัฐดำเนินมาตรการเด็ดขาดเพื่อปกป้องพลเมืองในต่างประเทศ ด้วยการปลิดชีวิตนายพลโซไลมานี และสหรัฐจะดำเนินมาตรการปกป้องพลเมืองและผลประโยชน์ของสหรัฐต่อไป ไม่ว่าที่ไหนในโลก

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนยันว่า นี่เป็นการยับยั้งสงคราม มิใช่เป็นการก่อสงครามแต่อย่างใด

การตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทหารกับอิหร่านของสหรัฐ น่าจะด้วยเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์และดุลอำนาจที่กำลังเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลาง

มร. ยะอ์ฟัร อัครามี (Mr.Jafar Akrami Abarghouee) อัครราชทูตที่ปรึกษา/รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตแห่งสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย ซึ่งในวันนี้ทำหน้าที่แทนเอกอัครราชทูตที่เพิ่งหมดวาระเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ให้เกียรติเปิดห้องสนทนาเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงจนมีความกังวลว่าอาจเป็นชนวนสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งไม่มีใครอยากเห็นและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ณ สถานเอกอัครราชทูต ในซอยสุขุมวิท 49

“สหรัฐละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศอิหร่านโดยการสังหารเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านระหว่างการไปเยือนอิรักตามคำเชิญอย่างเป็นทางการของรัฐบาลอิรัก ซึ่งหมายความว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านได้รับเชิญจากนายกรัฐมนตรีอิรักให้ไปหารือในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของภูมิภาค”

“หนึ่งในบรรดาปัญหาของประเทศในภูมิภาคนี้คือความมั่นคงและความปลอดภัย เพราะภูมิภาคนี้ได้รับภยันตรายจากคนภายนอกภูมิภาค ดังเช่นชาวอเมริกันซึ่งเดินทางนับหมื่นไมล์เพื่อมายังภูมิภาคนี้”

“นายพลคัสเซม โซไลมานี ผู้ได้รับการเชื้อเชิญและควรจะได้พบกับนายกรัฐมนตรีของอิรักในการประชุมซึ่งจะเริ่มขึ้นในเวลา 08.30 น. ของวันที่ 3 มกราคม แต่กลับถูกลอบสังหารจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายโดยกองกำลังทหารอเมริกันตอนเช้าตรู่ในวันเดียวกัน”

“เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่เพียงแต่เป็นการกระทำของผู้ก่อการร้าย แต่ยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและกฎข้อบังคับระหว่างประเทศ พวกเขาไม่สนใจเกี่ยวกับกฎระเบียบระหว่างประเทศ และนี่เป็นการฆ่าบุคคลชั้นนำที่มีชื่อเสียงในการต่อกรกับกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาคโดยเฉพาะไอซิส”

“นายพลคัสเซม โซไลมานี ได้ต่อสู้กับไอซิสซึ่งจะเข้ายึดครองทั้งซีเรียและอิรัก ในที่สุด ไอซิสก็พ่ายแพ้ไปภายใต้บัญชาการของนายพลโซไลมานี”

“ตอนแรกชาวอเมริกันพูดว่า ผู้คนในอิหร่านและอิรักมีความสุขที่นายพลคัสเซม โซไลมานี ถูกลอบสังหาร แต่ถ้าคุณดูทีวีจะเห็นว่ามีคลื่นมหาชนชาวอิหร่านแห่ล้อมขบวนศพนายพลโซไลมานีมากมายแค่ไหน”

สถานีโทรทัศน์อิหร่านรายงานว่า เกิดเหตุชาวอิหร่านได้เหยียบกันตายในพิธีศพของนายพลคัสเซม โซไลมานี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 35 ราย และบาดเจ็บ 48 ราย เนื่องจากมีประชาชนไปร่วมไว้อาลัยเป็นจำนวนมหาศาล จึงเกิดเหตุการณ์สูญเสียขึ้น

โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ (Mohammad Javad Zarif) รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ระบุว่าการโจมตีของสหรัฐคราวนี้เทียบได้กับการก่อการร้ายสากล และอิหร่านจะต่อสู้ทางกฎหมายอย่างเต็มที่เพื่อให้วอชิงตันชดใช้ความผิดที่กระทำไป ทั้งนี้ อิหร่านส่งจดหมายถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ประกาศว่า ขอสงวนสิทธิ์ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่จะดำเนินการป้องกันตนเอง และปฏิบัติการลอบสังหารนายพลโซไลมานีคืออีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนของการก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism)

มร.ยะอ์ฟัร อัครามี ย้ำว่า

“กองทัพอเมริกันได้ฆ่าบุคคลสำคัญที่ต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย จึงสมควรต้องถูกลงโทษจากนานาชาติ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ”