ปมร้อน ม.44 ปลดผู้ว่าการการรถไฟฯ เซ่นประมูลทางคู่แสนล้าน!

โดย ศัลยา ประชาชาติ

 

ในที่สุดก็มีวันนี้ วันที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ ม.44 แก้ปัญหาการบริหารจัดการภายในการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์กรเก่าแก่กำลังจะครบ 120 ปีวันที่ 26 มีนาคมนี้

ภายใต้คำสั่งปลดกลางอากาศ “วุฒิชาติ กัลยาณมิตร” พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฯ ไปเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

แล้วขยับ “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” รองอธิบดีกรมทางหลวง หนึ่งในกรรมการบอร์ด ร.ฟ.ท. ลูกศิษย์ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นั่งรักษาการแทน

พร้อมแต่งตั้ง “วรวิทย์ จำปีรัตน์” เป็นประธานบอร์ดแทน “พิชิต อัคราทิตย์” ที่ได้รับโปรโมตเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หวังใช้ประสบการณ์ของ “วรวิทย์” อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ที่เชี่ยวชาญด้านราคากลางมาเจียระไนงานการรถไฟฯ ที่รอประมูลอยู่กว่า 1 ล้านล้านบาท ทั้งรถไฟทางคู่ ไฮสปีดเทรน รถไฟฟ้าสายสีแดง ซื้อหัวรถจักร รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์

จะว่าไปแล้วการเปลี่ยนหัวเรือใหญ่รถไฟไม่เหนือความคาดหมายมากนัก ในเมื่อโครงการใหญ่ในมือล้วนเป็นสิ่งที่ “รัฐบาล คสช.” คาดหวังให้เป็นพระเอกขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ ตั้งแต่วันแรกเข้ามาบริหารประเทศเมื่อกลางปี 2557

แต่สุดท้ายไม่ได้ดั่งใจหวัง ทั้งที่ให้โอกาสมานาน เมื่อผลงานไม่ปรากฏก็ต้องเปิดทางให้คนอื่นมาขับเคลื่อนแทน เพราะหากแม่ทัพยังเป็นคนเดิม การลงทุนใหม่อาจไม่ทันห้วงเวลาของ “รัฐบาล คสช.” ซึ่งรอวันนับถอยหลังจัดการเลือกตั้งในปี 2561

“วุฒิชาติ” รับตำแหน่งผู้ว่าการองค์กรม้าเหล็กเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2558 ผลงานที่ผ่านมาถ้าไม่นับรถไฟทางคู่ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และจิระ-ขอนแก่น ซึ่งเป็นโครงการตั้งแต่ช่วงรอยต่อรัฐบาชุดที่แล้ว ผลงานใหม่แทบไม่เป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากปรับภาพลักษณ์องค์กร ชุดยูนิฟอร์มใหม่ กับสารพัดงานอีเวนต์

แต่ที่รั้งเก้าอี้ใหญ่ถึงนาทีสุดท้าย นอกจากนามสกุล “กัลยาณมิตร” จะโด่งดังเป็นรู้จักในแวดวงทหาร กับบุคลิกนิสัยส่วนตัวเป็นคนมีพรรคพวกเพื่อนฝูงหลากหลายวงการ คอนเน็กชั่นแน่นปึ้ก ที่สำคัญพี่ใหญ่ใน คสช. เป็นแบ๊กหนุนหลังให้อีกทางหนึ่ง

แต่เมื่อทิศทางการเมืองเปลี่ยน ความสัมพันธ์ระหว่าง “พี่ใหญ่-น้องรัก” เริ่มสั่นคลอน และถึงจุดที่จำต้องเลือก

บวกกับมีปมร้อนประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง วงเงินร่วม 1 แสนล้านบาท ที่ “รัฐบาล คสช.” ตั้งตารอ หวังช่วยจุดประกายการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจปีไก่ล่าช้าอย่างที่ไม่น่าให้อภัย จึงต้องตัดสินใจลงดาบ

“รถไฟมีร้องเรียนประมูลงานมาต่อเนื่อง กับงานการบ้านที่รัฐบาลสั่งการล่าช้ามาก ที่สำคัญเริ่มมีกระแสข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเข้าหูผู้ใหญ่ในรัฐบาล ทั้งความสัมพันธ์กับผู้รับเหมารายใหญ่ และพฤติกรรมอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบการทำงาน ทำให้นายกฯ ตัดสินใจใช้ ม.44 ให้พ้นจากหน้าที่ และให้คนอื่นมาดูแลแทน” แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าว

เนื่องจากทางคู่ 5 เส้นทาง ได้แก่ มาบกะเบา-จิระ, ลพบุรี-ปากน้ำโพ, นครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และประจวบฯ-ชุมพร เป็นโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษยังล่าช้า ทั้งที่ ครม. อนุมัติตั้งแต่ปี 2559 กว่าจะเริ่มประมูลใช้เวลาเกือบปี

เพราะกว่าทีโออาร์จะลงตัว มีการร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใสในการกำหนดสเป๊กผู้รับเหมาตลอด และสุดท้ายต้องเลื่อนเคาะราคาออกไปไม่มีกำหนด จากเดิมวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา หลังถูกร้องเรียนเรื่องการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (พีคิว)

ซึ่งผลอย่างไม่เป็นทางการ มีผู้รับเหมาผ่านแค่ 6 รายเป็นเจ้าใหญ่-ขาประจำรับงานรถไฟ ได้แก่ อิตาเลียนไทย, ช.การช่าง, ซิโน-ไทยฯ, ยูนิคฯ, เอ.เอส.แอสโซซิเอทฯ และกลุ่มทีบีบีที (บ.ทีบีทีซี และ บ.บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง)

ทำให้ผู้รับเหมาจากจีนที่จับมือกับผู้รับเหมารายกลางของไทยและไม่ผ่านการพิจารณาร้องเรียนไปยังรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายกรัฐมนตรี

กรณีดังกล่าวนี่เองที่รองนายกฯ สมคิด ถึงกับควันออกหู เพราะคาดหวังไว้สูงให้โครงการเกิดโดยเร็ว ถึงขนาดส่งทีมงานมาช่วยร่างทีโออาร์ประมูลเองกับมือ พร้อมกับปรับหลักเกณฑ์ให้ผู้รับเหมารายกลาง-รายใหญ่เข้าร่วมประมูลได้สะดวกขึ้น เปิดทางให้เกิดการแข่งขันเต็มที่

แต่อดีตผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กลับทำให้ทุกอย่างสะดุด จึงไม่จำเป็นต้องรักษาน้ำใจกันอีกต่อไป

รายงานข่าวระบุว่า “ผลพีคิวต้องประกาศวันที่ 20 กุมภาพันธ์ แต่จู่ๆ ผู้ว่าการการรถไฟฯ สั่งให้เลื่อนประกาศผลออกไปก่อน เพราะมีใบสั่งจากผู้ใหญ่ให้มีผู้รับเหมาเข้าแข่งขันมากกว่า 6 ราย ก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น”

“ข่าวปลดผู้ว่าการการรถไฟฯ มีแรงกระเพื่อมตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพราะงานไม่เดิน ทั้งที่ดินมักกะสันที่สหภาพยังคัดค้านไม่ยกให้กรมธนารักษ์ การบริหารไอซีดีลาดกระบัง ที่หมดสัญญาสัมปทานรายเดิมตั้งแต่ปี 2554 ถึงขณะนี้ยังทำไม่สำเร็จ การพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ การเดินหน้ารถไฟความเร็วสูงโดยเฉพาะกรุงเทพฯ-ระยอง รับเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออกหรืออีอีซี ขณะที่รถไฟไทย-จีน ก็ล่าช้ามาหลายปี แต่ฟางเส้นสุดท้ายคือประมูลทางคู่ เมื่อทำไม่ได้อย่างที่พูด ฝ่ายการเมืองจึงไม่เชื่อมั่นอีกต่อไป”

สอดคล้องกับที่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่าจำเป็นต้องใช้ ม.44 ปรับปรุงการบริหารงานรถไฟ เพราะเป็นช่วงงานของ ร.ฟ.ท. จะเข้าสู่การปฏิบัติ มีงานประมูลก่อสร้างอีกมาก การทำงานจึงต้องมีประสิทธิภาพ ให้งานเดินหน้าตามกรอบเวลาที่กำหนด

“ที่ผ่านมาผู้ว่าการการรถไฟฯ ทำงานได้ระดับหนึ่ง แต่บางโครงการยังล่าช้า เช่น ทางคู่ที่ยังประมูลไม่ได้ หรือที่สร้างไปแล้วส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ ถามว่ามีเรื่องทุจริตมาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ก็คงเป็นทุกมิติ ทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ต้องโปร่งใส ต้องสร้างความมั่นใจ เพราะมีงานประมูลอีกมาก และมีมูลค่าสูง”

ดังนั้น เพื่อให้โครงการเดินหน้าอย่างไร้มลทินจึงได้ตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) มี “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติเป็นประธาน มากำกับ เร่งรัด ติดตาม และตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการมีมูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง

โดยจะนำร่องที่โครงการรถไฟทางคู่ 7 สายทาง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย, จิระ-ขอนแก่น, มาบกะเบา-จิระ, ลพบุรี-ปากน้ำโพ, นครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร

ที่น่าจับตาคือทางคู่ 5 สายทางที่ยื่นประมูลไปแล้ว รอแค่เคาะราคา สุดท้ายจะได้ไปต่อหรือจอดป้าย หลังซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง เข้ามาตรวจสอบทีโออาร์และราคากลางใหม่

ที่สำคัญหากพบพิรุธ โอกาสที่จะต้องล้มประมูลใหม่ยกแผงอาจเกิดขึ้นได้ และหากหวยออกมารูปแบบนี้ จะส่งผลให้โครงการล่าช้าไป 2 เดือน เพราะเท่ากับเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

และไม่ใช่แค่ทางคู่เท่านั้น งานใหญ่เกิน 5 พันล้านของคมนาคมที่เหลือทั้งรถไฟทางคู่เฟส 2 รถไฟฟ้า สนามบินอีกนับล้านล้านบาท ซึ่งต้องผ่านการสแกนจากซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างนี้ทั้งหมด จะเจอแจ๊กพ็อตแบบเดียวกันหรือไม่

นั่นยังคงเป็นประเด็นที่ยังต้องลุ้นกันต่อไป