วิกฤติศตวรรษที่ 21 | การหย่ากันทางเศรษฐกิจสหรัฐ-จีน

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (34)

การหย่ากันทางเศรษฐกิจสหรัฐ-จีน

มีการพูดกันมากขึ้นในหมู่นักวิชาการและสื่อมวลชนจีนว่า สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ก้าวสู่ขั้นการหย่าทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากการที่สหรัฐประกาศนโยบายชัดเจนว่า จีนเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ ไปจนถึงการออกข่าวว่าสหรัฐจะคัดชื่อบริษัทจีนที่มาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาออกไป

มีหลายบทความในนิตยสารโกลบัล ไทม์ส ของจีนที่เตือนให้สหรัฐมีความระมัดระวังในเรื่องนี้

เช่น กล่าวว่า การหย่าทางเศรษฐกิจกับจีน จะทำให้สหรัฐต้องมีค่าใช้จ่ายในการผลิตและการบริโภคเพิ่มขึ้น และสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

ชี้ว่ามีนักการเมืองสหรัฐบางคนเชื่อว่า การหย่าจากจีนเป็นเรื่องง่ายและเป็นผลดีแก่เศรษฐกิจตน ซึ่งความหลงเชื่อเช่นนั้นเป็นการประเมินเศรษฐกิจและบริษัทของจีนต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก

ความจริงนั้นหลังการพัฒนามา 70 ปีของประเทศจีนใหม่ จีนได้สร้างอุตสาหกรรมการผลิตคุณภาพระดับโลกขึ้น ทั้งได้มีระบบอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและเป็นอิสระอย่างแท้จริง

การที่บริษัทจีนบางแห่งได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นข้อยืนยันเรื่องนี้ได้

นักวิชาการจีนบางคนเห็นว่าสหรัฐได้ดำเนินการตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนไประดับหนึ่งแล้ว บ้างว่าสหรัฐกระทำการไปเนื่องจากความกังวลที่เห็นความรุ่งเรืองของจีนอย่างรวดเร็ว รวมทั้งประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ซึ่งได้ทำให้อิทธิพลของสหรัฐลดลง

แต่จีนก็ยังหวังในด้านดีว่า กระแสโลกในรอบ 500 ปีที่นำพาชาติต่างๆ ให้พึ่งพากันมากขึ้นและความมีเหตุผล จะทำให้ประเทศทั้งสองกลับมาใกล้ชิดกัน (ดูบทความของ Ding Gang ชื่อ China-US decoupling not a certainty in 2020 ใน globaltimes.cn 01/01/2020)

ซึ่งเป็นความหวังเชิงการทูต มากกว่าที่คิดว่าเป็นจริง

ในความจริงการหย่าทางเศรษฐกิจเป็นกระบวนการที่ยาวนานและซับซ้อน เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านสู่โลกพหุภาคีหลายขั้วอำนาจ และการแตกร้าวของกระบวนโลกาภิวัตน์

ซึ่งจีน-สหรัฐเห็นความเป็นจริงไปคนละอย่าง ระบบเศรษฐกิจโลกเองก็ไม่มีกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ เรื่องจึงได้บานปลายจนถึงขนาดนี้

จะได้กล่าวถึงกระบวนการนี้รวมเป็นเรื่องเดียวกัน

การหย่าทางเศรษฐกิจ

โลกพหุภาคีและการแตกร้าวของโลกาภิวัตน์

จีนเข้าสู่ระบบตลาดโลกโดยการอนุญาตของสหรัฐ

การอนุญาตนี้ไม่ใช่เกิดจากความใจดี แต่เพราะสหรัฐตกอยู่ในมุมอับสองด้าน

ด้านหนึ่งเป็นมุมอับของสงครามเวียดนาม ที่สหรัฐไม่อาจชนะได้และต้องการออกจากสงครามนี้อย่างมีเกียรติ

อีกด้านหนึ่งเป็นมุมอับทางเศรษฐกิจต่อเนื่องหลายประการ ตั้งแต่การเลิกผูกค่าเงินดอลลาร์กับทองคำ ค่าเงินดอลลาร์ทรุดฮวบ วิกฤติน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจชะงักงันพร้อมภาวะเงินเฟ้อ ต้องการตลาดและแหล่งลงทุนเพิ่ม

ทางฝ่ายจีนได้เข้าร่วมตลาดโลกหรือเดินหนทางทุนนิยม พร้อมกับรักษาการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไว้ สร้างระบบตลาดพันทางขึ้นเรียกว่า “ตลาดแบบสังคมนิยม” ซึ่งไม่มีกล่าวไว้ในทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์

แต่ก็ได้อาศัยทฤษฎีนี้ในการปฏิรูปและเปิดกว้างเศรษฐกิจของตนในสองด้านสำคัญ

ด้านหนึ่งได้แก่ การระมัดระวังไม่ให้วงจรธุรกิจแบบทุนที่มีเฟื่องฟูและถดถอยเข้ามากระทบต่อการพัฒนามากไป

อีกด้านหนึ่งได้แก่ การสร้างการสะสมทุนเบื้องต้นเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยไม่ให้ชาวนาต้องยากจนล้มละลายมากไป

ทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์เห็นว่า การถือครองกรรมสิทธิ์แบบปัจเจกชน และการแสวงหากำไรไม่รู้จบของทุน ก่อให้เกิดอธิปไตยทางการผลิต จะขยายช่องว่างระหว่างทุนกับแรงงาน สร้างวงจรธุรกิจเฟื่องฟู-ถดถอยที่รุนแรงขี้น

ตรงข้ามกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสสิคของอดัม สมิธ ที่เห็นว่า การถือครองกรรมสิทธิ์แบบปัจเจกชน การผลิตการค้าที่ต่างรักษาผลประโยชน์ของตน กลายเป็นเหมือนมือที่มองไม่เห็นที่ควบคุมกลไกตลาด เกิดผลดีแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ปรากฏว่าจีนที่เข้าร่วมระบบตลาดโลก ได้รับผลสะเทือนจากการไหวตัวทางเศรษฐกิจการค้าจากภายนอกอย่างต่อเนื่อง ที่มีขนาดใหญ่ได้แก่ วิกฤติการเงินเอเชียหรือวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 ซึ่งจีนได้ปฏิบัติตัวเป็นเด็กดีในสายตาของสหรัฐ จนกระทั่งได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปลายปี 2001

ซึ่งก็เนื่องด้วยการอนุญาตของสหรัฐอีกเช่นกัน

สหรัฐเห็นว่าการที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกจะเป็นโอกาสดีสำหรับการส่งออกของสหรัฐไปยังจีน เนื่องจากจีนจำต้องเปิดตลาดให้แก่บริษัทต่างชาติ ขยายสิทธิทางการค้า

ประธานาธิบดีคลินตันได้แสดงทัศนะด้านบวกนี้ว่า “สหรัฐไม่ได้ลดภาษีศุลกากรแต่อย่างไร เราไม่ได้เปลี่ยนกฎหมายการค้าแม้แต่ฉบับเดียว เราไม่ได้ทำอะไรเลย แต่พวกเขาต้องลดอัตราภาษีลง ต้องเปิดการลงทุนในภาคโทรคมนาคม พวกเขาต้องยอมให้เราส่งรถยนต์ที่ทำในสหรัฐไปขายในจีนในอัตราภาษีที่ต่ำลง พวกเขายอมให้เราตั้งตัวแทนจำหน่ายที่นั่น กับยอมให้เราตั้งสาขาที่นั่น เราไม่จำต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีหรือต้องลงทุนร่วมในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในจีนอีกต่อไป นั่นเป็นข้อตกลงได้ร้อยต่อศูนย์สำหรับอเมริกาในทางเศรษฐกิจ”

จากรายงานของคณะกรรมาธิการปริทัศน์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงสหรัฐ-จีนพบว่า ใน 10 ปีแรก (2000-2011) ของการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีน สหรัฐสามารถส่งออกสินค้าให้แก่จีนเพิ่มขึ้น ตามที่คลินตันกล่าว

โดยในช่วงเวลาดังกล่าวสินค้าสหรัฐส่งออกให้จีนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 18.4 ต่อปี หรือโตขึ้นร้อยละ 468

ในช่วงทศวรรษนี้ เทียบกับการส่งออกของสหรัฐไปยังประเทศอื่นทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 55 ถ้าหากคิดเป็นตัวเงิน มูลค่าการส่งออกสหรัฐไปยังจีนมีเพียงราว 16.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2000 และเพิ่มเป็น 91.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2010 สำหรับในปี 2011 มูลค่าสินค้าที่สหรัฐส่งออกไปยังจีนสูงถึง 103.9 พันล้านดอลลาร์

จีนได้กลายเป็นตลาดส่งออกของสหรัฐใหญ่เป็นอันดับสามของโลก และรักษาตำแหน่งนี้ไว้จนถึงปี 2011

แต่ความจริงในอีกด้านหนึ่งก็คือ นับแต่เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก การนำเข้าจากจีนได้พุ่งพรวด โดยในปี 1990 จีนเป็นแหล่งนำเข้าของสหรัฐ ใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ได้ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ในปี 2000 อันดับสองระหว่างปี 2004-2006 และขึ้นสู่อันดับหนึ่งในปี 2007

ยอดนำสินค้าเข้าจากจีนในปี 2011 มูลค่าสูงถึง 399 พันล้านดอลลาร์ ยอดการขาดดุลการค้าต่อจีนเพิ่มจาก 83.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2000 เป็น 295 พันล้านดอลลาร์ในปี 2011

รายงานดังกล่าวยังชี้ว่า ประเภทสินค้าส่งออกจากสหรัฐไปยังจีน 6 อันดับแรก มีการเปลี่ยนแปลงเชิงแบบรูปที่สำคัญ นั่นคือ ในปี 2000 สินค้าที่ส่งไปยังจีนมากที่สุด 6 ประเภทแรกได้แก่

1) ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ 2) เคมีภัณฑ์ 3) อุปกรณ์การขนส่ง 4) เครื่องยนต์ (ยกเว้นเครื่องยนต์ไฟฟ้า) 5) ผลิตภัณฑ์การเกษตร 6) ของเสียและเศษเล็กเศษน้อย

มาถึงปี 2011 เปลี่ยนเป็น 1) ผลผลิตการเกษตร 2) เครื่องคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ 3) เคมีภัณฑ์ 4) อุปกรณ์ขนส่ง 5) ของเสียและเศษเล็กเศษน้อย 6) เครื่องยนต์ยกเว้นเครื่องไฟฟ้า

นั่นคือสินค้าส่งออกไปยังจีนของสหรัฐเปลี่ยนจากสินค้าอุตสาหกรรมเคยสูงเด่นถึงร้อยละ 84.5 ในปี 2000 เหลือเพียงร้อยละ 68.7 ในปี 2011

ขณะที่สินค้าประเภทไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรม (ได้แก่ สินค้าการเกษตร วัตถุดิบ และแร่ธาตุ) เพิ่มขึ้นจากราวร้อยละ 15 ในปี 2000 เป็นร้อยละ 31 ในปี 2011 เพิ่มราวเท่าตัวในช่วงเวลาดังกล่าว

สินค้าการเกษตรส่งออกของสหรัฐไปยังจีนที่เพิ่มขึ้นมากได้แก่ถั่วเหลืองที่จีนใช้เป็นอาหารสัตว์

การที่สัดส่วนของสินค้าส่งออกไปจีนย้ายไปอยู่ประเภทที่ไม่ใช่อุตสาหกรรม มีความเด่นชัดเจนกระทั่งว่า ในปี 2011 การได้เปรียบดุลการค้าต่อจีนอยู่ในภาคที่ไม่ใช่อุตสาหกรรม

อีกด้านหนึ่งจีนได้ส่งออกคอมพิวเตอร์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เป็นมูลค่าสูงมาก และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้จีนได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐมาก

ขณะที่สินค้าประเภทคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ที่จีนนำเข้าจากสหรัฐ ได้เปลี่ยนจากการนำเข้าทั้งเครื่องมาเป็นการนำเข้าอุปกรณ์ (เช่น เซมิคอนดักเตอร์) เพื่อผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งออกไปขายที่สหรัฐและทั่วโลก

และระหว่างปี 2001-2011 จีนส่งออกสินค้าอื่นที่มิใช่ประเภทคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ที่เป็นสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่ากว่า 950 พันล้านดอลลาร์

คาดหมายว่าเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภายในจีนเช่นภาวะเงินเฟ้อ ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และประชากรที่แก่ตัวลง บีบให้จีนไม่สามารถแข่งขันในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ เช่น ของเล่นและรองเท้า ดังนั้น จึงหันมาส่งออกสินค้าใช้เทคโนโลยีสูงมากขึ้น เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนี้

จีนได้ประกาศนโยบาย “นวัตกรรมคนพื้นเมือง” เปลี่ยนป้ายเดิมที่ว่า “ทำในประเทศจีน” เป็น “ทำในจีนโดยบริษัทจีน”

(ดูงานวิจัยของ Joseph Casey ชื่อ Patterns in U.S.-China Trade Since China”s Accession to the World Trade Organization ใน uscc.gov พฤศจิกายน 2012)

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า นับแต่ปี 2011 ชนชั้นนำสหรัฐมีความเห็นพ้องกันว่า จะต้องจัดการกับการรุ่งเรืองของจีนให้เด็ดขาด ได้แก่

ก) การแก้การเสียเปรียบดุลการค้าอย่างมหาศาล

ข) สกัดกั้นการเติบโตของจีนในด้านอุตสาหกรรมไฮเทค ประธานาธิบดีโอบามาได้ประกาศนโยบาย “ปักหลักเอเชีย” ในปี 2011

กล่าวในด้านจีน วิกฤติการเงินที่ปรากฏในสหรัฐปี 2008 ส่งผลกระทบต่อจีนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นับแต่เปิดประเทศ จีนได้ใช้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการส่งออก ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน และอื่นๆเพื่อให้พ้นจากผลกระทบของวิกฤตินี้ จากเหตุการณ์ใหญ่ดังกล่าว ฝ่ายนำจีนน่าจะได้มีข้อสรุปสำคัญว่า

ก) สหรัฐไม่น่าจะทนเสียเปรียบดุลการค้ามหาศาลกับจีนได้อีกต่อไป วิกฤติที่เกิดขึ้นแสดงว่าสหรัฐไม่สามารถเป็นลูกค้าที่ดีเหมือนเดิมแล้ว ฐานะอภิมหาอำนาจของสหรัฐและความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์ถูกสั่นคลอน

ข) จีนต้องรักษาความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจของตนต่อไป ด้วยการขยายตลาดภายในประเทศของตน ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อเป็นอิสระทางเทคโนโลยีขั้นสูงและความสามารถในการแข่งขัน ปฏิรูปองค์กรต่างๆ

ค) ขยายตลาด สร้างมิตรและหุ้นส่วนทั่วโลกให้เข้าใจและยอมรับตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน ว่าสามารถใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนาตลาดเกิดใหม่

แนวคิดดังกล่าวได้ตกผลึกในสมัยของสีจิ้นผิง ในการฟื้นเยาวภาพและสร้างความฝันของชาติจีนให้ชัดเจน กับทัศนะและบทบาทของจีนบทบาทโลก

ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้บังเกิดประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐขึ้น ที่ต้องการล้างไพ่ทางเศรษฐกิจ-การเมืองโลกใหม่ ให้สหรัฐกลับขึ้นมาเป็นใหญ่อีกครั้ง

และกล่าวหาจีนเป็นประการต่างๆ รวมทั้งการกล่าวว่าจีนเป็นผู้เริ่มต้นก่อสงครามการค้าก่อน ซึ่งมีด้านที่ถูกและผิด

แต่ในสายตาชาวโลกเห็นว่าทรัมป์เป็นตัวการก่อสงครามการค้า เรื่องจึงเป็นคล้ายว่า เพราะมีประเทศสหรัฐและจีน จึงเกิดการแข่งขันที่ไม่อาจยอมกันได้

ในทัศนะของจีนเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันได้เกิดโลกหลายขั้วอำนาจขึ้นแล้ว แต่สหรัฐไม่เห็นเช่นนั้น คิดว่าตนยังสามารถฟื้นความยิ่งใหญ่ขึ้นได้ ประเทศในยุโรปที่เคยเดินหนทางลัทธิจักรวรรดิ ก็ยังติดความคิดว่าจะดัดแปลงประเทศกำลังพัฒนาตลาดเกิดใหม่ให้เป็นแบบของตนได้

ในทัศนะของจีนเห็นว่าการหย่าทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐ-จีนไม่เป็นผลดีต่อทั้งสหรัฐและจีนรวมทั้งต่อโลก ฝ่ายสหรัฐเห็นว่าต้องใช้ยาแรงจึงเปลี่ยนพฤติกรรมทางเศรษฐกิจการค้าของจีนได้ ขณะที่จีนยืนกรานว่าจะมุ่งมั่นใน แนวทางนโยบายและการรักษาผลประโยชน์ใจกลางของตนต่อไป

จีนได้พยายามชี้ว่ากระบวนการโลกาภิวัตน์ที่เริ่มต้นเมื่อราว 500 ปีมาแล้ว เป็นกระบวนการที่ไม่อาจย้อนกลับ โลกได้พัวพันกันจนกระทั่งแยกจากกันไม่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งพบว่าโลกาภิวัตน์กำลังแตกเป็นเสี่ยง และเกิดรอยร้าวความขัดแย้งที่รุนแรงไปทั่วโลก

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามห่วงโซ่อุปทานและโลกาภิวัตน์แบบพหุภาคี