มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น : จักรวรรดิอเมริกันที่ระส่ำระสายจากสี่มุมมอง

มีผู้กล่าวถึงความเสื่อมถอยของจักรวรรดิอเมริกันเป็นจำนวนมาก

ในที่นี้จะยกตัวอย่างจากสี่มุมมองของบุคคลที่เคลื่อนไหวในด้านนี้

ได้แก่

 

1.ชาล์มเมอร์ส จอห์นสัน (1931-2010) ศาสตราจารย์ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นที่ปรึกษาของซีไอเออยู่หลายปีในช่วงสงครามเย็น ห่วงใยในการก้าวเป็นจักรวรรดิของสหรัฐหลังสงครามเย็น ได้เขียนหนังสือเตือนไว้ตั้งแต่ปี 2000

หนังสือในชุดนี้เล่มหนึ่งชื่อ “ความรันทดของจักรวรรดิ” (2004) ชี้ว่า สหรัฐแสดงตัวเป็นจักรวรรดิมานานแล้วตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตแต่เคลือบด้วยข้ออ้าง เช่น “อภิมหาอำนาจ แต่ผู้เดียว” “ชาติที่ไม่อาจขาดไปได้” “นายอำเภอที่ไม่เต็มใจ” “การแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรม” และ “โลกาภิวัตน์”

หลังเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมตึกเวิร์ลด์เทรดจึงได้แสดงตัวชัดเจนว่าเป็นจักรวรรดิโรมันที่สอง แต่การแสดงตัวเป็นจักรวรรดินิยม ใช้ลัทธิทหาร ความลับไม่โปร่งใส และทำลายจิตวิญญาณของสาธารณรัฐประชาธิปไตย ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ระทมขึ้นทั่วไปสี่ประการ ได้แก่

(ก) เกิดภาวะสงครามไม่สิ้นสุดซึ่งยิ่งทำให้ผู้ก่อการร้ายสากลโจมตีผลประโยชน์ของอเมริกันมากขึ้นในทุกที่ และชาติที่มีขนาดเล็กกว่าจะหาทางพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูงเพื่อต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดิ

(ข) ทำให้ชาวอเมริกันสูญเสียสิทธิประชาธิปไตยและสิทธิตามรัฐธรรมนูญของตน เนื่องจากประธานาธิบดีจะใช้คำสั่งฝ่ายบริหารอยู่เหนืออำนาจสภาคองเกรส เกิดสถาบันประธานาธิบดีแบบทหาร (อยู่ในภาวะฉุกเฉินตลอด)

(ค) หลักการแห่งความเป็นจริงจะถูกแทนที่ด้วยโฆษณาชวนเชื่อ การบิดเบือนข่าว การสรรเสริญสงคราม อำนาจ และทหารผ่านศึก

(ง) การล้มละลาย เนื่องจากทุ่มทรัพยากรเศรษฐกิจเพื่อปฏิบัติการทางทหารที่ใหญ่ขึ้น ละเลยต่อการบำรุงการศึกษา สุขภาพและความปลอดภัยของพลเมืองอเมริกัน

ความรันทดของจักรวรรดิตามที่จอห์นสันบรรยายเป็นจริงมากขึ้นทุกที จนกระทั่งขณะนี้มีการกล่าวถึงการแตกเป็นเสี่ยงของอเมริกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง

 

2.ดิมิทรี ออร์ลอฟ (เกิด 1962) วิศวกรและนักเขียนชาวเมริกันเชื้อสายรัสเซีย เขาเกิดที่เลนินกราด (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) อพยพมาอยู่อเมริกาเมื่ออายุ 12 ปี มีประสบการณ์ตรงจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และเห็นว่าสหรัฐตกอยู่ใน “วิกฤติถาวร” จะล่มสลายเช่นเดียวกับโซเวียตในเวลาหนึ่งเวลาใด แต่สหภาพโซเวียตมีความพร้อมในการรับมือกับการล่มสลายได้ดีกว่า

บทความที่มีชื่อเสียงของเขาคือ “ปิด “ช่องว่างการล่มสลาย”” (2006) เพื่อเตือนให้ผู้นำและสาธารณชนอเมริกันปิดช่องว่างนี้ เป็นที่สังเกตว่าเขาได้ให้ความสำคัญแก่ประเด็นความหมดไปของทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งผลต่อการล่มสลายด้วย

ออร์ลอฟชี้ว่าสหรัฐกับสหภาพโซเวียตเทียบเคียงแล้วคล้ายกันหลายประการ ได้แก่

(ก) ทั้งสองเป็นจักรวรรดิแบบการทหาร-อุตสาหกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

(ข) ทั้งสองเน้นเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

(ค) พยายามขยายอุดมการณ์ของตนไปยังหลายประเทศ

(ง) ใช้อำนาจควบคุมทางเศรษฐกิจ-การเมืองในหลายประเทศ

(จ) พยายามรักษาความก้ำกึ่งทางอำนาจเป็นเวลานานหลายทศวรรษ

(ฉ) ล้มละลายในที่สุด

สหรัฐประสบปัญหาอย่างเดียวกับสหภาพโซเวียต เช่น

(ก) ทำสงครามที่ไม่อาจชนะ (อัฟานิสถาน อิรัก)

(ข) การผลิตน้ำมันลดลง (การผลิตน้ำมันของโซเวียตถึงขีดสูงสุดไม่กี่ปีก่อนล่มสลาย)

(ค) งบประมาณการทหารที่ควบคุมไม่ได้

(ง) ระบบการเมืองที่เทอะทะไม่ตอบสนองต่อประชาชนและเน่าเฟะไม่สามารถปฏิรูปได้

(จ) การหลงในความยิ่งใหญ่ของตนจนขัดขวางการถกปัญหาอย่างตรงไปตรงมา

เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มดิ่งเหวแบบโซวียต ได้แก่

(ก) ปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ทับถมขึ้นเรื่อยๆ (เช่น หนี้)

(ข) กลไกการชดเชย (เช่น การเพิ่มปริมาณเงิน) ใช้ได้ผลเพียงระดับหนึ่ง

(ค) เศรษฐกิจเปราะบาง เมื่อถูกกระทบกระเทือนก็จะเกิดวิกฤติและฟื้นตัวได้ยาก

(ง) ขาลงทางเศรษฐกิจสร้างแรงเฉื่อยทำให้เศรษฐกิจชะงักงันขึ้นเรื่อยๆ

(จ) แม้ระบบการเมืองจะคงอยู่อย่างเดิมแต่ก็เป็นอัมพาต

ออร์ลอฟชี้ว่า โซเวียตมีความพร้อมรับมือกับการล่มสลายทางเศรษฐกิจดีกว่าสหรัฐในหลายด้าน เช่น

(1) ด้านที่อยู่อาศัย ในโซเวียตเป็นของรัฐ ไม่ต้องเสียค่าเช่า เข้าถึงการขนส่งสาธารณะได้ ในสหรัฐเป็นของธนาคาร หรือบรรษัท ถ้าไม่มีเงินจ่ายก็ถูกไล่ออกไป ส่วนใหญ่เข้าถึงได้โดยใช้รถยนต์

(2) การขนส่ง ในโซเวียตเป็นของรัฐ ยังคงรักษาไว้ได้ท่ามกลางการล่มสลาย มีเมืองตั้งเรียงรายตามทางรถไฟ โครงสร้างพื้นฐานยังพอรักษาได้ ในสหรัฐ เป็นของเอกชนโดยเฉพาะรถยนต์และรถบรรทุก

(3) การจ้างงานในโซเวียตเป็นลูกจ้างรัฐ มีการลดการจ้างหรือจ่ายเงินช้า แต่ก็ไม่ได้ลอยแพให้ตกงานเหมือนในสหรัฐ

(4) ครอบครัวในโซเวียตเป็นแบบขยายช่วยเหลือกัน ขณะที่สหรัฐเป็นครอบครัวเดี่ยวตัวใครตัวมัน

(5) ในโซเวียตกล่าวเทียบเคียงได้ว่า เงินเป็นเพียงตัวเลข รายได้ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด เพื่อนสำคัญกว่า ในสหรัฐเงินเป็นเครื่องมือหลัก รายได้สำคัญต่อการอยู่รอด เงินสำคัญกว่า

(6) สินค้าอุปโภคบริโภค ในโซเวียตค่าใช้จ่ายอยู่ที่รัฐบาล พื้นฐานการผลิตเป็นสินค้า เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้า ต้องหัดใช้สินค้าเอง เทคโนโลยีเก่า ในสหรัฐกำไรตกแก่บรรษัทรวมทั้งในจีน การผลิตพื้นฐานเป็นด้านบริการ ขาดแคลนเงิน ออกแบบให้ล้าสมัย ใช้แล้วทิ้ง

(7) ด้านอาหารในโซเวียต ทำสวนครัว อาหารจากท้องถิ่น ปรุงอาหารเอง ต้องเคลื่อนไหวเสมอ ในสหรัฐ หาซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ต ขนส่งอาหารโดยรถบรรทุกดีเซล วัฒนธรรมอาหารด่วน โรคอ้วนระบาด นอกจากนี้ ในโซเวียตผู้คนยังออกล่าสัตว์ ขอแบ่งปันอาหาร ในสหรัฐ รอความช่วยเหลือ เช่น โครงการฟู้ดสแตมป์ หรือโครงการอาหารอื่นๆ

(8) ด้านการศึกษา ในโซเวียตเป็นของรัฐและได้เปล่า เรียนถึงระดับที่ 8 ก็พอเพียงแล้ว เด็กเดินไปโรงเรียน มีโรงเรียนเล็กๆ ใกล้บ้าน ในสหรัฐ มีการกู้ยืมเพื่อการศึกษา เรียน 12+4 ปีก็ยังไม่ค่อยรู้อะไร เด็กขึ้นรถไปโรงเรียน มีโรงเรียนใหญ่ในเมือง ผลด้านลบในสหภาพโซเวียตจะเกิด “รุ่นที่หลงทาง” ในสหรัฐเกิดความไม่รู้หนังสือและโง่

การเทียบเคียงของออร์ลอฟนั้นเกิดขึ้นในสมัยบุช ไม่ได้คิดว่าจะเกิดลัทธิทรัมป์ขึ้นในสหรัฐอีกสิบปีต่อมา แต่เมื่อเกิดขึ้น ก็มีการเทียบเคียงระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กับกอร์บาชอฟผู้นำสหภาพโซเวียต (ขึ้นครองอำนาจ 1985)

กอร์บาชอฟขึ้นสู่อำนาจยามระบบโซเวียตเน่าเฟะเต็มที่ เขาต้องการปฏิรูประบบนี้อย่างถึงราก เรียกว่า “เปเรส ทรอยกา” เป็นการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ต่อมาเพิ่มอีกหนึ่งมาตรการเรียกว่า “กลาสนอส” หรือการเปิดกว้างทางการเมือง ทั้งหมดโดยหวังว่าจะทำให้สหภาพโซเวียต “ยิ่งใหญ่อีกครั้ง”

แต่เป็นงานเสี่ยงมากและล้มเหลวจนกระทั่งจักรวรรดิโซเวียตล่มสลายลง

ทรัมป์ทำคล้ายกัน คือต้องการปฏิรูประบบการเมืองที่หยุดนิ่งเป็นน้ำเน่าด้วยผลประโยชน์คนกลุ่มเล็กๆ และนักวิ่งเต้นของบริษัทใหญ่ไม่สามารถปฏิรูปตามระบบธรรมดาได้ ต้อง “ระบายน้ำจากบึง”

มีนักวิจารณ์แนวอนุรักษนิยมบางคนชี้ว่าเมื่อกอร์บาชอฟล้มเหลว ทรัมป์ก็ควรทบทวนถึงอันตรายร้ายแรงต่ออนาคตของอเมริกาที่แฝงมากับการปฏิรูปของเขา (ดูบทความของ Liubomir K. Topaloff ชื่อ Trump”s Gorbachev Moment ใน thediplomat.com 02.02.2017)

แต่ภัยของลัทธิทรัมป์อาจไม่ร้ายแรงดังที่กล่าว หลังจากบริหารงานได้สามสัปดาห์ ทรัมป์ก็จำต้องยอมให้นายพลเกษียณอายุ ไมเคิล ฟลินน์ ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นสิ่งผิดปรกติอย่างยิ่ง

สะท้อนฐานอำนาจที่ยังไม่เข้มแข็งของเขา มีความยากลำบากในการควบคุมสถานการณ์ ทั้งด้านการบริหารตามนโยบาย การดูแลทีมของตน รวมทั้งการรักษาคะแนนนิยม

ชะตากรรมของทรัมป์น่าจะคล้ายกับของ นิกิตา ครุสชอฟ มากกว่า

ครุสชอฟขึ้นสู่อำนาจ 1953 ดำเนินการต่อต้านลัทธิบูชาตัวบุคคลของสตาลิน ซึ่งเป็นที่สนับสนุน แต่เขายังได้ปฏิรูปทางเศรษฐกิจ-การเมือง-ศิลปะด้วยความหวังที่จะให้โซเวียตแซงหน้าสหรัฐ ซึ่งมีด้านที่กระทบต่อกลุ่มอำนาจเดิม

ในปี 1964 เลโอนิด เบรซเนฟ และพวกสมคบคิดกันปลดเขาออกจากตำแหน่ง

เบรซเนฟปกครองประเทศแบบไม่ปฏิรูปทางเศรษฐกิจต่อมาอีก 18 ปีจนถึงแก่อสัญกรรม

ข้อสังเกตเกี่ยวกับงานเขียนของออร์ลอฟอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ ออร์ลอฟให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติของสามัญชนผู้คนทั่วไปค่อนข้างสูงว่าจะทำตัวอย่างไรในภาวะล่มสลายของระบบ ว่าจะเน้นการเข้าหาศูนย์อำนาจ สะสมเงินและสิ่งของ หรือรักษาความเป็นอิสระ อาศัยครอบครัวและความเป็นมิตรเพื่อการช่วยเหลือแบ่งปันยามยาก เป็นต้น

เป็นธรรมชาติที่ผู้คนทั่วไปควรตั้งปัญหาที่ผิดธรรมดา เมื่อระบบทำงานผิดปรกติ

 

3.คำปราศรัยที่เมืองมิวนิกของ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย (10 กุมภาพันธ์ 2007) คำปราศรัยของปูตินไม่เหมือนกับการวิเคราะห์สถานการณ์ของนักวิชาการทั่วไป แต่เป็นการประกาศจุดยืนแนวทางนโยบายความต้องการ และการเตือนผู้นำประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง เนื้อหาของคำปราศรัยปูตินสรุปได้ดังนี้คือ

(ก) “เราไม่ต้องการองค์การ” อย่างเช่นนาโต้หรืออียูมาแทนที่สหประชาชาติ

(ข) “การผลีผลามใช้กำลังแบบไม่รู้จักยับยั้ง นำมาสู่ความรุนแรงมากขึ้น” เช่น ปฏิบัติการในอิรัก อัฟกานิสถาน “การปฏิบัติโดยลำพังและมักละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร ยิ่งกว่านั้นยังก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมของมนุษย์และสร้างศูนย์กลางแห่งความตึงเครียดใหม่”

(ค) “การขยายตัวของนาโต้มายังรัสเซียทำลายความไว้วางใจระหว่างกัน”

(ง) “ผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐและสหภาพยุโรป ยังคงติดค้างอยู่ในการคิดแบบสงครามเย็น”

(จ) “การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เสริมความเข้มแข็งแก่โลกหลายขั้วอำนาจ”

(ฉ) จุดจบของโลกขั้วอำนาจเดียวเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือการมีศูนย์อำนาจสั่งการเดียว มีศูนย์กำลังเดียว และศูนย์การตัดสินใจเดียว “ผมเห็นว่าโลกขั้วอำนาจเดียวไม่เพียงยอมรับไม่ได้ แต่ยังเป็นไปไม่ได้ในโลกวันนี้”

(ช) สรุปความว่า “ปัญหาใหญ่ของยุคสมัยเราก็คือ ระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เราคุ้นเคย กำลังพังทลายลงในบางส่วนสำคัญ และธาตุใหม่จากเอเชียและโลกกำลังพัฒนาจะเข้ามามีบทบาท” (ดูบทความชื่อ As Relevant as Ever : Why Trump Needs to Take Putin”s 2007 Munich Speech to Heart ใน sputniknews.com 10.02.2017)

คำปราศรัยของปูตินเป็นการประกาศว่า รัสเซียไม่เห็นด้วยกับระเบียบโลกขั้วอำนาจเดียวที่สหรัฐ-นาโต้ ปฏิบัติอยู่ และจะร่วมมือกับประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาสร้างโลกหลายขั้วอำนาจให้เกิดขึ้นจงได้ ไม่ว่าจะเผชิญกับปัญหาการท้าทาย และการคุกคามอย่างใดก็ตาม

 

4.มุมมองของ แพทริก บูแคนัน (เกิด 1938) นักอนุรักษนิยมเก่า (Paleoconservative เรียกสั้นๆ ว่า Paleocon) แห่งพรรครีพับลิกัน เคยทำงานให้แก่ประธานาธิบดีนิกสันและเรแกน เคยลงสมัครเป็นตัวแทนพรรค ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1992 และ 1996 ประกาศจุดยืนของเขาซึ่งไม่ตรงกับพรรครีพับลิกันทีเดียว ออกไปร่วมพรรคปฏิรูปในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2000 หลังจากนั้นออกเคลื่อนไหวเผยแพร่ความคิดทฤษฎีทางการเมืองของเขาจนถึงปัจจุบัน

แนวคิดของบูแคนันศึกษาได้จากหนังสือชื่อ “การฆ่าตัวตายของอภิมหาอำนาจ : อเมริกาจะอยู่รอดจนถึงปี 2025 หรือไม่” (2011) ซึ่งประมวลความคิดของเขาที่ก่อรูปตั้งแต่ปี 1992

ทัศนะของบูแคนันใกล้เคียงกับลัทธิทรัมป์อย่างน่าประหลาดใจ เหมือนเพียงเปลี่ยนชื่อจากอนุรักษนิยมเก่าเป็นขวาใหม่ (New Right) เท่านั้น

และเขาเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์อย่างออกหน้า

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2017 ขณะที่มีผู้พิพากษาสำคัญออกมาวิจารณ์ทรัมป์ เขาเขียนบทความชื่อ “ทรัมป์ต้องหยุดยั้งอำนาจของตุลาการ”

โดยชี้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐ ตั้งแต่ โทมัส เจฟเฟอร์สัน ถึง ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ ต่างก็ได้ต่อสู้และวิจารณ์อำนาจตุลาการมาแล้ว

ในทัศนะของบูแคนัน สหรัฐกำลังฆ่าตัวตายด้วย

(1) การทำลายฐานอุตสาหกรรมของตน ทำให้ต้องเสียเปรียบดุลการค้า การเงินการคลังอ่อนแอ คนงานว่างงาน รายได้ลด หนี้สินพอกพูน โดยเฉพาะภาครัฐ เนื่องจากละทิ้งชาตินิยมทางเศรษฐกิจ หันไปหาลัทธิโลกาภิวัตน์

(2) การที่รัฐบาลต้องดูแลพลเมืองชั้นล่างจำนวนมาก รายจ่ายใหญ่ 5 รายการของงบประมาณสหรัฐได้แก่ โครงการประกันสังคม โครงการประกันสุขภาพ การช่วยค่ารักษาพยาบาล (โครงการประกันสุขภาพสำหรับผู้ยากไร้) การสงคราม และการชำระหนี้ที่มากขึ้น

(3) การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร ทำให้เกิดการสิ้นสุดของ “อเมริกันผิวขาว” “อเมริกันที่เป็นคริสเตียน”

(4) การเข้าไปก่อสงครามที่ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรแก่อเมริกัน รังแต่จะเสียหายและก่อหนี้จำนวนมาก เขากล่าวว่า “เราขอยืมเงินจากยุโรปเพื่อป้องกันยุโรป เรายืมเงินจากกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับเพื่อป้องกันอ่าวนี้ เรายืมเงินจากญี่ปุ่นเพื่อป้องกันญี่ปุ่น นี่อาการของความชราหรือไม่ ที่เรายืมเงินจากโลกเพื่อป้องกันโลก”

ที่สำคัญคือไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุนอิสราเอลในการก่อสงครามตะวันออกกลาง

การฆ่าตัวตายของสหรัฐ ทำให้สหรัฐอ่อนแอลงทุกทีจนอาจแตกเป็นเสี่ยงภายในปี 2025 โดยแบ่งเป็นรัฐอเมริกากันของชาวตะวันตกผิวขาว อเมริกัน-แอฟริกัน และอเมริกัน-คนพูดสเปน หนทางแก้นั้นต้องเดินหนทางชาตินิยม เชื้อชาติ-ศาสนานิยม ต่อต้านผู้อพยพลี้ภัย การเข้าก่อสงครามในที่ต่างๆ และการฟื้นฟูฐานอุตสาหกรรม เพิ่มการจ้างงาน ทางออกเหล่านี้เป็นที่ยอมรับจนกระทั่งทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง

ถ้าหากผู้นำพรรครีพับลิกันปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของบูแคนันมาตั้งแต่ปี 1992 ก็อาจเปลี่ยนสถานการณ์เป็นอย่างอื่นได้ แต่เมื่อมาปฏิบัติในปี 2017 ดูจะสายเกินไป และคงแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้