มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส / อาคารสูงวัย

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

อาคารสูงวัย

 

ทุกวันนี้ ใครๆ ก็พูดถึงผู้สูงวัย สังคมผู้สูงวัย จำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บของผู้สูงวัย ไปจนถึงปัญหาเศรษฐกิจของผู้สูงวัย

นักวิชาการต่างออกมาให้ความเห็น เสนอผลวิจัย และมาตรการต่างๆ มากมาย เพราะไปเรียนหรือศึกษามาจากต่างประเทศ ในขณะที่นักธุรกิจรีบออกมาเสนอขายสินค้า บริการ ตามวิสัย เอากำไรตามโอกาสกระแส

มองบ้านมองเมือง เลยขอร่วมกระแสสูงวัย แต่คงไม่ใช่คนสูงวัย หากเป็นอาคารสูงวัย

 

ทุกวันนี้ เราจะเลิกสร้างบ้านไม้เรือนไทย ด้วยไม้ที่หายากแล้ว ยังเป็นวัสดุก่อสร้างที่ไม่คงทนต่อดินฟ้าอากาศ โดยเปลี่ยนมาเป็นก่ออิฐถือปูน โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่มั่นคงทนทานกว่า

ยังไม่นับวัสดุตกแต่งอย่างหินอ่อน หินแกรนิต กระเบื้อง ไปจนถึงกระจก แผ่นอะลูมิเนียม ทั้งทันสมัย ทั้งแข็งแกร่ง จนเกิดความเข้าใจว่า สิ่งก่อสร้างจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ อาคารที่ทำงานของผู้เขียน มีปัญหาแผ่นหินกรุผนังหลุดร่วง แม้จะชิ้นเล็ก แต่ด้วยความสูง ก็ทำให้หัวนิสิตแตกได้ จึงมีการสกัดแผ่นหินตกแต่งทั้งหมด เพื่อจะเปลี่ยนเป็นทาสีแทน

เชื่อว่า บ้านพักที่พำนักของผู้อ่าน คงจะเจอะเจอปัญหาก๊อกน้ำรั่วซึม ชักโครกไม่ลง หลังคารั่ว ผนังแตกลายงา สีผนังลอกเป็นแผ่น พื้นคอนกรีตทรุด ผนังร้าว และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งที่เป็นปัญหารุนแรง หรือเป็นแค่สร้างความรำคาญตา รำคาญใจ

อยากจะบอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ล้วนแสดงอาการสูงวัยของอาคาร ปัญหาจะมากจะน้อย ขึ้นอยู่กับความไร้เดียงสาในการออกแบบของสถาปนิก ที่ไม่รู้จักวัสดุหรือเทคนิคการก่อสร้าง ความบกพร่องของผู้รับเหมาก่อสร้างที่ไม่สนใจผลงาน ช่างฝีมือทำงานไร้คุณภาพ

ไปจนถึง คุณสมบัติของวัสดุ ที่ผลิตมาจากโรงงาน และระบบอาคารที่ไม่เหมาะสม

 

ปัญหาดังกล่าว ถ้าเป็นอาคารบ้านเรือนทั่วไป เจ้าของบ้าน เจ้าของอาคาร ก็จะแก้ไขปรับปรุงซ่อมแซม ตามกำลังความสามารถและเงินที่มี

ถ้าเป็นอาคารราชการ จะขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอาคาร ความใส่ใจ และความสามารถของผู้บริหาร ในการของบประมาณ

ถ้าเป็นอาคารร้านค้า สำนักงาน จะมีการดูแลซ่อมบำรุงให้อยู่ในสภาพดี สวยงามตลอดเวลา เพราะเป็นหน้าตาและมีผลต่อธุรกิจโดยตรง

ที่เลวร้าย ในขณะนี้คงจะเป็นอาคารชุดพักอาศัย ที่มีผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมมากหลายตามจำนวนหน่วยของที่อยู่อาศัย กลไกการซ่อมบำรุง ยังขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด และค่าใช้จ่ายยังมาจากเงินที่เก็บจากเจ้าของร่วมในแต่ละปี

ในปีแรกๆ อาคารยังใหม่ คนอยู่อาศัยยังไม่มาก ปัญหาเลยไม่มี แต่ทว่าพออาคารเริ่มเก่า คนอยู่มากขึ้น อาคารก็เริ่มมีปัญหา ทั้งภายในห้องชุดพักอาศัย ส่วนกลางและภายนอกอาคาร

หรือปัญหาภายใน ที่ไปเกี่ยวข้องกับห้องชุดใกล้เคียง หรือพื้นที่ส่วนกลาง

ยิ่งสถาปนิกอุตริฝังท่อน้ำ ท่อไฟในพื้นหรือผนัง ไม่รู้จักเลือกใช้โถส้วมที่ท่อน้ำเสียต่อเข้าผนัง การแก้ไขจะลำบาก เพราะไปเกี่ยวกับห้องชุดอื่น

ปัญหาดังกล่าวยังลุกลามใหญ่โต กลายเป็นกรณีวิวาทะ หรือจนต้องขายห้องย้ายหนีไปที่อื่น

ที่เป็นปัญหาใหญ่ น่าจะเป็นระบบอาคาร ที่เป็นทรัพย์ส่วนกลาง การซ่อมแซมปรับเปลี่ยน ต้องอาศัยมติข้างมากของเจ้าของร่วม ในการประชุมที่ไม่ค่อยมีคนเข้าประชุม หรือเข้าประชุม แต่ไม่ลงคะแนนเสียง หรือไม่อยากเสียเงิน

เพราะปัญหายังไม่กระทบถึงตัว หรือถึงห้อง

 

อาคารชุดพักอาศัยในกรุงเทพฯ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 ดังนั้น คงมีจำนวนไม่น้อย หลายร้อย ที่อายุสามสี่สิบปี คงจะมากเป็นพันอาคาร ที่อายุยี่สิบปี อาคารเหล่านี้คงเรียกขานได้ว่าเป็นอาคารสูงวัย และมีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบระบายน้ำเสีย ชำรุด สายไฟ ท่อน้ำเสื่อม หมดอายุ สีผนังร่อนซีดจาง สีโลหะหลุดเป็นสนิม อุปกรณ์เสียใช้การไม่ได้

อย่างน้อย อาคารที่สูงเกินสี่ห้าชั้น ก็จะติดตั้งระบบลิฟต์โดยสาร นอกจากการซ่อมบำรุงประจำเดือน ประจำปีแล้ว ส่วนประกอบต่างๆ ยังมีอายุใช้งานจำกัด เหมือนอย่างเครื่องยนต์ แบตเตอรี่ ยางรถยนต์ของรถยนต์ ที่ต้องปรับเปลี่ยนเมื่อถึงเวลา ก็มีอายุต้องเปลี่ยนก่อนที่จะเกิดปัญหา

เธอว่า ทุกวันนี้มีคนกรุงเทพฯ หลายพันคน ที่ชีวิตแขวนอยู่กับเคเบิลลิฟต์ที่หมดอายุ และยังไม่ได้เปลี่ยน

สมัยก่อน คนไทยอยู่บ้านไม้ชั้นเดียว หรือบ้านใต้ถุนสูง เวลาตกบ้าน ตกกระได คงแค่ฟกช้ำดำเขียว

สมัยนี้ คนไทยอยู่ห้องชุดพักอาศัย สูงยี่สิบสามสิบชั้น เวลาเกิดเหตุ คงไม่แค่บาดเจ็บ แต่ถึงแก่ชีวิตแน่นอน

เอาเป็นว่า ใคร คอนโดฯ ไหน จะได้เป็นข่าวหน้าหนึ่ง หรือมีข่าวในโซเชียลมีเดียก่อน ก็รอดูกันไป