หน้า 8 : คุ้มหรือไม่คุ้ม

ไม่รู้ว่าวันนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสรุปบทเรียนเรื่อง “ธรรมกาย” อย่างไร

“คุ้ม” หรือ “ไม่คุ้ม” กับการใช้มาตรา 44 เพื่อจับกุม “ผู้ต้องหา” เพียงคนเดียว

มาตรา 44 เปรียบเสมือน “ระเบิดปรมาณู” ของ คสช.

เป็นอำนาจสูงสุดที่ใช้แล้วต้องได้ผล

ถ้าเกิดเป็น “ระเบิดด้าน” เมื่อไร

“คนใช้” ก็จะไปไม่เป็นในทันที

การที่รัฐบาลต้องเผชิญภาวะ “ยักตื้นติดกึก” ในวันนี้ เพราะเลือกใช้มาตรการที่รุนแรงเกินไป

ยิ่งใช้ยิ่งชัดว่า “เป้าหมาย” แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การจับกุม “ธัมมชโย”

ไม่แปลกที่จะมีการตีความจากศิษย์วัดพระธรรมกายว่าเกมนี้ คสช. ต้องการยึดวัด

และบอนไซ “ธรรมกาย”

เมื่ออยู่ในภาวะหลังชนฝา “ความศรัทธา” ที่ฝังลึกมานานก็แปรมาเป็น “การลุกขึ้นสู้” อย่างที่เห็นในวันนี้

มาตรา 44 ถ้านำมาใช้กับ “ม็อบ” ปกติคงได้ผล

แต่เจอมวลชนที่เป็น “พระ” เข้า

อะไรที่เคยง่ายก็ยากขึ้นมาทันที

“จุดสะดุด” ครั้งใหญ่ของเกมนี้อยู่ที่ “ความตาย” ของ นายอนวัช ธนเจริญณัฐ

เขาผูกคอตายประท้วงการใช้มาตรา 44 กับวัดพระธรรมกาย

“ความตาย” ครั้งนี้สร้างจุดสะเทือนใจขึ้นมาในสังคมไทย

ประการหนึ่ง มาจากความสะเทือนใจที่มีคนเสียชีวิตกับความขัดแย้งครั้งนี้

ภาพเก่าๆ ของความขัดแย้งในอดีตเริ่มกลับมาอีกครั้ง

ประการหนึ่ง ความตายครั้งนี้ได้สร้าง “รอยร้าว” ขึ้นในสังคมไทย

เห็นความเลวร้ายของความเกลียดชังที่สั่งสมมานานทำให้มอง “ความตาย” ของคนหนึ่งเป็นเรื่องตลก

เย้ยหยัน และด่าทอ

เพียงแค่เพราะไม่ชอบ “ธรรมกาย”

ความเกลียดชังรุนแรงถึงขั้นเห็น “คน” ไม่ใช่ “คน”

คำถามจึงย้อนกลับไปที่ คสช.

เกือบ 3 ปีที่ คสช. ยึดอำนาจจากรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”

“ความเกลียดชัง” ก็ยังอยู่ในสังคมไทย

จาก “ความตาย” ของนายอนวัช มาถึง “ความตาย” ของ นางสาวพัฒนา เชียงแรง

เธอไม่ได้ฆ่าตัวตายประท้วงรัฐบาลและมาตรา 44

แต่เพราะมาตรา 44 มีส่วนทำให้เธอเสียชีวิต

นางสาวพัฒนาซึ่งอยู่ในวัดพระธรรมกายเป็นโรคหอบหืด หายใจไม่ออก

แจ้งหน่วยกู้ชีพให้เข้ามารับตัว

แต่หน่วยกู้ชีพไม่สามารถเข้ามารับตัวได้ เพราะเจ้าหน้าที่ที่คุมด่านไม่กล้าตัดสินใจ

กว่าจะฝ่าด่านเข้ามาได้ใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ

คำถามเรื่อง “มนุษยธรรม” จึงล่องลอยอยู่ในสายลม

กว่าจะจัดการ “ธรรมกาย” ได้

จะต้องมีคนตายอีกกี่คน